ส่อง "คนซีพี" โต้โซเชียลปัดผูกขาดการค้า อ้างร้านเซเว่นมีแค่ 1% – "ธนินท์" สั่งจับตาบอยคอต

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ฟังความรอบด้าน! ส่องเสียงสะท้อนคนซีพี ตอบโต้กระแสโซเชียลบอยคอตไม่เข้าร้านเซเว่นฯ-งดซื้อสินค้าซีพี ยันไม่ได้ผูกขาดทางการค้าเพราะไม่ได้ถนัดทุกอย่าง ปัดมีนโยบายทำลายผู้ค้ารายย่อย อ้างร้านเซเว่นฯ มีเพียงร้อยละ 1 จากร้านโชห่วย 8 แสนรายทั่วไทย อีกด้านสะพัด “เจ้าสัวธนินท์” สั่งตรวจสอบเบื้องหลังสงครามทุบหม้อข้าว
 
จากกรณีที่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มไหน ได้ส่งข้อความพร้อมรณรงค์ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และไม่ใช้สินค้าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งแต่วันที่ 7-11 พ.ค. เป็นเวลา 5 วัน หลังกระแสข่าวและกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอารัดเอาเปรียบบริษัทขนาดเล็ก และมีแนวคิดผูกขาดทางการค้า ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจ “We are CP” ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับพนักงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ทรู ซีพีอินเตอร์เทรด ซีพีแลนด์ ฯลฯ ได้จัดทำอินโฟกราฟิกส์ในหัวข้อ “ข้อสงสัย-ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ซีพี” เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ในโซเชียลมีเดียกำลังโจมตีในขณะนี้
 
ตัวอย่างเช่น ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพีจะผูกขาดทุกอย่าง” ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีความเก่งหรือถนัดทำทุกอย่าง ธุรกิจหลักของซีพีคือ อาหารคนและอาหารสมอง
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพีผันตัวเองไปทำธุรกิจข้ามชาติ แล้วไปไม่รอดเพราะรัฐบาลประเทศนั้นดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดในประเทศ” ชี้แจงว่า ซีพีไปทำธุรกิจข้ามชาติเพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ เชิญไปช่วยลงทุนพัฒนาเกษตรกรอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประชาชนของประเทศนั้น ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม โดยปัจจุบัน ซีพีตอบรับไปลงทุนรวม 16 ประเทศ
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพียังมีธุรกิจสื่อสาร เคเบิ้ลทีวี ธุรกิจลอจิสติกส์แข่งกับไปรษณีย์ไทย จะมีธนาคาร จะลงทุนรถไฟความเร็วสูง” ชี้แจงว่า ซีพีดำเนินธุรกิจสื่อสารเพราะถือเป็นธุรกิจอาหารสมองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนการทำธุรกิจไปราณีย์เป็นการต่อยอดธุรกิจเนื่องจากซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ตั้งอยู่ในชุมชนเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนเรื่องของธนาคาร ซีพีไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
 
ส่วนกรณีของรถไฟความเร็วสูง ซีพีเห็นว่าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม แต่สิ่งนี้ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงและต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง ซีพีดำเนินธุรกิจในประเทศจีนจึงมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการของจีนที่มีความรู้ความสามารถในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จึงเห็นว่าซีพีน่าจะช่วยดำเนินการสิ่งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพีมีอิทธิพลเหนือทุกรัฐบาล ไม่มีใครกล้าทำอะไร” ชี้แจงว่า ซีพีเป็นผู้ประกอบการไทยที่ให้ความเคารพในกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลหรือองค์กรทางการเมืองได้ขอความร่วมมือหรือขอความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบายในการพัฒนาหรือปัญหาของประเทศ
 
ซึ่งซีพีก็ได้เสนอแนะ ข้อคิดตามประสบการณ์และความรู้ที่ซีพีมี ซีพีเป็นภาคเอกชนไทยที่ต้องการเห็นการพัฒนาประเทศที่มั่นคง แข็งแรง เป็นประโยชน์ ตามปรัชญาค่านิยมที่ว่าด้วย 3 ประโยชน์ คือ ทำอะไรจะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติก่อน ตามมาด้วยประชาชนได้ประโยชน์และค่อยมาถึงบริษัท
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ทั้งเทสโก้ โลตัส แม็คโคร โดนซีพีซื้อ ค้าปลีก ค้าส่ง เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือของบริษัท” ชี้แจงว่า ซีพีให้ความสนใจเรื่องการค้าปลีกและค้าส่งมานานและเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการพัฒนาด้านการค้าที่ทันสมัย สะดวกสบายและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซีพีจึงได้เป็นผู้ริเริ่มนำเทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เข้ามาในประเทศไทย แต่ต้องขายกิจการทั้งสองในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
 
ซีพีเพิ่งซื้อกิจการแม็คโครกลับคืนมา ซึ่งมีตลาดที่สำคัญคือร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ภัตตาคาร กิจการโรงแรม ซีพีไม่ได้คุมกิจการอย่างที่เข้าใจ แม้แต่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซีพีก็มีสาขาอยู่ปัจจุบัน 8 พันสาขา ขณะที่ร้านโชห่วยทั่วประเทศมีอยู่ถึง 8 แสนราย ซีพียังมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ร้านโชห่วยมีความรู้ มีการบริหารจัดการร้านที่ทันสมัยและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพีทำให้ผู้ค้ารายย่อย เช่น โชห่วย อยู่ไม่ได้ ไปแย่งอาชีพคนอื่นหมด” ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีนโยบายไปทำลายผู้ค้ารายย่อย และตามข้อเท็จจริงปัจจุบันไทยยังมีผู้ค้ารายย่อยหรือร้านโชห่วยอยู่ราว 8 แสนราย ขณะที่ซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ราว 8,000 สาขาทั่วประเทศหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 โดยให้บริการคนไทยอยู่ราว 30 ล้านคน นอกจากนี้ซีพีมีนโยบายสนับสนุนร้านโชห่วยด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการค้าสมัยใหม่
 
นอกจากนี้ยังใช้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นแขนขาด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอีกว่า 990 ราย คิดเป็นสินค้าจากเอสเอ็มอีจำนวน 30,000 รายการ ส่วนการที่ร้านโชห่วยล้มเลิกไปสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขาดลูกหลานที่จะมาดำเนินกิจการ การปรับตัวไม่ทันกการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ซีพีแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็น” ชี้แจงว่า ซีพีเชื่อมั่นในการแข่งขันเสรี และไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจผูกขาดจะเป็นผลดี เพราะการผูกขาด ทำให้ขาดประสิทธิภาพ ขาดการสร้างสรรค์ ซีพีเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ได้เก่งตลอดเวลา ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว จึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซีพีอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอ
 
ข้อกล่าวหาที่ว่า “ไทยกับเม็กซิโกคล้ายกัน คือสินค้าเกษตรถูกคุมตลาดจากบริษัทเกษตรกรที่ผูกขาด” ชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรของประเทศไทยไม่ได้มีการผูกขาด มีผู้ประกอบการมากกว่า 2-3 ราย และซีพีมีนโยบายที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือเป็นการมุ่งทำตลาดในต่างประเทศ อีกทั้งซีพีไม่มีอำนาจเหนือตลาด ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของดีมานด์ ซัพพลาย
 
 

ร่วมด้วยช่วยกันบอกช่วยกันอธิบายข้อเท็จจริงให้สังคมทราบและเข้าใจว่าซีพีไม่ได้เป็นอย่างที่มีการส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดียนะคะ

Posted by We are CP on 2 พฤษภาคม 2015

 
ขณะเดียวกัน ยังพบบทความที่เผยแพร่ในองค์กร ออกมาเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาจากสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้นามแฝงว่า “กฤษณ์ วิชะยา” กล่าวโดยสรุปว่า โซเชียลมีเดียเมืองไทยแสดงความรู้สึกต่อปรากฏการณ์ค้าปลีก ค้าส่งของเมืองไทยแบบสวนทางกับทฤษฎี ตำราที่มีมา คนกลุ่มหนึ่งพยายามให้หยุดซีพี แล้วเชียร์เอสเอ็มอี อาจหมายถึงการถอยหลังเข้าคลอง ทั้งที่ซีพีเดินหน้าไปแล้วแต่เอสเอ็มอีเพิ่งจะเดินหน้า
 
ร้านโชห่วยหรืออะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในสนามเดียวกับซีพียังทำการผลิตแบบเดิม ทำการค้าแบบเดิม คิดแบบเดิมจึงไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยีเท่าซีพี ซึ่งหากเราไม่มองจุดนี้หรือศึกษาให้ดีก็จะเข้าใจว่าซีพีผูกขาด ครอบงำตลาด เกิดความเข้าใจผิดไปตลอด การต่อต้านก็คือการทำลายล้าง ทำไมไม่ส่งเสริม สร้างสรรค์ คิดบวก เรียกร้องให้ซีพีมาช่วยน้องเล็ก ช่วยสร้างการเติบโต หมดเวลาแล้วที่คนไทยคิดจะจ้องทำร้ายกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แย่ลงไปอีก
 
 

ชวนชาวซีพีอ่านและแชร์ให้สังคมข้อชวนคิดจากคุณกฤษณ์ วิชะยา”เราจะมองกรณี7-11เป็นพระเอกหรือผู้ร้ายกันแน่เวลานี้เพื่อนต่า…

Posted by We are CP on 6 พฤษภาคม 2015

 
ที่น่าสนใจคือ ยังพบบทความของผู้ใช้นามแฝง “Bundid Think” ที่ชื่อว่า “ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในองค์กรที่มีดราม่า?” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้เขียนเป็นพนักงานบริษัทด้านไอทีในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า ในยุคที่โซเชียลบูม แล้วมีดราม่าเกิดขึ้นทุกวัน เชื่อว่าวันหนึ่งอาจมีเรื่องดราม่าขององค์กรที่ทำงานอยู่ก็ได้ บางคนก็ดราม่าตามกระแส เกลียดชังองค์กรตัวเอง บางคนก็รักองค์กรยิ่งชีพ ปกป้องทุกอย่างจนทะเลาะกับเพื่อนไปเลยก็มี จึงมีข้อปฏิบัติง่ายๆ 5 ขั้นตอน ที่จะไม่ให้เสียงานและไม่เสียเพื่อน ได้แก่
 
1. ตั้งสติ ทุกครั้งที่มีเรื่องดราม่า อย่าเพิ่งผลีผลามออกอาการ ทั้งการด่าตามกระแส หรือปกป้ององค์กร ให้เราตั้งสติ ให้ดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคือเรื่องอะไร วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเรื่อง ยิ่งเราเป็นคนในยิ่งรู้ว่าเป็นไปได้หรือไม่
 
2. หาข้อมูล ดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีฝ่ายใดพูดความจริงด้านเดียวหรือไม่ หรือว่ามโนกันไปเอง
 
3. ชี้แจง เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ก็นำข้อมูลนั้นแจ้งกลับไปยังเพื่อนๆ แต่ตรงนี้ต้องระวังอย่างมาก เพราะมักจะไม่ค่อยมีใครเชื่อ คนเราชอบดราม่า ชอบให้เรื่องมันดูโหดร้าย น่าสงสาร เรียกว่า ยิ่งลบ เท่าไหร่ คนยิ่งชอบกัน เราต้องอธิบายด้วยใจที่เป็นกลาง พร้อมรับฟังเพื่อนด้วย อันไหนถูกผิด จริงเท็จ บางทีอาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า องค์กรที่เราอยู่ก็มีความผิดพลาด ส่วนตัวคิดว่าพอทำธุรกิจไม่มีทางที่ทำอะไรแล้วจะไม่กระทบผู้อื่น อย่างน้อยก็กระเทือนคู่แข่ง
 
4. ปล่อยวาง อาจจะมีเพื่อนบางคนที่ยอมรับฟังและเชื่อเรา แต่ก็จะมีเพื่อนอีกหลายคนที่ยังดราม่ากันต่อไป เราก็คงต้องปล่อยวางบ้าง ไม่ต้องไปพยายามเปลี่ยนความคิดเขาให้ได้ในทันที คิดซะว่าไม่มีใครที่จะเป็นที่ถูกใจของคนอื่นไปทั้งหมด ในขณะที่ตัวเราเองก็ต้องปล่อยวางด้วย ไม่หมกหมุ่นอยู่กับเรื่องดราม่านี้ เอาเวลาไปทำงาน ทำอย่างอื่นที่สร้างสรรดีกว่า
 
