“ศุภลักษณ์ อัมพุช” บินคุยผู้นำทั่วโลก เฟ้นไอเดีย พลิกเกมค้าปลีกยุคดิสรัปชั่น

ยุค Disruption ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ สูตรสำเร็จในอดีตใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน หากต้องการยึดตำแหน่งยืนหนึ่งทุกอุตสาหกรรมต้องกล้าแตกต่างและเป็นผู้เปลี่ยนเกม!

ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 43 ประชาชาติธุรกิจ GAME CHANGER PART II” เมื่อ Digital Disruption ไล่ล่าธุรกิจ เกมใหม่เปลี่ยนอนาคต คือ “คำตอบ” และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยี คือ “ค้าปลีก” เห็นได้ชัดเจนในสหรัฐฯ ที่ถูกคลื่นดิสรัปต์อย่างรุนแรง และเห็นการปิดตัวของแบรนด์ค้าปลีกดังมาต่อเนื่อง

The Iron Butterfly นักธุรกิจหญิงเก่งของเอเชีย “คุณแอ๊ว” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขึ้นเวทีฉายมุมคิดธุรกิจค้าปลีก จะชนะในสงครามเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นได้อย่างไร

“เราถูกกระหน่ำด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจ คนมิลเลนเนียลมีวิธิคิดและใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ดังนั้นเราต้องเลือกว่าจะเป็นอะไร จะรอถูก Disrupt หรือ จะเป็น Disruptor ของตลาด”

ทุกวันนี้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ “มือถือ” ได้เข้ามา “เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน” จากพฤติกรรมที่ใช้เวลา 9 ชั่วโมงต่อวัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะมองเป็น Threat หรือ Opportunity อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน

ต้องหา Winning Formula ให้เจอ

ศุภลักษณ์ เล่าว่า ตลอดการทำงานมา 30-40 ปี “เดอะ มอลล์” เริ่มต้นตั้งแต่ไม่มีอะไรเลย ท่ามกลางสนามแข่งห้างไทยและต่างชาติกว่า 20 แห่ง “เราเป็น New kid in the box ในยุคนั้นและผ่านมาทุกวิกฤติ” ทั้งการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทปี 2540 วิกฤติการเมือง น้ำท่วม ล่าสุดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

รวมทั้ง Digital Disruption ที่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ถูกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกธุรกิจ แต่อย่างที่บอกว่าจะมองเป็น Threat หรือ Opportunity หากมองเป็น “โอกาส” สิ่งที่ต้องทำในทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น คือต้องหาโอกาสให้เจอ

และเดอะมอลล์ มองทุกวิกฤติเป็นโอกาส การทำงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องค้นหา Winning Formula ให้เจอ ที่ต้องเป็น Formula เพราะ “คุณแอ๊ว” จบคณะเภสัชศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมองหา “สูตร” ใหม่ๆ ที่จะมาใช้บริหารธุรกิจ

หากย้อนประสบการณ์ที่เริ่มต้นทำงานให้ครอบครัว “อัมพุช” ครั้งแรกมาจากคำสั่งของคุณพ่อ การเปิดเดอะมอลล์สาขาแรกที่ราชดำริ ปี 2524 ท้ายสุดก็ต้องปิดฉากภายใน 2 ปี (บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าดำเนินการ เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรม)

ศุภลักษณ์ ยอมรับว่าการเปิดตัว เดอะ มอลล์ สาขาแรก ขณะนั้นไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจค้าปลีก แต่หลังจากนั้นจึงเรียนรู้ว่าหากจะอยู่ในโลกธุรกิจ ต้องหาอะไรที่ Winning เพราะถ้าไม่ “ชนะ” ก็ไม่ควรทำ การเปิดเดอะมอลล์สาขาต่อมาจึงใส่เรื่อง Retail & Entertainment เข้าไปที่ถือเป็นสูตรชนะในเกมค้าปลีก

