“บิ๊กซี” บิ๊กมูฟ “เสี่ยเจริญ” จิ๊กซอว์พยัคฆ์เสียบปีก

ดีลการซื้อกิจการ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” จากกลุ่มคาสิโน ของบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ด้วยมูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ในการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังตอบโจทย์ความพยายามในการรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ผ่านบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
 
ความต้องการในการรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ก็เพื่อมาเติมเต็มโมเดลการทำธุรกิจให้ครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจผลิต จัดจำหน่าย และช่องทางขายค้าส่งและค้าปลีก เรียกว่าทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ
 
ที่ผ่านมาค่ายทีซีซีพลาดหวังมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ส่ง เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป เสนอตัวขอซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ ซึ่งได้ประกาศขายกิจการในไทย แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกลุ่มคาสิโน กรุ๊ป จากฝรั่งเศส เจ้าของห้างบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ซื้อไปในในราคา 3.5หมื่นล้านบาท ภายหลังซื้อกิจการแล้วได้เปลี่ยนจาก คาร์ฟูร์ มาเป็น “บิ๊กซี” 
 
หลังจากพลาดหวังจากคาร์ฟูร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ตเบอร์ 2 ของไทย บีเจซียังไม่ลดละความพยายาม โดยหันมาลงทุนร้านค้าปลีกเฉพาะทาง ด้วยการซื้อกิจการร้าน “เอเชียบุ๊คส์” เพื่อต้องการขยายเข้าสู่ช่องทางขายรูปแบบใหม่ ทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรง และการเข้าถึงฐานสมาชิกกว่าแสนราย เพื่อสร้างโอกาสในการขยายสาขา และยังนำไปเปิดยังศูนย์การค้าในเครือได้อีก 
 
ตามต่อด้วยการรุกเข้าสู่ร้าน Specially Store ด้วยการปั้นแบรนด์ “โอเกนกิ” ร้านขายสินค้าสุขภาพและความงาม เพื่อรับกระแสเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง โดยตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นเจแปนนิส สู้ศึกกับร้านสุขภาพและความงามที่มีแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นเข้ามาในตลาดไทยหลากหลาย โดยวางเป้าหมายจะขยายสาขาในไทย และประเทศเพื่อนบ้านด้วย
 
 ในอีกด้านหนึ่ง บีเจซี ได้สั่งสมประสบการณ์ค้าปลีกด้วยการเปิดเกมรุกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเปิดธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศเวียดนาม ในชื่อ “บีสมาร์ท (B’s mart)” และยังได้ร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ภายใต้แบรนด์ เอ็มพ้อยท์ (M-Piont ) ในลาว
 
บีเจซี ยังมีความพยายามในการขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างเข้มข้นมาตลอด เคยเป็นหนึ่งในผู้ซื้อกิจการ “แม็คโคร” ถือเป็นอีกหนึ่งในบิ๊กดีลครั้งสำคัญของวงการค้าปลีก แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับค่ายซีพีออลล์ ที่ยอมทุ่มอัดฉีดเงินนับแสนล้านบาท จนคว้าแม็คโคร ธุรกิจขายส่งไปครอง
 
เมื่อพลาดหวังจากแม็คโคร “เสี่ยเจริญ” ได้ส่งทีซีซี โลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์ จำกัด ในเครือ ทีซีซี กรุ๊ป หันมาเปิดตัว “เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต ” (MM Mega Market) ร้านค้าปลีกและค้าส่ง เน้นเปิดสาขาตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยว และจังหวัดชายแดน
 
ขณะเดียวกัน บริษัททีซีซี กรุ๊ปยังได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ “เมโทรกรุ๊ป แคช แอนด์ แคร์รี” ธุรกิจค้าส่งในเวียดนามด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร หรือประมาณ 25,656 ล้านบาท เป็น “บิ๊กดีล” สำคัญในการขยายธุรกิจสู่เวทีการค้าระดับภูมิภาค โดยใช้เวียดนามเป็นฐานในการเข้าไปทำตลาดในประเทศกัมพูชาและลาว
 
ก่อนหน้านี้ ทางด้าน “บีเจซี” เอง ก็ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนใน “บิ๊กซี” ประเทศเวียดนาม หลังจากรู้มาว่ากลุ่มคาสิโนต้องการขายหุ้นในเวียดนาม ในขณะที่ทีซีซีก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมลงชิงชัยในการซื้อกิจการบิ๊กซีในไทย
 
ในที่สุด กลุ่มทีซีซีสามารถคว้าดีล ซื้อหุ้นขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมบิ๊กซีในไทย จากกลุ่มคาสิโนรวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น ครองสัดส่วนหุ้น 58.56 % ของหุ้นทั้งหมด ในราคาต่อหุ้นเท่ากับ 252.88 บาท ได้สมใจ “เสี่ยเจริญ” สามารถครอบครองไฮเปอร์มาร์เก็ต 125 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า และบิ๊กซี จัมโบ้) บิ๊กซี มาร์เก็ต 55 สาขา มินิบิ๊กซี 394 สาขา และร้านขายยาเพรียว 146 สาขา มาไว้ในมือ 
 
