ตลาดทองตรุษจีนปี’53: คึกคักจากการเก็งกำไร…แต่ซื้อเพื่อแจกอั่งเปาซบต่อเนื่อง

ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำในช่วงเทศกาลตรุษจีนมักจะเป็นไปในลักษณะของ Seasonal Effect คือมักจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเทศกาลตรุษจีนจากช่วงเวลาปกติ ตามความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น เพื่อการเก็บสะสมไว้เป็นขวัญถุง หรือเสริมมงคลต้อนรับปีใหม่ รวมไปถึงเพื่อนำไปแจกเป็นอั่งเปาให้แก่ลูกหลาน ญาติผู้ใหญ่และลูกจ้าง จนทำให้สถานการณ์การซื้อขายทองในช่วงตรุษจีนคึกคักมากเป็นพิเศษแทบทุกปี

แต่มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้การปรับตัวของราคาทองคำอาจจะแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาทองในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลจีนมีมาตรการสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ด้วยนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และเพิ่มหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินเข้มขึ้น หรือการที่สหรัฐฯเพิ่มมาตรการคุมเข้มการเก็งกำไรในตลาดฟิวเจอร์ รวมถึงการที่สมาชิกสหภาพยุโรปอย่าง กรีซ สเปน และโปรตุเกสเริ่มมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ จนทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกและหันมาทยอยขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่างๆ อันหมายรวมถึงทองคำด้วย เพื่อเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯแทน ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงตรุษจีนปีนี้ รวมถึงราคาทองคำในไทยด้วยเพราะอิงราคาตลาดโลกเป็นสำคัญ

โดย ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ระดับราคาขายทองคำแท่งอยู่ที่บาทละ 16,850 บาท ซึ่งนับเป็นระดับราคาต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ส่งผลให้สถานการณ์การซื้อทองเพื่อการสะสมหรือเพื่อการเก็งกำไรในเทศกาลตรุษจีนปีนี้เป็นไปอย่างคึกคัก จนต้องมีการแจกใบจองจากร้านทอง อย่างไรก็ตาม ระดับราคาขายทองคำดังกล่าวก็ยังนับว่าสูงมากสำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อทองเพื่อนำไปแจกเป็นอั่งเปา จึงคาดว่าปี 2553 จะเป็นอีกปีที่คนไทยเชื้อสายจีนที่เคยแจกอั่งเปาเป็นทองจะหันมาแจกเป็นเงินสดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2551-2552 ภายหลังจากที่ราคาทองปรับตัวขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2550

สำหรับปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลต่อสถานการณ์การซื้อขายทองในช่วงตรุษจีนปี 2553 ประกอบด้วย

ปัจจัยบวกที่หนุนการซื้อทองเพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไร
1)ทิศทางราคาทองที่มีลดลงพอสมควรจากระดับสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับเทศกาลตรุษจีนในอดีต ที่อาจจะกระตุ้นให้สถานการณ์การซื้อขายทองคำกลับมาคึกคักขึ้นบ้างหลังจากซบเซามาตลอดปี 2552 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อเพื่อการออมและการสะสมความมั่งคั่ง หรือเก็งกำไร เพราะเล็งเห็นโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนจากระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน

2)ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ท่ามกลางภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอุปสรรคของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยปราศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐทั่วโลกยังมีอีกมาก ทำให้สินทรัพย์ทางการเงินหลายประเภทมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่จะปรับราคาลดลงได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือตราสารหนี้ รวมไปถึงการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้วย ซึ่งก็จะเป็นการช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวในระดับสูงหรือปรับตัวขึ้นได้อีก ดังนั้น ทองคำซึ่งนับเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดในการสะสมความมั่งคั่ง อีกทั้งยังมีสภาพคล่องคือเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่ายโดยที่มูลค่าไม่ลดลงด้วย จึงยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการถือครองท่ามกลางความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนับจากนี้

3)สถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคาและลดค่ากำเหน็จ เพื่อช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ให้ได้มากที่สุดของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจทองรูปพรรณและทองคำแท่ง ซึ่งในวงการค้าทองในรอบ 30 ปียังไม่เคยมีการเปิดศึกสงครามราคาที่รุนแรงเท่าครั้งนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม การซื้อทองเพื่อการลงทุน/เก็งกำไรนั้น นักลงทุนคงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาทองที่มักจะแกว่งตัวตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้วย เพราะหากมีจังหวะการซื้อขายที่ผิดพลาด ก็อาจจะประสบภาวะขาดทุนตามมาได้

ปัจจัยลบที่ไม่หนุนการซื้อทองเพื่อการแจกเป็นอั่งเปา
แม้ว่าการซื้อทองเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรจะเป็นไปอย่างคึกคักในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ แต่การซื้อทองเพื่อเป็นอั่งเปานั้นคาดว่าจะยังเป็นขาลงเช่นเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องด้วยราคาทองที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 21 ทำให้ความต้องการในการแจกอั่งเปาด้วยทองในเทศกาลตรุษจีนปีนี้จึงส่อแววซบเซาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 ของคนกรุงเทพฯโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 455 ราย อายุ 15-65 ปี ระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 พบว่า มีประเด็นพฤติกรรมการแจกอั่งเปาด้วยทองเพื่อต้อนรับตรุษจีนปีเสือที่น่าสนใจ ดังนี้

