สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนแรกปี 2553 … ลดลงจากสิ้นปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2552 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ดังนี้

สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของยอดเงินฝากและสินเชื่อ ลดลงในเดือนแรกของปี 2553 โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 5.74 ล้านล้านบาท ลดลง 3.84 หมื่นล้านบาท จาก 5.78 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 ขณะที่ ยอดเงินฝากลดลงด้วยขนาดที่มากกว่า คือ ลดลง 5.83 หมื่นล้านบาท จาก 6.50 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 มาอยู่ที่จำนวน 6.45 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นช่วงต้นปีซึ่งมีปัจจัยด้านฤดูกาลที่การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชนมักจะไม่เร่งตัวมากนักโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อที่มีปริมาณสูงในช่วงปลายปี ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ยังรอดูความชัดเจนของหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโดยเฉพาะในมาบตาพุด และปัจจัยการเมือง ส่วนในด้านเงินฝาก การลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการทยอยครบกำหนดของผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่ธนาคารพาณิชย์ได้มีการนำเสนอออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงผลจากการแข่งขันกับช่องทางการออมอื่นๆ ด้วย

สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)1 ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2552 โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.116 ล้านล้านบาท ขยับลดลงจำนวน 5.88 พันล้านบาท จาก 2.122 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 อันเป็นผลหลักจากการลดลงของเงินสด (หลังจากที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนที่แล้วซึ่งน่าจะเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมเงินเพื่อรองรับความต้องการใช้เงินของลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่) ตามมาด้วยการลดลงของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในทิศทางที่สอดคล้องกัน สินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น มีจำนวน 7.22 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ลดลงจำนวน 5.34 หมื่นล้านบาท จาก 7.75 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2552

การลดลงจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นจากการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก2 โดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางลดลงจำนวน 2.03 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 4.87 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ตามมาด้วยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่ลดลงจำนวน 8.91 พันล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.06 แสนล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจำนวน 2.33 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.42 ล้านล้านบาท

สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องในระยะถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นซึ่งยังคงเป็นช่วงต้นปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากปลายปีก่อน (ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินของทางการจีน ปัญหาด้านการคลังของบางประเทศในยูโรโซน การส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนประเด็นด้านความชัดเจนของนโยบายการลงทุน และการเมืองในประเทศ) อาจมีผลต่อความต้องการสินเชื่อและ/หรือการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชน และทำให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่องต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองทยอยคลี่คลายไปในทางที่เป็นบวกมากขึ้น แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ การเดินหน้าสานต่อโครงการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ น่าที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการคาดการณ์แนวโน้มสินเชื่อดังกล่าว รวมทั้งเพื่อรักษาฐานลูกค้าและการครบกำหนดไถ่ถอนของผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้ออกไปในช่วงก่อนหน้า ธนาคารพาณิชย์คงจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นการทั่วไป อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีมากกว่า ทั้งนี้ แม้การขยายตัวของสินเชื่ออาจทำให้สภาพคล่องลดลง แต่การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ด้วยการระดมเงินฝากหรือผลิตภัณฑ์การออมต่างๆ อาจช่วยให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมทั้งปียังมีแนวโน้มยืนระดับไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก

ส่วนผลกระทบจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง อายุ 6 ปี วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ของกระทรวงการคลัง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2553 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจมีค่อนข้างจำกัด หรือเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้น โดยเงินฝากอาจปรับลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในอีก 1-2 เดือนหลังจากนั้น เพราะธนาคารพาณิชย์น่าที่จะเตรียมการรับมือด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจหรือใกล้เคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เหมือนในกรณีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลังและพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายน 2552 ที่ผ่านมา