มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน : ผลกระทบต่อการค้าโลก & ไทย

กระแสกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้ลงนามคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์และรถบรรทุกเล็กทั้งหมดที่นำเข้าจากจีนเป็นเวลา 3 ปี โดยจะขึ้นภาษีจากเดิมที่ร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 35 ในปีแรก ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 26 กันยายน 2552 และลดเหลือร้อยละ 30 ในปีที่ 2 และร้อยละ 25 ในปีที่ 3 ตามคำร้องเรียนของสหภาพแรงงานเหล็กกล้าซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานในบริษัทผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่เสนอให้ขึ้นภาษีกับยางรถยนต์นำเข้าจากจีน เนื่องจากผลกระทบจากการนำเข้ายางรถยนต์จากจีนที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตั้งแต่เมื่อปี 2547 ทำให้โรงงานผลิตยางล้อของสหรัฐฯ หลายรายต้องปิดตัว ส่งผลให้มีจำนวนคนตกงาน 5,100 คน ส่งผลให้ทางการจีนยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากเห็นว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมทางการค้ากับจีนและประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าไก่และรถยนต์ของสหรัฐฯ การปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์ของจีนในครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากนานาชาติ เนื่องจากความกังวลว่าอาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้นซึ่งจะซ้ำเติมภาวะการค้าโลกหดตัวในปัจจุบันที่ต้องได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงอยู่แล้ว และอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องล่าช้าออกไป โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการค้าโลกในปีนี้จะหดตัวร้อยละ 10

ประเด็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กันยายนนี้ หลังจากที่ได้เคยตกลงร่วมกันในการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้าในเดือนพฤศจิกายน 2551 และเมษายน 2552 ที่จะผลักดันให้การแก้ไขปัญหามาตรการกีดกันทางการค้ามีผลอย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศคู่ค้าที่ถูกใช้มาตรการนี้แล้ว ยังจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศอื่นๆ และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของการค้าโลกด้วย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเปราะบาง … ส่งผลให้ยังมีการใช้มาตรการปกป้องตลาดภายใน
แม้การปรับขึ้นภาษียางล้อรถของสหรัฐฯ จากจีนครั้งนี้จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตยางล้อรถในสหรัฐฯ ที่สามารถสกัดกั้นการเข้ามาแข่งขันของยางล้อรถยนต์ราคาถูกกว่าจากจีน และช่วยรักษาการจ้างงานในบริษัทผลิตยางล้อรถ แต่ขณะเดียวกันได้ส่งผลต่อกลุ่มคน/ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ด้วย
ได้แก่ (1) ผลกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ต้องการซื้อสินค้าราคาถูกกว่าในภาวะเศรษฐกิจ ซบเซา โดยราคายางล้อจากจีนในสหรัฐฯ มีราคาต่ำกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับยางล้อระดับพรีเมียมในสหรัฐฯ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ ที่ต้องการวัตถุดิบยางล้อจากจีนที่มีราคาต่ำกว่าอาจต้องได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นด้วย และ (3) บริษัทผลิตยางล้อของสหรัฐฯ 4 บริษัทได้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในจีนและส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการผลิตของบริษัททั้งหมด การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทสหรัฐฯ เหล่านี้เช่นกัน

ผู้นำสหรัฐฯ มีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากต้องประสบกับแรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มแรงงานในประเทศ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานทั่วประเทศ สะท้อนจากอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 9.7 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะพุ่งแตะระดับร้อยละ 10 ในปี 2553 ขณะเดียวกัน การบริโภคภายในสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงได้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ยังซบเซา โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ยอดขายรถในสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีจำนวนลดลงเหลือ 7.1 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถในจีนได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษีและการอุดหนุนของทางการจีนเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ในจีน ส่งผลให้ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เป็น 8.33 ล้านคัน ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าแรงสนับสนุนจากมาตรการอุดหนุนของทางการสหรัฐฯ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” (Cash for Clunkers) ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม (หมดอายุในวันที่ 24 สิงหาคม) ได้ส่งผลให้ยอดขายรถในสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ได้กระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว แต่คาดว่ายอดขายรถในสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่กดดันต่อความต้องการใช้จ่ายของประชาชน

ปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์และยางรถบรรทุกเล็กจากจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของการนำเข้ายางรถยนต์และยางรถบรรทุกเล็กทั้งหมดของสหรัฐฯ มีมูลค่านำเข้าจากจีน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบกับมูลค่านำเข้าจากจีน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547) ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ รวม 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปี 2551 ตลาดยางรถยนต์และยางรถบรรทุกเล็กของสหรัฐฯ มีมูลค่า 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 และเป็นการผลิตในประเทศ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ และช่วยเหลือธุรกิจภายในของทางการจีน…อาจเร่งกระแสปกป้องทางการค้า
ผลกระทบของความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกยางรถยนต์ของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากการถูกปรับขึ้นภาษีถึงร้อยละ 31 (จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 35) ส่งผลให้ทางการจีนอาจออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้สมาคมอุตสาหกรรมยางของจีนได้เรียกร้องให้ทางการจีนใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษียางล้อรถของสหรัฐฯ เช่น ปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก (Rebate Tax) เพิ่มการลดหย่อนภาษีส่งออกยางรถยนต์ (จากลดหย่อนร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 15) และการเน้นให้ใช้ยางรถที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

หากทางการจีนดำเนินมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ถือเป็นการอุดหนุนภาคส่งออก ซึ่งเป็นการปกป้องตลาดภายในรูปแบบหนึ่ง ทำให้สินค้ายางล้อของจีนมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีนี้ น่าจะทำให้การส่งออกยางพาราของไทยไปจีนซึ่งจีนใช้ผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ในฐานะที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้ายางพาราที่สำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยนำเข้าเพื่อผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ ขณะที่การส่งออกยางพาราของไทยไปตลาดจีนเพื่อสนองความต้องการภายในจีนน่าจะยังเติบโตได้ เนื่องจากความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนเพื่อใช้สำหรับตลาดรถยนต์ภายในที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามแรงหนุนของมาตรการของทางการจีนที่ช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ของชาวจีน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของจีนเติบโตราวร้อยละ 80 ในเดือนสิงหาคม และร้อยละ 29 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ทำให้คาดว่าการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนักจากมาตรการปรับขึ้นภาษีของทางการสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ อาจเร่งให้นักลงทุนจีนออกมาลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทยมากขึ้น เนื่องจากข้อได้เปรียบที่ไทยมีแหล่งวัตถุดิบยางพาราที่สำคัญและเป็นประเทศผู้ผลิตยางสำคัญอันดับ 1 ของโลก ประกอบกับทางการจีนสนับสนุนให้นักลงทุนจีนออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้นเพื่อแสวงหาวัตถุดิบสนองความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือทางภาษีของทางการจีนที่ให้กับกลุ่มผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางรถยนต์ ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของจีนดีขึ้นในตลาดสหรัฐฯ (เทียบกับกรณีที่ยางรถยนต์ของจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษี) ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถในสหรัฐฯ ยังไม่มากนัก สัดส่วนราวร้อยละ 4.5 ถือเป็นประเทศที่สหรัฐฯ นำเข้ามากเป็นอันดับที่ 5 ขณะที่สหรัฐฯ นำเข้ายางล้อรถจากจีนเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 26 นอกจากนี้ คาดว่าสินค้ายางล้อรถยนต์ของไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้ายางล้อของจีนรุนแรงขึ้นทั้งในตลาดยางล้อรถยนต์ในไทยและในประเทศที่สามด้วย เนื่องจากจีนที่หันมาส่งออกไปตลาดอื่นๆ มากขึ้น ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

กรณีจีนประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าไก่ของสหรัฐฯ
การไต่สวนการทุ่มตลาดของจีนกับสินค้าไก่ของสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่การปรับขึ้นภาษีสินค้าไก่ของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่ของสหรัฐฯ ไปจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกไก่ที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุ้งเท้าไก่ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของการส่งออกอุ้งเท้าไก่ของสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 41 ของสินค้าประเภทไก่ที่จีนนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ
มูลค่า 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เหลือส่วนหนึ่งเป็นปีกไก่และน่องไก่ โดยมูลค่าส่งออกไก่ทั้งหมดของสหรัฐฯ ไปจีน ราว 682 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551 สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐฯ ส่งออกไก่ไปจีน 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนมีข้อพิพาทการค้าสินค้าไก่มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจีนยื่นฟ้องต่อ WTO ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการห้ามนำเข้าไก่จากจีน เนื่องจากอ้างข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร นอกจากสินค้าไก่แล้ว สหรัฐฯ และจีนยังมีข้อพิพาททางการค้าเนื้อสุกร โดยจีนยกเลิกการนำเข้าเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ตั้งแต่มีการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

