ผ่าเส้นทางรวย “หม่า หยุน” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน ผู้สร้างอาณาจักร “อาลีบาบา”

เรื่องโดย  : วรมน ดำรงศิลป์สกุล

 

“คนเราก็มีความฝันกันได้ ! และมันจะเป็นยังไง ? หากวันนึงฝันนั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมา !” ข้อความภาษาจีนที่เขียนบนเสื้อยืดที่บริษัท “อาลีบาบา กรุ๊ป” แจกให้กับพนักงานนับหมื่นในเครือในวันที่หุ้นที่ใช้ชื่อย่อของบริษัท “BABA” เข้าไปเคาะระฆังดังกระหึ่มตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้สำเร็จ (ถือเป็นการเข้าตลาดหุ้นครั้งที่สองของอาลีบาบาหลังจากปี 2007 ที่เข้าตลาดหุ้นในฮ่องกง) ทุบสถิติมูลค่าการระดมทุนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นอเมริกา และทำให้วันนี้ “อาลีบาบา” เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจาก “กูเกิล” รายเดียวเท่านั้น !

และเป็นวันที่ “หม่า หยุน หรือ Jack Ma” ชายอายุย่าง 50 คนนี้ เป็นทั้งหนึ่งในผู้ก่อตั้งคนสำคัญของเครืออาลีบาบา และเป็นซีอีโอขององค์กรมาตลอดทศวรรษ และวันนี้เขายังได้รับตำแหน่งใหม่นั่นคือ บุคคลที่รวยที่สุดในแผ่นดินจีนประจำปี 2014 ด้วย (ที่แม้เขาจะถือหุ้นของบริษัทนี้เพียง 8.9% ก็ตาม) สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ คำถามที่ว่า ภายในเวลาอีกกี่ปีจากนี้ที่ตำแหน่งของเขาจะเลื่อนขึ้นไป กลายเป็น “บุคคลที่รวยที่สุดในโลก” ต่อจากบิล เกตส์ ที่รั้งตำแหน่งนี้มาหลายปี ขึ้นมาได้ ก็เป็นสิ่งยืนยันแล้วว่าคนจีนสามารถคว้า “American Dream” มาแปลงเป็น “จงกั๋วเมิ่ง” ได้จริงๆ

หม่า หยุน ใช้เวลา 15 ปีสร้างฝันที่จะมีบริษัทอินเทอร์เน็ตของตัวเองได้สำเร็จ เริ่มต้นจากเงินทุนสมทบจากเพื่อน คำว่า “梦想” (อ่านว่า เมิ่งเฉี่ยง ที่แปลว่า ความฝัน) นั้น ได้กลายเป็น Buzz Word ของสังคมจีนในทุกระดับชั้น เริ่มจากประธานาธิบดีฉีจิ้นผิง ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อ 2 ปี ก็ใช้คำนี้เรียกความนิยมจากเลือดมังกรรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เวที The Voice China ก็ต้องมีการถามคำถามเกี่ยวกับความฝันของแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดได้กรอบเป็นคอนเซ็ปต์เก๋ๆ ว่า “จงกั๋วเมิ่ง (Chinese Dream)” หรือความฝันของชาวจีน

ตลอดเวลาที่ผู้เขียนได้มาเยือนจีนคราวนี้ ได้เพียรถามคนจีนทุกเพศทุกวัยเกี่ยวกับนิยามความหมายของ “จงกั๋วเมิ่ง” ของพวกเขา ซึ่งสรุปได้หลักๆ 3 คำ นั่นคือ ความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ และความภาคภูมิใจ ในความเป็น (คน) จีน และวันนี้เส้นทางชีวิตของ “หม่า หยุน” คนที่กล้าฝัน และลงมือสร้างอาณาจักรอาลีบาบาขึ้นจากเงินทุน 1.6 ล้านบาท วันนี้บริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป มีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านบาท (มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2556 เสียอีก) เป็นบริษัทที่กุมบัญชีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนมากกว่า 500 ล้านคน ! และวันนี้ธุรกิจในเครือของเขาได้แผ่ขยายไปไกลไม่ใช่แค่ในอาณาจักรจีน อย่าง ฮ่องกง ไต้หวัน แต่รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกาด้วย !

ในโอกาสที่หุ้นของอาลีบาบา กรุ๊ปได้ผงาดในอเมริกาเป็นครั้งแรก ทำให้หลายคนอยากรู้ถึงที่มาของบริษัทอินเทอร์เน็ตสายพันธุ์มังกรนี้ ดังนั้นผู้เขียนในฐานะผู้ติดตามพลวัตของโลกอินเทอร์เน็ตจีนมาเกือบทศวรรษ และยังเป็นลูกค้าขาช้อปตัวจริงเว็บในเครืออาลีบาบา จึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้บอกเล่าถึงเรื่องที่คุณอยากรู้แต่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับ “หม่า หยุน” และอาณาจักรอาลีบาบาแบบเจาะลึก !

