จับตาทีวีดิจิทัล “คืน 4 ช่อง” เม็ดเงินโฆษณาหาย 2% ช่อง 3 ประหยัดทันที 2 พันล้าน โมโน-ช่อง8-เวิร์คพอยท์ รายละ 800 ล้าน

ประกาศคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 แก้ปัญหากิจการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยให้นำคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรให้กับ 3 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปใช้ในเทคโนโลยี 5G คาดว่าจะได้เม็ดเงินราว 75,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะนำไปชดเชยให้ทีวีดิจิทัล 32,000 ล้านบาท ด้วยการยกเว้นเก็บค่าใบอนุญาตอีก 2 งวดที่เหลือ และจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตถึงเดือนเมษายน 2572

อีกประเด็นสำคัญจากมาตรา 44 คือการเปิดทางให้ “ทีวีดิจิทัล” ที่เหลืออยู่ 22 ช่อง สามารถ “คืนช่อง” ได้ โดยให้มาแจ้งสิทธิคืนช่องภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562  และได้รับเงินชดเชยก้อนหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์โดยคณะทำงานที่ กสทช.จัดตั้งขึ้น คาดสรุปตัวเลขช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

EIC คาดช่องข่าว-เด็ก-ครอบครัวคืนรายแรกๆ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า ทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้ม “คืนช่อง” มาจาก 3 ปัจจัย คือ

  1. กลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหารายการ (Content) ช่องทางการรับชมรายการที่มากกว่า 1 ช่องทาง (Multi-screen strategy) เช่น เว็บไซต์ของช่อง YouTube Facebook เป็นต้น และพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership)
  2. ความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเรตติ้งเป็นตัวตัดสินความนิยมของรายการทีวี
  3. เสถียรภาพทางการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของรายได้ ผลกำไรจากการดำเนินการ และอัตราส่วนของหนี้สินต่อของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio)

จากปัจจัยดังกล่าว จึงประเมินว่ามี 4 ช่องที่มีแนวโน้มคืนช่อง แบ่งเป็น 3 ช่องข่าว และอีก 1 ช่องเด็กและครอบครัว เนื่องจากรูปแบบและการนำเสนอรายการไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่จึงส่งผลให้เรตติ้งต่ำกว่าช่องอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน สะท้อนถึงรายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำหรับผู้เล่นบางรายที่ถือใบอนุญาตมากกว่า 1 ช่อง การคืนช่องบางส่วนอาจส่งผลบวกมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงพร้อมทั้งการได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตที่เหลือ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเพิ่มขึ้น

คืน 4 ช่องเม็ดเงินโฆษณาทีวีหายไป 2%

หากมีการคืนใบอนุญาต 4 ช่อง อีไอซีมองว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมากนัก โดยรายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องที่คืนใบอนุญาต คิดเป็น 2% ของมูลค่าโฆษณาทีวี หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทโดยกระบวนการคืนใบอนุญาตจะเกิดขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2563 ดังนั้นผลกระทบของการคืนใบอนุญาตอยู่ในปี 2564

ขณะที่อานิสงส์ของรายได้โฆษณา จากการคืนใบอนุญาต 4 ช่อง จะไปอยู่ในช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะช่องที่มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเดียวกับรายที่คืนใบอนุญาต ในกรณีที่ผู้ประกอบการ 1 รายมีช่องทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่อง และช่องที่มีเนื้อหาและกลุ่มคนดูใกล้เคียงกัน รวมถึงการให้บริการสื่อวิดีโอหรือโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ Over-the-Top platform (OTT) ยังคงมีทิศทางเติบโต โดยนีลเส็นระบุว่า กว่า 80% นิยมการรับชมแบบย้อนหลังและใช้เวลาเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน ทำให้เม็ดเงินโฆษณาโอทีทีเพิ่มขึ้น

สำหรับ “ผู้บริโภค” การคืนช่องและยุติออกอากาศจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากความนิยมของช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตอยู่ในระดับไม่สูง หากมีการคืนช่องข่าวและช่องเด็ก อาจส่งผลต่อความหลากหลายของการรับชมสื่อที่เป็นเนื้อหาข่าว เด็กและครอบครัวได้เช่นกัน

MUX สูญรายได้คืนช่อง 2.5 พันล้าน

ทางด้านผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ได้แก่ ไทยพีบีเอส ททบ.5 กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท มีแนวโน้มสูญเสียรายได้จากการให้เช่าโครงข่ายในระยะเวลาอีก 10 ปีที่เหลือราว 2,500 ล้านบาท

แต่เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายที่แตกต่างกันจึงทำให้ผลกระทบจากการสูญเสียรายได้อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อรายต่อปี หรือคิดเป็นราว 8-12% ของรายได้การให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลทั้งหมดของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ดังนั้นผลกระทบอาจอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