การไต่สวนการทุ่มตลาดของจีนกับสินค้าไก่ของสหรัฐฯ คาดว่าอาจจะไม่ได้ส่งผลที่มีนัยยะสำคัญต่อไทยในด้านโอกาสของการขยายการส่งออกไก่ไปจีน เนื่องจากสินค้าประเภทไก่ที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่แปรรูป โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้) รองลงมาเป็นอังกฤษ (สัดส่วนร้อยละ 29 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้) ขณะที่สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนส่วนใหญ่เป็นอุ้งเท้าไก่ ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนเป็นประเภทกระดูกสัตว์ปีกและขนสัตว์ปีกและสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ซึ่งยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อยเฉลี่ยปีละราว 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสินค้าไก่ของไทยไปจีนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ตาม โดยจีนได้ทยอยปรับลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าไก่จากอาเซียนและไทยภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีนตั้งแต่ปี 2548 จากที่อยู่ที่ร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 5 ในปีนี้ และจะเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 แต่มูลค่าส่งออกสัตว์ปีกของไทยไปจีนระหว่างปี 2548 ถึงปัจจุบันยังค่อนข้างน้อยและคงที่

บทบาทสำคัญของที่ประชุมกลุ่มผู้นำจี 20 ต่อแนวโน้มการค้าโลก
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นบ้างแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ภาคการบริโภคยังอ่อนแอ ถือเป็นปัจจัยลบที่ทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้า และเร่งให้มีการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อคุ้มครองเศรษฐกิจภายใน โดยจีนถือเป็นประเทศส่งออกสินค้าราคาต่ำเนื่องจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ทำให้เป็นเป้าหมายของการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสกัดกั้นสินค้าส่งออกของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวทางการค้าโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย การส่งออกของจีนที่เผชิญกับปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไปจีนของประเทศในเอเชียและไทยสำหรับใช้ผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ในฐานะที่จีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกและยังมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียเพื่อผลิตและส่งออก อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเป็นปัจจัยถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงผลักดันจากองค์กรระหว่างประเทศที่กดดันให้ประเทศต่างๆ ยึดมั่นต่อการเปิดตลาดการค้าและการลงทุน ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าน่าจะช่วยลดแรงกดดันที่ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องตลาดภายในที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้กระแสกีดกันทางการค้าทั่วโลกบรรเทาลง หากที่ประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ในวันที่ 24-25 กันยายนนี้ ยังยึดมั่นต่อข้อตกลงในการประชุมผู้นำ 2 ครั้งก่อนหน้า ที่ให้ประเทศต่างๆ เปิดตลาดสินค้าและลดมาตรการกีดกันทางการค้า และมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาจส่งผลบรรเทาความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะช่วยขับเคลื่อนการค้าโลกให้หลุดพ้นจากภาวะหดตัว ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากมูลค่าการค้าของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการค้าโลก โดยสหรัฐฯ และจีนถือเป็นทั้งประเทศผู้ส่งออกและนำเข้ามีมูลค่าสูงอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลก

สรุป
สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษียางล้อรถยนต์ของจีนในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ส่งออกยางล้อรถของจีนได้รับผลกระทบที่ถูกปรับภาษีขึ้นถึงร้อยละ 31 (จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 31 ในปีแรก) โดยทางการจีนยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) และใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้สหรัฐฯ โดยประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าไก่และรถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าการส่งออกไก่ของสหรัฐฯ ไปจีนน่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกไก่ที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุ้งเท้าไก่ การใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจเร่งให้กระแสการกีดกันทางการค้าทั่วโลกรุนแรงขึ้น ซ้ำเติมต่อภาวะการค้าโลกที่ซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยถ่วงการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย นอกจากนี้ การส่งออกของจีนที่เผชิญกับปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไปจีนของประเทศในเอเชียและไทยสำหรับใช้ผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ในฐานะที่จีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกและยังมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยเพื่อผลิตและส่งออก

ปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในที่ประชุมกลุ่มผู้นำจี 20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 กันยายนนี้ หากผู้นำกลุ่มจี 20 ยึดมั่นต่อข้อตกลงในที่ประชุมผู้นำกลุ่ม จี 20 ใน 2 ครั้งก่อนหน้า ที่ให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันเปิดตลาดสินค้าและลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นรูปธรรม ก็คาดว่าอาจส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกปรับดีขึ้นและช่วยให้การค้าโลกหลุดพ้นจากภาวะหดตัวได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากมูลค่าการค้าของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการค้าโลก โดยสหรัฐฯ และจีนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกและนำเข้ามีมูลค่าสูงอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลก

สำหรับผลต่อประเทศไทยต่อการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับยางล้อรถยนต์จากจีนนั้น คาดว่า การส่งออกยางพาราของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่ยางล้อรถยนต์ของจีนถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี ทำให้ความต้องการนำเข้ายางพาราจากจีนเพื่อผลิตเป็นยางล้อส่งออกไปสหรัฐฯ ชะลอลง แต่คาดว่าผลกระทบนี้อาจไม่รุนแรงนัก เนื่องจากยังมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากจีนเพื่อใช้ผลิตยางล้อรถสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ในจีนที่ยังเติบโตได้ดี เนื่องจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ของภาครัฐ นอกจากนี้ การปรับขึ้นภาษียางล้อของสหรัฐฯ จากจีน อาจเร่งให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ของจีนอาจหันมาลงทุนผลิตยางล้อในไทยมากขึ้นด้วย

สำหรับการส่งออกยางล้อรถของไทยไปสหรัฐฯ อาจมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยางล้อรถจีนที่ถูกปรับเพิ่มภาษี แต่การที่ทางการจีนอาจใช้มาตรการช่วยเหลือบริษัทผลิตยางล้อและบริษัทส่งออกยางล้อในประเทศ ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน เช่น การปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนภาคส่งออก (Rebate Tax) การปรับลดอัตราภาษีส่งออกและการใช้ยางล้อที่ผลิตในประเทศมากขึ้น อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และส่งผลให้ขีดความสามารถด้านราคาของยางล้อรถจีนในสหรัฐฯ ดีขึ้น ทำให้ผลดีข้างต้นของการส่งออกยางล้อรถของไทยไปสหรัฐฯ ลดลงไป นอกจากนี้ การส่งออกยางล้อรถของไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับยางล้อของจีนทั้งในประเทศไทยและในตลาดประเทศที่สาม เนื่องจากผู้ส่งออกยางล้อของจีนอาจหันมาส่งออกไปตลาดอื่นๆ มากขึ้น ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่ถูกปรับขึ้นภาษี

ส่วนการตอบโต้ทางการค้าของจีนที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นภาษีสินค้าไก่จากสหรัฐฯ โดยอยู่ระหว่างการไต่สวนการทุ่มตลาดนั้น คาดว่าอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อโอกาสการขยายการส่งออกไก่ของไทยไปจีนเท่าไรนัก เนื่องจากสินค้าไก่ที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่แปรรูป โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง รองลงมาเป็นอังกฤษ (สัดส่วนร้อยละ 29) ขณะที่สินค้าส่งออกไก่ของสหรัฐฯ ที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นอุ้งเท้าไก่ และการส่งออกของไทยไปจีนเป็นสินค้ากระดูกสัตว์ปีกและขนสัตว์ปีกและสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ซึ่งยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อยเฉลี่ยปีละราว 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสินค้าไก่ของไทยไปจีนจะได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้กรอบความ ตกลง FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ตาม โดยอัตราภาษีสินค้าไก่ของไทยไปจีนในปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 5 และจะเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 แต่มูลค่าส่งออกสัตว์ปีกของไทยไปจีนระหว่างปี 2548 ถึงปัจจุบันยังค่อนข้างน้อยและคงที่ 