ทรัมป์ VS หัวเว่ย สงครามนี้ใครจะชนะ

ทำไม Huawei ถึงโดนแบนอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลอเมริกัน นอกจากความกังวลที่มองว่า Huawei ใกล้ชิดรัฐบาลจีนมากเป็นพิเศษ ไปจนถึงความกังวลความปลอดภัยข้อมูล

ยังมีหลายกระแสเชื่อว่าเป็นเพราะ Huawei รุ่งเรืองเกินไปในฐานะผู้ให้บริการอุปกรณ์เครือข่าย 5G เบอร์ 1 จุดนี้บางเสียงถึงกับร่ำลือว่าอเมริกาต้องการเตะตัดขากันท่า Huawei เพื่อประวิงเวลาให้บริษัทไอทีอเมริกันมีเวลาเพิ่มในการไล่ตามจีนบนสังเวียน 5G

จน Google ถึงต้องกันจำกัดการทำงานร่วมกับ Huawei ที่อาจทำให้โทรศัพท์ Huawei ไม่สามารถอัพเดต Android เวอร์ชั่นใหม่ รวมถึงแอปพลิเคชั่นของ Google ทั้ง YouTube, Google Maps, Gmail และ Chrome ได้ในอนาคต

การแบนครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมไอทีอเมริกันกำลังแขวนไว้กับ Huawei เป็นหลัก เนื่องจากตัวเลขล่าสุดย้ำว่า Huawei ใช้เงินมหาศาลซื้อส่วนประกอบจากบริษัทอเมริกัน สะท้อนว่า Huawei กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครสู้ได้ และความยิ่งใหญ่ของ Huawei นี่เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันวิตก

1. หากถามว่า Huawei ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมา Huawei แสดงจุดยืนมาตลอดว่ามีวันนี้ได้เพราะการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นเพชรแท้ และลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นสั่งสมมาได้เพราะเทคโนโลยีของ Huawei ที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ

กรณีอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G แบรนด์แกนนำของประเทศจีนอย่าง Huawei กล้าการันตีตัวเองว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในแง่ความเร็ว และที่สำคัญคือราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับอดีตยักษ์เคยใหญ่ในยุค 2G, 3G และ 4G ในปัจจุบันทั้ง Ericsson, Nokia และอื่นๆ

ร้านสาขาหัวเหว่ย ในเมืองอิสตันบูล ตุรกี

2. ความนิยมของ Huawei กำลังทะลุทะลวงไปทั่วโลก เพราะไม่เพียงธุรกิจ B2G ที่ Huawei สามารถทำสัญญาวางโครงข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลกแล้วเกิน 40 สัญญา ยังมีธุรกิจ B2C ที่ Huawei สามารถทำได้ดีมากในตลาดอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภค ความร้อนแรงของ Huawei ประเมินได้จากความหนาแน่นของผู้เยี่ยมชมร้านสาขา Huawei ในยุโรป ซึ่งหลายช่วงเวลาพบว่าคึกคักกว่าร้านสาขาของ Apple ที่หงอยเหงาไปถนัดตาในยุคที่ยังไร้เงา iPhone รุ่นชูโรง

3. สำหรับมุม B2B และ B2G มีการวิเคราะห์ว่าโครงการตั้งเสา 5G จำนวนมากของ Huawei ต้องพึ่งพาผู้ผลิตในอเมริกาเช่น Intel, Broadcom และ Xilinx การเพิ่ม Huawei ลงในแบล็กลิสต์ที่ห้ามบริษัทอเมริกันส่งออกสินค้าให้บริษัทจีนสามารถชะลอความเร็วของ Huawei ในการจัดหาอุปกรณ์ 5G ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเด็นนี้เชื่อกันว่ารัฐบาลทรัมป์จำเป็นต้องทำ เพราะหากไม่ทำก็เท่ากับยอมให้ Huawei ครองตลาด 5G ไป แม้ในทางกลับกัน ธุรกิจของบริษัทอเมริกันจะได้รับผลกระทบในทางลบทันทีเลยก็ตาม

4. Huawei นั้นประกาศว่าอเมริกันประเมิน Huawei ต่ำเกินไป เพราะสื่อใหญ่ Bloomberg โชว์ข้อมูลว่า Huawei รอบคอบและสำรองส่วนประกอบโครงข่าย 5G ไว้เพียงพออย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ Huawei สามารถสานต่อโครงการ 5G ตามสัญญาได้บางส่วน จุดนี้ทำให้มีการการันตีว่าการแบนของสหรัฐฯ จะไม่กระทบกับการเปิดตัว 5G ในยุโรปแน่นอน

ประเด็นนี้สื่อตั้งข้อสังเกตว่ายุโรปเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก Huawei เพราะบริษัทไอทีของสหรัฐฯ ล้วนไม่มีสินค้าที่สามารถแข่งได้เทียบเคียงกับสิ่งที่ Huawei มี เรียกว่าทั้ง Ericsson และ Nokia ไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะมาแทน Huawei ได้ จุดนี้ทำให้บริษัทสัญชาติสแกนดิเนเวียอย่างน้อย 2 รายเลือกที่จะไม่แข่งขันกับ Huawei แต่ใช้วิธีทำงานร่วมกันกับส่วนงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่ของ Huawei

5. วันนี้งบประมาณวิจัยและพัฒนาของ Huawei ถูกรายงานว่ามากกว่างบของ Ericsson และ Nokia รวมกันถึง 2 เท่าตัว 

