ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต การปฏิบัติยังต้องรอความชัดเจน

ในปัจจุบันการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากคุณสมบัติพิเศษของบัตรเครดิต คือ ความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก (Payment Solution) โดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องถือเงินสดเป็นจำนวนมากในการนำไปซื้อสินค้า และเนื่องจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถช่วยลดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตรได้อีกทางหนึ่ง แต่จากความสะดวกสบายและง่ายต่อการใช้ทำให้ผู้บริโภคบางรายอาจจะลืมไปว่า บัตรเครดิต คือ สินเชื่อประเภทหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งหากผู้บริโภคใช้บัตรเครดิตมากจนเกินความสามารถของการชำระเต็มจำนวนในแต่ละเดือน ทำให้ต้องผ่อนชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตแทนและถ้าหากผู้ถือบัตรผ่อนชำระเพียงขั้นต่ำของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตในแต่ละเดือน (อัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 10 ของยอดคงค้าง) จะทำให้เกิดวงเงินยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูง จนเกินความสามารถการผ่อนชำระ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีบัตรเครดิตหลายบัตร และปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาการติดตามทวงหนี้ ที่มักจะมาพร้อมกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว การใช้บัตรเครดิตที่มีกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ยังทำให้ปัญหาคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกรรมบัตรเครดิต ได้แก่ ปัญหาการทุจริตบัตรเครดิต การขโมยบัตรเครดิตของผู้อื่นและนำไปใช้ในการรูดซื้อสินค้าก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการปลอมแปลงบัตรเครดิต เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของบัตรเครดิตและผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต

จากการที่ธุรกิจบัตรเครดิตยังไม่มีกฎหมายที่เข้ามาดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตโดยตรง ทำให้ในปัจจุบันต้องใช้กฎหมายเทียบเคียงในการเข้ามาดูแลการประกอบธุรกิจเมื่อเกิดการกระทำความผิด อาทิ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เป็นต้น ทำให้ความต้องการที่จะให้เกิดพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเครดิตจะกลับขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง (ภายหลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ… ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2543) อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตโดยเฉพาะก็ตาม แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อใช้ดูแลผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการบัตรเครดิต การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครบัตรเครดิต รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นต้น

ธุรกิจบัตรเครดิต…หลักเกณฑ์การทำธุรกิจในปัจจุบัน
ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ในการกำกับดูแล การออกกฎเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจของบัตรเครดิต โดยครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์ และ สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank (กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 โดยอาศัยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของ Non –Bank เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545) สำหรับบทบาทหน้าที่การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นการเน้นในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการทำธุรกิจให้อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ และเพื่อไม่ให้ธุรกิจบัตรเครดิต (ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคประเภทหนึ่ง) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียแก่ระบบการเงิน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์บทบาท หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกกฎเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจบัตรเครดิตปฏิบัติตาม โดยสังเขปดังต่อไปนี้

การกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกบัตรเครดิต

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิต และการพิจารณาอนุมัติ การกำหนดวงเงินบัตรเครดิต เพื่อให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้ถือบัตรเครดิต อาทิเช่น
 การกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน โดยในหลักเกณฑ์ทั่วไปต้องมีรายได้ขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือการพิจารณาจากบัญชีเงินฝากประจำที่สถาบันการเงินที่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนได้ตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เป็นต้น
 การอนุมัติวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆและเบี้ยปรับที่ให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank อาจเรียกเก็บได้ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต อาทิเช่น
 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าบริการต่างๆ หรือเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดจากผู้ถือบัตรเครดิต โดยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี
 ค่าบริการในการเบิกถอนเงินสดด้วยบัตรเครดิตไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอน
 นอกจากค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับแล้ว ธนาคารอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุ แต่ต้องเป็นไปตามรายการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งผู้เรียกเก็บต้องระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายในด้านใดบ้าง ค่าธรรมเนียมในการขอใบแจ้งยอดบัญชี ค่าธรรมเนียมการออกบัตรใหม่กรณีหาย เป็นต้น

การกำหนดกฎเกณฑ์การชำระสินเชื่อบัตรเครดิต

หลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บชำระสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยออกกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้
 กำหนดอัตราขั้นต่ำการผ่อนชำระยอดคงค้างสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในแต่ละเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะต้องการให้ผู้ที่มียอดคงค้างสามารถผ่อนชำระสินเชื่อให้หมดเร็วขึ้น ในปัจจุบันอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากวงเงินชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งผู้ถือบัตรเครดิตต้องชำระเต็มจำนวน
 ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank จะต้องจัดส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชี
 ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยกเลิกการใช้บัตรเครดิตกรณีผู้ถือบัตรเครดิตมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ
 ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ต้องมีหนังสือเตือนผู้ถือบัตรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนครบดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย

การกำหนดหลักเกณฑ์กระบวนการดำเนินงานของธุรกิจบัตรเครดิต

สำหรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานทางธุรกิจบัตรเครดิต ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์ให้ ธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ได้แก่
 รายงานการให้บริการบัตรเครดิตเป็นข้อมูลรายเดือน กฎเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทน เพื่อรับฝากเงิน รับชำระสินเชื่อและรับชำระค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
 หลักเกณฑ์การปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ถือบัตรเครดิต เช่น การรักษาข้อมูลของผู้ถือบัตรเครดิต เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือบัตร
 หลักเกณฑ์การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการตรวจสอบเมื่อผู้ถือบัตรเครดิตร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และแจ้งความคืบหน้าของผลการตรวจสอบรวมทั้งชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการให้ผู้ถือบัตรทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการร้องเรียน รวมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น จะเป็นไปในลักษณะของการให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตให้เป็นไปตามกรอบ กฎเกณฑ์ที่มีขึ้น และทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้สมัครสินเชื่อบัตรเครดิต เช่น จากที่ต้องมีรายได้ขั้นต่ำที่ 240,000 บาทต่อปี มาเป็นที่ 180,000 บาทต่อปี เพื่อที่ต้องการให้ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าสู่สินเชื่อในระบบได้ การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต โดยกฎเกณฑ์การผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 ของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ในปี 2550 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากหากเพิ่มการผ่อนชำระขั้นต่ำขึ้น จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถที่จะผ่อนชำระยอดคงค้างให้หมดไปเร็วขึ้น เป็นต้น สำหรับในกรณีที่เกิดการร้องเรียนผู้ถือบัตรเครดิตที่มีต่อผู้ประกอบการบัตรเครดิต ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เข้ามากำกับดูแล (ในส่วนของ Non-Bank) ในการเข้ามาดูแลจัดการ

แต่เนื่องจากบัตรเครดิตที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น ซึ่งทำให้เกิดคดีความอันเกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกรรมบัตรเครดิตเกิดขึ้นมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการฟ้องร้องหนี้สินบัตรเครดิต การร้องเรียนจากผู้ถือบัตรเครดิตในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดค่าธรรมเนียม ปัญหาการปลอมแปลงบัตรเครดิต ปัญหาบัตรเครดิตถูกขโมยและมีการนำไปใช้ซื้อสินค้า รวมถึงปัญหาการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตและผู้ถือบัตรเครดิต เป็นต้น ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองเห็นถึงความสำคัญในการนำเสนอกฎหมายเข้ามากำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 กระทรวงยุติธรรม ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต และร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. …ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงให้เกิดความเป็นธรรมทั้งในภาคธุรกิจและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเนื้อหาโดยรวมของร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. … ได้กำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ประกอบการบัตรเครดิต การทำสัญญาบัตรเครดิต รายละเอียดการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต อำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะเข้ามาดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต รวมถึงบทลงโทษผู้กระทำความผิด ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายเทียบเคียงอย่างในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะทำให้ง่ายขึ้นต่อการพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้น และนำมาซึ่งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค

ข้อคิดเห็นสำหรับบางประเด็น

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. … จะมีผลดีต่อผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง ก็อาจจะมีผลในทางปฏิบัติและยังคงต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาแก้ไขขั้นต่อไป อาทิเช่น

ระยะเวลาที่ทำให้ผู้ประกอบการฟ้องร้องลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี (ในปัจจุบันที่กำหนดระยะเวลาในการฟ้องร้องลูกหนี้ ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้น 2 ปี) นับตั้งแต่วันที่สัญญาบัตรเครดิตถูกเลิก ทั้งนี้เจตนาของร่างกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการฟ้องร้องให้เร็วขึ้น น่าจะเพื่อช่วยมิให้ยอดรวมของหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับภาระปรับตัวสูงขึ้นมากนัก แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ประกอบการบัตรเครดิตเองก็มีความต้องการให้ได้ข้อยุติในเรื่องของหนี้ค้างชำระเร็วอยู่แล้ว เนื่องจากหากปล่อยให้การตกลงใช้ระยะเวลานาน ก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่ายผู้ประกอบการบัตรเครดิต และฝ่ายลูกหนี้) อย่างไรก็ตามการบังคับให้มีการฟ้องร้องเร็วขึ้น ย่อมจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนการการดำเนินการ ทั้งในด้านการติดตามหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ภายใต้กรอบเวลาที่สั่งฟ้อง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในแง่ของเงื่อนไขเวลาในการเจรจาหรือปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็น่าจะทำให้ได้ข้อยุติที่เร็วขึ้นกว่าเดิม

