ทรูวิชั่นส์ประสบความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์ วงเงิน 12,000 ล้านบาท

กลุ่มบริษัททรู นำโดย คุณศุภชัย เจียวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร (กลาง) คุณอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย (ที่ 3 จากขวา) คุณนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน (ขวาสุด) คุณธิติฎฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (ที่ 3 จากซ้าย) และดร. พิษณุ สันทรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินธุรกิจออนไลน์ (ซ้ายสุด) ร่วมพิธีลงนามรีไฟแนนซ์ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ประสบความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์ บมจ. ทรูวิชั่นส์ วงเงิน 12,000 ล้านบาท พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรของทรูวิชั่นส์ ธุรกิจบริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกทั่วประเทศรายเดียวของไทยภายใต้กลุ่มทรู เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ทรูวิชั่นส์ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารทหารไทย ในการจัดหาวงเงินกู้ระยะยาวสกุลไทยบาท จำนวน 12,000 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารผู้จัดหาเงินกู้หลัก และธนาคารทิสโก้ และธนาคารทหารไทย เป็นผู้จัดหาเงินกู้ร่วม ทั้งนี้เงินกู้ดังกล่าว จะนำไปชำระคืนหนี้เดิมจำนวนประมาณ 9,700 ล้านบาท โดย 2 ใน 3 ของหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้เงินทุนส่วนหนึ่งจะใช้เป็นเงินสำรองสำหรับการขยายงานในธุรกิจใหม่ๆ และการรีไฟแนนซ์ดังกล่าว ยังทำให้บริษัทสามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้ จากเดิมมีกำหนด 3 ปีเป็น 8 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับ MLR (Minimum Lending Rate) หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลาที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี

ในขณะเดียวกัน ทรูวิชั่นส์ ได้ปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท โดยจัดตั้งบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในรูปของบริษัท โฮลดิ้งจำกัด (Holding Company) เพื่อรองรับการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่ๆ ภายใต้กรอบการกำกับดูแลในปัจจุบัน

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า “บริษัทสามารถยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของทรูวิชั่นส์ โดยการใช้ประโยชน์จากสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงิน (Credit Profile) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สามารถลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน”

“การรีไฟแนนซ์และปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ จะเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงต่อพัฒนาการของทรูวิชั่นส์ในอนาคต ทำให้ทรูวิชั่นส์มีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างธุรกิจใหม่จะเปิดโอกาสให้ ทรูวิชั่นส์สามารถขอรับใบอนุญาตในการประกอบกิจการใหม่ๆ เสริมความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจใน ระยะยาว”

“ความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์ธุรกิจของทรูวิชั่นส์ในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของกลุ่มทรูหลังประสบความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์ธุรกิจทรูออนไลน์ในปี 2552 ตอกย้ำนโยบายหลักของกลุ่มที่เน้นความสำคัญในการ รีไฟแนนซ์ภาระหนี้เดิม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน ทรูขอขอบคุณธนาคารที่ให้ความสนับสนุนในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นผู้นำและการบริหารงานอย่างมืออาชีพของผู้บริหาร รวมถึงการดำเนินงานของทรูวิชั่นส์และกลุ่มทรู ในระยะยาว” นายนพปฎล กล่าวในที่สุด

ภายใต้โครงสร้างองค์กรใหม่ในรูปของบริษัทโฮลดิ้งจำกัด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ. ทรู วิชั่นส์ ร้อยละ 73.32 (โดยบริษัทเทเลคอม โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มทรู ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 25.01) และมีสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ. ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล อีกร้อยละ 48.34 (โดย บมจ. ทรู วิชั่นส์ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 51) ทั้งนี้ กลุ่มทรูถือหุ้นในบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ผ่านบริษัท เทเลคอม โฮลดิ้ง จำกัด จำนวนร้อยละ 99.9