การปรับค่าธรรมเนียมการให้บริการเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์…ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

คงต้องยอมรับว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงินหลายประเภทของธนาคารพาณิชย์ถูกจับตามากขึ้นในระยะหลัง เนื่องจากถูกมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยจากข้อมูลของศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ผู้บริโภคที่ติดต่อเข้ามายังศูนย์ฯ นั้น ส่วนใหญ่มักแสดงความคิดเห็นเชิงลบกับปัญหาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ปัญหาด้านบริการ (อาทิ ค่าธรรมเนียมการติดตามทวงถามหนี้ ค่าปรับ รวมถึงค่าบริการโอนเงินข้ามเขต ค่าบริการเอทีเอ็ม และค่าบริการเกี่ยวกับการรักษาบัญชี) 2. ปัญหาด้านสินเชื่อ (เช่น การปฏิเสธสินเชื่อ เป็นต้น) และ 3. ปัญหาด้านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งแม้ว่าทางการจะได้สรุปเรื่องแจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง แต่เสียงบ่นจากผู้บริโภคในภาพรวมดังกล่าว ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับการที่ ธปท.ได้ผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาในด้านระบบการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบในภาพรวม อีกทั้งนโยบายตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ทางการหยิบยกประเด็นด้านการเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง จนนำมาสู่การผลักดันการหารือระหว่าง ธปท.และสมาคมธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้ว ก็นำมาสู่ข้อสรุปในการปรับค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มในวันที่ 27 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลและประเด็นเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ ดังนี้

ที่ผ่านมา โครงสร้างรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยหันมาพึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น ขณะที่ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเอทีเอ็มและการโอนเงิน/เรียกเก็บเงินมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด

จากบทเรียนที่ได้รับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ชี้ว่าการพึ่งพิงรายได้จากสินเชื่อในระดับสูง มีผลให้ผลประกอบการมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจสูงตามไปด้วยนั้น ได้กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับโครงสร้างรายได้มาพึ่งพิงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม ที่ผันแปรต่อวัฏจักรเศรษฐกิจต่ำกว่า อีกทั้ง “กินทุน” น้อยกว่า ดังจะเห็นได้จาก สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสัดส่วนประมาณ 15.0% (เฉลี่ยปี 2535-2539) มาที่ 21.7% ในปี 2552 ก่อนที่จะขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 22.2% ต่อรายรับรวม (ซึ่งประกอบด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยดังกล่าว ก็ยังถือว่าต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ระดับโลกหลายแห่งที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายรับรวม

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยมีรายได้ค่าธรรมเนียมรับรวม 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขยายตัว 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เร่งขึ้นจาก 11.4% ในปี 2552 ขณะที่ เมื่อพิจารณารายละเอียดของค่าธรรมเนียมรับจำแนกตามประเภทแล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมที่มีบทบาทสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ในเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรเอทีเอ็มและธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ (มีสัดส่วน 19.9%) บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน (มีสัดส่วน 17.5%) ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรเครดิต (มีสัดส่วน 15.8%) และค่าธรรมเนียมจาก Bancassurance (นับเป็นส่วนที่สำคัญในรายได้ค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ ที่มีสัดส่วน 29.2%)

