อุตสาหกรรมอาหารครึ่งหลังปี 2552 : เริ่มกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ในปี 2552 นับว่าเป็นปีแรกในรอบ 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2545 ที่ทั้งปริมาณการผลิต การจำหน่าย มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้าอาหารมีแนวโน้มหดตัว ทั้งนี้เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้ว่าผลกระทบต่อสินค้าอาหารจะไม่รุนแรงเท่ากับสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 สถานการณ์ด้านการส่งออกสินค้าอาหารน่าที่จะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 744,000 ล้านบาท โดยหดตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปี 2551

การหดตัวของอุตสาหกรรมอาหารทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก นับว่าเป็นสัญญาณเตือนให้ทั้งภาครัฐบาลและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมตระหนักได้ว่าการปรับตัวท่ามกลางความท้าทายของหลากหลายปัญหาที่รุมเร้า

อุตสาหกรรมอาหารของไทยในอนาคตวางเป้าหมายเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก โดยปรับจากการส่งออกในรูปของสินค้าไปสู่การส่งออกสินค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง และสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสินค้าอาหารสามารถยกระดับการพัฒนาตามแนวนโยบายนี้ โดยการแยกมิติออกเป็น มิติด้านผลิตภัณฑ์ที่จะต้องสร้างแบรนด์สินค้าอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคในต่างประเทศ และการยกระดับมาตรฐานในการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่วนมิติในด้านการแข่งขันนั้น ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนจากการผลิตตามคำสั่งซื้อ มาเป็นผู้ผลิตที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาด และผลิตสินค้าอาหารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาด รวมทั้งต้องเปลี่ยนการตั้งเป้าหมายในการแข่งขันไปเป็นการแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย โดยจะทำให้บรรดาผู้ประกอบการตระหนักว่าต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่าการคิดว่าคู่แข่งขันคือประเทศในเอเชีย หรืออเมริกาใต้ เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์และการแข่งขัน ก็จะทำให้การกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร…สถานะปัจจุบัน
อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่าสูงในแต่ละปี โดยคาดว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยประมาณ 744,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 8.0 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 80.0 เป็นแหล่งสร้างงานโดยมีจำนวนโรงงานแปรรูปสินค้าอาหาร 8,250 โรงงาน มีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 1.4 ล้านคน

กระทรวงอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตสินค้าอาหารในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวเหลือ 20.72 ล้านตัน หรือหดตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งปริมาณการผลิตสินค้าอาหารนั้นเริ่มลดอัตราการขยายตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 อันเป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าหลักของสินค้าอาหารของไทย ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปอาหารจะได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกประสบปัญหาวัตถุดิบและภัยธรรมชาติ กอปรกับจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารรายสำคัญมีปัญหาภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ทำให้หลายประเทศหันมาเพิ่มการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย สำหรับปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศคาดการณ์ว่าในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวลงเหลือ 10.81 ล้านตัน หรือหดตัวลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2551

สำหรับในด้านการส่งออกนั้น ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกสินค้าอาหารมีมูลค่า 278,953.50 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดลงร้อยละ 6.8 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหดตัว และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปลายปี 2551 ทำให้ประเทศคู่ค้าใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองในการลดราคาสินค้า และชะลอการรับมอบสินค้าในคำสั่งซื้อเดิม กระทบต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าอาหารมีแนวโน้มลดลง กอปรกับในปี 2551 เกิดวิกฤตด้านอาหาร ราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกสูงมากเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารในปี 2551 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงผิดปกติ

ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวลงเหลือ 68,154.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 28.3 เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการชะลอการผลิต ทั้งนี้เนื่องจากการคาดการณ์ถึงการหดตัวของความต้องการทั้งเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และเพื่อบริโภคโดยตรง รวมทั้งการชะลอดูราคาสินค้าอาหารที่นำเข้า เนื่องจากราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551

สถานการณ์ช่วงครึ่งหลังปี 2552…การส่งออกกระเตื้องขึ้น
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น อันเป็นจากการคาดหมายกันว่าเศรษฐกิจของโลก และเศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะจีน ส่วนประเทศอื่นๆนั้นคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2552 หรือไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารหันมาเพิ่มกำลังการผลิต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมูลค่าประมาณ 744,000 ล้านบาท หดตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 3.8 ซึ่งแสดงว่ามูลค่าการส่งออกที่กระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะดึงให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปีกลับไปมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีหรือตั้งแต่ปี 2545 ที่มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารหดตัว อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาแยกรายสินค้าแล้ว สินค้าอาหารที่มีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงในปี 2552 คือ ไก่แปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง/แปรรูป ผลไม้สด/แห้ง และน้ำผลไม้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าแยกข้าวออกจากสินค้าอาหารแล้ว อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2552 นี้จะกลับไปเป็นบวกได้ เนื่องจากในปี 2551 นั้นราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว กล่าวคือ ถ้าแยกข้าวออกไปแล้วจะทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.8 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ว่าในปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือ 135,731 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 38.3 โดยมูลค่าการส่งออกข้าวมีสัดส่วนถึงเกือบร้อยละ 20.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมด

