วิบากกรรมคนสื่อ “ทีวีดิจิทัล” 5 ปี เลิกจ้างกว่า 1,000 คน

การเริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัลในปี 2557 ที่มีการประมูล 24 ช่อง มีฐานะเป็นฟรีทีวีระดับชาติ การเปิดช่องใหม่ต้องใช้บุคลากรสถานีละ 300 คน ถือเป็นช่วงที่เกิดภาวะ “ฟองสบู่” การจ้างงานในวงการทีวีทุกระดับ ที่มีการย้ายค่ายอัพเงินเดือน ว่ากันว่าเป็นยุค “มนุษย์ทีวีทองคำ”

แต่สถานการณ์ “ทีวีดิจิทัล” ผ่านไปเพียงปีแรกของใบอนุญาต 15 ปี ที่จะจบในปี 2572 ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คาดไว้ ทำให้ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” ผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ “ไทยทีวีและโลก้า” ขอเลิกกิจการทั้ง 2 ช่อง เพียงปีแรก แบกตัวเลขขาดทุน 700 ล้านบาท ต้องเลิกจ้างพนักงาน 500 คน ในเดือน พ.ย. 2558

ทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่เริ่มออกอากาศ เม.ย. 2557 ถึงปัจจุบัน ตลอด 5 ปี มีทีวีดิจิทัลหลายช่องต้อง “ลดต้นทุน” ด้วยการเลิกจ้างและเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retire) เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ ที่หลายช่องยังเผชิญภาวะ “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

ดังนั้นตลอดเส้นทางทีวีดิจิทัล จึงเห็นสถานการณ์เลิกจ้างและโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ มาตั้งแต่ปี 2558 เริ่มด้วย ต.ค. 2558 สปริงนิวส์ เลิกจ้าง 80 คน เดือน ก.พ. 2559 วอยซ์ทีวี เลิกจ้าง 57 คน เดือน พ.ค. 2560 ค่ายใหญ่ไทยรัฐทีวี เออร์ลี่ รีไทร์ 15% ของพนักงาน 700 คน ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 100 คน ส่วนเครือเนชั่น เปิดเออร์ลี่ รีไทร์ ทุกสื่อในเครือทั้งสิ่งพิมพ์และทีวี เดือน ส.ค. 2559 – มิ.ย. 2560 รวมรอบ 3 ราว 300 – 400 คน

ปีที่ผ่านมา เดือน ก.พ. 2561 นิวทีวี เลิกจ้างฝ่ายข่าย 37 คน ส่งท้ายปี เดือน ธ.ค. 2561 ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ รีไทร์ กลุ่มเกษียณ

สถานการณ์ “เลิกจ้าง” ในธุรกิจทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 ก่อนเปิดให้คืนใบอนุญาต มีการปลดบุคลากรไปแล้วกว่า 500 คน

7 ช่องคืนใบอนุญาตเลิกจ้างกว่า 500 คน

คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ที่เปิดโอกาสให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” ได้ พร้อมได้รับเงินชดเชยราว 55% ของเงินค่าประมูล 4 งวดที่จ่ายให้ กสทช. มาแล้ว เพื่อนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่มาประมูล 5G และนำเงินมาชดเชยและแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลราว 32,000 ล้านบาท       

โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 มีทีวีดิจิทัล แจ้ง กสทช. “คืนใบอนุญาต” 7 ช่อง ประกอบด้วย ช่อง 3 Family, ช่อง 3 SD,  MCOT Family, สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 (NOW 26), วอยซ์ทีวี และไบรท์ทีวี การประกาศคืนช่องดังกล่าว สิ่งที่ตามมาก็คือการ “เลิกจ้าง” พนักงาน

ประเมินกันว่า ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง “คืนใบอนุญาต” จะมีการเลิกจ้างพนักงานราว 550 คน ประกอบไปด้วย 2 ช่องเด็ก คือ ช่อง 3 family และ MCOT Family รวม 100 คน ส่วน 3 ช่องข่าว คือ ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ รวม 300 คน เนื่องจากทยอยลดคนไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่องสปริงนิวส์ 19 ได้ย้ายบุคลากรไปยังช่องสปริง 26 (NOW 26) ช่องวอยซ์ทีวี ย้ายไปทำทีวีดาวเทียมและสื่อออนไลน์ ขณะที่ 2 ช่อง วาไรตี้ SD คือ ช่อง 3 SD และ สปริง 26 รวม 150 คน

สถานการณ์บุคลากรในสื่อทีวีดิจิทัลนับตั้งแต่เริ่มต้นออกอากาศ มาถึงการคืนใบอนุญาต มีคนสื่อถูกเลิกจ้างกว่า 1,000 คน

กลุ่มคืนช่องเปิดโครงการ “เออร์ลี่ รีไทร์”

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบัน อสมท มีพนักงาน 1,600 คน เป็นลูกจ้างรายวันประมาณ 200 คน ที่เหลือเป็นพนักงานประจำ สำหรับช่อง MCOT Family มีพนักงานราว 30 คน คาดว่าจะย้ายกลับไปทำงานในส่วนงานต่างๆ ของ อสมท