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเอทีเอ็มและการโอนเงินจะมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นของธนาคารพาณิชย์ แต่ข้อมูลเผยแพร่ของค่าธรรมเนียมดังกล่าว มีความครอบคลุมที่กว้างกว่าค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการโอนเงิน-ถอนเงินในธนาคารเดียวกัน/ต่างธนาคารแบบข้ามเขต/ในเขตเดียวกัน โดยค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับบัตรเอทีเอ็มฯ นั้น จะรวมถึงค่าธรรมเนียมในการทำบัตรเอทีเอ็ม ค่าบริการถอนเงินข้ามเขต และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้าในการใช้บริการ Computer Software และ Computer Information ของสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะที่ ค่าธรรมเนียมจากบริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน จะนับรวมถึงค่าบริการโอนเงิน ค่าบริการจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานของกิจการที่เป็นลูกค้า (Payrolls) การเรียกเก็บเงินตามเช็คและตั๋วเงิน และการรับฝากเงินแทนสถาบันการเงินอื่น เป็นต้น ซึ่งจะกระจายไปทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลรายย่อย นอกจากนี้ โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่พึ่งพิงรายได้จากธุรกรรมที่เกี่ยวกับบัตรเอทีเอ็ม ธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการโอนเงินและการเรียกเก็บเงินค่อนข้างมากดังกล่าว ส่วนหนึ่งยังน่าจะสะท้อนถึงลักษณะการอุดหนุนข้ามประเภทบริการ (Cross Subsidy) โดยเฉพาะบริการที่มีต้นทุนสูงและธนาคารไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมในปัจจุบัน อาทิ การบริหารจัดการต่างๆ เกี่ยวกับเงินสด ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนจากการเคลื่อนย้ายเงินสดระหว่างพื้นที่ การเก็บรักษา และการดูแลความปลอดภัย ขณะที่ บริการดังกล่าว ถือเป็นบริการที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้กับลูกค้า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพิง “เงินสด” เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลักอยู่ อย่างไรก็ตาม การประเมินค่าธรรมเนียมทางตรงจากบริการดังกล่าว เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีอุปสรรคและความซับซ้อนในการประเมินลึกลงไปถึงระดับลูกค้าที่ใช้บริการและมีความต้องการในการถือครองเงินสดสูง ซึ่งมักเป็นลูกค้าบุคคลรายย่อย และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและย่อม ฉะนั้น แนวทางในการลดต้นทุนของธุรกรรมที่ผู้บริโภคต้องรับภาระในภาพรวมนั้น นอกจากจะอาศัยการทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้บริโภคแล้ว ก็อาจต้องดำเนินการควบคู่กับแนวทางอื่นๆ ที่มุ่งลดปริมาณการใช้เงินสดของประชาชนทั้งประเทศร่วมด้วย

ค่าธรรมเนียมการให้บริการเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ใหม่…ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ ในวันที่ 27 กันยายน 2553 ธปท.ได้เผยแพร่ข้อสรุป (ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย) เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมการโอนเงินในธนาคารเดียวกันข้ามเขต รวมทั้งการถอนเงินแบบข้ามเขต (ของธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร) และการถอนเงิน/ถามยอดในจังหวัดเดียวกันแต่ต่างธนาคาร ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2554 เป็นต้นไป

ผลต่อผู้บริโภค … ได้รับประโยชน์มากขึ้นจากค่าธรรมเนียมใหม่
การทำธุรกรรมที่มีมูลค่าน้อยๆ ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการปรับรูปแบบการคิดค่าธรรมเนียมข้ามเขต จากเดิมที่ส่วนหนึ่งจะอิงกับปริมาณการโอน/ถอนเงิน มาอยู่ในรูปแบบจำนวนครั้งของการทำธุรกรรม ช่วยให้การทำธุรกรรมมูลค่าน้อยๆ จ่ายค่าธรรมเนียม หรือมีต้นทุนการโอนเงินที่ลดลง หรือไม่เสียเลย (ตามเงื่อนไขด้านจำนวนครั้งที่กำหนด) ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการโอนเงินข้ามเขตในธนาคารเดียวกัน ซึ่งปกติ ลูกค้ามักจะทำการโอนเดือนละครั้ง และเดิมจะจ่ายค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท แต่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ การโอนเงินดังกล่าวเพียงครั้งเดียวต่อเดือน จะไม่เสียค่าบริการ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกับการโอนเงินที่มีมูลค่าและความถี่ต่ำสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย อีกทั้งดีกับกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่ส่งเงินกลับให้กับญาติในต่างจังหวัด ขณะที่ ผู้ที่มีความต้องการในการโอนเงินด้วยจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้น จะเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 15 บาท จากเดิมที่เสียค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท ซึ่งจะลดลงถึง 25% นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ถอนเงินข้ามเขตในมูลค่าที่ค่อนข้างมาก ก็จะได้รับประโยชน์จากวิธีการคิดค่าธรรมเนียมใหม่นี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้นเช่นกัน

ผู้บริโภคในต่างจังหวัด…จ่ายค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สวนทางกับผู้บริโภคใน กทม. โดยในกรณีของการถอน/ถามยอดผ่านเอทีเอ็มต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกัน ได้มีการปรับค่าธรรมเนียม จากเดิมที่จะแตกต่างกันระหว่างเอทีเอ็มในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด (โดยต่างจังหวัดจะเผชิญค่าธรรมเนียมแพงกว่า) ให้มาอยู่ในระดับเท่ากันนั้น ทำให้ผู้บริโภคที่ถอนเงินในต่างจังหวัด จ่ายค่าธรรมเนียมลดลงกว่าครึ่ง หรืออาจไม่เสียเลยหากทำธุรกรรมไม่เกิน 4 ครั้งต่อเดือนนั้นๆ ขณะที่ ผู้บริโภคใน กทม.จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีก 5 บาท สำหรับการทำธุรกรรมข้ามธนาคารครั้งที่ 5 ภายในเดือนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคใน กทม.น่าจะมีทางออกอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ไม่ยากนัก ท่ามกลางทางเลือกที่มากกว่า (อาทิ การใช้บริการจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัตร ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน หรือศูนย์กลางธุรกิจ) ดังจะเห็นได้จากจำนวนเครื่องเอทีเอ็มต่อประชากรที่อยู่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ถึงหลายเท่าตัว

ผลต่อธนาคารพาณิชย์ … รายได้ลด และประเด็นที่ต้องหาความชัดเจนเพิ่มเติม
รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง โดยจากการรวบรวมข้อมูลของสมาคมธนาคารไทย พบว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมการเบิกถอน/โอนเงินข้ามเขต จะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของระบบลดลงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นว่ายังคงมีการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ แต่ด้วยประเภทธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับลดลงจากเดิม (ไม่ใช่การยกเว้น) ทำให้มีการประเมินกันว่าผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์คงจะลดลงมาอยู่ในระดับหลักพันล้านบาท ซึ่งจะแตกต่างกันระหว่างธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งขึ้นกับส่วนแบ่งตลาดของปริมาณธุรกรรมแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมที่ลดลงในช่วงแรก น่าจะได้รับการชดเชยด้วยปริมาณการทำธุรกรรมของผู้บริโภครายย่อยที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ประเด็นสืบเนื่องที่จะตามมา แม้ว่าค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินและถอนเงินทั้งข้ามและไม่ข้ามเขตดังกล่าว จะมีความชัดเจนมากขึ้นในมิติของผู้ใช้บริการ แต่ธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเผชิญโจทย์ที่จะตามมาอีกบางประเด็น อาทิ ประการแรก การปรับปรุงระบบที่เกี่ยวข้องของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในกรณีการโอนเงินข้ามเขตของธนาคารเดียวกัน ให้สามารถรองรับวิธีคิดค่าธรรมเนียมในรูปแบบ “จำนวนครั้ง” (จากปัจจุบันที่พิจารณาจากจำนวนเงินของการทำธุรกรรมในหลักหมื่นบาท) และบันทึก/ติดตามการทำธุรกรรมของลูกค้าแต่ละรายในแต่ละเดือน เพื่อให้สามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมครั้งแรกได้

