ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ Animator ยุคใหม่

คงไม่แปลกหากจะยกให้ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ เป็น “นักแอนิเมชั่น” ต้นแบบคนหนึ่ง ผู้สร้างชื่อมาจากภาพยนตร์เรื่อง “ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น” ที่เป็นการ์ตูน 3 มิติเรื่องแรกเมืองไทย จากการทุ่มทุนสร้างของ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น ที่ประสบลผลสำเร็จสูงสุดในตลาดการ์ตูน Animation ในช่วงปีที่ผ่านมา

“ผมเรียนทางด้านฟิล์มมา เอกแอนิเมชั่นกับด้านฟิล์ม แล้วไปได้รับรางวัลแอนิเมชั่นเป็นตัวนำ เป็นการ์ตูน พอกลับมาไทย เป็นจังหวะที่แอนิเมชั่นกำลังบูมพอดี ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว มาช่วยตั้งแอนิเมชั่นที่วิธิตา จนปังปอนด์ประสบความสำเร็จในแอนิเมชั่นการ์ตูน”

ชัยพร เริ่มต้นการทำงานด้าน Graphic Design ตั้งแต่เรียนระดับปริญญาตรีปี 3-4 คณะมัณฑศิลป์ สาขออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่กราฟิก ที่สำนักพิมพ์อมรินทร์ฯ มีเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 1.5-1.6 หมื่นบาท ในยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งถือว่ามีรายได้สูงมากสำหรับนักศึกษาที่ยังไม่จบ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกในที่สุด

เขาใช้เวลาทำงาน และเก็บเงินในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งงานประจำที่สำนักพิมพ์อมรินทร์ และรับงานฟรีแลนซ์ทั่วไป จนสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 5-6 หมื่นบาท และสามารถเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้าน Animation ที่ University of Oregon สหรัฐอเมริกาได้แบบสบายๆ

จากความชอบ และความสามารถด้าน Graphic Design ส่งผลให้เขาสามารถเรียนรู้และเข้าใจงาน Animation ได้ดี จนสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองได้ และสร้างโอกาสก้าวเข้าไปเป็นผู้กำกับ & Lead Animator บริษัท Periscope Pictures, New York, ที่สหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น

ช่วงเวลาที่ศึกษาและใช้ชีวิตการทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ชัยพรสามารถสร้างผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลมากมากมาย ก่อนจะถูกดึงตัวมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ในปี 2544 ที่กลายเป็นผู้เปิดตำนานภาพยนตร์ 3D Animation เรื่อง “ปังปอนด์” ที่ประสบผลสำเร็จสูงสุดในปี 2546 และกระแสก็เบาลง

ชัยพรต้องคิดนอกกรอบและมองหาฟอร์แมตใหม่ที่แตกต่างจากภาพยนตร์ Animation เขาจึงตัดสินใจลาออกจากวิธิตาเพื่อมาร่วมหุ้นกับเพื่อนตั้งบริษัท “บ้านอิทธิฤทธิ์” เพื่อรับงานสตอรี่บอร์ดเคลื่อนที่ (animatic) รวมทั้งงานโปรดักชั่นหนังใหญ่ให้สหมงคลฟิล์ม และภาพยนตร์โฆษณา รวมทั้ง Animation ให้รายการต่างๆ ในเครือเวิร์คพอยท์ ภายใต้การบริหารของชัยพรและทีมงานเกือบ 20 ชีวิต ที่ช่วยสร้างผลงานได้โดนใจตลาด จนสามารถมีรายได้เลี้ยงบริษัทแบบสบายๆ ไปอีก 2 ปี โดยไม่ต้องรับงานชิ้นใหม่เพิ่ม

ชัยพรเป็นผู้บริหารยุคใหม่ที่ผันความชอบด้านศิลปะและคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์เป็นงานชิ้นโบแดงที่สร้างมูลค่าได้หลายเท่าตัว จนตลาดยอมรับ และสร้างผลงานเด่นๆ มากมาย อาทิ การ์ตูน 2 มิติในหนังโฆษณา 1-2-call ชุด กบในกะลา, title GMM, ขนม ซิลิโกะ ฯลฯ และส่วนการ์ตูนโฆษณา 3 มิติของ Comfort 4×4 (ชุดครอบครัวผ้า), จักรยานเทอร์โบ รวมทั้ง title รายการ “สู้เพื่อแม่” และ “ชิงช้าสวรรค์” ของเวิร์ค พอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นต้น

“ผมอยากให้บริษัทเป็นเหมือน PDI ของดรีมเวิร์ค ที่ทำหนังเรื่อง เชร็ค เป็นการ์ตูนที่เหมือจริงมากๆ และในบริษัทนั้นทำการ์ตูนและทำหนังอย่างแบทแมนด้วย แตกต่างจากผมที่ไม่อยากจะติดภาพบริษัทเราในการทำการ์ตูนอย่างเดียว จึงผันตัวมาเป็นซีจีแอนิเมชั่นที่มีการ์ตูนด้วย ใครมาจ้างเราทำการ์ตูนก็ได้ และไม่จำกัดแค่สไตล์ปังปอนด์ เราทำเรียลลิสติกได้ และการ์ตูนเป็นส่วนหนึ่ง”

นั่นเป็นเหตุผลให้ชัยพรได้รับงานแอนิเมชั่นของภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์เหล็กไหล” ของค่ายสหมงคลฟิล์ม โดยมี บัญฑิต ทองดี เป็นผู้กำกับ ที่จะออกฉายเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะเป็นการ์ตูน action ที่สร้างสีสันเป็นการ์ตูนฮีโร่ในตลาดไทยไม่น้อย หลังชิมลางตลาดจากเกม action ที่จำลองจากหนังเรื่อง “ต้มยำกุ้ง” มาแล้ว