เขมทัตต์ พลเดช

แต่จากการวิเคราะห์สถานการณ์สื่อทีวีหลังคืนช่อง และมีผู้ประกอบกิจการช่องธุรกิจอีก 15 ช่อง ขณะที่อุตสาหกรรมโฆษณาทีวี “ไม่มีแนวโน้มเติบโต” จากเทคโนโลยีดิสรัปชัน และผู้ชมมีพฤติกรรมรับชมคอนเทนต์ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มมากขึ้น ดังนั้นโอกาสการเพิ่มรายได้จากทีวีจึงอยู่ในภาวะลำบาก และต้องมองหาการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ทั้งจากช่องทางออนไลน์ และธุรกิจอื่นๆ

ในภาวะที่รายได้ทีวีไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนบุคลากรค่อนข้างสูง อสมท จึงเตรียมทำ “โครงการร่วมใจจาก” หรือโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ ตามความสมัครใจของพนักงาน ขณะนี้อยู่ในช่วง Staff survey เพื่อหาข้อมูลและความคิดเห็นพนักงาน เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็นมาจัดทำแผนรายละเอียดต่อไป คาดใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ในการสรุปโครงการ

“ที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลหลายช่องจัดทำโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายบุคลากรสอดคล้องกับรายได้  แต่ อสมท ไม่เคยเปิดโครงการดังกล่าว ปัจจุบันจึงเป็นองค์กรที่มีบุคลากรมากที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อทีวี  องค์กรที่มีบุคลากรเกิน 1,000 คน เช่น ช่อง 3ช่อง 7”

สำหรับ “ไบรท์ทีวี” หนึ่งในช่องข่าวที่ขอคืนใบอนุญาต ปัจจุบันมีพนักงาน 200 คน หลังคืนช่องยังคงดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อ ทั้ง เว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมทั้งมีโอกาสผลิตรายการให้กับสถานีทีวีช่องต่างๆ แต่การคืนใบอนุญาต ถือว่ามีผลกระทบต่อพนักงานบางส่วน ไบรท์ทีวีจึงได้จัดทำโครงการอาสาสมัครลาออก ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยให้แจ้งแผนก HR ภายในวันอังคาร ที่ 21 พ.ค. 2562

ไม่คืนช่องก็ต้องลดต้นทุน

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลวันนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ “ไม่คืนใบอนุญาต” ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่สบาย เพราะทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 15 ช่องธุรกิจ ก็ยังถือว่ามีจำนวนมากเกินไป สำหรับเม็ดเงินโฆษณาทีวี ที่ไม่มีแนวโน้มเติบโต การบริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้จึงเป็นเรื่องที่ “ทุกช่อง” ต้องทำไม่ต่างกัน โดยเฉพาะต้นทุนบุคลากร

สะท้อนได้จากช่อง GMM 25 ที่คณะกรรมการบริหารตัดสินใจ “ไม่คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัลกับ กสทช. และต้องการเดินหน้าทำธุรกิจทีวีดิจิทัลต่อไป แต่ก็ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง ดังนั้นจึงปรับลดต้นทุนการผลิตข่าว ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ GMM 25 ไม่ถนัด

โดยได้ยุติผลิตข่าวเช้า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 ส่วนข่าวเที่ยงและเย็น จะออกอากาศถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ ปัจจุบันฝ่ายข่าวมีพนักงาน 40 คน โดยจะเลิกจ้าง 27 คน และจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

ขณะที่ทีวีดิจิทัล ช่องอื่นๆ ที่ยังเดินหน้าต่อ ก็ต้องรัดเข็มขัดไม่ต่างกัน เปิดรับบุคลากรในส่วนงานที่มีโอกาสสร้างรายได้ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชมในยุคนี้

ไทม์ไลน์ ทีวีดิจิทัล “ปลดคน”

  • ต.ค. 58 สปริงนิวส์ เลิกจ้าง 80 คน
  • พ.ย. 58 ไทยทีวี-โลก้า ปิดสถานี เลิกจ้าง 500 คน
  • ก.พ. 59 วอยซ์ทีวี เลิกจ้าง 57 คน
  • พ.ค. 60 ไทยรัฐทีวี เออร์ลี่ รีไทร์ 100 คน
  • ก.พ. 61 นิวทีวี เลิกจ้าง 37 คน
  • ธ.ค. 61 ช่อง 3 เปิดเออร์ลี่ รีไทร์ กลุ่มเกษียณ
  • พ.ค. 62 GMM 25 เลิกจ้างทีมข่าว 27 คน
  • พ.ค. 62 ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง “คืนใบอนุญาต” คาดเลิกจ้าง 550 คน

2 ช่องเด็ก ช่อง 3 family และ MCOT Family รวม 100 คน

3 ช่องข่าว  ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ รวม 300 คน

2 ช่องวาไรตี้ SD ช่อง 2 SD และ สปริง 26  รวม  150 คน