แต่ Winning Formula ก็ไม่ใช่ว่าจะหากันง่ายๆ ในยุคนี้

ตระเวนทั่วโลกหาไอเดียเฟ้นสูตรชนะเกมธุรกิจ

โลกธุรกิจยุค Disruption ทุกคนล้วนตั้งคำถามว่า What is the future of retail? ปัจจุบันรู้อยู่แล้วว่าห้างในสหรัฐฯ “ปิดตัว” จำนวนมาก แบรนด์ดังๆ หายไปจากตลาด เป็นสิ่งที่กังวลว่าสถานการณ์แบบนี้จะมาถึงเมืองไทยเมื่อไหร่ ทุกคนบอกว่า brick and mortar หรือร้านค้า Physical จะอยู่อย่างไรท่ามกลางโลกออนไลน์ที่ให้ความสะดวกและรวดเร็ว แม้ผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม บางคนยังชอบเดินห้าง บางคนชอบซื้อออนไลน์ แต่ห้างจะต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมเหล่านี้ไว้ให้ได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุค Disruption ก็ต้องถามตัวเองว่าจะสู้หรือถอย เพราะบางรายที่ไม่สู้ ก็ต้องขายทิ้ง”

แต่เมื่อวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทยที่เป็น “ฮับ” ของอาเซียน มีประชากรกว่า 600 ล้านคน จึงเชื่อว่า “โอกาส” ค้าปลีกยังมีในยุคดิสรัปชั่น แต่ต้องหา Winning Formula ให้เจอ

อย่างที่บอกแล้วว่า Winning Formula ไม่ได้หากันง่ายๆ แต่ไอเดียเกิดขึ้นได้จากการเสาะแสวงหา คุณแอ๊ว เล่าว่าหนึ่งในไอเดียการหาสูตร คือ การพบปะกับบุคคลที่เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จระดับโลก

แจ็ค หม่า

คนแรกที่ขอพบเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย คือ แจ็ค หม่า” เจ้าของอาณาจักร อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ Alibaba ประเทศจีน สิ่งที่ถาม “แจ็ค หม่า” คือ คุณคิดอย่างไรกับค้าปลีก? เขาบอกว่าต้องทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะออนไลน์อย่างเดียวไม่มีตัวตน ต้องมีออฟไลน์ด้วย เพื่อเป็น O2O สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) ให้กับผู้บริโภค เป้าหมายของ “แจ็ค หม่า” คือต้องการมีลูกค้าจากทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบาให้ได้ 2,000 ล้านคน

คนต่อมา “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” (Bernard Arnault) ประธานและซีอีโอ กลุ่ม LVMH Group เจ้าของธุรกิจหลากหลายในกลุ่มลักชัวรีแบรนด์ อาทิ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton), คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), Fendi, Marc Jacobs, TAG Heuer สิ่งที่คุณแอ๊วอยากรู้ก็คือ ทำไมลักชัวรีแบรนด์ยังขยายได้ทั่วโลกท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่น และ LVMH Group ยังให้ความสนใจโปรเจกต์ของเดอะมอลล์

เช่นเดียวกันกับการพบปะ “ฟรองซัวส์–อองรี ปิโนลต์” (François-Henri Pinault) ประธานและซีอีโอ Kering group เจ้าของลักชัวรีแบรนด์ เช่น กุชชี (Gucci), อีฟส์ แซงต์–โลรองต์ (Yves Saint-Laurent), บอตเตกา เวเนตา (Bottega Veneta), บาลองเซียกา (Balenciaga) และ อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ( Alexander McQueen) เพื่อถามมุมมองการเติบโตของลักชัวรีแบรนด์ในตลาดโลกว่าทำอย่างไร

Paul Kane / Stringer / Getty Images

แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ริชาร์ด แบรนสัน” (Richard Branson) นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง Virgin เจ้าพ่อ Game Changer อยู่ในลิสต์ของนักธุรกิจระดับโลกที่คุณแอ๊วได้พบปะพูดคุยด้วย

ยังมีคนดัง นักธุรกิจ เศรษฐีระดับโลก รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจและศักยภาพการลงทุนในประเทศไทย