“หม่า หยุน” คนติดดิน ที่มีสปิริตเถ้าแก่เต็มตัว

ตำนานชีวิตของหม่า หยุน คล้ายกับเส้นทางชีวิตของเศรษฐีทั่วโลก ที่วันนึงก็มักจะถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือประวัติชีวิตที่เต็มไปด้วยความดราม่าแต่น่าอ่าน และตอนนี้หลายคำพูดของเขาก็ได้ถูกรวบรวมเป็น “สมุดปกแดง” ขายในรูปแบบแอปพลิเคชันบนมือถือเป็นที่เรียบร้อย ! ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปีก่อนก็ได้มีภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำโดยทีมงานชาวฝรั่งของบริษัท เรื่อง Crocodile in the Yangtze ที่ว่าด้วยเรื่องราวการสร้างอาณาจักรอาลีบาบาของแจ็ค หม่า ตั้งแต่วันแรก ตระเวนเดินสายเปิดให้นักเรียนการตลาดในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกชมฟรีๆ ทำให้ “แจ็ค หม่า” กลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่แทบจะทันที !

หม่า หยุน ชาวหังโจวแต่กำเนิด เขาโตมาด้วยรูปลักษณ์ที่ติดลบ รูปไม่หล่อแถมยังร่างเล็ก เรียนหนังสือในระดับปานกลาง แต่รู้ว่าตัวเองสนใจในภาษาอังกฤษ นอกจากเปิดวิทยุฟังข่าวแล้ว เขามักขี่จักรยานหลายสิบกิโลเพื่ออาสาเป็นไกด์ให้กับฝรั่งที่มาชมเมืองแบบฟรี เพื่อฝึกภาษาไปในตัว นอกจากภาษาแล้ว เพื่อนฝรั่งยังช่วยเขาตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า “แจ็ค หม่า” ด้วย

เมื่อครั้งต้องสอบเอ็นทรานซ์ ก็ต้องสะบัดปลายปากกาถึง 3 ครั้งถึงจะเข้ารั้วมหา’ลัยได้ เมื่อเรียนจบก็เดินตามรอยมนุษย์เงินเดือนด้วยการสมัครงานเป็นสิบๆ ที่แต่ก็ไม่มีใครรับ จนในที่สุดก็ได้บรรจุเป็นครูภาษาอังกฤษในรั้วมหา’ลัยอยู่ 5 ปี แต่ใจลึกๆ ก็ฝันอยากเป็นเถ้าแก่ในสักวัน

ก่อนอาลีบาบาเขาเปิดมาแล้ว 3 บริษัท บริษัทแรกคือ บริษัทล่าม และด้วยเนื้องานนี้เองทำให้เขาได้ไปเยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก รวมถึงได้รู้จักกับ “โลกแห่งอินเทอร์เน็ต” เป็นครั้งแรกด้วย เมื่อพิมพ์คำค้นหาว่า “Chinese Beer” แล้วไม่พบผลลัพธ์ (ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาบอกเสมอว่าโอกาสธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อคนอื่นมองไม่เห็นมัน) เขาจึงตั้งเป้าหมายว่ากลับบ้านแล้วต้องทำธุรกิจใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับ “อินเทอร์เน็ต”

กลับจากอเมริกา เขาเปิดบริษัทอินเทอร์เน็ตแรกในจีนชื่อ China Yellowpages ผลคือไม่สำเร็จ แต่ไฟของเหล่าทีมงานที่เชื่อในตัวหม่า หยุนยังมีอยู่ การรวมเพื่อนครู เพื่อนนักเรียนรวม 17 คนมาลงขัน (1.6 ล้านบาท) และลงแรงทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันในอพาร์ตเมนต์ของเขา ผลก็คือ เว็บไซต์รวมรายชื่อบริษัทและโรงงานจีนเป็นภาษาอังกฤษ โชว์รูปสินค้า เพื่อหวังออเดอร์จากฝรั่ง ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 1999

จาก alibaba.com สู่ taobao.com

รายได้ที่ทำให้บริษัทอาลีบาบาในวันนั้นอยู่ได้ก็ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมโดยตรงที่เก็บได้จากลูกค้าในเว็บ แต่กลับเป็นเงินทุนจากฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่น (Softbank) ส่วนตลาดเว็บขายของออนไลน์ในจีนก็มี “อีเบย์” ( Ebay.com) และ แอมะซอน (Amazon) เป็นผู้นำตลาด

