เลือกตั้งเยอรมนีปี 2009…ผลต่อการส่งออกของประเทศไทย

ผลการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของเยอรมนีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) ของนายกรัฐมนตรีเองเกลา แมร์เคิลมีคะแนนนำเหนือพรรคคู่แข่งอย่างพรรคสังคมประชาธิปไตยหรือโซเชียล เดโมแครต (SPD) จนสามารถกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน แต่การเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาลจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรค SPD ซึ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องตลาดในประเทศเป็นหลัก ไปเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือฟรี เดโมแครต (FDP) ซึ่งมีแนวทางเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีและสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่มีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีสามารถขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสอย่างเหนือความคาดหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเทคะแนนให้กับพรรค CDU จนนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลสามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เป็นสมัยที่ 2 แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงปีหน้ายังคงเป็นประเทศท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนียังไม่มีความยั่งยืนและยังคงเผชิญกับปัจจัยคุกคามรอบด้านอาทิ อัตราการว่างงานในระดับสูง ภาวะสินเชื่อตึงตัวและการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มลดลงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดอายุในปีหน้า หากรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่สามารถกระตุ้นและรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังเยอรมนีขยายตัวได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจะช่วยให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปซึ่งมีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับเยอรมนีสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นซึ่งจะเปิดโอกาสการส่งออกให้กับสินค้าไทยในตลาดยุโรปมากขึ้น

เศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปสามารถขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 หลังจากเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยเศรษฐกิจเยอรมนีในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 สามารถขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.3 (YoY) หรือร้อยละ 0.3 (QoQ) จากไตรมาสก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ 3.5 (QoQ) ถือเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวติดต่อกันนาน 4 ไตรมาสเกิดจาก วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาคการส่งออกและการลงทุนของเยอรมนีหดตัวลงอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งเยอรมนีมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในโลกและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนีค่อนข้างมาก ขณะที่การบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลเยอรมนีทุ่มเงินงบประมาณกว่า 95 พันล้านยูโรหรือ 138 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านทั้งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของรัฐบาล เช่น การลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การลดภาษี การค้ำประกันเงินฝากและมาตรการอุดหนุนต่างๆ โดยเฉพาะการอุดหนุนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่รายละ 2,500 ยูโรหรือ 3,540 เหรียญสหรัฐฯ จนทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 (YoY) นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลกจนทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกระเตื้องขึ้นและก่อให้เกิดการขยายตัวของตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะชาติเอเชียอย่างจีน ช่วยให้ภาคการส่งออกของเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีสามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลกและเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับตลาดโลกมาโดยตลอดรวมถึงประเทศไทย ดังนั้นภาคการส่งออกของเยอรมนีจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเยอรมนีอย่างมาก

ปัจจัยบวกทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเหล่านี้ช่วยให้เศรษฐกิจเยอรมนีกลับมาขยายตัวได้อย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาส 2 และถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรกของยุโรปเช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่สามารถขยายตัวได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปที่ยังคงหดตัวร้อยละ 0.1 รวมถึงประเทศพัฒนาอื่นอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษที่ยังคงเผชิญกับภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกโดยอาจจะขยายตัวราวร้อยละ 0.8 (QoQ) ในไตรมาสที่ 3 และร้อยละ 0.1 (QoQ) ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของ16 ประเทศกลุ่มยูโรโซนในช่วงเดียวกันปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.2 (QoQ) และ 0.1 (QoQ) ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเยอรมนียังคงเผชิญกับปัจจัยลบที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าอาทิ

การลงทุนของภาคธุรกิจเยอรมนีไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากภาวะสินเชื่อตึงตัวในระบบการเงินของเยอรมนีส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีของเยอรมนี ที่คาดว่าจะเผชิญกับความยากลำบากในการขอสินเชื่อมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 และอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของเยอรมนีเนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีของเยอรมนีมีอัตราการจ้างงานถึงร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งประเทศ

อัตราการว่างงานสูง โดยคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 8.1 ในปี 2552 และอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2553 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนี เนื่องจากอัตราการว่างงานมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภคของภาคครัวเรือนในประเทศเยอรมนีและที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมนีใช้มาตรการลดอัตราการว่างงานในประเทศโดยช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานให้กับภาคธุรกิจเพื่อให้อัตราการว่างงานคงอยู่ในระดับต่ำและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีหลุดจากภาวะถดถอยได้ในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 8.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.2 จนทำให้จำนวนคนว่างงานสะสมของเยอรมนีในช่วง 8 เดือนแรกสูงถึง 3.472 ล้านคน นับเป็นภาระกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศ โดยในเบื้องต้นรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่อาจจะมีการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อให้การจ้างงานมีความสะดวกรวดเร็ว

การบริโภคในประเทศเยอรมนียังคงอ่อนแรง การบริโภคในเยอรมนีที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังจากการใช้จ่ายผู้บริโภคในปี 2551 ค่อนข้างคงที่ คาดว่าในปี 2552 การบริโภคในประเทศเยอรมนีมีแนวโน้มขยายตัวได้ร้อยละ 0.5 แต่อาจจะหดตัวลงร้อยละ 0.7 ในปีหน้าหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายฉบับทยอยหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่วางแผนเร่งลดภาษีรายได้ให้กับชาวเยอรมนีมูลค่า 15 พันล้านยูโร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและกลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยอาจจะลดภาษีเงินได้จากร้อยละ 45 เหลือร้อยละ 35 ทั้งนี้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีดำเนินนโยบายลดการว่างงานด้วยการคงค่าจ้างงานไว้ในระดับต่ำมาโดยตลอด ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศของเยอรมนีมีขนาดเล็กและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศให้ขยายตัวในอัตราที่มากพอที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เยอรมนีจึงหันไปให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาทิ จีน ตะวันออกกลาง และรัสเซีย

ข้อจำกัดของความสามารถด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้รัฐบาลเยอรมนีมีทางเลือกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไม่มากนัก เพราะการขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาลของเยอรมนีในปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จากความพยายามของรัฐบาลเยอรมนีในการเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึงร้อยละ 1.6 ของจีดีพีในปี 2552 ขณะที่มาตรการลดภาษีส่งผลให้รายรับของรัฐบาลลดลงอย่างมาก จนส่งผลให้หนี้สาธารณะในปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าที่ 86.1 พันล้านยูโร ทั้งนี้รัฐบาลชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายลงโดยการลดเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่ายในหน่วยงานของรัฐบาล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ทิศทางเศรษฐกิจของเยอรมนีภายหลังการกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเป็นสมัยที่ 2 ของนางแองเกลา แมร์เคิลย่อมจะมีผลต่อการส่งออกของไทยเนื่องจากเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ในระยะสั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเยอรมนีในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าจะถูกขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกเป็นหลัก และอาจจะได้ปัจจัยบวกจากภายนอกเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ลดลงและความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศที่จะเริ่มฟื้นตัวทีละน้อย ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศเยอรมนียังคงซบเซาทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและรัฐบาล เห็นได้จากยอดค้าปลีกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในเยอรมนีที่พุ่งสูงจากยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากอัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความวิตกกังวลเกี่ยวทิศทางทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีในปัจจุบันยังไม่มีความยั่งยืน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยหมดอายุในอนาคตอันใกล้ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ปัจจัยสุดท้ายคือ การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงอาจจะจำกัดทางเลือกของรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีในการต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับเดิมหรือออกมาตรการใหม่เพื่อประคับประคองการจ้างงานต่อไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้การใช้มาตรการปรับลดภาษีเงินได้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล อย่างไรก็ตาม การสานต่อนโยบายและแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเยอรมนีสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แม้ว่าประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอาจจะเผชิญกับข้อจำกัดจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเยอรมนีที่อยู่ในระดับต่ำและตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่แนวทางที่รัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่อย่างจีน ตะวันออกกลาง และรัสเซียน่าจะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกสินค้าจากไทยไปเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบซึ่งเยอรมนีนำเข้าเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าสำหรับการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการบริโภคโดยตรงจากไทยไปเยอรมนีรวมถึงสินค้าเกษตรมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย

ในระยะยาวแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) โดยหันไปจับมือกับพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ซึ่งมีแนวนโยบายแบบเสรีนิยม แทนที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรคโซเชียล เดโมแครต (SPD) ซึ่งมีแนวทางอนุรักษ์นิยม ย่อมจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้นเห็นได้จากนโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเพื่อต้องการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อโอกาสทางการส่งออกของไทยไปยังประเทศเยอรมนีเนื่องจากการลดภาษีเงินได้รวมถึงภาษีธุรกิจน่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจในเยอรมนีมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลงส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นทำให้ความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากไทยปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปขยายตัวได้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มอียูและยูโรโซนรวมถึงเยอรมนีมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของเยอรมนีที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเศรษฐกิจกลุ่มอียูและยูโรโซนอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากผู้นำของหลายชาติในยุโรปรวมถึงผู้นำเยอรมนีมีความเห็นแตกต่างจากผู้นำสหรัฐฯ ในประเด็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและวงเงินมหาศาล โดยรัฐบาลเยอรมนีให้การช่วยเหลือเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และรักษาระดับการจ้างงานโดยให้เงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงานแก่บริษัทเอกชนทั่วประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณมหาศาลผ่านโครงการของรัฐและให้กับภาคเอกชนโดยตรง เศรษฐกิจเยอรมนีที่ยังคงต้องใช้เวลาในการกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้การส่งออกไทยไปเยอรมนีอาจยังไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ แต่คาดว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

สรุป ผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อนางแองเกลา แมร์เคิล สามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน จากผลงานของรัฐบาลเยอรมนีที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจนสามารถทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวร้อยละ 0.3 (QoQ) ในช่วงไตรมาส 2 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 3.5 (QoQ) และไตรมาส 4 ของปี 2551 หดตัวร้อยละ 2.2 (QoQ) ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยของชาติอื่นในยุโรปยกเว้นประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งในยุโรปที่เศรษฐกิจเติบโตเป็นบวกเช่นกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างเหนือความคาดหมายนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของเยอรมนีในปี 2552 ที่เคยคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 6 ปรับตัวดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีขยายตัวตามไปด้วย แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถฉุดรั้งให้ให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปขยายตัวได้ โดยคาดว่า เศรษฐกิจของกลุ่มอียูและยูโรโซนรวมถึงเยอรมนีมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า

ในระยะสั้น จะส่งผลต่อโอกาสการค้าและเศรษฐกิจโดยรวมต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของเยอรมนีที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากอัตราการว่างงานในระดับสูงและการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักเป็นครั้งแรกของรัฐบาลเยอรมนี สามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล แต่คาดว่าการสานต่อแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมาได้เร็วขึ้น หากเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนแล้วคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของชาติยุโรปอื่นปรับตัวดีขึ้นและจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากเยอรมนีจัดเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในตลาดยุโรปและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในยุโรป สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่เยอรมนีนำเข้าเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีจึงน่าจะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดเยอรมนีเองและจะเป็นแรงผลักดันให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นภายหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปเยอรมนีที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น

ในระยะยาวแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) โดยหันไปจับมือกับพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ซึ่งมีแนวนโยบายแบบเสรีนิยม แทนที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรคโซเชียล เดโมแครต (SPD) ซึ่งมีแนวทางอนุรักษ์นิยม คาดว่าจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้นเห็นได้จากนโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเพื่อต้องการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อโอกาสการส่งออกของไทยในประเทศเยอรมนีเนื่องจากการลดภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจจะช่วยให้ภาคธุรกิจในเยอรมนีมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลงส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นและอาจช่วยให้ความต้องการสินค้าไทยในตลาดเยอรมนีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเปิดเสรีมากขึ้นของรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่อาจจะมีผลต่อการจัดตั้งเขตค้าเสรีอาเซียน-อียูที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนและอียูปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากแบบกลุ่มต่อกลุ่มมาเป็นการเจรจาระหว่างกลุ่ม อียูและอาเซียนรายประเทศโดยประเทศอาเซียนที่อียูจะลงนามในความตกลงฯ FTA ด้วยนั้นจะต้องมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Partnership Cooperation Agreement : PCA) ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และในปัจจุบันมีอินโดนีเซียเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่มีความตกลงฯ PCA กับอียู