ศุภลักษณ์ บอกว่าการคิดเรื่อง Winning Formula ไม่สามารถคิดเองทำเองได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องฟังจากความต้องการของนักลงทุนต่างๆ ว่าสนใจอะไร รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละยุคว่าต้องการสินค้าและเซอร์วิสรูปแบบใด

การศึกษาเพื่อทำศูนย์การค้าปัจจุบัน “ไม่หมู” ไม่ใช่ว่ามีที่ดินก็สร้างศูนย์การค้า เพราะนั่นอาจจะ “เจ๊ง” ได้เลย และไม่ใช่การลงทุนต่ำๆ แต่ละโครงการระดับ 10,000 ล้านบาท

“เวลาจะทำงาน เราต้องคิดการใหญ่ (Dream Big  Think Big) และต้องไม่ยอมแพ้”

ทำธุรกิจต้องอยู่บน 3 คำนี้

การเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน วันนี้ ประเทศไทยและภาคธุรกิจ ต้องยืนอยู่บน 3 คำนี้

1. Globalization เพราะวันนี้ธุรกิจไม่สามารถหนีการแข่งขันจากผู้เล่นในตลาดโลกได้พ้น เปรียบได้กับสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่มาไม่รู้ตัว แต่ไม่ได้มาฆ่าคนแต่มาฆ่าธุรกิจ เป็นการขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยี จึงเป็นยุคที่ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ แต่จะต้อง Go Global เพราะผู้เล่นยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ เข้าสู่ตลาดไทยแล้วทุกธุรกิจ ทั้งด้านเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Lazada, Google

“แทนที่เราจะต่อสู้กับต่างชาติ ซึ่งก็ไม่สามารถสู้กับทุนระดับโลกได้และไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้าน ก็เปลี่ยนไปร่วมกับเขาทำ Collaboration ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นเทรนด์ธุรกิจในอนาคต”

2. Digitalization เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่สามารถหลีกหนีได้ แต่แพลตฟอร์มออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง และส่วนใหญ่ยังไม่กำไร “ดังนั้นหากไม่มีเงินขาดทุนแบบยักษ์ใหญ่ ก็ต้องมองช่องทางเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มนั้น”

3. Tourism การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ การสร้างรายได้เข้าประเทศ และประเทศไทยเป็น “จุดหมาย” ท่องเที่ยวระดับโลก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยราว 40 ล้านคนต่อปี ถือเป็นอีกกลุ่มกำลังซื้อสำคัญของธุรกิจค้าปลีกในไทย

ช่วงเปิด เอ็มโพเรี่ยม เมื่อ 20 ปีก่อน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 ล้านคน แต่วิกฤติค่าเงินปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโต ปี 2542 นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 17 ล้านคน ช่วงที่เปิด สยามพารากอน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน วันนี้ขยับไป 40 ล้านคน โดยมีตลาดหลัก คือ จีน รัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลางและเอเชีย

เจาะสูตรค้าปลีก “ยืนหนึ่ง” ยุคดิสรัปชั่น

หากถามว่าทำธุรกิจรีเทลให้ยืนอยู่ได้ ท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่นต้องทำอย่างไร เพื่อพลิกเกมให้เป็นผู้ชนะในสถานการณ์ Globalization และ Digitalization ศุภลักษณ์ ให้โจทย์คิดไว้ 5 ข้อ คือ

  1. The Place That Prioritizes The Quality of Human life ต้องทำให้ชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น มีความสุขที่ได้มาสถานที่นั้นๆ
  2. The Place That Give Innovative Spirit มาเพื่อเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ
  3. The Place That Give New Life Experience สร้างประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิต
  4. The Place That Functions as an Organic Component of The City สร้างพื้นที่เรื่องสิ่งแวดล้อม คืนให้กับสังคม
  5. The Place That Harmonizes The Technology & Humanity ต้องมีทั้งเทคโนโลยีและการดูแลใส่ใจผู้คน