ห้ามมิให้ผู้รับบัตรเครดิตเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการ หรือคิดตัดทอนเงินที่เบิกถอนอันเนื่องมาจากการใช้บัตรเครดิต หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตหรือค่าใช้จ่ายหรือค่าชดเชยอื่นใดจากราคาสินค้าหรือค่าบริการหรือเงินสดที่เบิกถอน ซึ่งประเด็นปัญหาในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าของร้านค้าบางรายได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากลูกค้าที่ต้องการชำระบัตรเครดิต โดยเฉพาะกับบัตรบางประเภทที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูง โดยร้านค้าไม่ต้องการรับภาระต้นทุนเพิ่มเติม เนื่องจากร้านค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตสำหรับบัตรดังกล่าวค่อนข้างสูงกว่าบัตรประเภทอื่น นอกจากนี้ปัญหาส่วนหนึ่งยังอาจเกิดจากกรณีที่ร้านค้ารับบัตรเครดิต โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่อาจมีฐานลูกค้าเงินสดมากกว่าลูกค้าบัตรเครดิต ขณะที่ส่วนต่างของผลกำไรที่ค่อนข้างแคบอยู่แล้ว ทำให้ร้านค้าเหล่านั้นจำเป็นต้องผลักภาระมายังผู้ใช้บัตรแทน ทั้งนี้แม้ว่าภายใต้กฎหมายดังกล่าวนี้น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต แต่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น อาจส่งผลทำให้ร้านค้าเพิ่มข้อจำกัดในการรับบัตรเครดิต เนื่องจากร้านค้ารับบัตรเครดิตนั้นต้องชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการบัตรเครดิต ขณะที่มีส่วนต่างของต้นทุนและกำไรที่แคบ โดยเป็นไปได้ว่าสำหรับร้านค้าบางรายอาจจะตั้งเงื่อนไขในการรับบัตรเครดิต เช่น การตั้งราคาขั้นต่ำในการใช้บัตรเครดิต การเสนอส่วนลดที่แตกต่างกัน โดยเสนอส่วนลดให้แก่ผู้ชำระเงินสดมากกว่าการชำระบัตรเครดิต เป็นต้น

ห้ามมิให้ผู้ออกบัตรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดเกี่ยวกับการออกบัตรเครดิต การใช้บัตรเครดิต หรือการต่ออายุบัตรเครดิตเกินกว่าอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้การกำหนดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆเกี่ยวกับการออกบัตรเครดิต การใช้บัตรเครดิต ย่อมจะช่วยป้องกันการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่อาจจะสูงเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมคงจะต้องรอดูรายละเอียดในทางปฏิบัติ โดยหากเสียค่าธรรมเนียมแบบตายตัวเท่ากันหมดสำหรับบัตรทุกประเภท ก็อาจจะเป็นการสร้างข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจและในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการบัตรเครดิตแต่ละรายจะมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันสำหรับบัตรเครดิตแต่ละประเภท โดยเฉพาะต้นทุนการทำแคมเปญการตลาด ในการนำเสนอสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิต ที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของบัตรแต่ละประเภท เช่น สิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตประเภทบัตรเงิน ย่อมแตกต่างจากบัตรทองและบัตรแพลทินัม เป็นต้น

บทสรุป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. … น่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค จากตัวบทกฎหมายที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บัตร แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงต้องผ่านขั้นตอนในการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ขณะที่ยังคงมีประเด็นในทางปฏิบัติที่ต้องรอดูความชัดเจน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตของผู้ประกอบการ เช่น ในเรื่องของความยืดหยุ่นในการดำเนินการ เนื่องจากบัตรเครดิตของผู้ประกอบการแต่ละรายอาจจะเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้คุณสมบัติต่างๆ ของบัตรแต่ละประเภทย่อมจะแตกต่างกันออกไป และอาจประสบปัญหาในการดำเนินการหากมีการบังคับใช้เกณฑ์ค่าธรรมเนียมในลักษณะตายตัวเหมือนกันหมดสำหรับบัตรทุกประเภท

สำหรับผู้บริโภคที่กำลังถือบัตรเครดิต หรือคิดจะสมัครบัตรเครดิต ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้บัตรเครดิตให้ดี หากต้องการใช้บัตรเพื่อความสะดวกสบายในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ และเพื่อต้องการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผู้บริโภคควรทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตให้ดี เช่น รายละเอียดการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนทางการเงินของตน โดยเฉพาะผู้บริโภคควรคำนึงถึงความสามารถในการชำระเต็มจำนวนในแต่ละรอบบัญชีเป็นหลัก แต่ถ้าหากไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนผู้บริโภคเองจำเป็นต้องวางแผนการผ่อนชำระให้ดี เพื่อไม่ให้ยอดสินเชื่อคงค้างพอกพูนจนไม่สามารถชำระได้ ซึ่งอาจจะก่อปัญหาให้แก่ตนเองได้ในอนาคต