ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 2552 : ลุ้นโค้งสุดท้าย …

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของไทยได้รับผลกระทบจาสถานการณ์ดังกล่าว เช่น ธุรกิจส่งออก ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจสายการบิน รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า การลงทุนในภาคก่อสร้างของเอกชนในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 โดยรวมหดตัวลงร้อยละ 8.2 ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 0.7 และลดลงจากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2551

อย่างไรก็ดีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่จัดได้ว่ามีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และมีมูลค่าเงินลงทุนหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคการก่อสร้าง ภาคการผลิตวัสดุก่อสร้าง ภาคแรงงาน และภาคการเงิน ทำให้เมื่อช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถขยายตัวต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ทำให้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2552 จำนวนการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศขยายตัวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ ปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 2552 : แรงหนุนโค้งสุดท้าย…มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเสี่ยง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในเมืองไทย เสถียรภาพทางการเมือง ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้ภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางราคาที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้าได้ ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้

อย่างไรก็ตามภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีปัจจัยบวกบางประการที่อาจจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงิน โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่

เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เป็นวงเงิน 400,000 ล้านบาทได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษี โดยหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2552 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาจจะเร่งการทำแคมเปญการตลาดในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องมายังไตรมาส 4 เพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค และหากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และปัญหาการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงิน และต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก็อาจจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงสุดท้ายของปีนี้ สำหรับมาตรการที่น่าจะมีส่วนช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภคอีกมาตรการหนึ่ง คือ มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างสถาบันการเงิน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งผ่านให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 5.85-5.87 ลดลงจากเมื่อต้นปี 2552 ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีผลต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังเน้นการทำแคมเปญด้านราคา โดยเฉพาะการทำแคมเปญอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษ รวมถึงเพิ่มช่องทางการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

จากปัจจัยข้างต้น ทำให้คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมียอดขายดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีจำนวน 39,500 หน่วย หดตัวร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกที่คาดว่ามีจำนวน 27,000 หน่วย หดตัวร้อยละ 11.8 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประมาณ 66,500 หน่วย หดตัวร้อยละ 10.5 ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้ประกอบการบางรายเร่งการก่อสร้างโครงการให้เสร็จก่อนมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552

ธุรกิจบ้านจัดสรร: อยู่ในภาวะทรงตัว…บ้านราคาระดับกลางลงมายังคงสามารถทำตลาดได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจบ้านจัดสรรในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าครึ่งแรก ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เริ่มนิ่ง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง โดยบ้านเดี่ยวที่ระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท น่าจะยังเป็นระดับราคาที่เหมาะสมต่อตลาดมากที่สุดในขณะนี้ สำหรับแนวโน้มตลาดทาวน์เฮาส์น่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวได้ดีกว่าตลาดบ้านเดี่ยว โดยระดับราคาที่ประมาณ 1-3 ล้านบาท ยังน่าที่จะขยายตัวได้ สำหรับการแข่งขันในธุรกิจบ้านจัดสรรในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า จะมีความรุนแรงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการต้องการเร่งระบายสินค้าที่มีอยู่ โดยผู้ประกอบการคงจะใช้กลยุทธ์ชูจุดเด่นในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับในการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยภายในปี 2552 คือ มาตรการหักลดหย่อนภาษีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในการทำตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับการเปิดโครงการใหม่น่าจะดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ผู้ประกอบการคงยังรอดูทิศทางของเศรษฐกิจ นโยบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งการเปิดโครงการใหม่ยังคงมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความชำนาญด้านการตลาดและการบริหารต้นทุน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรสร้างเสร็จใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 น่าจะลดลงร้อยละ 12.6 ถึงลดลงร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับปี 2551

ธุรกิจคอนโดมิเนียม : ชะลอตัวแต่ทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มธุรกิจคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง แต่ตลาดคอนโดมิเนียมยังสามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายอดขายใหม่อาจจะลดลงกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม จะเห็นได้ว่า โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่และยังสามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่องนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความชำนาญในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม และมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ทำให้เมื่อมีการเปิดโครงการใหม่ ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวยังคงมีการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างดี นอกจากนี้การเปิดโครงการใหม่นั้น ผู้ประกอบการได้เน้นในเรื่องของทำเลเป็นหลัก โดยทำเลดังกล่าวอาจจะเป็นทำเลที่เป็นแหล่งชุมชนใหม่ และยังไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นในแถบนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากต่างหันมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมโดยเน้นทำเลตามแนวรถไฟฟ้าพร้อมกันนั้น ทำให้ในบางพื้นที่เริ่มมีปัญหาอุปทานส่วนเกินมีระดับสูง

สำหรับแนวโน้มคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีระดับใกล้เคียงกับปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 0.8 ถึงลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปี 2551 ทั้งนี้อุปทานที่ทยอยเข้ามาสู่ตลาดนั้น เป็นผลมาจากการเร่งเปิดโครงการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมทำเลย่านธุรกิจใจกลางเมือง และตามเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินพาดผ่าน เป็นที่ต้องการอย่างมากของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าจับตามองในตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คือ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงรุมเร้ารอบด้าน ผู้ประกอบการบางรายประสบกับภาวะสภาพคล่อง อสังหาริมทรัพย์บางโครงการต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำยอดขาย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องหยุดการก่อสร้าง เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หรือบางรายชะลอการสร้างโดยจำต้องคืนเงินให้แก่ลูกค้า ในขณะที่บางโครงการที่ยังมีศักยภาพในการทำตลาดนั้น ก็จะมีการขายต่อให้แก่กลุ่มทุนบางกลุ่ม ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ น่าจะยังคงเผชิญกับภาวะยอดขายที่ชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาวต่างชาติบางกลุ่ม

