การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครึ่งหลังปี 2553 … แข่งขันเข้มข้นผู้ประกอบการระดมแคมเปญกระตุ้นตลาด

ตั้งแต่ต้นปี 2553 ดูเหมือนว่าธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มกลับมามีความคึกคักมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา และผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank ต่างระดมแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันอย่างคึกคัก ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ดีในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ธุรกิจบัตรเครดิตจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ความวุ่นวายทางการเมืองได้ยุติลง รัฐบาลได้เร่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว โดยการเร่งออกนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังความวุ่นวายทางการเมืองเริ่มกลับมาดีขึ้นตามลำดับ และคาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจบัตรเครดิตในระยะที่เหลือของปี 2553 นี้เช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 และแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังปี 2553 ดังต่อไปนี้

เหตุการณ์ทางการเมืองชะลอการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาด เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตที่กำลังปรับตัวดีขึ้นต้องชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดไปตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อาทิ การทำแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวร่วมกับโรงแรม และการทำการตลาดร่วมกับห้างสรรพสินค้านอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง เป็นต้น สำหรับภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) มีมูลค่าประมาณ 270,340 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2552

อย่างไรก็ดีจากกราฟข้างล่างแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้ฉุดการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลง โดยเติบโตเพียงร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (เช่นเดียวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน)

แต่คาดว่าในเดือนมิถุนายน การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาดีขึ้นจากอานิสงส์มหกรรมฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งเป็นกีฬาที่นิยมในหมู่คนไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตได้โหมกิจกรรมการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตร่วมกับพันธมิตรร้านค้า และห้างสรรพสินค้า กันอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศขยายตัวโดดเด่นกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่น โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 122,147 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโตเพียงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ในปี 2552 นอกจากนี้การเติบโตของของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่มนี้ยังเป็นการเติบโตกว่าทั้งระบบ และมีสัดส่วนการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ได้โหมการตลาดอย่างเข้มข้นในการขยายฐานบัตรใหม่ และการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 47,689 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 10.9 โดยเติบโตดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตเพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2552 ทั้งนี้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้กลับมาทำตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้บัตรเครดิตมากขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรของตน

ในขณะที่กลุ่ม Non-Bank ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 100,503 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2552 สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มนี้แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในผู้ประกอบการบางราย ซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบแล้ว พบว่า Non-Bank สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย

แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครึ่งหลังปี 2553 : แข่งขันเข้มข้น … คาดทั้งปีเติบโตร้อยละ 15.0-17.5

แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดบัตรเครดิตคงจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้นทุกขณะ เมื่อผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างโหมแคมเปญการตลาดกันอีกครั้ง โดยเริ่มจากการเร่งขยายฐานบัตรเครดิตใหม่กันอย่างเข้มข้น และการระดมแคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนมากขึ้น โดยการนำเสนอสิทธิประโยชน์บัตรเครดิตใหม่ๆ และการหาพันธมิตรร้านค้าที่หลากหลาย เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงการที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตพยายามเพิ่มช่องทางร้านค้ารับบัตรเครดิตให้แพร่หลายมากขึ้น โดยการรุกตลาดการซื้อขายออนไลน์ หรือ E-Commerce และการรุกตลาดไปยังจังหวัดหัวเมืองเศรษฐกิจที่เริ่มมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปเปิดสาขามากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย และเทศกาลท่องเที่ยวของไทย จึงเป็นช่วงที่สำคัญของผู้ประกอบการบัตรเครดิตจะสรรหากลยุทธ์การตลาด เพื่อเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และจูงใจลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตหลายใบให้หันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนเพิ่มขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับขึ้นประมาณการภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 712,000 – 727,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ถึง ร้อยละ 17.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปี 2552

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อจากนี้ไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งหากมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งก็อาจจะส่งผลต่อธุรกิจบัตรเครดิตดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่แวดล้อมธุรกิจบัตรเครดิตที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ให้เติบโตตามที่คาดการณ์ได้ โดยปัจจัยภายนอกประเทศ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลง ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่าอาจไม่กระทบต่อดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ตาม แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่นๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และราคาสินค้าที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าผู้บริโภคบางกลุ่มที่จะปรับเปลี่ยนไป เป็นต้น

โดยสรุป ในช่วงที่ผ่านมา การแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตจะเป็นระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตรายใหญ่ทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ และกลุ่ม Non-Bank โดยผู้ประกอบการบัตรเครดิตขนาดกลางได้ชะลอแคมเปญการตลาดออกไป แต่อย่างไรก็ดีภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับนั้น ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างกลับมาเร่งทำแคมเปญการตลาดกันอย่างคึกคักและเข้มข้นกันอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ผู้ประกอบการคงยากที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะรุกธุรกิจบัตรเครดิตอย่างหนัก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่เน้นการทำธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยยังคงเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตใหม่อย่างเข้มข้น โดยการนำเสนอความหลากหลายของสิทธิประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิต เพื่อขยายฐานบัตรเข้าสู่กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยมีบัตรเครดิต และเพื่อช่วงชิงลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตของคู่แข่งให้หันมาใช้จ่ายบัตรของตนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางที่จะเข้ามารุกตลาดบัตรเครดิตคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยผู้ประกอบการคงจะต้องนำเสนอจุดเด่นของบัตรเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตให้ดูจูงใจเท่ากับคู่แข่ง
ในขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการจะมีข้อจำกัดในเรื่องของสาขา ที่ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความเสียเปรียบผู้ประกอบการในกลุ่มอื่นๆ ในเรื่องของการขยายฐานบัตรเครดิต ที่ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังคงโหมแคมเปญตลาดบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะจุดเด่นของบัตรเครดิตของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ คือ สามารถรับส่วนลดร้านค้าและที่พักโรงแรมในต่างประเทศได้ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่ม Non-Bank นั้น คงจะกลับมาเดินหน้าทำแคมเปญการตลาด เพื่อเร่งยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อไป ภายหลังจากที่สัดส่วนการใช้จ่ายของกลุ่มนี้ลดลงจากที่เคยมีสัดส่วนที่สูงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่รุนแรง และมีการนำเสนอส่วนลด และสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายในการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ แต่ผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูง ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ควรเกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป เช่น การกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน เป็นต้น และไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่ารายได้ต่อเดือน เนื่องจากการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี