มองทิศทางหูฟัง “True Wireless” ทำไมอีก 3 ปี จะมีสัดส่วนตลาดเกิน 50%

หูฟัง “True Wireless” หรือหูฟังไร้สายที่มีลักษณะคล้ายกับหูฟัง In-Ear และ Earbud ซึ่งจุดแตกต่างจากหูฟังบลูทูธทั่ว ๆ ไป คือ ขนาดที่เล็ก ไม่มีสายกวนใจ

ดังนั้นจึงพกพาสะดวก ซึ่งหูฟัง True Wireless เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดไทยเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงนั้นราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่หลักหมื่นบาทขึ้นไป ส่งผลให้การใช้งานจะถูกจำกัด ส่วนมากอยู่ในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายที่ต้องการความคล่องตัว แต่ปัจจุบันราคาที่เริ่มจับต้องได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดยิ่งเติบโต มีการใช้แพร่หลายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

“ดร.บรรพต วัฒนสมบัติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ทีบีเทคโนโลยี จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดหูฟัง True Wireless ในไทยมีการเติบกว่า 5 เท่า เฉพาะ RTB เองมียอดขายหูฟัง True Wireless กว่า 35,000 ชิ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีราคาเฉลี่ยประมาณ 7,000-9,000 บาท ขณะที่ตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากดีไซน์ที่สวย สามารถใช้ได้กับทุกไลฟ์สไตล์ และราคาก็ถูกลงจากหลักหมื่นเหลือเพียง 3,000 ต้นๆ ขณะที่คุณภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการนำฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อหูฟังแบบครอบหูหรือ Over-Ear ที่มีขนาดใหญ่

ซึ่งปัจจุบันหูฟัง True Wireless มีสัดส่วนเพียง 10% ของตลาด คาดว่าภายใน 3 ปีจะกินสัดส่วนกว่า 50% ของตลาดหูฟังทั้งหมด โดยจะไปแทนที่หูฟังบลูทูธแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดหูฟังมีสายคงไม่หายไปเพราะยังมีการใช้งานในบางอาชีพหรือคนที่ต้องการคุณภาพเสียงจริง ๆ

“การแข่งขันในตลาดนี้ไม่ได้น่าหนักใจ เพราะแต่ละแบรนด์มีโพซิชั่นของตัวเอง บางแบรนด์เน้นเสียง บางแบรนด์เน้นดีไซน์ และผู้บริโภคไม่ได้มองที่ราคาจนต้องซื้อแบรนด์จีนที่ถูก แต่มันเหมือนเป็นเครื่องประดับ ใส่ของแท้แล้วรู้สึกภูมิใจ”

ทั้งนี้ RTB ยังคงทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ดึงแบรนด์หูฟังสัญชาติอเมริกา “Master & Dynamic” (มาสเตอร์ แอนด์ ไดนามิก) เข้ามาทำตลาดในไทยทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ Master & Dynamic MW65 ราคา 19,900 บาท, Master & Dynamic MW07 PLUS ราคา 12,900 บาท และ Master & Dynamic MW07 GO ราคา 7,990 บาท

โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายหูฟัง True Wireless จาก 30% เป็น 50% ในปีหน้า ปัจจุบัน RTB มีแบรนด์หูฟังในพอร์ตกว่า 10 แบรนด์ อาทิ Jabra, B&O, Beats by Dr.Dre, AudioCodes, Sony เป็นต้น

สำหรับภาพรวมของ RTB ในปีนี้ คาดว่ามีรายได้ 600 ล้านบาท เติบโตประมาณ 25% โดยสัดส่วนราคาได้หลักราว 46% มาจากหูฟัง ซึ่งเติบโตได้ดีจากตลาดหูฟังทรูไวเลส  แต่เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ดังนั้น RTB จึงจำเป็นต้องหาสินค้าใหม่ ๆ มาเพิ่ม โดยจะเน้นแบรนด์ระดับพรีเมียมเพื่อรักษากำไร ซึ่งที่ผ่านมาได้เพิ่มแบรนด์เกมมิ่งเกียร์ เพื่อเจาะตลาดเกมเพิ่มเติม รวมทั้งจะเน้นสร้างการรับรู้โดยใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น โดยตั้งเป้าการเติบโตในปี 2563 ที่ 15%

“ที่เราเติบโตได้ 25% เป็นเพราะเรามีแบรนด์ใหม่มาทำตลาด ขณะที่การเติบโตของแต่ละแบรนด์ที่มีก็ยังทรงตัว เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดีส่งผลต่อกำลังซื้อ ค่าเงินที่แข็งทำให้การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นเราจึงต้องหันไปโฟกัสในตลาดหูฟัง True Wireless และเกมมิ่งเกียร์ ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกลาง-บนมีกำลังซื้อ”

แม้ตลาด Gadget ไทยจะทรงตัวเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่มองว่าในอนาคตมีโอกาสเติบโตสูงเพราะสินค้า “IoT” ยิ่งปีหน้ามี 5G ภาพจะเห็นชัดขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าเชนสโตร์สมาร์ทโฟนเริ่มเห็นเทรนด์ดังกล่าวโดยมีการตั้งร้านสำหรับขาย Gadget โดยเฉพาะ เพื่อรอตลาด IoT ที่จะมาถึง อาทิ Jaymart ที่มี Jaymart IoT, Com 7 มีร้าน BB Beyond D-Box เป็นต้น ในปีหน้า RTB เองมีแผนที่จะเพิ่มแบรนด์ IoT เข้ามาทำตลาดแน่นอน