สายการบินกระอัก นกแอร์ ขาดทุน เหตุราคาน้ำมันเพิ่ม-ทัวร์จีนลดลง

หลังจากที่สายการบินทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 ล่าสุดเป็นคิวของสายการบินนกแอร์ ต้องขาดทุน 974 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่เพิ่มขึ้น 29% ฉุดกำไรไตรมาส 3 ปีนี้

ประเวช องอาจสิทธิกุล

ประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินตามแผนลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันอากาศยานเครื่องบิน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 88.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 63.56 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานในไตรมาสนี้ยังคงสูงกว่ารายได้

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 3,775 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องบินที่ลดลงจากการเปลี่ยนแผนเส้นทางการบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่รายได้รวมของบริษัทมีจำนวน 2,864 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปกติในไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว การลดลงของนักท่องเที่ยวจีน การแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง ส่งผลรายได้จากค่าโดยสารลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 8% มีอัตราการเจริญเติบโตในส่วนการบรรทุกผู้โดยสารที่ร้อยละ 87 เพิ่มขึ้น 3 จุด

บางกอกแอร์เวย์ส รายได้ Q3 เพิ่ม 2.8%

ส่วนบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ งวด 9 เดือนของปี 2561 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 21,067.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 7,066.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.0% และ 24.8% ตามลำดับ

การเติบโตของรายได้ไตรมาสนี้ มาจากเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากเงินลงทุนในบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และมีรายได้จากธุรกิจการบินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.4 อันเป็นผลมาจากเส้นทางบินภายในประเทศ (ยกเว้นเส้นทางบินเข้า-ออกสมุย)

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 บริษัทฯ มีอัตราบรรทุกโดยสารเฉลี่ย (Load Factor) 66.1% และมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Passenger Yield) อยู่ที่ 4.65 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ในอัตรา 7.2% ส่งผลให้ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 21,067.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทฯ มีนโยบายจัดการลดต้นทุนและการวางกลยุทธ์ในการจัดการเที่ยวบิน ให้อัตราบรรทุกโดยสารเฉลี่ย (Load Factor) ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.8 เป็นร้อยละ 68.8 และ มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Passenger Yield) อยู่ที่ 4.55 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.9 และมีจำนวนผู้โดยสารที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 (4.483.4 ล้านคน) ทั้งนี้เป็นผลมาจากสัดส่วนจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ10.0 โดยหลักมาจากประเทศในโซนยุโรปและเอเชีย (ยกเว้นประเทศไทย) โดยในทวีปเอเชียจำนวนผู้โดยสารส่วนใหญ่มาจากทวีปเอเชียเหนือซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 20.0″

ในไตรมาส 3 ของปี 2561 ได้รับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ319 จำนวน 1 ลำ รวมทั้งสิ้น 39 ลำ นอกจากนี้ได้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) จากสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 11 เที่ยวบิน นอกจากนี้ มีมติจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ในเดือนกันยายน 2561 เพื่อดำเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 10.0 ล้านบาท โดยบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 100.0

ก่อนหน้านี้ ไทยแอร์เอเชียประกาศผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2561 แม้จะมีกำไร 340 ล้าน แต่ไตรมาส 3 ปีนี้ขาดทุนสุทธิ 358 ล้านบาท

โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 45% และผลกระทบจากการชะลอตัวของยอดนักท่องเที่ยวไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ที่ลดลงร้อยละ 8.8 (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าวว่า ผลประกอบการของ AAV (ถือหุ้นใน TAA ร้อยละ 55) ในไตรมาสนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,307 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 358 ล้านบาท

ขณะที่ในเก้าเดือนแรกปี 2561 มีรายได้รวม 30,203 ล้านบาท ยังคงมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 340 ล้านบาท

ทั้งนี้ผลประกอบการของไทยแอร์เอเชียไตรมาส 3 ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 656 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 611 ล้านบาท

ไทยแอร์เอเชียมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 81 มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 5.12 ล้านคน และมีฝูงบินจำนวนทั้งสิ้น 60 ลำ โดยรับมอบเครื่องบินใหม่ 1 ลำในไตรมาสนี้.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง