ประเพณีถือศีลกินผักปี’52 : ท่องเที่ยวภูเก็ตยังซบ…รายได้ลด 600 ล้านบาท

ภูเก็ต ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นไข่มุกแห่งอันดามันนั้น นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในแถบอันดามัน ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาโดยตลอด เนื่องจากภูเก็ตมีสิ่งดึงดูดในด้านความงดงามของทิวทัศน์ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างหาดทราย และน้ำทะเลสีฟ้าใส รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและหลากหลาย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานสากลอย่างครบครัน นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีประเพณีถือศีลกินผักในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เก่าแก่เกือบ 200 ปีของชาวภูเก็ต

งานประเพณีถือศีลกินผักในช่วงเทศกาลกินเจของภูเก็ตสร้างชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเชื่อกันว่าภูเก็ตเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่จัดประเพณีกินเจขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนเชื้อสายจีนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวนไม่น้อยได้เดินทางเข้ามาเที่ยวชมงานประเพณีถือศีลกินผักที่ภูเก็ต หรือแม้แต่คนไทยเองก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมพิธี และถือโอกาสท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการจัดงานในช่วงเทศกาลกินเจกันอย่างคึกคักยิ่งใหญ่ จนก่อให้เกิดเม็ดเงินรายได้หมุนเวียนเป็นจำนวนไม่น้อยแก่ธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต สำหรับในปีนี้งานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-26 ตุลาคม 2552

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในเดือนตุลาคม 2552 จะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาพำนักท่องเที่ยวในภูเก็ตลดลงจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 13 ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 50 จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตในช่วงที่มีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ซึ่งมีจำนวนลดลงจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 10 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวหมุนเวียนในช่วง 9 วันของการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักลดลงร้อยละ 14 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ตปี’52…ส่อแววทรุดตัว
เทศกาลกินเจ หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผัก นั้น เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมานานประมาณ 184 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2368 เพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ซึ่งประชาชนถวายพระนามว่า “เก้าอ๊วง”

ประเพณีถือศีลกินผักที่ภูเก็ตจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ชมมากมาย เช่น พิธีอัญเชิญ “ลำเต้า-ปักเต้า” พิธีปีนบันไดมีด เดินสะพานตะปู พิธีลุยไฟ พิธีส่งเสด็จยกอ๋องและกิ้วอ๋อง เป็นต้น ซึ่งในพิธีเหล่านี้จะมีการอัญเชิญเทพเจ้าจีน หรือที่คนภูเก็ตเรียกว่า “พระ” มาเข้าทรงในร่าง “ม้าทรง”1 แล้วแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นที่ตื่นตาแก่คนดู สำหรับพิธีใหญ่ที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั้งไทยและเทศตั้งตารอคือ การแห่พระ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของงาน เพราะม้าทรงทั้งหมดในศาลเจ้า2จะมารวมตัวกันครั้งใหญ่ จากนั้นตั้งขบวนแห่จากแต่ละศาลเจ้าผ่านตัวเมือง บ้านเรือน และย่านการค้าสำคัญ ซึ่งเทพในร่างม้าทรงแต่ละองค์จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ของตนอย่างเต็มที่ โดยเน้นที่การทรมานตนเอง พิธีดังกล่าวเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่น รวมทั้งสำนักข่าวจากทั่วโลกมาเยือนภูเก็ตในช่วงงาน ส่งผลให้งานประเพณีถือศีลกินผักที่ภูเก็ตมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจวบจนทุกวันนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพำนักท่องเที่ยวในภูเก็ตช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจำนวนประมาณ 2 แสนกว่าคน ประกอบด้วยนักท่องเที่ยวคนไทยประมาณกว่าร้อยละ 40 และนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณเกือบร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีเชื้อสายจีนจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เริ่มเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นตามลำดับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และเยอรมนี รวมทั้งออสเตรเลีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วง 9 วันที่มีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,650 ล้านบาทลดลงร้อยละ 14 จากปีก่อนหน้า หรือลดลงประมาณ 600 ล้านบาท

เทศกาลกินเจในจังหวัดอื่นๆ…ความหวังฟื้นท่องเที่ยวทั่วไทยเดือนตุลาคม

การกินเจนับเป็นประเพณีที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญมาก เพราะถือเป็นช่วงเวลาของการสะสมบุญ ด้วยการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บริโภคแต่ผักผลไม้ งดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งผักและเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี หัวหอม กระเทียม และผักซึ่งมีกลิ่นฉุนบางชนิด รวมไปถึงการชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาดด้วย นอกจากงานประเพณีถือศีลกินผักที่จังหวัดภูเก็ต อันมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ต่างๆทั่วทุกภาคในประเทศไทยไม่เฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักต่างจัดงานเทศกาลกินเจกันอย่างคึกคักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวเชื้อสายจีนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย เดินทางเข้ามาเที่ยวเพื่อร่วมงานเทศกาลกินเจตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทย นอกเหนือจากจังหวัดภูเก็ต จนก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังท้องถิ่นต่างๆ และเป็นไปได้ว่าในปีนี้ นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยส่วนใหญ่ที่ต้องการร่วมเทศกาลกินเจจะเลือกเดินทางไปยังจังหวัดใกล้ๆ ที่มีการจัดเทศกาลกินเจ อันเนื่องมาจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

บทสรุป
ในปัจจุบัน พบว่า เมื่อก้าวย่างเข้าสู่เดือน 9 ของทุกปีตามปฏิทินจีนที่มักจะตรงกับเดือน 11ของไทยนั้น คนไทยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในเทศกาลกินเจกันมากขึ้นตามลำดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ต่างก็หันมากินเจกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากกระแสเรื่องห่วงใยสุขภาพที่เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนทุกชนชั้น เพราะการงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและหันมาบริโภคแต่ผัก ผลไม้นั้นจะช่วยชำระล้างของเสียออกจากร่างกาย หรือคนยุคนี้เรียกว่า “การล้างพิษ” ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ประกอบกับกระแสการส่งเสริมการตลาดของผู้จัดงานในจังหวัดต่างๆ ขณะที่ร้านค้า ร้านอาหารทั่วไปก็มักจะปักธงสีเหลืองเต็มไปหมดเพื่อดึงดูดลูกค้าในเทศกาลกินเจ โดยกระแสกินเจนั้นได้แผ่วงกว้างครอบคลุมไปทั่ว ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจกินเจก็ต้องพลอยกินเจไปด้วย เพราะหาอาหารประเภทเนื้อสัตว์กินลำบาก เทศกาลกินเจจึงถือเป็นช่วงสร้างรายได้อีกช่วงหนึ่งของธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมที่สามารถนำเสนอต่อผู้ต้องการกินเจ แต่ไม่สะดวกที่จะปรุงอาหารเจทานเองได้ที่บ้าน ส่งผลให้บรรยากาศเทศกาลกินเจของเมืองไทยคึกคักมากขึ้นทุกปี

โดยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาพำนักท่องเที่ยวในภูเก็ตช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตจะมีด้วยกันทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนกว่าคน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวหมุนเวียนในช่วง 9 วันที่มีการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,650 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากรายได้ที่ลดลงของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังซบเซา ขณะที่รายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตช่วงเทศกาลกินเจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ด้วยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ยังมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับในปัจจุบันเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศต่างจัดเทศกาลกินเจ เพื่อรองรับกระแสคนกินเจที่กำลังมาแรง จึงทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลกินเจตามศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดใกล้ๆที่เดินทางสะดวก มากกว่าจะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลกินเจตามจังหวัดไกลๆอย่างภูเก็ต หาดใหญ่ หรือตรังดั่งเช่นในอดีต