เรียนรู้ใช้ประโยชน์จากโซเชียล เน็ทเวิร์ค

 

ในขณะที่มุมมองของ ป๊อก-ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี นักแต่งเพลง เจ้าของนามปากกา “แจ็ครัสเซล และเป็นเจ้าของค่ายเพลง “คลาสซี่ เรคคอร์ด” ที่เคยปั้น นิว-ปทิตตา อัธยาตมวิทยา กับอัลบั้ม  “ความรัก ปากกากีตาร์โปร่ง (Love In The Light Lines)” เผยแพร่แต่ในยูทิบอย่างเดียว มีคนดู 2 ล้านวิว และยังไปติดอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงที่ประเทศไต้หวันมาแล้ว 

เขามองว่า กรณีของ ไซ ให้แง่มุมในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเป็นเครื่องมือพีอาร์ราคาถูก และอยู่กับตัวใช้ได้ตลอด มาใช้โปรโมตเพลง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางตลาด หรือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมๆ 

“ศิลปินทุกวันนี้ ห้ามละทิ้งโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ยุคนี้คุณต้องหัดใช้ และต้องใช้อย่างธรรมชาติ เนียนๆ ไม่ใช่เอาไว้ถ่ายภาพอย่างเดียวไม่มีประโยชน์  โลกทุกวันนี้เปลี่ยนตลอด  24 ชั่วโมง เราต้องมัดใจเขาให้ได้ ทุกครั้งที่เราลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม 1 ครั้ง จะมีคนซื้อซีดีของเราอย่างน้อย 1 คน 

ส่วนสาเหตุที่ไซดังมาได้ เพราะ ไอเดียและความกล้าทำสิ่งในใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่ทำ หรือไม่เคยทำ จึงไม่สามารถสร้างความดังในระดับที่เป็น “ปรากฏการณ์” ได้  ดังนั้นเมื่อกังนัมดังไปแล้ว ก็ไม่ควรตามหรือเลียนแบบอีก เพราะถึงจะดังแต่ก็ไม่สามารถเป็น “ปรากฏการณ์” ได้อีก 

“สิ่งที่เราควรทำ คือ กังนัมเป็นกรณีศึกษาดูว่า ทำไมเขาถึงดังได้ มาหาสาเหตุ ไม่ใช่พอ กังนัมดัง ก็ออกอัลบั้มเลียนแบบ ไปทำตามเขา ซึ่งผมไม่ค่อยสนับสนุน

เขาเชื่อว่า การจะทำให้โด่งดังเหมือนกับกังนัมได้ ต้องหา “จุดเด่น” ให้เจอ หลังจากกังนัมดัง มีศิลปินที่อยากดัง และทำตามอย่างกังนัมมานำเสนอผลงานเยอะมาก โดยไม่คิดสร้างสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา หรือทำให้ดีกว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างกังนัมจึงเป็นเรื่องยาก 

แต่แจ็คยอมรับว่า เขาก็ยังอดคิดฝันไม่ได้ว่าศิลปินของไทยจะโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยแนวเพลงและเนื้อเพลงไทย ขยายฐานแฟนเพลงต่างชาติได้เหมือนอย่างที่ไซทำมาแล้ว หากทำได้จะเป็นเรื่องดี ส่วนจะได้รับผลตอบรับอย่างอื่น ถือว่าเป็น “โบนัส”