ธุรกิจรับสร้างบ้าน: ผู้ประกอบการรายใหญ่…แข่งขันรุนแรง

แนวโน้มธุรกิจรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยครึ่งหลังปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าครึ่งแรกของปี แม้จะเป็นอัตราที่ติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เนื่องจากตลาดรับสร้างบ้านยังคงมีปัจจัยหนุนนอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่คาดว่า น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีปัจจัยหนุนจาก แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมอาจจะเร่งตัดสินใจในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างยังคงอยู่ในระดับที่ทรงตัว สำหรับสภาวะตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่า ผู้ประกอบการยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้าน วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านให้เหมาะสมและสอดคล้องกับราคาของบ้าน แต่ยังคงความสวยงาม และความคงทนตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 จำนวนบ้านที่ปลูกสร้างเองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะลดลงร้อยละ 24.1 ถึงลดลงร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปี 2551

ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์: วิกฤตเศรษฐกิจโลก…ผลกระทบหนักต่อตลาด

แนวโน้มธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะเสถียรภาพของสถาบันการเงินหลายแห่งยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง และยังคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวนานกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพอีกครั้ง ทำให้การกลับเข้าลงทุนในประเทศไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อาจยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้รวดเร็วนัก ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความไม่แน่นอนการเมืองภายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งดังเช่นที่เกิดเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก็อาจจะส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นต่อความเชื่อของนักลงทุนของชาวต่างชาติ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ที่พึ่งพาการเข้ามาพักอาศัยของนักลงทุนต่างชาติ สำหรับแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น คาดว่า ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์คงจะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากจำนวนห้องพักที่เริ่มทยอยสร้างเสร็จมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการห้องพักนั้นชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับเปลี่ยนแพ็คเกจห้องพักให้ดูน่าสนใจ โดยอาจใช้กลยุทธ์ด้านราคามาทำตลาด การใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายอื่นๆ ร่วมด้วย เป็นต้น

บทสรุปและข้อคิดเห็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษี ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2552 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คือ การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างสถาบันการเงิน นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา จะจูงใจให้ผู้บริโภคที่มีความพร้อมตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อระหว่างสถาบันการเงินที่รุนแรง ก็ยังมีผลต่อการตัดสินของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษในการจูงใจลูกค้า ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และปัญหาการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงิน และต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก็อาจจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงสุดท้ายของปีนี้

อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีความเสี่ยง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศไทย เสถียรภาพทางการเมือง ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางราคาที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้าได้ ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค และยังเป็นการซ้ำเติมการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะอยู่ในอัตราการเติบโตได้ดีกว่าครึ่งแรกของปี โดยอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่แม้ว่าภาพรวมของยอดขายโครงการใหม่จะชะลอตัวลง แต่บางโครงการยังคงสามารถสร้างยอดขายได้ เนื่องจากบางทำเลยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในทำเลที่ใกล้แหล่งชุมชน และยังไม่มีคู่แข่ง ผู้ประกอบการที่เข้าไปรุกตลาดก่อนเนื่องจากมองเห็นถึงโอกาสในการทำตลาด จึงยังสามารถสร้างยอดขายได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางโครงการที่อาจเผชิญกับปัญหาลูกค้าขอสินเชื่อไม่ผ่าน ทำให้แนวโน้มการยกเลิกการโอนห้องชุดสูงขึ้น ส่งผลต่อจำนวนห้องชุดที่จะกลับเข้ามาสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาวะตลาดคอนโดมิเนียมคงจะหลีกไม่พ้นกับการที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง

นอกจากนี้ตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น คือ ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ ที่น่าจะเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในขณะนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์น่าจะช่วยตอบโจทย์ของลูกค้าได้ระดับหนึ่ง ในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าห้องชุดแต่ไม่สามารถที่จะซื้อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวได้ สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว คาดว่า ตลาดน่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ที่อาจจะช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมถึงผู้ประกอบการคงจะเร่งทำแคมเปญการตลาด เพื่อช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภค อาทิ การลดราคา การแจกของสมนาคุณ เป็นต้น

ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยที่อาจจะประสบกับปัญหาในช่วงที่เหลือของปี น่าจะเป็นตลาดปลูกสร้างบ้างเอง นอกจากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคโดยภาพรวมแล้ว ปัญหาผู้รับเหมาที่ละทิ้งงานก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่จะปลูกสร้างบ้านต้องพิจารณาเลือกผู้รับเหมาอย่างระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติ อย่างธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ ยังคงได้รับผลกระทบจากจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยน้อยลง เนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว

สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 น่าจะมีจำนวนประมาณ 66,500 หน่วย ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีประมาณ 74,320 หน่วย โดยเป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยประเภทโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากยังมีโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จที่รอขายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้การเปิดโครงการใหม่ในระยะข้างหน้านับจากนี้น่าจะชะลอลง โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่จากผู้ประกอบการขนาดเล็กที่น่าจะหดตัวลง นอกจากนี้ยังเป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างเอง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการสร้างที่อยู่อาศัยออกไป ในขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จน่าจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน หรือลดลงเล็กน้อย