ช่อง 3 ไม่จอดำ แต่ศึกช่อง 3 อะนาล็อก และ กสท. ยังไม่จบ

ถึงแม้ว่ามติของ กสท. ในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะส่งผลให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศได้ตามปกติ โดยอาศัยประกาศข้อ 27 ของ คสช. เป็นเครื่องค้ำ แต่ความเป็น “ฟรีทีวี” ของช่อง 3 ก็สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน และนี่คือ เงื่อนไขใหม่ ที่จะทำให้การต่อสู้ระหว่าง กสทช. และช่อง 3 อะนาล็อก ยังคงยืดเยื้อต่อไป

จุดเริ่มต้นของปมปัญหา

เงื่อนปมปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กสทช. และช่อง3 เริ่มมาจากการที่ กสทช. ต้องการให้มีการเปลี่ยนผ่านจากทีวี “อะนาล็อก” ไปสู่ “ทีวีดิจิตอล” โดยเร็ว

หนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ คือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ Must Carry

โดย กสทช. ประกาศเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ทีวีในระบบอะนาล็อกเดิมทั้ง 6 ช่อง คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่องไทยพีบีเอส ต้องพ้นสภาพการเป็นโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือฟรีทีวี ตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ ที่ให้เป็นบริการทั่วไป หรือ Must Carry ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 หลังจากเริ่มเผยแพร่ออกอากาศทีวีดิจิตอลแล้ว 30 วัน

โดยที่โครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก ไม่สามารถนำสัญญาณทีวีอะนาล็อกช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง ไทยพีบีเอส ไปออกอากาศได้อีก จะออกอากาศได้เฉพาะ “ทีวีดิจิตอล ” 36 ช่องที่ได้ใบอนุญาตใหม่เท่านั้น

หากช่องอะนาล็อกต้องการมาออกอากาศในระบบดิจิตอล ก็จะต้องขอใบอนุญาตจาก กสท. ใหม่ในการออกอากาศทีวีดิจิตอลเพื่อการออกอากาศแบบคู่ขนานทั้ง 2 ระบบ

สำหรับทีวีอะนาล็อกเดิม ช่อง 5 ช่อง 11 ไทยพีบีเอส กสทช. อนุญาตให้ออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ในระบบดิจิตอลได้เพราะถือเป็นช่องสาธารณะ ส่วนช่อง 3, 7, 9 ที่ประมูลได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะมีช่อง 7 และช่อง 9 เท่านั้น ที่นำช่องระบบอะนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานบนโครงข่ายดิจิตอลได้ เพราะเป็นนิติบุคคลเดียวกัน

ส่วนช่อง 3 นำช่องอะนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอลไม่ได้ เพราะเป็นคนละคู่สัญญากัน บริษัทที่รับสัมปทานในระบบอะนาล็อกกับ อสมท คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ส่วนบริษัทที่ประมูลดิจิตอล คือ บริษัท บีอีซีมัลติมีเดีย จำกัด เป็นคนละนิติบุคคลกัน

กสท. จึงหาทางออกด้วยการเสนอให้ช่อง3 ขอใบอนุญาต “ทีวีดาวเทียม” และเคเบิลทีวี แต่ต้องยอมลดเวลาโฆษณาลงจาก 12 เหลือ 6 นาที เพื่อนำช่องอะนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในช่องทีวีดิจิตอลที่ช่อง 3 ประมูลมาได้ ประกอบไปด้วยช่อง 3 แฟมิลี่, ช่อง 3 SDและ ช่อง3 HD เหมือนอย่างที่ช่อง 7 ทำ

ช่อง 3 ไม่เห็นด้วย เนื่องจากช่อง 3 อะนาล็อกยังเป็น “ขุมทรัพย์” ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ฐานคนดูยังหนาแน่น เม็ดเงินโฆษณายังไหลเข้ามา  ซึ่งในตลาดทีวีอะนาล็อก ช่อง 3 และช่อง 7 รวมกัน กินส่วนแบ่งตลาดไปแล้ว 60-70% จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องนำช่องอะนาล็อกไปออกอากาศคู่ขนานในทีวีดิจิตอล เพราะนอกจากฐานคนดูน้อยแถมยังเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่กลับต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท ที่ยังเหลือถึงปี 2563  และยังต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 4% ของรายได้ ให้กับ กสทช. อีก