หม่า หยุน จึงตัดสินใจเบนเข็มมามุ่งที่ตลาดจีนเป็นหลักด้วยการเปิดเว็บใหม่ “เถาเป่า.คอม taobao.com (ที่แปลว่าขุดสมบัติ)” ในปี 2004 เว็บที่มีจุดเด่นเดียวที่เหนือกว่าคู่แข่งคือ ใช้งานลงประกาศฟรี และถึงแม้จะโดนนโบยายกีดกันทางการค้าจากอีเบย์ทุกรูปแบบ แต่คำว่า “ฟรี” ก็มีมนต์ขลังมากพอที่จะดึงลูกค้าหน้าใหม่มายังตลาดซื้อขายออนไลน์ ณ เถาเป่า.คอม ได้จริงๆ
และภายใน 2 ปี เว็บขายของฝีมือคนจีนก็ถูกใจคนจีนด้วยกันมากกว่า และคว้าตำแหน่งผู้นำตลาดเว็บอี-คอมเมิร์ซจีนมาตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ รายได้หลักของเถาเป่าคล้ายกับกูเกิล คือ โฆษณา (ทั้งแบบภาพ, ข้อความ และการค้นหา) ซึ่งภายหลังก็ได้แตกตัวออกมาเป็นระบบโฆษณาของบริษัทนามว่า “อาลีมามา (Alimama)”

ในช่วงที่สร้างเถาเป่านั้น ฟีเจอร์หลายอย่างของเว็บ ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับวงการอี-คอมเมิร์ซโลก และเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ทำให้เครืออาลีบาบาก้าวอย่างกล้าแกร่งมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น…

– การสร้างระบบแชตของผู้ซื้อและผู้ขายในนาม “ว่างว่าง (wangwang)” ซึ่งเลียนแบบระบบแชตของ MSN และ QQ ในวันนี้ทุกอุปกรณ์ไฮเทคสามารถติดตั้งแอปฯ ว่างว่างได้ทั้งหมด

– การสร้างระบบจ่ายเงินออนไลน์ที่มีบริษัทตัวเองเป็นคนกลางผู้ค้ำประกันในนาม “อาลีเพย์ (Alipay)” ซึ่งจำลองมาจากระบบของธนาคารโลก ที่ทำงานโดยเมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อ ก็จะโอนเงินมาที่อาลีเพย์ จากนั้นอาลีเพย์จะแจ้งคนขายว่าลูกค้าจ่ายเงินมาแล้ว จึงมั่นใจกล้าส่งสินค้าให้ และเมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วพึงพอใจ อาลีเพย์จึงจะโอนเงินให้ผู้ขาย และวันนี้อาลีเพย์ก็เดินทางมาไกลกว่า “เพย์พาล (Paypal)” จนกลายเป็นแพลตฟอร์มการจ่ายเงินออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีนกว่า 900 ล้านบัญชี และมีพันธมิตรกับธนาคารหลายร้อยแห่งทั่วโลก รวมถึงกสิกรไทยของเราด้วย ล่าสุดแผนใหญ่ของอาลีเพย์คือ การก้าวไปสู่การเปิดธนาคารของตัวเอง

– การสร้างสถิติเก็บระบบเครดิตทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้อจะดูความน่าเชื่อถือของร้านค้าได้จากไอคอนรูปหัวใจ เพชร และมงกุฎ (ซึ่งแต่ละรูปได้จากยอดการขายสินค้า) และเมื่อซื้อสินค้าแต่ละครั้งลูกค้าสามารถเข้ามาแสดงความพึงพอใจกับสินค้าด้วยการให้ไอคอนรูป “ดอกไม้” ซึ่งข้อมูล Big data ในระบบเครดิตนี้นำมาซึ่งฟีเจอร์ที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น เช่น ระบบผ่อนจ่ายออนไลน์ (ลูกค้าคนไหนเครดิตดีก็จะมีโอกาสลองสินค้าและซื้อแบบผ่อนจ่ายได้) ส่วนร้านค้าไหนทำธุรกิจดีซื่อสัตย์ ทางอาลีบาบาก็จะอนุมัติเงินกู้ให้ทันที