 
บิ๊กซีต่อยอดธุรกิจ “เสี่ยเจริญ” ครบวงจร
 
การซื้อกิจการบิ๊กซีในครั้งนี้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์จากบริษัทเอเซีย พลัส สะท้อนความเห็นว่า ดีลซื้อกิจการบิ๊กซีครั้งนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นทางฟากของทีซีซี กรุ๊ปเป็นหลัก เพราะจะมาเติมเต็มเครือข่ายธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ” ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ระบบโลจิสติกส์ จะขาดก็แต่ค้าปลีก เมื่อได้บิ๊กซีมา จึงมาเสริมเรื่องช่องทางจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และยังสร้างความได้เปรียบในการจัดจำหน่าย และทำตลาดให้กับสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าในเครือ ทั้งการวางตำแหน่งสินค้า และการทำโปรโมชัน
 
ส่วนทางด้านบิ๊กซีเอง จะได้ประโยชน์จากฐานเงินทุน และเครือข่ายของทีซีซี กรุ๊ปในการต่อยอดขยายไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน จากการที่ทีซีซี กรุ๊ปเองก็ได้ขยายธุรกิจไปประเทศ CLMV ต่อเนื่อง
 
แต่สำหรับการแข่งขันในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศแล้ว บิ๊กซี่จะสร้างข้อได้เปรียบได้หรือไม่นั้น อาจต้องวัดกันยาวๆ แต่เชื่อว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านผู้ถือหุ้นที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหาร และการวางแผนธุรกิจจากผู้ถือหุ้นใหม่ อาจโดนคู่แข่งรายสำคัญอย่าง เทสโก้ โลตัส ชิงออกโปรโมชันเพื่อมาตีกัน และแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ 
 
ส่วนเซ็นทรัล ซึ่งยังคงถือหุ้นอยู่ใน “บิ๊กซี” อยู่เป็นจำนวนไม่มาก ก็ยังคาดเดาได้ยากว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะขายหุ้นบิ๊กซีออกไปในอนาคตหรือไม่ แต่หากกลุ่มเซ็นทรัลต้องการขายหุ้นจริงก็สามารถขายได้หลังจากธุรกรรมต่างๆ ในการซื้อขายหุ้นของทีซีซีเสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคมนี้
 
 
บิ๊กซีได้เงินทุนแลนด์ลอร์ดจากทีซีซี
 
ทางด้านของ สุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ นักวิเคราะห์ จากบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า ดีลการซื้อบิ๊กซี เป็นประโยชน์โดยตรงกับทาง “ทีซีซี กรุ๊ป” ที่ต้องการมีหน้าร้านค้าปลีก และมีการแสวงหามาตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งมาได้ “บิ๊กซี” เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องช่องทางจำหน่ายให้กับธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเอฟแอนด์เอ็น  เสริมสุข โออิชิ รวมทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์ และนอนแอลกอฮอล์ ซึ่งทีซีซีมีระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแรงมากในการกระจายสินค้า จะขาดก็แต่ช่องทางค้าปลีกที่จะกระจายไปถึงผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะก่อให้เกิดการ Synergy กับ “บีเจซี” บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค และต้องพึ่งพิงร้านค้าปลีก เมื่อได้บิ๊กซี จะทำให้บีเจซีลดต้นทุนในการวางจำหน่ายสินค้า เช่น ค่าธรรมเนียมในการวางจำหน่ายสินค้าน่าจะถูกลง และสร้างอำนาจต่อรองในการขายสินค้ามากขึ้น
 
“ราคาหุ้นที่ทีซีซีซื้อจากคาสิโนก็ไม่ถือว่าถูก การที่ยอมทุ่มเงินขนาดนี้ ทีซีซีมองว่าจะได้รับประโยชน์กับธุรกิจทั้งเครือ ส่วนบิ๊กซีเองน่าจะได้ประโยชน์จากการที่ทีซีซีมีฐานเงินทุน และยังเป็นแลนด์ลอร์ด มีที่ดินในมือจำนวนมาก มาช่วยในการขยายสาขาได้มากขึ้น”
 
แต่ถ้ามองในธุรกิจไฮเปอร์มาร์ก็ต ในช่วง 1-2  ปีนี้ถือว่าเริ่มอิ่มตัวแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่ละปีเติบโต 1-2% ถือว่าเก่งแล้ว บางปีก็ไม่เติบโต หรือเติบโตลดลง เพราะทุกรายแข่งกันขยายสาขากันจนตลาดเต็ม การจะหาทำเลใหม่ๆ เปิดสาขาขนาดใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกรายจึงต้องหันมาเปิดไซส์เล็กแทน 
 
การได้ทีซีซีมาถือหุ้น บิ๊กซีน่าจะได้ประโยชน์ ทั้งในเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ฐานเงินทุน และที่ดินสะสมไว้จำนวนมาก จะสร้างโอกาสในการขยายสาขาให้กับบิ๊กซี แต่จะส่งผลให้การแข่งขันของเปอร์มาร์เก็ตจากคู่แข่ง 3 รายในตลาด บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร ที่ขยันออกโปรโมชันมาห้ำหั่นกันอยู่แล้ว จะยิ่งต้องแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องส่วนแบ่งตลาด
 
ส่วนจะทำให้แลนด์สเคปธุรกิจค้าปลีกต้องเปลี่ยนแปลงขนาดไหน ต้องรอดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการมีเครือข่ายค้าปลีกส่งต่อสินค้าไปยังผู้บริโภคปลายทางของ “เสี่ยเจริญ” ได้เริ่มขึ้นแล้ว