นอกจากนี้ ทีวีดิจิตอลเองยังขาดความพร้อม ทั้งเครือข่ายรับสัญญาณยังไม่ครอบคลุม คนดูไม่มี เรตติ้งยังไม่มี ยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ เมื่อประเมินดูแล้วยังไม่คุ้มจึงยังไม่ทุ่มลงทุน แถมยังเลื่อนการเปิดตัวจากตุลาคมไปถึงต้นปีหน้า รอให้ตลาดพร้อมกว่านี้ก็ยังไม่สาย เพราะยังมีช่อง 3 อะนาล็อกเป็นตัวทำเงินอยู่

สวนทางกับความต้องการของ กสทช. ที่ต้องการให้ช่อง 3 อะนาล็อกเป็น “แม่เหล็ก” ดึงให้คนดูมาดูช่องดิจิตอลได้จึงต้องการให้นำมาออกอากาศคู่ขนานในช่องดิจิตอลโดยเร็ว จึงใช้ประกาศ 3 ก.พ. เรื่องการสิ้นสภาพของ “ทีวีอะนาล็อก” และกฎ Must Carry มาบังคับใช้

ช่อง 3 มองว่า หากประกาศกฎ Must Carry ที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2557  ของ กสทช. มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 26 พฤษภาคม ช่อง 3 อะนาล็อกจะต้องสิ้นสภาพการเป็น “ฟรีทีวี” ไม่สามารถนำช่อง 3 อะนาล็อกไปออกอากาศ ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก ช่อง 3 จะเป็นช่องเดียวที่ต้องเจอปัญหา “จอดำ” ในช่องทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช และเคเบิลท้องถิ่น และทำให้ช่อง 3 ต้องสูญเสียฐานคนดูไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ชมทีวีดูผ่านทีวีดาวเทียมหรือเคเบิล 60-70% ของจำนวนประชากร ส่วนดูผ่านระบบอะนาล็อกภาคพื้นดินแค่ 30% เท่านั้น

ช่อง 3 ยื่นศาลปกครองกลาง

ช่อง 3  จึงไม่ทำตามข้อเสนอของ กสท. แต่ดิ้นหาทางออก พึ่งพากฎหมาย โดยยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้เป็นบริการทั่วไป หรือ “Must Carry” และเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2557 เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กสท. เอง ได้ผ่อนผันขยายเวลาให้ช่อง 3 อะนาล็อกยังอยู่ภายใต้กฎ Must Carry ที่แต่เดิมครบในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ออกไปอีก 100 วัน ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน เพราะช่อง 3 เกรงประชาชนจะได้รับผลกระทบ

แต่แล้ว ระหว่างที่รอผลตัดสิน ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องของช่อง 3 ที่ขอคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองกลาง ทำให้ฟรีทีวีทุกช่องต้องสิ้นสุดความเป็นทีวีระดับชาติ หรือบริการทั่วไป หรือฟรีทีวี ภายหลังจากครบกำหนด 30 วัน หลังจากทีวีดิจิตอล 24 ช่องได้รับใบอนุญาตครบไปแล้ว ตั้งแต่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา

ใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557เป็นทางออก

ช่อง 3 หาทางออกด้วยการนำคำประกาศของคณะรักษาความสงบ (คสช.) ฉบับที่ 27/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 นั่นคือ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอะนาล็อก สามารถออกอากาศผ่านทางระบบการใช้งานคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียม และเคเบิลได้

โดยช่อง 3 ได้ยื่นหนังสือไปที่ คสช. ขอคำชี้แนะว่าจะให้ยึดแนวทางใด ระหว่างมติ กสท.ที่ให้ช่อง 3 มีสิทธิ์เผยแพร่รายการโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียม และเคเบิลได้จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2557 เท่านั้น กับประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557  ที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอะนาล็อกสามารถออกอากาศผ่านทางระบบการใช้งานคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียม และเคเบิลทีวี เท่ากับว่าช่อง 3  ยังคงออกอากาศได้ตามปกติ

คสช. ยังได้ส่งหนังสือของช่อง 3 มาที่ กสท. และ กสทช. ได้นำไปสู่มติประชุมบอร์ด กสท. เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ที่ได้ข้อสรุปว่า

จอไม่ดำแต่สิ้นสภาพเป็นฟรีทีวี

ข้อแรก กสท. มีมติไม่ขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่โทรทัศน์บริการทั่วไปของช่องอะนาล็อก จากเดิมที่ขยายมา 100 วัน 

นั่นหมายความว่า ในวันที่ 2 กันยายน 2557 เป็นต้นไป ช่อง 3 อะนาล็อกได้สิ้นสุดการถูกคุ้มครองการเป็นช่องโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือสิ้นสุดความเป็น “ฟรีทีวี” แล้ว โดยไม่สามารถนำช่อง 3 อะนาล็อกไปออกอากาศในโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลได้อีกต่อไป

ช่อง 3 จะออกอากาศได้ต่อเมื่อขอออกอากาศคู่ขนาน หรือไม่ก็ต้องขออนุญาตออกอากาศในระบบเคเบิลทีวี และดาวเทียม ซึ่งต้องลดเวลาโฆษณาจาก 12 นาที เหลือ 6 นาที

แต่เนื่องจากมีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม2557 นั่นคือ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอะนาล็อก สามารถออกอากาศผ่านทางระบบการใช้งานคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียม และเคเบิล ต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจด้วย 

กสท. เมื่อเห็นว่าประกาศ คสช. มีอำนาจเหนือกว่า จึงต้องนำประกาศของ คสช. ฉบับที่ 27/2557 มาใช้ควบคู่ในการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่า ประกาศของ คสช. ถือเป็นอำนาจสูงสุด เทียบได้กับ “พระราชบัญญัติ” ที่ต้องทำตาม ในขณะที่มติของ กสท. และ กสทช. เปรียบแล้วเหมือน “กฎกระทรวง” ที่ต้องใช้ควบคู่กัน

ผลจึงมาลงเอยที่ว่า ให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอะนาล็อก รวมถึงช่อง 3 ต้องทำตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 และประกาศของ กสทช. รวมถึงมติของ กสท. และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
 
ดังนั้นผู้ให้บริการโครงข่ายระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี จะนำรายการของผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอะนาล็อก หรือช่อง 3 อะนาล็อกไปออกอากาศหรือไม่ แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ให้บริการโครงข่าย ถ้าจะทำตามคำสั่ง กสท. ก็ไม่สามารถออกอากาศ แต่หากทำตามคำประกาศ ฉบับที่ 27 ของ คสช. คือ นำช่อง3 อะนาล็อกไปออกอากาศก็ได้เช่นกัน

ทำให้ช่อง 3 อะนาล็อกจึงไม่ตกอยู่ในภาวะจอดำ เนื่องจากผู้ให้บริการโครงข่ายระบบดาวเทียม และเคเบิลทีวี ยังคงนำช่อง 3 อะนาล็อกออกอากาศต่อไป

แต่มตินี้ก็ได้สร้างความสับสน และขัดแย้งในทางปฏิบัติ ทำให้โครงข่ายเองไม่รู้จะยึดแนวทางไหน เพราะไม่แน่ใจว่า หากยังนำช่อง 3 อะนาล็อกออกอากาศจะผิดข้อบังคับของ กสท. หรือไม่

ทำให้ในวันถัดมา (วันที่ 2 กันยายน) บอร์ด กสท. จึงต้องทำหนังสือเพื่อขอหารือกับ คสช. ว่าตามประกาศฉบับที่ 27 ของ คสช. ที่ให้ช่อง 3 สามารถออกอากาศได้นั้น มีความชัดเจนอย่างไร


ขณะเดียวกัน กสทช. จะเชิญช่อง 3 และผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มาหารือเพื่อหาแนวทางร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ช่อง 3 ยังคงสามารถออกอากาศทางระบบเคเบิลและดาวเทียมได้ต่อไป
 

เนื่องจาก กสท. กำลังโดนไล่บี้จากบรรดาผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิตอล” ที่ได้ยื่นหนังสือผลักดันให้ กสท. ต้องให้ช่อง 3 ปฏิบัติตามมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2557 ไม่ควรผ่อนผันหรือขยายเวลาให้ช่อง 3 อะนาล็อก ออกอากาศในโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี และไม่ควรนำประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 มาใช้เป็นข้ออ้าง

โดยให้ช่อง 3 อะนาล็อกออกอากาศคู่ขนานในช่องทีวีดิจิตอล ช่องใดช่องหนึ่งที่ช่อง 3 ประมูล ด้วยการขอใบอนุญาตเป็น “ทีวีดาวเทียม” โดยยอมลดเวลาโฆษณาลงจาก 12 นาที เหลือ 6 นาที เพื่อที่ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี จะได้นำช่อง 3 อะนาล็อกไปออกอากาศได้ และเกิดความเท่าเทียมกันทั้งหมด

ดังนั้น หากช่อง 3 ไม่ยอมนำช่อง 3 อะนาล็อกออกอากาศคู่ขนานกับช่องดิจิตอล จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลสะดุด

ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะรวมตัวกันฟ้อง กสท. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม และขอเยียวยาจากผลกระทบที่มติ กสท. 3 ก.พ. ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ตั้งแต่การขอชะลอการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ขอลดหย่อนค่าโครงข่าย ขอยืดอายุใบอนุญาต ของดจ่ายเงิน 4% ของรายได้เพื่อเข้ากองทุนพัฒนาสื่อ