ประการที่สอง การปรับปรุงโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมด้าน Settlement ระหว่างธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่ผู้บริโภคทำธุรกรรมถามยอด/ถอนเงินต่างธนาคาร ระหว่างธนาคารพาณิชย์ผู้เป็นเจ้าของบัตร (ธนาคาร A) และธนาคารพาณิชย์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องเอทีเอ็ม (ธนาคาร B) เพื่อสอดคล้องกับอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการถอนเงินในเขตเดียวกันระหว่างธนาคาร ภายใน กทม. เดิม ผู้บริโภคที่ถือบัตรของธนาคาร A จะเสียค่าธรรมเนียมในการถอนครั้งที่ 5 (ของเดือนนั้นๆ) ซึ่งจะตัดออกจากบัญชีของลูกค้าที่ธนาคาร A (เป็นรายได้ของธนาคาร A) แต่ในทางปฏิบัติของการ Settlement ระหว่างธนาคารนั้น ธนาคาร A จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร B ผู้เป็นเจ้าของเครื่องเอทีเอ็มตั้งแต่ครั้งแรกของการถอนเงิน นั่นเท่ากับว่า ธนาคาร A จะต้องแบกรับต้นทุนจากการถอนเงินของลูกค้าไปแล้ว 4 ครั้ง ก่อนที่จะได้ค่าธรรมเนียมจากผู้ถือบัตรมาช่วยเกลี่ยต้นทุนในการถอนเงินครั้งที่ 5 ดังนั้น ภายใต้ค่าธรรมเนียมของการถอนเงินใหม่ของลูกค้า ซึ่งจะแพงขึ้นมาเป็น 10 บาทสำหรับการถอนเงินครั้งที่ 5 ก็อาจต้องมีการปรับค่าธรรมเนียมด้าน Settlement ที่ธนาคารเจ้าของบัตร ต้องจ่ายให้ธนาคารเจ้าของเครื่องเอทีเอ็ม ให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันทั้งด้านธนาคารเจ้าของบัตรและธนาคารเจ้าของเครื่องเอทีเอ็มที่เหมาะสม

โดยสรุป ล่าสุดในวันที่ 27 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ก็ได้ข้อสรุปสำหรับการปรับลดค่าธรรมเนียมของการให้บริการทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมการโอนเงินในธนาคารเดียวกันแบบข้ามเขต การถอนเงินในธนาคารเดียวกันแบบข้ามเขต การถอน/ถามยอดผ่านเอทีเอ็มต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกัน ตลอดจน การถอนเงินต่างธนาคารแบบข้ามเขต ซึ่งค่าธรรมเนียมใหม่ที่ต่ำลงกว่าเดิมดังกล่าว จะทยอยเริ่มใช้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ ค่อนข้างจะชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คงจะได้แก่ ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เคยใช้บริการโอนเงินในธนาคารเดียวกันข้ามเขต และถอนเงินต่างธนาคารในต่างจังหวัด ซึ่งจะเห็นค่าธรรมเนียมที่ถูกลงกว่าเดิมค่อนข้างมาก หรือไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย หากจำนวนครั้งของการทำธุรกรรมไม่เกินความถี่ที่กำหนด ตลอดจน ผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมดังกล่าวในวงเงินน้อยๆ ซึ่งจะเห็นค่าธรรมเนียมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น คงจะได้รับผลกระทบผ่านรายได้ค่าธรรมเนียมรับที่ลดลงอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แต่หากนับรวมความเป็นไปได้ที่ปริมาณธุรกรรมการโอนเงินในธนาคารเดียวกันแบบข้ามเขต และธุรกรรมการถอนเงินทั้งในและข้ามเขตของธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตแล้ว ก็อาจช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนไปได้
กระนั้นก็ดี โจทย์ที่ตามมาจากการปรับค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ ในเบื้องต้น คงได้แก่ การที่ธนาคารพาณิชย์คงต้องปรับปรุงระบบที่เกี่ยวข้องให้สามารถรองรับการคิดค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจน การทบทวนค่าธรรมเนียมการ Settlement ระหว่างธนาคาร ให้สอดคล้องกับอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่คิดกับลูกค้า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านธนาคารเจ้าของบัตรและธนาคารเจ้าของเครื่องเอทีเอ็มที่เหมาะสมมากขึ้นในอนาคต