การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงฯ ….ทำเลที่ตั้ง และราคา ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ

ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเป็นไปในตลาด และเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียโอกาสในการทำตลาดให้กับคู่แข่ง การแข่งขันที่เข้มข้นทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น และสามารถใช้ระยะเวลาตัดสินใจได้นานขึ้น โดยเฉพาะในทำเลที่มีโครงการเปิดตัวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างของสินค้า เพื่อสร้างจุดขายของโครงการ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ด้านราคา มาเป็นสิ่งจูงใจผู้ซื้อให้เลือกโครงการของตน

เพื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ พฤติกรรมการในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน โดยผลการสำรวจมีความครอบคลุมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยจำแนกตามประเภท และปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุ รวมถึงสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยจัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ “พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย” ในระหว่างวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่สามารถนำมาประมวลผลได้รวมทั้งสิ้น 600 คน โดยทำการสำรวจในเขตกรุงเทพมหานคร และมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรในวัยทำงานและเป็นกลุ่มที่กำลังมองหาหรือกำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

ประเด็นสำคัญจากการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

คนกรุงเทพฯ … นิยมเลือกซื้อบ้านใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะซื้อบ้านใหม่สูงถึงร้อยละ 85.4 สำหรับรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุดยังคงเป็นบ้านเดี่ยว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.2 ของผู้ที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด รองลงมา คือ ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.2 ของผู้ที่คิดจะซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด และโครงการที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.6

ทั้งนี้ความต้องการบ้านใหม่จากโครงการทั้งบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมอยู่ในสัดส่วนที่สูง เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติและนิยมซื้อของใหม่ๆ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อบ้านใหม่ที่นอกเหนือจากพฤติกรรมความชอบส่วนตัวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้บ้านใหม่เป็นที่ต้องการในตลาด อาทิเช่น การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดในตลาดได้ อาทิเช่น การพัฒนารูปแบบของที่อยู่อาศัยให้เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดใจผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบ้านหรืออาคารชุด ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายตามพฤติกรรม วิถีชีวิต และความชอบ ซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยมีทางเลือกมากขึ้น เช่น โครงการที่เน้นความทันสมัย ความหรูหรา ความเป็นธรรมชาติสไตล์โมเดิร์นรีสอร์ท เป็นต้น

นอกจากนี้ราคาที่อยู่อาศัยใหม่มีราคาที่ไม่สูงนัก โดยในปัจจุบันผู้ประกอบการได้หันมาพัฒนาที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค และในทำเลที่มีการเปิดโครงการหลายๆ โครงการพร้อมกัน ทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีทางเลือกมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องของการตั้งราคาที่อาจสูงกว่าคู่แข่งได้ไม่มากนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบโครงการ ขนาดและแบบบ้าน ทำเลที่ใกล้เคียงกัน) รวมถึงในขณะนี้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองศูนย์กลางมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ชานเมืองมากขึ้น ซึ่งจะเปิดทำเลที่ดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ได้อีกมาก เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้การซื้อบ้านใหม่ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทย

สำหรับผู้ที่สนใจซื้อบ้านมือสองมีสัดส่วนร้อยละ 8.9 ของกลุ่มตัวอย่าง โดยธุรกิจบ้านมือสองในประเทศไทยยังไม่ค่อยได้รับความนิยมอย่างบางประเทศ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย หรือ อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าบ้านมือสองส่วนหนึ่งในตลาดนั้นมีศักยภาพทางการตลาดค่อนข้างต่ำ เนื่องจากปัญหาในเรื่องของคุณภาพและโครงสร้างของตัวบ้าน และระบบอุปกรณ์ภายในบ้าน ที่จะทำให้มีภาระในการปรับปรุงบ้านตามมาในภายหลัง แต่ในขณะที่ระดับราคาบ้านมือสองในบางทำเลไม่ต่างจากโครงการใหม่มากนัก (ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรได้เน้นเป้าหมายตลาดไปที่สินค้าระดับราคาประมาณ 1-5 ล้านบาท ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตลาดบ้านมือสองยังไม่เติบโตเท่าที่ควร

ในขณะที่ผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านเองมีร้อยละ 5.7 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 32.9 มีที่ดินเป็นของตนเอง จึงเลือกที่จะปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมากกว่าที่จะซื้อจากโครงการจัดสรร กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าการปลูกสร้างบ้านเองสามารถที่จะออกแบบได้ตรงความต้องการคิดเป็นร้อยละ 29.5 และคุณสมบัติของสินค้าที่มีอยู่ในตลาดไม่ตรงความต้องการ เช่น รูปแบบบ้าน พื้นที่ใช้สอย วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 22.9 รวมถึงสามารถที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 17.8

พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย

ในปัจจุบันตลาดบ้านใหม่ค่อนข้างจะมีบทบาทสำคัญ และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่อยู่อาศัยจึงเป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้ามาตลาดนี้อย่างมาก อย่างไรก็ดีการพัฒนาที่อยู่อาศัย ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน ทีมงานที่พร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการให้เป็นที่สนใจของลูกค้า รวมถึงการวางแผนการตลาดที่ดี ที่จะจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาซื้อหรือเยี่ยมชมโครงการ เป็นต้น นอกจากนี้ความสำเร็จของโครงการน่าจะมาจากการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจปัจจัยการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

จากการสำรวจ พบว่า ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้น เลือกที่จะซื้อจากโครงการที่สร้างเสร็จแล้วคิดเป็นร้อยละ 70.9รองลงมา คือ เลือกที่จะซื้อจากโครงการที่กำลังก่อสร้างร้อยละ 22.7 และโครงการที่เปิดตัวใหม่ยังไม่ได้เริ่มสร้างร้อยละ 6.4

สำหรับกลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะซื้อโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว มีสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่นนั้น อาจเป็นเพราะว่าลูกค้าสามารถที่จะจับต้องสินค้าได้และสามารถที่จะตัดสินใจได้ทันทีว่าสินค้านั้นตรงกับความชอบของตนหรือไม่ อีกทั้งโครงการที่กำลังสร้างหรือโครงการที่เปิดตัวใหม่อาจมีปัญหาในการก่อสร้างที่ล่าช้า รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ในภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า ฐานะความมั่นคงของเจ้าของโครงการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย คิดเป็นร้อยละ 22.5 (รองจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของระดับรายได้ในอนาคต)

หากมองจากด้านอุปทาน ในช่วงก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว ผู้ประกอบการหลายรายได้ใช้กลยุทธ์การสร้างเสร็จก่อนขาย (โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการบ้านจัดสรร) ซึ่งผู้ประกอบการที่จะใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ต้องมีความพร้อมทางการเงิน และแน่ใจว่าสินค้าของตนเป็นที่ต้องการของตลาดและมีกลุ่มลูกค้ารองรับ ซึ่งหากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการได้ เนื่องจากต้องแบกรับภาระทางการเงินจากบ้านรอขายที่เหลืออยู่ในสต๊อก

อีกทั้งในปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการมีการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ประกอบการบางรายจะหันมาใช้ทั้งกลยุทธ์บ้านสร้างเสร็จก่อนขายและบ้านสั่งสร้างควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนั้นกลยุทธ์ของผู้ประกอบการในการทำตลาดบ้านสั่งสร้าง จึงต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าให้ได้ว่า เมื่อมีการจ่ายเงินดาวน์ไปแล้ว โครงการจะสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามสัญญา

สำหรับปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกที่ซื้อที่อยู่อาศัย คือ ทำเลที่ตั้งของโครงการที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 25.9 ทั้งนี้ทำเลที่ตั้งของโครงการนอกจากจะหมายถึง ใกล้สถานที่ทำงาน โรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ แล้ว ยังหมายรวมถึงปัจจัยการเดินทางด้วย เช่น โครงการที่ตั้งอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ และเส้นทางคมนาคมที่สะดวกอย่างใกล้ทางด่วน เป็นต้น

ในขณะที่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยรองลงมา คือ ราคาของที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 22.5 ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ผู้เลือกซื้อที่อยู่อาศัยให้ความสำคัญในระดับที่ใกล้เคียงกับทำเลหรือที่ตั้งของโครงการ ทั้งนี้ราคาของที่อยู่อาศัยนั้น ผู้ซื้อจำเป็นต้องเลือกในระดับราคาที่สอดคล้องกับความสามารถหรือกำลังซื้อของตน ทั้งนี้จะเห็นได้จากผลการสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่พบว่า ผู้ที่มีรายได้ระดับ 10,001 – 40,000 บาท ส่วนใหญ่เลือกซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 70.6)

นอกจากนี้ปัจจัยที่ผู้ซื้อได้ให้ความสำคัญรองลงมา คือ สภาพแวดล้อมของโครงการ คิดเป็นร้อยละ 15.8 สภาพแวดล้อมของโครงการรวมถึงระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ซื้อนำมาประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ที่ผู้ซื้อได้ให้ความสำคัญ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของเจ้าของโครงการร้อยละ 14.3 คุณภาพของวัสดุก่อสร้างร้อยละ 11.7 และรูปแบบที่อยู่อาศัยตรงกับความต้องการร้อยละ 9.8

สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค … ด้วยการนำเอาระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ (Escrow Account) มาใช้

นอกจากนี้การสำรวจยังได้สอบถามความเห็นของผู้บริโภค เกี่ยวกับการนำระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มาใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 หรือ ระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มีขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ในที่นี้ คือ ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับฝากและเก็บรักษาดูแลเงินดาวน์ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งดูแลธุรกรรมให้เสร็จสมบูรณ์ตามเงื่อนไขที่คู่สัญญาได้ระบุไว้ในนิติกรรมนั้นๆ หากโครงการที่จำหน่ายไม่สามารถสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้ ผู้ซื้อจะได้รับเงินจำนวนที่ได้ผ่อนชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยคืน และในกรณีที่ผู้ซื้อมีการผิดนัดชำระเงินดาวน์หรือไม่ทำตามสัญญาที่ระบุ ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนที่ผู้ซื้อได้ผ่อนชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยคืน โดยในปัจจุบันมี สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์แล้วจำนวน 7 แห่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจถึง ทัศนคติของผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยต่อระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มีประโยชน์มากคิดเป็นร้อยละ 66.0 สำหรับรองลงมา เห็นว่าระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มีประโยชน์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 19.4 ในขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 13.0 ไม่รู้จักระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะหันมาประชาสัมพันธ์ให้ระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับการจัดทำระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ ทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการต่างต้องมีภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น (แล้วแต่การตกลงระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งในบางกรณีลูกค้าและผู้ประกอบการจ่ายคนละครึ่ง) คือ ค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระให้แก่ผู้ดูแลผลประโยชน์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.3 ต่อปีของจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ ภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจะช่วยคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในกรณีที่ผู้ใดผู้หนึ่งทำผิดข้อสัญญา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม จะเห็นว่าควรมีการใช้เอสโครว์ แอคเคานท์ อย่างไรก็ดีภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วผู้บริโภคที่เต็มใจที่จะใช้ระบบเอสโครว์แอค เคานท์อาจมีไม่มากเท่ากับอัตราส่วนตามผลสำรวจนี้

บทสรุปและข้อคิดเห็น

โดยสรุป การสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นความต้องการต่อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ที่ยังคงสนใจที่จะซื้อบ้านใหม่และต้องการซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วในสัดส่วนที่มากกว่า ขณะที่หากจำแนกตามประเภทที่อยู่อาศัยความต้องการของผู้บริโภคยังให้น้ำหนักไปที่บ้านเดี่ยวมากที่สุด รองลงมา คือ คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์

สำหรับประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสำรวจ คือ ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้น เลือกที่จะซื้อโครงการที่สร้างเสร็จแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70.9 และในขณะที่หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย คือ ฐานะความมั่นคงของเจ้าของโครงการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจหันมาให้ความสำคัญต่อการนำระบบเอสโครว์ แอคเคานท์ มาใช้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย และอาจนำมาเป็นจุดขายของโครงการได้ สำหรับโครงการที่กำลังก่อสร้าง หรือเริ่มเปิดตัว

สำหรับแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยหลังจากที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีแผนการปรับราคาขายขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีการแข่งขันที่สูง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง ทำให้การปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยในเวลานี้ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายในบางโครงการได้ โดยผู้ประกอบการอาจต้องมีการวางแผนการตลาดที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้า และใช้เวลาในการตัดสินใจมากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในบางทำเลยังเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่เอง ซึ่งผู้ประกอบการที่ยังไม่ปรับขึ้นราคา ก็จะเป็นจุดแข็งในการส่วนแบ่งการตลาดได้ เนื่องจากการยกเลิกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ยังส่งผลต่อภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมาเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ผู้ประกอบการจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ภายใต้การขับเคี่ยวที่เข้มข้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะยังคงไม่ปรับราคาที่อยู่อาศัยมากนัก โดยผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ได้หลายแนวทาง เช่น การลดต้นทุน ผู้ผลิตอาจพยายามรักษาอัตรากำไรด้วยการปรับลดรายการข้อเสนอเพิ่มเติมบางส่วนออกไป หรือการลดขนาดห้องชุด หรือขนาดของตัวบ้านลง แต่ยังคงรักษาคุณภาพมาตรฐานและระดับราคาไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป เนื่องจากการแข่งขันยังมีอยู่สูง และการศึกษาวิจัยความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในทำเลที่มีการแข่งขันสูง ที่มีการเปิดหลายโครงการพร้อมๆกัน ผู้ประกอบการอาจต้องทำการศึกษาความต้องการของตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างจุดแข็งและความได้เปรียบในตัวสินค้าและราคา