คนกรุงเทพฯแจกอั่งเปาในรูปของทองน้อยกว่าเงินสดต่อเนื่อง ในปีนี้สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่เลือกจะแจกเงินสดเป็นอั่งเปาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกจะแจกอั่งเปาเป็นทองมีการปรับตัวลดลงตามลำดับ(ดังรายละเอียดในแผนภูมิที่ 1) โดยผู้ที่ต้องการแจกอั่งเปาเป็นเงินสดนั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 96.5 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนที่ต้องการแจกอั่งเปา ขณะที่กลุ่มที่แจกอั่งเปาเป็นทองนั้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.5 ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเงินสดนั้นมีสภาพคล่องที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะมีมูลค่าต่อผู้รับ 1 คน มากหรือน้อยจากปีก่อนก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของผู้ให้หรือเถ้าแก่เป็นสำคัญ อีกทั้งราคาทองในปัจจุบันก็มีการปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว ทำให้กลุ่มคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนหลายรายที่เคยแจกทองในปีก่อนหันมาแจกเงินสดกันเพิ่มขึ้นในปีนี้

งบประมาณในการแจกอั่งเปาในรูปทองนั้นลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเคยชินกับการประหยัดรัดเข็มขัด ประกอบกับกระแสเงินสดในมือที่ยังไม่คล่องตัวมากนัก และแม้ว่าราคาทองจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปี 2553 ที่มีราคาเฉลี่ยเกือบ 18,000 บาท/ทองคำ 1 บาท แต่ก็ยังอยู่ในระดับราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนในปี 2552 ที่มีราคาประมาณ 15,000 บาท/ทองคำ 1 บาท หรือปรับเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 20 อันมีผลให้จำนวนผู้แจกอั่งเปาในรูปทองลดลง จึงประเมินว่าเม็ดเงินในการแจกอั่งเปาในรูปของทองของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในปีนี้จะลดลงประมาณร้อยละ 40 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า

น้ำหนักทอง 1 สลึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น การแจกอั่งเปาเป็นทองในปีนี้มีการลดทั้งจำนวนผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งแนวโน้มของการลดน้ำหนักทองที่แจกต่อคนก็ลดลงค่อนข้างชัดเจน โดยคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เลือกที่จะแจกอั่งเปาด้วยทองรูปพรรณที่มีน้ำหนัก 1 สลึงต่อผู้รับ 1 คน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 62.5 อีกทั้งยังเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนด้วย(ดังรายละเอียดในแผนภูมิที่ 2) ขณะที่ทองรูปพรรณที่มีราคาน้ำหนัก 2 สลึงต่อคน จนถึงน้ำหนักทอง 1 บาทต่อคน มีสัดส่วนลดลงจากปีที่แล้ว มีผลให้ภาพรวมของการใช้จ่ายในการซื้อทองรูปพรรณเพื่อแจกอั่งเปาในปีนี้จึงมีแนวโน้มซึมเซาพอสมควร

บทสรุป
แม้ว่าโอกาสในการเกิด Chinese New Year Effect หรือการปรับราคาเพิ่มขึ้นของทองคำในช่วงตรุษจีนปีนี้จะมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องด้วยปัจจัยในตลาดต่างประเทศส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาทองในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้มากกว่าความต้องการซื้อทองเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีน หรือเพื่อนำไปแจกเป็นอั่งเปา แต่สำหรับสถานการณ์การซื้อขายทองคำนั้น คาดว่ามีแนวโน้มที่จะคึกคัก เพราะราคาทองคำได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2552 จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีราคาลดลงถึงบาทละ 2,000 บาท ทำให้บรรดาผู้ซื้อเพื่อการสะสมหรือการเก็งกำไรสนใจเข้ามาซื้อทองกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยนักลงทุนต่างเล็งเห็นถึงโอกาสในการค้ากำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำแท่งที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต

ขณะที่สถานการณ์การซื้อทองคำเพื่อแจกเป็นอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มถดถอยลงตามลำดับ เพราะทั้งจำนวนผู้ให้และผู้รับอั่งเปาเป็นไปในทิศทางที่ลดลง และเป็นไปได้ว่าผู้รับจะกลายเป็นเพียงกลุ่มลูกหลานเท่านั้น เนื่องด้วยราคาทองที่สูงมากเป็นประวัติการณ์แม้ว่าจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม ซึ่งทั้งทองรูปพรรณและทองคำแท่ง(ทองคำ 96.5%) ในช่วง 10 วันก่อนวันตรุษจีนปี 2553 อาจจะมีราคาขายประมาณบาทละ 17,000 บาท ขณะที่ราคาทองในช่วงตรุษจีนปี’52 อยู่ในระดับไม่เกิน 15,000 บาท/ทองคำ 1 บาท ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะล้วนส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่อง และฐานะทางการเงินของผู้ซื้อ ส่วนร้านทองเองก็ยังต้องเผชิญกับความกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคาและลดค่ากำเหน็จ ทำให้ปี 2553 จึงเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการร้านค้าทองต้องเหนื่อยหนัก เพื่อช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ให้ได้มากที่สุดในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนปีนี้ ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค และพฤติกรรมในการตัดสินใจซื้อทองที่เปลี่ยนแปลงไป