สำหรับการนำเข้าสินค้าอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2552 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารหดตัวลงเหลือ 220,000 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วหดตัวร้อยละ 11.0 สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ในช่วงที่เหลือของปี 2552 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการหันมาเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าอาหารที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะปลาทูน่าแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2551 แล้วราคาวัตถุดิบนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าอาหารยังถูกกว่าเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตอาหาร ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ การเปรียบเทียบกับฐานที่สูงดังกล่าวทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารในปี 2552 ยังน่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับในปี 2551

สถานะการแข่งขัน…เผชิญความท้าทาย ต้องเร่งปรับตัว
อุตสาหกรรมอาหารยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูงในตลาดต่างประเทศ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.3 ของมูลค่าการค้าสินค้าอาหารของโลก แต่สินค้าอาหารของไทยหลายรายการที่อยู่ในอันดับหนึ่งของตลาดโลก ได้แก่ ข้าวครองส่วนแบ่งร้อยละ 33 ผลิตภัณฑ์กุ้งครองส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณร้อยละ 20.0 ไก่แปรรูปครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.0 สับปะรดกระป๋องและแปรรูปมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 45.0 นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอาหารของไทยอีกหลายรายการที่มูลค่าการส่งออกติดอันดับ 1 ใน 5 ของตลาดโลก เช่น น้ำตาลทราย เป็นต้น

แม้ว่าปัจจุบันไทยยังคงสถานะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยเริ่มลดลง และถูกเบียดแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด จากการที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศคู่ค้าสินค้าอาหารก็เข้มงวดในด้านสุขอนามัยอาหารมากยิ่งขึ้น และนำเอามาตรการด้านสุขอนามัยมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าสินค้าอาหาร แนวทางในการปรับตัวเพื่อที่ไทยจะสามารถคงสถานะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลกคือ ปรับจากการส่งออกในรูปของสินค้าไปสู่การส่งออกสินค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง และสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสินค้าอาหารสามารถยกระดับการพัฒนาตามแนวนโยบายนี้ โดยการแยกมิติออกเป็น มิติด้านผลิตภัณฑ์ที่จะต้องสร้างแบรนด์สินค้าอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคในต่างประเทศ และการยกระดับมาตรฐานในการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่วนมิติในด้านการแข่งขันนั้น ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนจากการผลิตตามคำสั่งซื้อ มาเป็นผู้ผลิตที่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาด และผลิตสินค้าอาหารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ซึ่งต้องการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาสินค้า ตลอดจนการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารในแต่ละตลาด รวมทั้งต้องเปลี่ยนการตั้งเป้าหมายในการแข่งขันไปเป็นการแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย โดยต้องกระตุ้นทำให้บรรดาผู้ประกอบการตระหนักถึงการว่าต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่าการคิดว่าคู่แข่งขันคือประเทศในเอเชีย หรืออเมริกาใต้ เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์และการแข่งขัน ก็จะทำให้การกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทสรุป
คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2552 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ตามการคาดการณ์ฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ภาวะการผลิตในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังคงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปี 2552 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ กล่าวคือ คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปี 2552 จะอยู่ในระดับ 744,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปี 2551 และนับว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกของการส่งออกสินค้าอาหารในรอบ 7 ปี หรือตั้งแต่ปี 2545

ในด้านแนวนโยบายในอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารของไทยนั้น แนวทางหลักที่น่าจะเน้น ได้แก่ การรักษาสถานะการเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก โดยการปรับการส่งออกมุ่งไปสู่การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารประเภทสด แช่เย็น และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นสินค้าอาหารที่สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร และสร้างรายได้ในการส่งออกสินค้าอาหารของประเทศ การที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารต้องย้อนกลับมาปรับประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตสินค้าอาหารในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารนั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความชัดเจนก็คือ นโยบายปฏิบัติในแต่ละห่วงโซ่อาหาร และต้องตระหนักว่าการกำหนดแผนแม่บทในการพัฒนานั้น จะต้องคำนึงถึงสถานะที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการอาหารแต่ละราย ในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมอาหารที่มีความหลากหลาย ซึ่งการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันผู้ประกอบการแต่ละรายจะเผชิญปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน การรับฟังและเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกันกับผู้ประกอบการ นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาสถานะการแข่งขันเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญของโลกต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ การวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตนั้น ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิต ทั้งจากประเด็นในด้านเทคโนโลยีทางการพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ และประเด็นในด้านปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะเรื่องน้ำและพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้ง ความต้องการของตลาดในอนาคตด้วย ทั้งนี้เพื่อการเตรียมรับมือกับโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าการที่จะผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง มาตรฐานความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และการผลิตสินค้าอาหารที่มีนวัตกรรมเพื่อสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการมองการแก้ปัญหาจากปลายน้ำแล้วนำมาปรับห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น