ค่าย้ายคลื่นฯ ทีวีดิจิทัล 2.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล กสทช.จะได้รับประโยชน์จากการเสียค่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทดแทนการย้ายคลื่นของทั้ง 4 ช่องทีวีดิจิทัลอยู่ที่ราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายรับของ กสทช.จากค่าธรรมเนียมรายปีของทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าประมาณ 180 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับการย้ายคลื่นฯ ทีวีดิจิทัลอีก 18 ช่องที่ดำเนินการต่อไปยังช่วงคลื่น 470 MHz กสทช.จะมีค่าใช้จ่ายราว 20,000-25,000 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายจำนวนนี้จะมาจากค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ประมูลไปแล้วปี 2018 และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) ในขณะที่ กสทช.ประเมินว่ารายได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz ที่เรียกคืนจากกิจการทีวี จะมีมูลค่ากว่า 75,000 หมื่นล้านบาท

โบรกฯ ชี้ BEC ได้ประโยชน์สูงสุด

มาตรา 44 ที่เข้ามาช่วยเหลือทีวีดิจิทัล บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัดวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ BEC เนื่องจากมีทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับราว 1,970 ล้านบาท คาดว่า BEC มีโอกาสคืนใบอนุญาต 1 หรือ 2 ช่อง คือช่อง 3 family หรือช่อง 3 SD  ซึ่งเป็นบวกต่อต้นทุนที่ลดลง แต่ก็มองผลเสียด้านต้นทุนค่าเสียโอกาสจากเงินที่ลงทุนไปแล้ว ขณะที่ ช่อง 8, เวิร์คพอยท์ และโมโน  จะได้รับผลประโยชน์รายละ 800 ล้านบาท จากการเปิดทางให้ “คืนช่อง” คาดว่ามีผู้ประกอบการ 6-7 ราย มีโอกาสที่จะคืนใบอนุญาต

“ทีวีดิจิทัล” พึ่งแหล่งรายได้ใหม่

ทิศทางการแข่งขัน “ทีวีดิจิทัล” หลังจากนี้ จะมุ่งสู่ Omni-channel การขายลิขสิทธิ์รายการทีวี และ Home Shopping ถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งผู้ประกอบการบางรายแล้วได้ดำเนินการไปแล้ว

การศึกษาของ McKinsey and EY พบว่า Omni-channel หรือการเชื่อมโยงช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ (Seamless) จะเป็นการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อทั้งหมด และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น เช่น อมรินทร์ทีวี ที่ใช้กลยุทธ์ออมนิ แชนแนลกับ 4 ช่องทางในมือ ได้แก่ สื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ อีเวนต์ และกิจกรรม ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอขายแพ็กเกจโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางดังกล่าว

ด้านการขายลิขสิทธิ์รายการทีวี BEC ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ JKN ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายคอนเทนต์ 70 เรื่องในต่างประเทศ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทำให้รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีของ BEC ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 300% ในตลาดต่างประเทศ ช่อง CBS สหรัฐฯ ใช้ช่องทางเดียวกันในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 33% มูลค่ากว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560

อีกการปรับตัวคือ RS ได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นธุรกิจ “สุขภาพ-ความงาม” มากขึ้น โดยใช้ช่อง 8 และสื่ออื่นในมือโฆษณาสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตน ผ่านรายการ Home shopping “Shop1781” ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ RS กว่า 2,100 ล้านบาทในปี 2561 หรือราว 60% ของรายได้ทั้งหมด

เทรนด์การสร้างรายได้ทั้ง 3 รูปแบบจะเป็นช่องทางใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดในการทำธุรกิจทีวีดิจิทัล

KGI คาดทรูรับคลื่น 700 หวังยืดจ่ายเงิน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI วิเคราะห์กลุ่มสื่อสาร จากการกำหนดประมูลคลื่น 700 MHz ภายในเดือนมิถุนายน 2562 โดยการประมูลจะแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15 MHz และการจ่ายเงินงวดแรกในเดือนตุลาคม 2563 โดยค่ายมือถือที่มีความต้องการขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องแจ้งยื่นประมูลคลื่น 700 MHz ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และรายละเอียดการประมูลทั้งหมดจะเปิดเผยภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562  KGI คาดว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคม “ทุกราย” จะยื่นความจำนงใช้สิทธิและรอรายละเอียดในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม เพื่อตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งหากไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz จะต้องกลับไปชำระเงินคลื่น 900 MHz ตามเงื่อนไขเดิม

ดังนั้นมองว่า TRUE มีโอกาสสูงสุดที่จะเข้าประมูลคลื่น 700 MHz เนื่องจากมีภาระจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ปีหน้ากว่า 60,000 ล้านบาท และฐานะทางการเงินไม่แข็งแกร่งเท่า ADVANC หรือ เอไอเอส.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง