ยูนิลีเวอร์ ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมูลนิธิอโชก้า จัดประกวดหาสุดยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ยูนิลีเวอร์ เดินหน้าสานต่อความสำเร็จอย่างงดงามในปี 2556 โดยจัดประกวดผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน หรือ Unilever Sustainable Living Young Entrepreneurs Awards ขึ้นเป็นปีที่ 2 ในปีนี้ เปิดรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีจากประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาด้านความอย่างยั่งยืนได้จริง โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดต้องเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแอพพลิเคชั่นที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ หรือส่งเสริมการหาเลี้ยงชีพให้ดียิ่งขึ้น โดยการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติ หรือ พฤติกรรม

มร.บาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ได้กล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ของไทยเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ว่า “ผมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีศักยภาพในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติมากมาย ยูนิลีเวอร์จึงพร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งลงทุนที่จะสนับสนุนแนวคิดใหม่ ๆ เหล่านี้ ให้ปฏิบัติได้จริงในวงกว้าง”

สำหรับการประกวดผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน หรือ Unilever Sustainable Living Young Entrepreneurs Awards ดังกล่าวจัดขึ้นโดยยูนิลีเวอร์ ร่วมกับสถาบันผู้นำเพื่อความยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (The Cambridge Institute for Sustainability Leadership หรือ CISL) และ มูลนิธิอโชก้า (Ashoka) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมจากทั่วโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 7 คนจะได้รับรางวัลเงินสด พร้อมด้วยการสนับสนุนด้านอื่นๆ และคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ยูโร หรือประมาณ 9 ล้านบาท โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด  50,000 ยูโร พร้อมด้วยการให้คำปรึกษาทางธุรกิจมูลค่า 25,000 ยูโร รวมทั้งรางวัลอันทรงเกียรติ Prince of Wales Young Sustainability Entrepreneur Prize จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร  ส่วนผู้เข้ารอบสุดท้ายที่เหลืออีก 6 คนจะได้รับเงินรางวัลคนละ 10,000 ยูโร พร้อมด้วยการให้คำปรึกษาทางธุรกิจมูลค่า 10,000 ยูโร โดยการประกาศผลรางวัลจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2558

ทั้งนี้ ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 7 คนจะต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาผ่านทางระบบออนไลน์ และร่วมเวิร์คช้อปที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระยะเวลา 2 วัน เพื่อนำความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพมาใช้พัฒนาแนวคิดและธุรกิจ

การประกวดนี้จัดขึ้นบนเว็บไซด์ www.changemakers.com/sustliving2014 ภายใต้การดูแลและดำเนินการของอโชก้า เชนจ์เมคเกอร์ส (Ashoka Changemakers) เครือข่ายแลกเปลี่ยนแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ และให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเพื่อสังคมจากทุกมุมโลก ผู้สนใจสามารถส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2557 เวลา 24.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศอังกฤษ ประกาศผลผู้เข้ารอบสุดท้ายปลายเดือนตุลาคม 2557 และการจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปพร้อมการประกาศผลรางวัลชนะเลิศจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2558

ในปีที่ผ่านมา โครงการ Unilever Sustainable Living Young Entrepreneurs Awards มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดรวมทั้งสิ้นมากกว่า 500 คน จากกว่า 90 ประเทศ โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบมีตั้งแต่การพัฒนาระบบรับส่งข้อความและระบบข้อมูลแบบเคลื่อนที่เพื่อติดตามแหล่งน้ำและการใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพในประเทศอินเดีย การพัฒนาอาหารไก่ที่ผลิตจากเม็ดมะม่วงด้วยต้นทุนที่ประหยัดจากประเทศไนจีเรีย การพัฒนาห้องสุขาแบบไม่ใช้น้ำในชนบทของประเทศเปรู และโครงการให้ลูกของคนงานในฟาร์มได้เรียนหนังสือโดยแลกเปลี่ยนกับการที่พ่อแม่เข้าร่วมทำการเกษตรโดยไม่รับค่าตอบแทนในประเทศเนปาล

สำหรับในปี 2556 ที่ผ่านมา ผู้ชนะเลิศของการประกวดโครงการฯ ดังกล่าว คือ มร.กามาล อัลบินเซด (Mr. Gamal Albinsaid) ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซียวัย 24 ปี ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงการที่ตอบโจทย์ความท้าทายในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้ถึง 2 ประเด็น คือ สร้างมูลค่าให้กับขยะในครัวเรือนให้กลายเป็นประกันสุขภาพสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้นำมาใช้เป็นระบบการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบั

มร.พอลลี คอร์ทิซ แอลวีโอ ผู้อำนวยการ CISL เปิดเผยว่า “สำหรับการประกวด Unilever Sustainable Living Young Entrepreneurs Awards ในปีแรกนั้น ได้มุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากทั่วโลก ในการนำความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการประกอบธุรกิจมาใช้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ในปีนี้ CISL จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้นำข้อมูลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พร้อมด้วยเครือข่ายผู้นำทางธุรกิจทั่วโลกมาใช้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและความเป็นผู้นำซึ่งเป็นสองคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วน”