6. ท่าทีของผู้นำโลกถือว่าเป็นมิตรกับ Huawei ทั้ง Angela Merkel ของเยอรมนีและ Mark Rutte นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ที่ยืนยันว่าจะไม่ปิดกั้นบริษัทจีน ตราบใดที่ยังไม่มีช่องโหว่เรื่องความปลอดภัย ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่าง Macron ก็มองในทางเดียวกันว่าจะไม่มีการปิดกั้น Huawei หรือบริษัทใด ตามนโยบายสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการได้ใช้เทคโนโลยีที่ดี

7. ที่สำคัญ หลังจากที่รัฐบาล Trump สั่งระงับไม่ให้บริษัทอเมริกันส่งออกชิปให้บริษัท ZTE เมื่อปีที่แล้ว Huawei ก็อัดฉีดโครงการผลิตสุดยอดชิปของตัวเอง จนสามารถเริ่มเปิดตัวได้เมื่อธันวาคม 2018 ที่ผ่านมาในชื่อ Kirin ผู้ออกแบบชิปนี้คือบริษัท HiSilicon ในเครือ Huawei และผลิตโดย Taiwan Semiconductor Manufacturing รวมถึงอีกหลายบริษัท โดยปัจจุบัน ชิปนี้ถูกหยิบมาใช้แทนชิปของ Qualcomm ในสมาร์ทโฟนรุ่น high-end ของ Huawei เรียบร้อย

8. ในมุม B2C Huawei ก็ลงมือพัฒนาระบบปฏิบัติการ Hongmeng ของตัวเองเพื่อสำรองใช้ในสมาร์ทโฟน Huawei แล้ว สิ่งที่ต้องลุ้นคือชาวโลกจะยอมซื้อสมาร์ทโฟน Huawei ที่ไม่มีบริการหลักของ Google หรือไม่ โดยที่ผ่านมา การพ่วงบริการ Google พร้อมกับการจัดเต็มสเปกแรงให้กับเครื่อง Huawei ทำให้ Huawei มีส่วนแบ่งการตลาดโลกเกิน 20% มากกว่า Apple เสียอีก

9. สถิติวันนี้ชี้ว่าสมาร์ทโฟน Huawei ที่ไม่มีบริการหลักของ Google อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะทุกสมาร์ทโฟน Android ที่ขายได้ในจีน ราว 25% เป็นผลงานการผลิตของ Huawei ซึ่งทุกรุ่นล้วนไม่มีบริการหลักของ Google อย่างไรก็ตาม ลูกค้าในตะวันตกอาจจะไม่เห็นด้วยกับการหันมาใช้ WeChat หรือแอปสัญชาติจีนแทน เชื่อว่าส่วนใหญ่ซื้อสมาร์ทโฟน Android เพราะต้องการใช้บริการ Google ประเด็นนี้ยังเป็นจุดที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

10. ไม่แน่ สิ่งที่ Google กำลังทำตอนนี้คือการหาทนายมือดีที่มีไอเดียทางออกของสถานการณ์นี้ได้หลายทาง เพราะที่ผ่านมา Google ใช้อุปกรณ์ Android ทั่วโลกเป็นยานพาหนะพาชาวโลกมาสู่บริการของตัวเอง ดังนั้น Google ย่อมไม่ต้องการเฉือนแขนขาตัวเองทิ้ง และอาจหาช่องย้ายไปอยู่ไอร์แลนด์ จะได้ไม่ต้องเป็นเครื่องมือของใครอีก โดยที่ยังรุ่งเรืองเคียงคู่ Huawei ต่อไปได้อีกในยุค 5G

11. ถามว่าศึกนี้ใครจะชนะ ผศ.ดร...กุลธร เกษมสันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฟันธงในรายการของสถานีโทรทัศน์นิวส์วันว่าจะทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบจีน เพราะเท่ากับเป็นการบีบให้ Huawei พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด จนอาจเป็นคู่แข่งสำคัญในอนาคต ขณะเดียวกัน การแบนจะทำให้ Google รายได้หดไปด้วย เรียกว่าไม่ได้มีอะไรส่งผลดีกับอเมริกาเองเลย 

ที่สำคัญการที่จีนไม่ยอมแพ้ อาจเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เท่ากับว่า ส่งผลร้ายกับอเมริกาเองมากกว่า เพราะเวลานี้จีนก็ผลิตชิปเซตเองบ้างแล้ว เหมือนสร้างคู่แข่งขันใหม่ เพราะอย่างที่รู้กันตอนนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายๆ อย่างผลิตที่จีน ถ้าแตกหักนี่อเมริกางานเข้า สงครามการค้า คนเจ็บน่าจะเป็นอเมริกามากกว่า

แต่ Huawei อาจประสบปัญหาการเงินได้เพราะผู้คนอาจจะหันไปใช้ยี่ห้ออื่นทำให้ยอดขายตกลง

ด้าน Google นั้นไม่ได้อะไรเลย เสียทั้ง Huawei ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ รายได้หดหาย แต่อาจต้องรอว่าสุดท้ายจะมีการตกลงอะไรมาชดเชยให้ ซึ่งถ้าทุกอย่างไม่ลงเอยตามที่ทรัมป์ต้องการ Google ก็อาจประสบปัญหาหนักเหมือนกัน.

ที่มา :