ด้วยบุคลิกที่ช่างคิด ใจเย็น และเป็นคนมีจิตนาการสูง บวกกับไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบศิลปะ และมีไอเดียใหม่ๆ ที่มักจะหยิบจับสิ่งของรอบข้าง อาทิ ตัวการ์ตูน มาดีไซน์เป็นผลงาน Animation ได้อย่างดี แต่เขาก็ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีคุณภาพ อาทิ โน้ตบุ๊กที่เขามีถึง 4 เครื่อง เพื่อใช้ในลักษณะงานที่แตกต่างกัน โดยจะเลือกโน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้สามารถรองรับงาน Animationได้ดี

จากงานส่วนใหญ่ต้องใช้จินตนาการ และไม่จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ชัยพรจึง มักหิ้วโน้ตบุ๊กคู่ใจไปนั่งทำงานอยู่ในร้านกาแฟ ที่บ้าน หรือสถานที่บรรยากาศสบายๆ เพื่อให้เวลาทั้งวันทำงานด้านออกแบบ ดีไซน์ และ Animation อย่างมีความสุข จนเกิดไอเดียได้งานชิ้นใหญ่ในร้านกาแฟเล็กๆ กลางเมือง หรือริมถนน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานส่วนตัวที่แบ่งเวลาที่เหลือจากธุรกิจหลัก เพราะไม่กดดัน และมีความสุขที่ได้ทำ

“ผมจะเลือกเฉพาะงานที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด แต่หลักคิดนี้ใช้ไม่ได้กับธุรกิจ งานบางชิ้นเราอาจจะไม่ชอบที่สุด แต่เงินดี และคิดว่าเราทำงานนี้ได้ ก็ต้องรับมา เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดสำหรับองค์กรและทีมงาน เพราะเราทำงานกันหลายคน”

เขาหมายถึงทีมงานร่วม 20 ชีวิตที่อยู่ภายใต้การดูแล และเป็นกำลังในการสร้างโลก Animation ยุคใหม่ให้เขาในวันนี้ “ผมจะเลือกพนักงานเองทั้งหมด มีหลักง่ายๆ คือ sense (ความรู้สึก) ในการทำงาน คือต้องเข้าใจความหมายของงาน เพราะฉะนั้นคน animation ต้องมีจินตนาการสูง ไม่ใช่เก่งคอมฯอย่างเดียวแล้วจะทำงานได้ และคนทำงานเก่งให้ผมบางคนเล่นคอมพิวเตอร์ไม่เป็นด้วยซ้ำ เครื่องมือฝึกกันได้ แต่จินตนาการเป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล”

เขายังใช้หลักบริหารจัดการที่ดีว่า “การพัฒนาบุคลากรที่ดีที่สุดคือ การทำให้คนรักงานที่ทำ และรักเพื่อนร่วมงาน แล้วงานทุกอย่างในบริษัทจะง่ายแบบไม่น่าเชื่อ” หากพิจารณาลักษณะงาน Animation ต้องใช้จินตนาการ อารมณ์ และความรู้สึกเข้าเกี่ยวข้อง กับพนักงานของบริษัทที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัย 20 ต้นๆ ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมักแสดงออกหรือมีหลักคิดในงานทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงมีปัญหายิบย่อยมาให้ชัยพรต้องแก้ไขอยู่เป็นปกติ

รวมทั้งปัญหาอินเทรนด์ เช่น พนักงานติดเกม ที่เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ทำให้คุณภาพงานหลักด้อยลงไป เนื่องจากพนักงานใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกม และพักผ่อนน้อยจนไม่สามารถ create ผลงานชิ้นดีๆ ออกมาได้ ขณะเดียวกัน เกมออนไลน์ยังทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรติดไวรัสได้ง่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่ชัยพรต้องหากติกามาแก้ไข

“ทางออกที่ดีที่สุด คือ ห้ามพนักงานทุกคนเล่นเกมในออฟฟิศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องานหลัก เพราะงานแอนิเมชั่นต้องใช้ประสิทธิภาพจากระบบคอมพิวเตอร์สูง จึงไม่อยากให้เกมมาฉุดมาตรฐานการทำงาน”

ชัยพรจัดเป็นตัวอย่างของผู้บริหารรุ่นใหม่ในกลุ่มธุรกิจ Animation และ Graphic Design ที่พัฒนาตัวเองจากการเป็นพนักงานประจำ นัก Animation จนสามารถก้าวขึ้นเป็นเจ้าของกิจการในปัจจุบัน

นอกจากนี้เขายังแบ่งเวลาไปสอนหนังสือ เพื่อช่วยสร้าง Animator รุ่นใหม่ให้มากขึ้น รวมทั้งเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Animation และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Animation อีกด้วย

Profile

Name: ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
Education:
– ปริญญาโท MFA in Visual Design & Animation (เกียรตินิยมอันดับ1), University of Oregon
– ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์
Career Highlights:
ปัจจุบัน – กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด
2544-2547 – ผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด
– อาจารย์พิเศษ วิชา Animation & Character Design หลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร
– วิทยากรรับเชิญ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Animation
2541-2543 – ผู้กำกับ & Lead Animator, Periscope Pictures, New York, USA
2535-2540 – Designer & Artist Dynamix (Part of Sierra Game)
ผลงานในต่างประเทศ
–First prize : Siggraph1998 (2541)
การประกวดผลงานแอนิเมชั่นระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก
–First prize : World Animation Festival 2000 (2543)
–First prize : World Animation Celebration Festival 2001(2544) หรือ Flash Animation “3000 Miles to the Graceland”, Warner Bros.