สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทย ก.ย. 52 … ลดลงจากเดือนก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เปรียบเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2551 พบว่า

สภาพคล่องกลับมาลดลงอีกครั้งในเดือนกันยายน 2552 โดยยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มีจำนวน 5.58 ล้านล้านบาท ลดลง 1.29 หมื่นล้านบาท จาก 5.59 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม และลดลงแล้ว 2.35 แสนล้านบาท จากยอดคงค้าง 5.82 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 ในขณะเดียวกัน ยอดเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน มีจำนวน 6.34 ล้านล้านบาท ลดลง 1.69 หมื่นล้านบาท จาก 6.38 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม และลดลง 1.19 แสนล้านบาท จาก 6.49 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 ทั้งนี้ ขนาดการลดลงจากเดือนก่อนหน้าของยอดเงินฝากที่มากกว่ายอดเงินให้สินเชื่อสุทธิในเดือนกันยายน ทำให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีทิศทางที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ออมมีการโยกเงินฝากออกไปจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนนี้ ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังคงมีการทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษออกมาอย่างต่อเนื่อง

สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)1 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.12 ล้านล้านบาท ลดลง 2.72 หมื่นล้านบาท จาก 2.15 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 อันเป็นผลจากการลดลงในองค์ประกอบ ได้แก่ เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในทิศทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า มีจำนวน 9.00 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ลดลงจำนวน 5.49 หมื่นล้านบาท จาก 9.55 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม

การลดลงจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดกลาง2 นำโดยการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 3.14 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.40 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ตามมาด้วยการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางจำนวน 1.33 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 4.96 แสนล้านบาท ส่วนสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 1.75 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.30 แสนล้านบาท

เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ยังเพิ่มขึ้นประมาณ 1.41 แสนล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก จำนวน 2.08 แสนล้านบาท ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 2.66 หมื่นล้านบาท และ 4.01 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ในเดือนกันยายน 2552 ภาพรวมสภาพคล่องในงบดุลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากการลดลงของเงินฝากในเดือนนี้ที่มีขนาดมากกว่าการลดลงของเงินให้สินเชื่อสุทธิเล็กน้อย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะผู้ออมมีการดึงเงินฝากออกไปลงทุนในทางเลือกการออมอื่นที่เสนอผลตอบแทนจูงใจเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงมีระดับต่ำ (ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ มีผู้สนใจจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนรวมถึง 1.3 แสนล้านบาท) ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยที่แม้จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย แต่การฟื้นตัวดังกล่าวที่ยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ก็อาจจะยังไม่ได้ส่งผ่านผลบวกมาสู่ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างเต็มที่มากนัก

สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะสภาพคล่องล่าสุดที่อยู่ที่ประมาณ 2.12 ล้านล้านบาท (ตามความหมายกว้าง) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 นับว่ายังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงและน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับการขยายสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะที่เหลือของปีนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในภาวะปัจจุบันแล้ว คงจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ถึงภาวะสภาพคล่องในอนาคตด้วย ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์มีความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้น อันจะส่งผลตามมาให้สินเชื่อมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป จังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะเห็นสภาพคล่องปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งอาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดขึ้นก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