The Myanmar Investment Guide Dos’ & Don’t by SCB

‘เมียนมาร์’ กำลังบูม หลังเปิดประเทศไม่นาน เพราะมีเสน่ห์ที่ดึงดูดนรักลงทุนหลายประการ อาทิ มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่ดี หรือเรียกว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญ เพราะมีพรมแดนติดกับจีนและอินเดีย มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงถูก ขณะเดียวกันคำว่า Made In Myanmar จะเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องภาษี เพราะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) กลับคืนมาจากอียู หลังจากที่ระงับไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่กระนั้นเมียนมาร์ก็ยังมีข้อด้อยในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายจากนักลงทุน ต่อไปนี้คือ ข้อพึงทำและข้อควรระวังสำหรับการไปลงทุนทำธุรกิจเมียนมาร์เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่เมียนมาร์ SCB FIRST จะพาคุณค้นหาเส้นทางและคำตอบที่ ‘ใช่’


Do’s
1.ควรเริ่มต้นที่การค้าชายแดน
แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบชาติอื่นหลายประการในการทำธุรกิจกับเมียนมาร์ เพราะนับถือพุทธศาสนาและมีขนบธรรมเนียมบางประการที่คล้ายคลึงกัน แต่หลังจากเมียนมาร์เปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกแล้ว ย่อมส่งผลให้การแข่งขันดุเดือด และรุนแรงมากขึ้น แต่การค้าชายแดนที่มีพรมแดนร่วมกันยาว 2,000 กิโลเมตร และด่านศุลกากรอีกมากกว่า 10 ด่าน ส่งผลให้การลงทุนรูปแบบนี้มีสัดส่วนมากถึง 90% ของการค้าไทย-เมียนมาร์ทั้งหมด

2.ค่าเช่าที่ดินมีราคาสูง ควรเร่งจับจองย่านธุรกิจสำคัญ
แต่ไม่ใช่การเข้าไปเช่าที่ดินอย่างผลีผลาม  โดยปราศจากการศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง

3.ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านประชากรศาสตร์
ประชากร 2 ใน 3 ของเมียนมาร์ หรือราว 37.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท  ที่เหลือแบ่งออกเป็นเขตเมือง 12.8 ล้านคน และในเมืองใหญ่และเมืองหลักต่างๆ  5.6 ล้านคน  โดยรูปแบบการอยู่อาศัยจะเป็นครอบครัวใหญ่ ชาวเมียนมาร์ 3 รุ่น จะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ให้ความเคารพผู้อาวุโส

4.บุกตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค
จริงอยู่แม้เมียนมาร์จะมีอุตสาหกรรมดาวรุ่งจำนวนมากที่น่าสนใจแก่การลงทุน แต่ด้วยความที่ชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่คุ้นเคยและให้ความนิยมกับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย จึงเป็นโอกาสง่ายที่จะทะลวงตลาดนี้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากโอกิลวี่แอนด์เมเธอร์ระบุว่าในปี 2012 แชมพูและครีมนวดผม รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวหน้า เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคยอดนิยมและเป็นธุรกิจที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเมียนมาร์

Don’t
1.อย่าลุยเดี่ยว
ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย หากจะบุกตะลุยตลาดเมียนมาร์โดยปราศจากพันธมิตรที่เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่แข็งแกร่งและมีความน่าเชื่อถือ การพบปะเชิงธุรกิจแบบ business matching อาจช่วยได้ แต่กระนั้นก็ต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการเลือกสรร

2.อย่าเพิกเฉยต่อปัญหาแรงงานขาดทักษะ
จริงอยู่แม้ว่าเมียนมาร์จะมีแรงงานกว่า 30 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม ทำให้ยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม  ดังนั้นแม้ต้นทุนแรงงานจะมีราคาถูก แต่อาจต้องมีต้นทุนในการฝึกฝนทักษะของแรงงานให้เหมาะสมกับธุรกิจที่ลงทุน

3.อย่าลงทุนแบบฉาบฉวย ควรเป็นการลงทุนระยะยาว และจะต้องสร้างโอกาสและกระจายรายได้กลับคืนเมียนมาร์ด้วย ไม่ใช่มุ่งจะกอบโกยผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว

4.อย่าละเว้นหรือขัดขืนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์  ระเบียบปฏิบัติของทางการ เนื่องจากหากมีการฝ่าฝืนแล้วอาจได้รับโทษที่ ร้ายแรงตามกฎหมายของเมียนมาร์ได้

5.อย่าละเมิดหรือดูหมิ่นประเพณี ขนบธรรมเนียมและประเพณีเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องให้ความเคารพ ไม่ควรแสดงออกถึงความเหยียดหยามชาวเมียนมาร์  โดยเฉพาะแรงงาน และควรศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ อย่างละเอียดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการติดตามข้อมูลความรู้แบบ 360 องศา ครอบคลุมทุกแง่มุมที่นักธุรกิจและนักลงทุนควรรู้เพื่อเตรียมความพร้อมมุ่งสู่ตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงแห่งอาเซียนจากงาน สัมมนา “SCB FIRST เปิดโลก AEC เจาะลึกเมียนมาร์ 360°” สามารถติดตามได้ทาง www.scb.co.th/scbfirst/aec