จากเถาเป่า คลังของเก๊ สู่ เทียนเมา แหล่งรวมแบรนด์ดังออนไลน์

เมื่อให้คนจีนหัวการค้ามาเปิดร้านขายของออนไลน์ฟรี กลายเป็นกลยุทธ์แบบจำใจที่อาลีบาบาต้องนำมาใช้เพื่อปิดทางคู่แข่ง ผลร้ายที่คาดเดาได้ในวาระต่อมาก็คือ การกลายเป็น “คลังของเก๊” ที่หม่า หยุนเปรียบมันเสมือนมะเร็งร้ายกับธุรกิจทั้งระบบ ทีมจึงหาทางแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปิดการค้นหาที่เชื่อมโยงไปยังหน้าร้านนั้นๆ รวมถึงสั่งปิดหน้าร้านนั้นๆ แต่เพราะ “กองทัพมด” ของนักค้าของก๊อปไม่มีทางหมดไปง่ายๆ วิธีการที่ดีกว่านั้นคือ การเปิดหน้าร้านใหม่ให้เฉพาะธุรกิจที่มี “แบรนด์” ของตัวเองมาเปิดร้านที่ “เทียนเมา (Tmall.com)” เว็บนี้สามารถสร้างรายได้ทางตรง 2 ทาง นั่นคือ ค่าเปิดร้าน และค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากยอดขายของแต่ละแบรนด์

เว็บนี้เกิดมาถูกจังหวะ เพราะเศรษฐกิจในจีนยิ่งเติบโตขึ้น ชนชั้นกลางเริ่มมีมากขึ้น การเลือกสินค้าโดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าราคา ประกอบกับการเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าแบรนด์เนมก็เป็นที่แพร่ขยายมากขึ้น ดังนั้น “เทียนเมา” จึงกลายเป็นห้างออนไลน์ใหม่สำหรับชาวจีนที่ช้อปของดี ของแท้ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อการขยายตัวของเว็บ หม่า หยุนเองก็จับเครื่องบินเดินทางทั่วยุโรป เพื่อดีลกับรัฐบาลและแบรนด์ดังของแต่ละชาติ เพื่อให้มาเปิดร้านค้าที่เทียนเมา ซึ่งก็ได้ผล วันนี้มีแบรนด์ชั้นนำจากทุกประเทศกว่า 70,000 แบรนด์ให้เลือกช้อปแล้ว !

และในปีเดียวกันนั้นเองเทรนด์ของเว็บดีลอย่างกรุ๊ปปอง (Groupon) มาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ อาลีบาบากรุ๊ปก็เกาะกระแสนี้ทันด้วยการเปิดเว็บไซต์ซื้อดีลออนไลน์อย่าง “จู้หวาส้วน (Juhuasuan.com) ที่หมายถึง รวมกันซื้อยิ่งคุ้มค่า)” ทันที ซึ่งก็กลายเป็นเว็บดีลที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ในจีนตามระเบียบ

อะไรนะ !?! “อาลีบาบา กรุ๊ป” ไม่ได้เป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซ

สื่อฝรั่งเรียกเถาเป่าว่าเป็นเว็บอี-คอมเมิร์ซแบบ C2C ส่วนเทียนเมา ถือเป็นเว็บอี-คอมเมิร์ซแบบ B2C ที่สำเร็จที่สุดในจีน แต่ “แจ็ค หม่า” กลับพูดเสียงแข็งว่าตัวเองและอาลีบาบา กรุ๊ป ไม่ได้เป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซ !!! สิ่งที่แอมะซอนทำต่างหากที่เรียกว่าบริษัทอี-คอมเมิร์ซ เพราะอาลีบาบา กรุ๊ปไม่มีโกดัง ไม่มีคนบรรจุหีบห่อ ไม่มีรถขนส่งใดๆ เหมือนแอมะซอน ดังนั้นในสายตาของหม่า หยุนแล้ว สิ่งที่แอมะซอนกำลังทำถือเป็นการทำธุรกิจยุคเก่า ที่มีแต่ต้องทุ่มทุน จ้างคน เพิ่มคลังสินค้า ซึ่งก็แปลว่า “เหนื่อยอยู่คนเดียว !”

สิ่งที่อาลีบาบาทำคือ การสร้างแพลตฟอร์ม ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน สร้างเว็บ-แอปฯ ให้คนมาซื้อขายของ พูดคุย จ่ายเงินออนไลน์ ฯลฯ  ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ “อาลีบาบา” เชี่ยวชาญที่สุดคือ การสร้างเทคโนโลยีให้คนทำธุรกิจใช้งานนั่นเอง ! จนในที่สุดก็กลายเป็นการสร้างงานให้กับทุกคนในสังคม

