นโยบายอัตราดอกเบี้ยไทย … น่าจะมาถึงจุดเปลี่ยนทิศ

ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ 5 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 1.25 มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2552 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.รอบนี้ ดังต่อไปนี้

ผลการประชุม : มติขึ้นดอกเบี้ย … มีความเป็นไปได้
เมื่อคำนึงถึงการออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าความจำเป็นของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษที่ร้อยละ 1.25 มีน้อยลง และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายคุมเข้มแรงๆ ก็ควรที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสที่จะเห็นการปรับทิศนโยบายการเงินของ กนง.จากระดับผ่อนคลายอย่างมากสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) ด้วยการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 มาเป็นร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 นี้ ซึ่งก็จะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 อย่างไรก็ตาม มีโอกาสใกล้เคียงกันที่ กนง.อาจจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่จะถึง โดยรอติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน มีกำหนดเผยแพร่สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นเดือนที่ความเสี่ยงการเมืองลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ) ขณะเดียวกันก็เพื่อให้เวลาตลาดการเงินและภาคส่วนต่างๆ ในการปรับตัวก่อนที่จะปรับทิศนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 สิงหาคม 2553

อนึ่ง ไม่ว่ามติการประชุมรอบนี้จะมีข้อสรุปออกมาเป็นเช่นไรในระหว่างสองกรณีข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จังหวะเวลาที่ห่างกันเพียง 1 รอบการประชุม หรือประมาณ 6 สัปดาห์ คงไม่มีความแตกต่างกันมากนักสำหรับการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ (โดยมีกระแสข่าวที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า ธปท.อาจทบทวนปรับเพิ่มกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ในรายงานเงินเฟ้อที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันที่ 23 กรกฎาคม) ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปีข้างหน้า นอกจากนี้ การปรับทิศนโยบายการเงินของ กนง. หากเกิดขึ้น ก็ยังเป็นการดำเนินนโยบายในทิศทางที่สอดคล้องกันกับการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะที่ผ่านมา (ธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ธนาคารกลางมาเลเซีย ธนาคารกลางไต้หวัน ธนาคารกลางอินเดีย และล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้) ซึ่งธนาคารกลางบางแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางจีน ก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะถัดไปอีกด้วย

มุมมองต่อความเสี่ยงที่สำคัญทั้ง 2 ด้าน : ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดระดับลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น….

ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ … ลดระดับลงในช่วงครึ่งปีหลัง อานิสงส์จากมาตรการเยียวยา กระแสฟุตบอลโลก และความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังจำกัด

คงต้องยอมรับว่า ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางในแต่ละภูมิภาค (ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังขาดความแน่นอนหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการค่อยๆ เจือจางลง วิกฤตหนี้ภาครัฐในแถบยุโรปที่คงต้องอาศัยเวลาในการกอบกู้และเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางถึงยาวสำหรับการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจชั้นนำในโลก ตลอดจนการสกัดความร้อนแรงของภาวะฟองสบู่ในเศรษฐกิจเอเชียที่นำโดยจีนผ่านการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน) ถือเป็นประเด็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักและต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดๆ ไป

อย่างไรก็ดี แรงส่งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกเป็นหลัก ผนวกกับอานิสงส์จากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายของทางการไทย ซึ่งครอบคลุมถึงการเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบทางการเมืองออกมาในทันทีหลังการชุมนุมยุติลง และความต่อเนื่องของการใช้จ่ายจากภาครัฐผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณและเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ตลอดจนกระแสความนิยมในฟุตบอลโลกและการออกโครงการส่งเสริมการขายที่เกี่ยวเนื่องของสินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยบวกดังกล่าว น่าที่จะสามารถลดทอนผลกระทบจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างประเทศให้มีขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2553 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-6.0 (YoY) เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2552 แม้ว่าโมเมนตัมการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีแนวโน้มแผ่วลงเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก อันเป็นผลจากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจทำให้การส่งออกเติบโตในอัตราที่ชะลอลง