นั่นคือแรงกดดันอีกด้านที่ กสท. ต้องเผชิญ

จอไม่ดำแต่สิ้นสภาพความเป็นฟรีทีวี
เงื่อนไขใหม่ ไล่บี้ออกอากาศคู่ขนาน

ถึงแม้ว่า กสท. เอง ยอมให้ช่อง 3 อะนาล็อกออกอากาศได้เหมือนเดิม โดยมีคำประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 มาเป็นตัวค้ำยันให้กับช่อง 3
แต่ กสท. มองว่า แนวทางต่อไปที่จะนำมาใช้กดดันให้ช่อง 3 อะนาล็อกมาออกอากาศคู่ขนานในช่องดิจิตอลได้ มาจากผลจากมติของ กสท. เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ไม่ต่ออายุให้ช่อง 3 ส่งผลให้ช่อง 3 อะนาล็อกหมดความเป็น “ฟรีทีวี” แล้ว

ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ช่อง 3 อะนาล็อกหมดสิทธิ์นำช่องไปออกอากาศในกล่องทีวีดิจิตอลแบบ T-2  ซึ่ง กสทช. กำลังจะแจกคูปองในเร็วๆ นี้ โดยจะมีเฉพาะช่องดิจิตอลจำนวน 24 ช่องเท่านั้น ยกเว้นช่อง 3 จะยอมออกอากาศคู่ขนานไปในช่องดิจิตอลของช่อง 3

เมื่อช่อง 3 อะนาล็อกไม่ได้ออกอากาศ คนดูจะหายไปจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่มากเท่ากับดูผ่านแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีก็ตาม แต่เป็นฐานคนดูในระดับแมสที่จะส่งผลต่อ “เรตติ้ง” ของช่อง 3 อะนาล็อก จะเป็นแรงกดดันให้กับช่อง 3 อะนาล็อก ต้องออกอากาศคู่ขนานในช่องดิจิตอล

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการถ่ายทอดสดกีฬา “เอเชียนเกมส์” ที่จะเป็น “จุดพลิกผัน” ให้กับช่อง 3 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการถ่ายทอดสดกีฬาเอเชียนเกมส์นั้นเข้าข่ายกฎ Must Have ตามประกาศของ กสทช. ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555  ซึ่งกำหนดรายการทีวีที่สำคัญ เช่น ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ พาราลิมปิก ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกอากาศได้เฉพาะ “ฟรีทีวี” เท่านั้น ซึ่งกำหนดรายการทีวีที่สำคัญ ให้ออกอากาศได้เฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น ซึ่งบริการทีวีระบบบอกรับสมาชิก เช่น ทรู, CTH, หรือเคเบิลทีวีอื่นๆ ก็จะดูได้ผ่านทางช่องฟรีทีวีเช่นกัน

ในเมื่อช่อง 3 อะนาล็อกหมดสภาพความเป็น “ฟรีทีวี” แล้ว ก็ไม่สามารถออกอากาศ “เอเชียนเกมส์” ที่ช่อง 3 ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดมาได้ ยกเว้นต้องออกคู่ขนานในช่องดิจิตอล

โดยที่ “ช่อง 3”  ไม่สามารถอ้างสิทธิ์เหมือนกับกรณีของอาร์เอส ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาก่อนที่กฎ Must Have จะบังคับใช้ จึงไม่สามารถย้อนหลังได้ ฟรีทีวีหมดสิทธิ์ออกอากาศ จึงนำไปสู่การที่ กสทช. ต้องจ่ายเงินให้กับอาร์เอส เพื่อนำการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาออกอากาศ และอยู่ระหว่างทวงเงินที่ติดค้างกันอยู่

นี่จึงเป็นหนึ่งใน “เงื่อนไข” ที่ กสทช. จะนำมาใช้ เพื่อบีบให้ช่อง 3 อะนาล็อกต้องแก้ปัญหาด้วยการออกอากาศคู่ขนานไปกับทีวีดิจิตอล

ต้องรอดูว่า เดิมพันครั้งนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่าง กสทช. ที่ต้องผลักดันให้ช่อง 3 อะนาล็อกไปออกอากาศในช่องดิจิตอล เพราะเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทีวีดิจิตอลแจ้งเกิดได้เร็วขึ้น ในขณะที่ช่อง 3 ต้องการยื้อให้ช่อง 3 อะนาล็อกยังคงเป็น “ขุมทรัพย์” ไว้ให้ยาวนานที่สุด