เมื่อกลับมาย้อนดูสิ่งที่เป็น Winning Formula ของ “เดอะมอลล์” ในแต่ละยุค เป็นการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ การเริ่มต้นเป็น New kid in the box เพื่อแทรกตัวเข้ามาในสนามแข่ง จากยุคที่มีแต่ห้างและศูนย์การค้า  “เดอะมอลล์” เป็นคนแรกเมื่อ 30 ปีก่อน ที่มีวิชั่นว่าจะใส่อะไรเข้าไปเป็น “แม่เหล็ก” ในห้างและศูนย์การค้า ปี 1988 เป็นรายแรกที่ทำเรื่อง Retail & Entertainment ที่เดอะมอลล์ บางแค และบางกะปิ ด้วยการใส่สวนน้ำและสวนสนุก

มาในปี 1997 การเปิดตัว “เอ็มโพเรี่ยม” ในฐานะ The Ultimate Shopping Experience คือ The First Hi-End Shopping Mall ดึงลักชัวรีแบรนด์ดังที่ไม่รู้จักประเทศไทยมาก่อน เข้ามาเปิดช็อปหรู

ปี 2005 กับการเปิดตัว สยามพารากอน The Era of World Class Retail Phenomena บนพื้นที่ 5 – 6 แสนตารางเมตร เปิด “อควาเรียม” ครั้งแรก เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาทั้งวันในศูนย์ฯ

สิ่งที่กำลังทำต่อเนื่องนับจากเปิด เอ็มโพเรี่ยม ในปี 1997 ต่อเนื่องด้วย “เอ็มควอเทียร์” ในปี 2015 ถึงปัจจุบัน คือการสร้าง “ย่าน” The Em District เป็นจุดเริ่มต้นสร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในย่านนี้

สูตรชนะใหม่ใช้ Entertainment ระดับโลก

Winning Formula ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการร่วมกับ AEG ซึ่งก่อตั้งโดย Philip Anschutz มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจ้าของธุรกิจหลายอย่างทั้งพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจบันเทิงหลาย เป็นเจ้าของมหกรรมดนตรีอันดับหนึ่งของโลก Coachella ที่มีคนร่วมกว่า 1 ล้านคนทุกปี

ความร่วมมือกับ AEG ซึ่งจะใส่เงินลงทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง “อารีน่า” จัดคอนเสิร์ตและจัดงานอีเวนต์ระดับโลก 2 แห่ง ในช่วง 5 ปีนี้ คือ EM LIVE ในศูนย์การค้า เอ็มสเฟียร์ ความจุ 6,000 ที่นั่ง และ แบงค็อก อารีน่า ในโครงการแบงค็อก มอลล์ บางนา ความจุ 16,000 ที่นั่ง

การจับเรื่อง Entertainment ระดับโลกมาเป็น Winning Formula ที่เอ็มสเฟียร์ และ แบงค็อก มอลล์ เพราะศึกษาว่า ยุค Globalization อะไรที่ไม่ถูก disrupt ก็คือ Entertainment  นั่นเอง เพราะการเสพจากออนไลน์ยังไม่ได้อรรถรสและบรรยากาศจริง และต้องบอกว่ากลุ่มคนที่เสพความบันเทิงและจ่ายหนักมีจำนวนมาก

อีกทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่าน “การท่องเที่ยว” วันนี้ ประเทศไทยต้องสร้าง Artificial Attractions ใหม่ๆ เพื่อเป็นจุดขายดึงดูนักท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา

ด้วยโลเคชั่นประเทศไทยที่เป็นฮับของภูมิภาคอาเซียน และการเป็นบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์อันดับ 1 ของโลกของ AEG จะช่วยกันผลักดันและเปลี่ยนประเทศไทยให้อยู่บนแผนที่การเดินทางของโลกในการสร้าง The Best Experience Entertainment and Music

เชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทย โอกาสการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยอีกเท่าตัว หรือ 80 ล้านคนต่อปี “เป็นไปได้แน่นอน”

ข่าวเกี่ยวเนื่อง