และเมื่อวันนี้โลกอินเทอร์เน็ตทั้งใบหันมาหมุนหาจอเล็กๆ อย่าง “โทรศัพท์มือถือ” อาลีบาบาก็ตั้งรับได้เป็นอย่างดีด้วยการวางรากฐานเพื่อการเป็นผู้ทำเทรนด์ในโลก M-Commerce ได้อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ของตัวเองในนาม “อาลีหยุน (Aliyun)” ที่ใช้กับมือถือ แท็บเล็ต และสมาร์ททีวีในขณะนี้ และล่าสุดก็ได้เปิดตัวค่ายมือถือด้วยเครือข่ายโทรคมนาคมเสมือนจริง (MVNO) ในนาม “อาลีชิ่น (Aliqin)” เป็นที่เรียบร้อย

จากบริษัท Startup สู่การเป็นนักล่า Startup

เมื่อครั้งเปิดบริษัทช่วงปีแรกๆ เงินเลี้ยงปากท้องพนักงานจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้มาร่วมลงทุน ซื้อหุ้นของบริษัท แต่เมื่อวันนึงเงินกลับสะพัดเข้ามายังบริษัทจนไม่หวาดไม่ไหว ทีมงานจึงเริ่มภารกิจใหม่ ทำตัวเป็นนักลงทุนเสียเอง ในช่วงเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา เครืออาลีบาบาเข้าล่าบริษัทสตาร์ทอัปมากมาย เช่น จ่ายเกือบ 5 หมื่นล้านบาทซื้อบริษัททำแผนที่ Autonavi รวมถึงเข้าซื้อหุ้นบริษัทใหญ่ที่มีโอกาสแทรกสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าไป เช่น ซื้อหุ้นเวยป๋อ (ทวิตเตอร์จีน) 1 หมื่นล้าน, ทุ่ม 3 หมื่นล้านซื้อหุ้นบริษัทวิดีโอออนไลน์ Youku Tudou และซื้อบริษัทผลิตสื่อเพื่อสร้างเป็น Alibaba Pictures, จ่าย 2 หมื่นล้าน เพื่อลงทุนในห้างสรรพสินค้า InTime โดยหวังให้ห้างไฮเทคขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ส่งโปรโมชั่นเข้ามือถือลูกค้ารายคนทันทีที่ถึงห้าง หรือจ่ายเงินซื้อสินค้าด้วยแอปฯ อาลีเพย์

สิ่งที่คาดไม่ถึง คือ การเข้าซื้อหุ้นซื้อสโมสรฟุตบอลในกวางโจว และลงทุนในบริษัทขายยาออนไลน์ (บริษัทเดียวในประเทศ) อีกด้วย !

อาลีบาบาได้ฤกษ์บุกอเมริกา

การนำเว็บไซต์  11main.com บุกตลาดเอสเอ็มอีในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นเพียงก้าวแรกของการ “โกอินเตอร์” ขนานแท้ของเครืออาลีบาบา แต่ผู้เขียนเชื่อว่านี่ถือเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของการเป็นบริษัทระดับโลกข้ามชาติ เพราะหากนับๆ ดูแล้วยังเหลือเวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่อาลีบาบา กรุ๊ปจะครบรอบ 102 ปี ตามปณิธานของหม่า หยุน วางไว้ คำถามที่ว่าโฉมหน้าของบริษัทโลโก้สีส้มนี้จะเป็นอย่างไรในศตวรรษหน้า ? ถือเป็นคำถามที่ยากที่สุด แต่ก็สนุกที่สุดที่จะรอดูปรากฏการณ์ การเติบโตของเครืออาลีบาบา และหาคำตอบไปด้วยกัน !

สำหรับชีวิตส่วนตัวของหม่า หยุน ที่ถือเป็นซีอีโอโลว์โพรไฟล์ ได้สมรสแล้วกับ “จาง อิง” ภรรยาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพนักงานของอาลีบาบา แต่วันนี้คือแม่บ้านเต็มตัว ที่ดูแลลูกชายคนเดียวที่วันนี้อายุ 22 ปีแล้ว นามว่า “หยวน คุน” ปัจจุบันส่งตัวไปเรียนต่อที่แคนาดา

ตลอดประวัติศาสตร์จีนใหม่กว่า 65 ปี แชร์แมนคนเดียวที่มีอิทธิพลต่อคนจีนนับพันกว่าล้านคนคือ แชร์แมนเหมา (เหมา เจ๋อตง) แต่นับจากวันนี้ชื่อของ “แชร์แมน หม่า” (ตำแหน่งปัจจุบันของหม่า หยุน หลังจากสละบัลลังก์ซีอีโอเครืออลีบาบา) คือ ผู้นำความหวังใหม่ ที่เปลี่ยนทั้งระบบเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของคนจีนยุคดิจิตอลไปแล้วอย่างสิ้นเชิง