ทั้งนี้ ภาพรวมความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ลดระดับลง ภายใต้สมมติฐานที่ความเสี่ยงการเมืองไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) ก็น่าที่จะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นสำหรับการปรับขั้วนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นภายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ … ไม่น่ากังวลในปีนี้ แต่อาจมีน้ำหนักชัดเจนขึ้นในปีข้างหน้า
จากการต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพและมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานออกไปอีก 6 เดือน หรือมีผลไปจนถึงช่วงปลายปี 2553 และต้นปี 2554 ตามลำดับ ผนวกกับการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ไม่ได้เร่งขึ้นมากนักท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศคงจะไม่ใช่ประเด็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากนักในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยผลของฐานเปรียบเทียบและแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปี 2554 โดยเฉพาะเมื่อมาตรการอุดหนุนจากทางการสิ้นสุดอายุลง โดยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ กนง.ใช้ประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน มีแนวโน้มปรับขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 และแม้จะยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ในระยะที่เหลือของปีนี้ แต่ก็มีโอกาสจะสูงกว่ากรอบบนของเป้าหมายในช่วงครึ่งแรกของปี 2554

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปในลักษณะที่ไม่ล่าช้า (Pre-Emptive) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3/2553 ก็ถือได้ว่าน่าจะเป็นจังหวะเวลาที่สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการป้องกันภาวะความไม่สมดุลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งอาจบั่นทอนแรงจูงใจของการออมในประเทศ ตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่ กนง.ก็ได้เคยพิจารณาปัจจัยนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลสำหรับการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอดีตมาแล้วด้วยเช่นกัน (ช่วงเดือนกันยายน 2548 ถึงเดือนเมษายน 2549)

ผลต่ออัตราดอกเบี้ยในระบบ : ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การส่งสัญญาณของ กนง. และกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน
ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนในตลาดเงินดูเหมือนกับว่าจะยังไม่ได้ปรับตัวอย่างเต็มที่รับการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทอายุไม่เกิน 7 ปีที่ขยับขึ้น 1-21 จุด นับจากการประชุมรอบก่อน (2 มิถุนายน) จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม (โดยเพิ่งขยับขึ้นชัดเจนในระยะไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดการประชุม กนง.) ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปยังปรับลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน (Bilateral Repo ระยะเวลา 14 วัน) ก็เพิ่งจะขยับขึ้นมากกว่าร้อยละ 1.25 เล็กน้อยในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน รวมทั้งน่าจะเป็นผลจากปริมาณสภาพคล่องที่ยังมีอยู่สูงในตลาดเงิน (มากกว่า 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553)1 ขณะที่ตลาดการเงินน่าจะรับรู้และปรับตัวรับการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้นี้ของ กนง.แล้วในระดับหนึ่ง

ดังนั้น การปรับตัวของตลาดการเงินในระยะถัดไป นอกจากจะขึ้นกับมติ กนง.ในการประชุมรอบนี้แล้ว คงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณของ กนง.ถึงความต่อเนื่องในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะมีมากน้อยเพียงใดในระยะที่เหลือของปี รวมไปถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ของนักลงทุน อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่น่าจะมาถึงจุดเปลี่ยนทิศดังกล่าว อาจจะมีผลต่อต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทอายุสั้นๆ ที่มักปรับขึ้นสอดรับกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนประเภทอายุยาว ยังน่าที่จะเป็นไปในขอบเขตที่จำกัดภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจชั้นนำในโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์นั้น ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมคงจะอยู่ที่ความสามารถในการขยายสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ) ตลอดจนกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินโดยการดูดซับสภาพคล่องผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ ของ ธปท. โดยมองว่า หาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็คงจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมตาม แต่จังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นนั้น คงจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบของทางการเป็นสำคัญ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับผ่อนคลายอย่างมากที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ในการประชุมรอบที่ 5 ของปีในวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงกันกับความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ และเตรียมการณ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 สิงหาคม 2553

ทั้งนี้ ไม่ว่ามติการประชุมรอบนี้จะมีข้อสรุปออกมาเป็นเช่นไรในระหว่างสองกรณีข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จังหวะเวลาที่ห่างกันเพียง 1 รอบการประชุม หรือประมาณ 6 สัปดาห์ คงไม่มีความแตกต่างกันมากนักสำหรับการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปีข้างหน้า นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว หากเกิดขึ้น ยังเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในระบบหรือต้นทุนทางการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับตัวของตลาดการเงินในระยะถัดไป นอกจากจะขึ้นกับมติ กนง.ในการประชุมรอบนี้แล้ว คงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณของ กนง.ถึงความต่อเนื่องในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะมีมากน้อยเพียงใดในระยะที่เหลือของปี รวมไปถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ของนักลงทุน ขณะที่ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมสำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น คงจะอยู่ที่ความสามารถในการขยายสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินโดยการดูดซับสภาพคล่องผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ ของทางการ โดยมองว่า หาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็คงจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมตาม แต่จังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นนั้น คงจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน และการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบของทางการเป็นสำคัญ