5. ทำความดี ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน เราควรกลับมาขยันตั้งใจทำงาน และสร้างคุณงามความดีให้ทุกคนเห็นในความจริงใจของเราและองค์กรของเรา เรื่องดราม่าที่มันไม่จริง แป๊บเดียวคนก็ลืมแล้ว
 
 

ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในองค์กรที่มีดราม่า?ในยุคที่โซเชียลบูมอย่างนี้… แล้วมีดราม่าเกิดขึ้นทุกวัน…เชื่อว่าวันหนึ่งอาจ…

Posted by Bundid Think on 24 เมษายน 2015

 
อีกด้านหนึ่ง รายการ “ขยายข่าว” โดย ทิน โชคกมลกิจ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ข่าว TNN 24 ทีวีดิจิตอลช่อง 16 ซึ่งเป็นของบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ในเครือทรูคอร์ปอเรชั่น ได้จัดรายการในหัวข้อ “เรื่องจริง…ธุรกิจในโลกเสรี” ได้เชิญนายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นแขกรับเชิญ นายเสรีระบุว่า ในประเทศไทยมีการแข่งขัน ไม่ได้ผูกขาดทางการค้า คำว่าถูกเอาเปรียบย่อมแสดงว่ามีอะไรที่เหนือกว่า เรียกว่าได้เปรียบ
 
กรณีที่มีกระแสวิจารณ์ว่าธุรกิจกลุ่มทุนซีพีผูกขาดนั้น นายเสรีกล่าวว่า ใช้คำว่าผูกขาดใช้อย่างไรก็ผิด เพราะสินค้าที่ซีพีผลิตไม่ได้ผลิตเจ้าเดียว ยังมีเจ้าอื่นผลิต เช่น เอสแอนด์พีผลิตไส้กรอก แม้แต่เซเว่นอีเลฟเว่นก็ไม่ได้ผูกขาด มีลอว์สัน 108, แฟมิลี่มาร์ท, ร้านสะดวกซื้อในปั้มน้ำมัน เพียงแต่ว่าซีพีได้เปรียบเพราะมีสาขาเยอะกว่า ส่วนสินค้าที่ขายไม่ใช่เป็นสินค้าที่คนอื่นไม่มี เมื่อมีการพัฒนาของธุรกิจมีอยู่สองคำที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด คือ การทำธุรกิจหลากหลาย และการทำตลาดที่เจาะลึกกว่าเดิม
 
ถ้าสินค้าอิ่มตัวในตลาดเดิม ก็นำสินค้าไปตลาดอื่นที่ยังไม่เคยขายมาก่อน แต่สุดท้ายถ้ามีความรู้สึกว่ามีภูมิปัญญา เทคโนโลยี และเงิน ทำสินค้าที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่มีความต้องการ ต่างประเทศทั่วโลกถึงจุดหนึ่งไปทำสินค้าที่หลากหลายเท่าที่โอกาสอำนวย เป็นหลักการของการตลาด หากต้องการทำนีชมาร์เก็ตติ้ง หรือกลุ่มตลาดเฉพาะต้องสร้างภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญ ความเชี่ยวชาญ และอย่าทำในสิ่งที่บริษัทใหญ่อยากจะทำ
 
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าซีพีไปรังแกโชห่วยตายหมดทั่วประเทศ นายเสรีกล่าวว่า ถ้าสมมติว่าเขาทำโดยขาดจริยธรรม เอาเปรียบ กีดกัน อันนั้นค่อยว่ากัน แต่ถ้าเขาทำครรลองไปตามธุรกิจแล้วกระทบใคร คนที่ถูกกระทบต้องปรับตัว ไม่จำเป็นต้องตาย แต่เราต้องรู้ว่าจะต้องปรับอย่างไร ไม่งั้นจะถูกตำหนิว่าเก่าแล้ว การมองตัวเองและปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ
 
{C}{C}{C}

 
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผู้ติดตามแฟนเพจ We are CP ต่างมีความเห็นถึงซีพี ต่อสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ ที่ผ่านมาซีพีชี้แจงช้า โดยเฉพาะสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค เสนอแนะให้ซีพีสื่อสารให้สาธารณชนรู้ล่วงหน้าอย่างโปร่งใส รวมทั้งอยากให้มีหน่วยงานเข้าไปอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจ
 
รายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศราระบุว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังกระแสต้านธุรกิจซีพี และเซเว่น อีเลฟเว่นแล้ว