อินเทล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับกระทรวงไอซีทีและภาครัฐกว่า 20 กระทรวง

กรุงเทพฯ, 1 กรกฎาคม 2552 – อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ในหัวข้อเรื่อง “การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการวางรากฐานระบบไอซีทีของประเทศ” ที่ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดขึ้นเพื่อแถลงสาระสำคัญในนโยบายของกระทรวงเกี่ยวกับการผลักดันเทคโนโลยีบรอดแบนด์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจาก 19 กระทรวงและ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อการลงทุนด้านไอซีทีของภาครัฐ ที่จะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัท Connected Nation, Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรอิสระไม่หวังผลกำไรที่ได้รับการรู้จักเป็นอย่างดีในเรื่องของการผลักดันการเข้าถึงเทคโนโลยีให้เกิดขึ้น ยังได้รับเชิญ เข้าร่วมการประชุม เพื่อมาเล่าถึงกรณีศึกษาในการนำเทคโนโลยีบรอดแบนด์ เพื่อมาช่วยกระตุ้นจีดีพีที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนและประสบความสำเร็จอีกด้วย

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “กระทรวงฯ ตั้งเป้าสำหรับแผนไอซีที คือ ภายในปี 2553 ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ หรือคิดเป็นผู้จดทะเบียนการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 8 ล้านพอร์ต ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มเป็น 4 ล้านเครื่องภายในปี 2553 เพื่อเป็นการยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศขึ้นอย่างน้อย 15 อันดับ จากการจัดอันดับของ Networked Readiness Rankings ภายในปี 2556 และเป็นการเพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมไอซีทีต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 ภายในปี 2556 อีกด้วย”

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ ในหลายๆ ประเทศเช่น จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม เทคโนโลยี บรอดแบนด์เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่รัฐบาลนำเข้ามาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยความที่รัฐบาลในประเทศเหล่านี้เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีบรอดแบนด์จะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยส่วนรวมทั้งในด้านการเข้าถึงระบบการศึกษาและการสาธารณสุขที่ดีขึ้น การสร้างงานให้แก่ประชาชนในต่างจังหวัด รวมทั้งยังช่วยในแง่ของการประหยัดพลังงานอีกด้วย ในวันนี้เราจะได้เห็นจากกรณีศึกษาจากบริษัท Connected Nation โดยมีตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเพียงประชากรที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบรอดแบนด์ได้เพิ่มขึ้นอีกเพียงร้อยละ 7 จะสามารถสร้างงานได้อีก 2.35 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 134 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับประเทศ ”

นายไบรอัน เมฟฟอร์ด ประธานกรรมการบริหารบริษัท Connected Nation, Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา เล่าว่า “แนวทางของการทำเทคโนโลยีบรอดแบนด์เพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมลรัฐ Kentucky ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการพัฒนาที่เป็นสากล สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในมลรัฐอื่นในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การที่เราเดินทางมาพบกับหน่วยงานภาครัฐของไทยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำกรณีศึกษาที่น่าสนใจนี้มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการนำรูปแบบของนโยบายสำหรับเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง สิ่งที่เราต้องการเน้นย้ำในวันนี้คือความล่าช้าของการตัดสินใจจากรัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยเสียทั้งโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และทำให้ประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนต้องล่าช้าออกไป”

นายอังศุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเสริมว่า“กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะทำหน้าที่หารือกับบริษัทโทรคมนาคมต่างๆ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดสรร ติดตั้ง และการเช่าใช้โครงข่ายบรอดแบนด์ ครอบคลุมทั้งในเมืองใหญ่และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ จะจัดทำเรื่องเสนอของบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมถึงการติดตั้งโครงข่าย ภายในปี 2553 มาใช้ในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้”

สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี