Insight – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 27 Dec 2024 08:01:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ปีใหม่ 2568 คาดใช้จ่ายสะพัด 1.09 แสนล้าน พบ คนไทย 45.6% ดึงเงินออม ใช้สังสรรค์เพิ่ม https://positioningmag.com/1505107 Thu, 26 Dec 2024 09:17:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1505107 แม้กำลังซื้อคนไทยยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ แต่การเฉลิมฉลองปีใหม่ 2568 ก็ทำให้คนยอมควักเงินใช้จ่ายจำนวนมาก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ พฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2568 จำนวน 1,300 ตัวอย่าง พบว่า ประมาณการมูลค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2568 อยู่ที่ 109,313 ล้านบาท เติบโต 3.3% (YoY) แบ่งออกเป็น

  • เลี้ยงสังสรรค์ 14,739 ล้านบาท
  • ทำบุญ 11,281 ล้านบาท
  • ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 20,521 ล้านบาท
  • ซื้อสินค้าคงทน 5,049 ล้านบาท
  • ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 2,860 ล้านบาท
  • ท่องเที่ยวในประเทศ 45,998 ล้านบาท
  • เที่ยวต่างประเทศ 5,476 ล้านบาท

ส่วนแหล่งที่มาของเงินใช้จ่าย หลัก ๆ มี 5 ช่องทาง ได้แก่

  • เงินเดือน/รายได้ตามปกติ สัดส่วน 47.1% (เดิม 60.3%)
  • เงินออม สัดส่วน 45.6% (เดิม 37.4%)
  • เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท สัดส่วน 2.4% (เดิม 0.3%)
  • โบนัส/รายได้พิเศษ สัดส่วน 2.2% (เดิม 1.9%)
  • อื่น ๆ เช่น ถูกรางวัล เสี่ยงโชค ผู้ปกครอง สัดส่วน 2.7% (เดิม 0.1%)

เมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อใช้จ่ายช่วงปีใหม่มากน้อยเพียงใด 29.5% มองว่าไม่มีผลเลย ส่วนอีก 70.5% มองว่ามีผล ในจำนวนนี้ 59.2% จะลดค่าใช้จ่ายลง

]]>
1505107
ผลสำรวจ ชี้ คนโสดโปรไฟล์ดี ปี 68 ตั้งสเปกชัด “หาดีไม่ได้ก็ไม่เอา!” https://positioningmag.com/1504826 Wed, 25 Dec 2024 04:56:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504826 เวลาเปลี่ยน ค่านิยมการเลือกคู่ของคนโสดในไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน!

Bangkok Matching บริษัทจัดหาคู่ ระดับไฮเอนด์ เปิดเผยเทรนด์การหาคู่ ประจำปี 2568 จากผลสำรวจหนุ่มโสด-สาวโสด โปรไฟล์ดี เงินเดือนขั้นต่ำ 50,000 บาท ไปจนถึงรายได้หลัก 10-1,000 ล้านบาท/เดือน

โดยพบ 5 แนวโน้มสำคัญ ดังนี้

1.รัก เคารพ และรู้คุณค่าของตนเอง ไม่ขอทนกับคนไม่เห็นค่าเรา

ยุคนี้เป็นช่วงที่คนตระหนักถึงคุณค่าตนเอง โดยเฉพาะผู้หญิง ที่หันมารักตนเองก่อนคนอื่น ไม่ให้ใจกับคนที่ไม่เห็นค่า ไม่ให้ความเคารพ และไม่รักตัวเอง

2.คนโสดไทยรู้ว่าตนเองต้องการอะไร Set มาตรฐานชัดเจน

สาวโสด-หนุ่มโสดไทยยุคนี้ รู้ว่าตนเองชอบคนแบบไหน และน่าจะไปได้ยาวกับคนแบบไหน ทำให้พวกเขาตั้งสเปกชัดเจน

หากคุณสมบัติไม่ครบ ขอเลือกโสดเพื่อตามหาคนต่อไป หรือกระทั่งยินดีอยู่คนเดียวตลอดไป ยินดีที่จะอยู่กับหมาแมว ไถอินเทอร์เน็ตแก้เบื่อ เดินทางเที่ยวคนเดียว

ตามสโลแกน All or Nothing “ไม่ได้ (แฟน) อย่างที่ต้องการ ไม่เอา”

3.พรหมลิขิต คือ สิ่งที่เฝ้ารอ

คนโสดไทยทั้งชายหญิงนิยมการพบคู่ด้วยวิธีธรรมชาติมากที่สุด เพราะอยากให้ความรักเกิดจากพรหมลิขิต บังเอิญมาเจอกัน มันโรแมนติกกว่าการใช้แอปหาคู่ บริการจัดหาคู่ หรือการพบกันออนไลน์

โดยวิธีที่คนโสดไทยชอบมากที่สุด คือ การหาคู่ผ่านการแนะนำของคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือจากครอบครัว

ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆ และการลงคอร์สต่างๆ หากช่องทางธรรมชาติไม่สำเร็จ ไม่ได้ผล คนโสดที่ต้องการจะมีคู่ ก็จะขยายพื้นที่ในการหาคู่ไปช่องทางต่อๆ ไป

4.รักฉัน ก็ต้องรักที่ตัวฉัน

หมดยุครักษาภาพลักษณ์ในครั้งแรกที่เจอกัน เพราะคนโสดไทยยุคใหม่จะไม่ฝืนเป็นคนที่ตนเองไม่ได้เป็น

ทำให้พวกเขาชอบที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองเลยตั้งแต่ต้นที่รู้จักกัน เพราะอยากให้คนที่ตนพบ ชอบตนที่ตัวตนจริงๆ ต้องการเริ่มต้นทำความรู้จักกันด้วยตัวตนเองอย่างแท้จริง

”เพราะอยากมีความสัมพันธ์ที่ตนเองไม่ต้องปรับเปลี่ยน จนไม่เป็นตนเองเพื่อใครสักคน“ 

5.การแต่งงาน การมีลูก ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

หนุ่มโสด สาวโสดไทยไม่คิดอีกแล้วว่า การได้แต่งงาน และมีลูก เท่ากับการมีชีวิตที่สมบูรณ์ แต่กลับมาโฟกัสที่ตนเองและการมีคู่ชีวิตที่ดี เป็นเพื่อนคู่คิด ใช้เวลาสุข ทุกข์ไปด้วยกัน

”คนโสดไทยหันมาโฟกัสที่ความสุขเฉพาะตัว ณ ปัจจุบัน“

หนุ่มโสด สาวโสดไทยส่วนใหญ่ยังต้องการมีคู่อยู่ หากคู่นั้นเป็นคนที่ดี มีทัศนคติ การใช้ชีวิตสอดคล้องต้องกัน คู่ที่ต้องมาเสริมชีวิตกันและกันให้ดีขึ้น

ดังนั้น สโลแกน “หากได้แฟนที่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่เอา” ยังเป็นสโลแกนยึดต่อเนื่องมาสู่การหาคู่ปี 2568

]]>
1504826
มัดรวม ‘แบรนด์ร้านอาหารดัง’ ที่ขอใช้ ‘มาสคอต’ เข้าวงการ ‘กล่องสุ่ม’! https://positioningmag.com/1504818 Wed, 25 Dec 2024 04:42:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504818 จากกระแสมาสคอตมาร์เก็ตติ้ง (Mascot Marketing) ที่ถูกปลุกโดย น้องหมีเนย (Butter bear) ทำให้หลายแบรนด์พยายามจะปั้น มาสคอต ของตัวเองบ้าง ประกอบกับเทรนด์ กล่องสุ่ม ที่ยังไม่แผ่ว ทำให้แบรนด์ร้านอาหารชื่อดังต้องออก กล่องสุ่มตัวมาสคอต ของแบรนด์ ไปดูกันว่ามีแบรนด์ไหนกันบ้าง

กล่องสุ่มน้องชีสโทสต์ จาก Sizzler

ซิซซ์เล่อร์​ (Sizzler) แบรนด์สเต๊กที่ทำตลาดในไทยมานานกว่า 32 ปี โดยมีภาพจำคือ สลัดบาร์ไม่อั้น แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นจากร้านอาหารสุขภาพ ประกอบกับแบรนด์ที่อยู่มานาน ดังนั้น การรีเฟรชแบรนด์ใหม่ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อายุน้อยลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ดังนั้น ซิซซ์เล่อร์จึงปั้นมาสคอตใหม่ของแบรนด์ในชื่อ น้องชีสโทสต์ แม้ในระยะแรกอาจไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่นับตั้งแต่น้องหมีเนยจุดกระแสมาสคอตมาร์เก็ตติ้ง ทำให้ซิซซ์เล่อร์ได้ยกเครื่องน้องชีสโทสต์ใหม่ ให้น่ารักยิ่งขึ้น สามารถเปลี่ยนชุดเพื่อให้เข้ากับเทศกาลได้

หลังจากที่ยกเครื่องน้องชีสโทสต์ ซิซซ์เล่อร์ก็ไม่รอช้าที่จะออก กล่องสุ่ม Cheese Toast Keychain Blind Box โดยมีทั้งหมด 6 แบบ และ 1 ซีเคร็ท ราคาสมาชิกกล่องละ 199 บาท ราคาปกติ 399 บาท โดยขายหมด 3,000 Box ใน 1 สัปดาห์ จนต้องออกคอลเลกชันที่สองตามมาพร้อมเพิ่มจำนวนอีก 10 เท่า เป็น 30,000 Box 

กล่องสุ่มบาร์บีก้อนจาก บาร์บีคิวพลาซ่า

หากพูดถึงแบรนด์ร้านอาหารที่มี มาสคอตสุดแข็งแรง แน่นอนว่าชื่อของ บาร์บีคิวพลาซ่า ภายใต้การบริหารของ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ต้องเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเจ้า มังกรบาร์บีก้อน แทบจะถูกเรียกแทนชื่อของแบรนด์ และด้วยกระแสของกล่องสุ่มที่มาแรง มีหรือที่บาร์บีคิวพลาซ่า หนึ่งในแบรนด์ที่มีจุดเด่นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดจะตกเทรนด์

โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แบรนด์ได้ออกกล่องสุ่ม BAR B GON ‘OH MY GON!’ มีให้สะสมทั้งหมด 5 แบบ แต่กลยุทธ์ของบาร์บีคิวพลาซ่าจะต่างจากซิซซ์เล่อร์ที่ไม่ได้ขาย แต่ต้อง สั่งชุดอาหาร ได้แก่ 

  • ชุดหมู OH MY PORK! ราคา 799 บาท
  • ชุดเนื้อ OH MY BEEF! ราคา 849 บาท

เพื่อรับ Figure 1 ตัว เมื่อสั่ง 1 ชุด โดยออก 1 แบบ/สัปดาห์ ดังนั้น ใครอยากสะสมให้ครบจะต้องไปทานบาร์บีคิวพลาซ่าทุกสัปดาห์เพื่อสะสม

กล่องสุ่มน้องเป็ด จาก MK สุกี้

หลังจากที่เปลี่ยน กล่องทิชชู ให้เป็น น้องเป็ด และ น้องผักกาด เพื่อเพิ่มความน่ารักสดใสบนโต๊ะอาหาร ตั้งแต่ช่วง 2554 จนในปี 2559 ทาง MK สุกี้ ก็ใช้น้องเป็ดมาเป็นมาสคอตในการสื่อสารกับลูกค้า ล่าสุด ทาง MK สุกี้ก็ได้ออก กล่องสุ่มน้องเป็ด Duck Collection Kitchen Series โดยมีให้สะสมทั้งหมด 4 แบบ พร้อมตัวซีเคร็ท

สำหรับกล่องสุ่มของ MK สุกี้จะไม่ได้วางขาย แต่ต้อง ทานครบทุก 1,299 บาท และสั่งเป็ดย่างไซส์ใหญ่ ก็จะได้กล่องสุ่ม 1 ตัว

จะเห็นว่าการมีมาสคอตของแบรนด์ นอกจากจะช่วยให้แบรนด์เกิดมีบุคลิกและนิสัยที่ชัดเจนมากขึ้น ใช้เป็นตัวแทนการสื่อสารของแบรนด์ สร้างความสนิทสนม เป็นกันเอง แต่ยังช่วยต่อยอดกลยุทธ์ทางการตลาด ตามแต่เป้าหมายของแต่ละแบรนด์

อย่างเช่น บาร์บีคิวพลาซ่า ที่สามารถใช้กล่องสุ่มช่วยเพิ่ม ความถี่ ดึงให้ลูกค้ามาทานที่สัปดาห์เพื่อสะสมให้ครบทุกตัว หรือ MK สุกี้ ที่เน้นไปที่การ เพิ่มยอดใช้จ่ายต่อครั้ง ส่วน ซิซซ์เล่อร์ ที่ต้องการเพิ่มจำนวน Members เป็นหลัก จึงขายกล่องสุ่มในราคาพิเศษสำหรับ Members

ใครอยากเห็นร้านอาหารร้านไหนมีมาสคอต หรืออยากให้ร้านอาหารร้านไหนออกกล่องสุ่มเพื่อสะสม คอมเมนต์มาคุยกันได้นะ แต่เชื่อว่าอนาคตคงไม่ได้มีแค่ 3 แบรนด์นี้แน่นอน เพราะกระแสกล่องสุ่มในไทยยังแรงดีไม่มีตกแบบนี้

]]>
1504818
สรุป 10 เรื่องที่ ‘ชาวโซเชียล’ ให้ความสนใจมากที่สุดในปี 2567 https://positioningmag.com/1504701 Tue, 24 Dec 2024 04:31:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504701 จากการเก็บข้อมูลของบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 ธันวาคม 2567 ได้สรุป 10 เรื่องชาวโซเชียลฯ ให้ความสนใจมากที่สุด ดังนี้
  1. ปรากฏการณ์หมูเด้ง (205,730,852 engagement)

เมื่อสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่า “หมูเด้ง” ได้รับความนิยมมากถึง 205,730,852 engagement เนื้อหาส่วนใหญ่ของ “หมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระ สุดน่ารักจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ที่โด่งดังเป็นพลุแตกบนโลกออนไลน์ด้วยความขี้เล่น อิริยาบถสุดฮา โดยเฉพาะตอนอาบน้ำและแกล้งคนดูแล ทำให้ “หมูเด้ง” กลายเป็นขวัญใจมหาชน จนแฮชแท็ก #หมูเด้ง #hippo #ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง ถูกใช้กันอย่างล้นหลามบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่เพียงเท่านั้นกระแสยังดังไกลไปทั่วโลก

  1. กีฬาโอลิมปิก : กระแสกำลังใจสู่เหรียญประวัติศาสตร์ (172,629,883 engagement)

คนไทยให้ความสนใจกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส เป็นอย่างมาก โดย “โอลิมปิก” ได้รับความนิยมมากถึง 172,629,883 engagement โดยเฉพาะในช่วงที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้เกิดกระแสการพูดคุยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกีฬาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกีฬาโอลิมปิกที่มีต่อคนไทย โดยเนื้อหามุ่งเน้นไปที่ขอบคุณนักกีฬาที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ รวมถึงการใช้พิธีเปิดรูปแบบใหม่แบบกลางแจ้งอีกด้วย ที่สำคัญนักกีฬาเทควันโดสาวไทย “#เทนนิส #พาณิภัค” คว้าเหรียญทองมาครองในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ยิ่งกระตุ้นให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย

Moo Deng Photo : Khao Kheow Open Zoo
  1. หมีเนย กับพลังความสุขที่สร้างรอยยิ้มให้คนบนโซเชียล (137,341,660 engagement)

นับว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งของเมืองไทย กับ “หมีเนย” หรือ “#ButterBear” ที่ยังคงเป็น กระแสที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงช่วงสิ้นปี โดยได้รับความนิยมมากถึง 137,341,660 engagement  จุดเด่นของหมีเนยคือความน่ารัก สดใส และสกิลการเต้นระดับโปร ที่ทำให้เหล่าแฟน ๆ หลงรัก และเรียกหมีเนยว่า “ดาราสาวห้างแตก” นอกจากนี้ยังจัดคอนเสิร์ต Fan Meeting ครั้งแรก ซึ่งยกระดับจากมาสคอต คาแรกเตอร์ สัญลักษณ์ของแบรนด์ให้กลายเป็นไอคอนแห่งความบันเทิงอย่างแท้จริง

  1. กระแส T-Pop ที่มาแรงของวง #BUS, Because of you I shine (114,753,196 engagement)

กระแสวงการ T-Pop กำลังมาแรงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในวงที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้น “BUS, Because of You I Shine” ซึ่งสามารถสร้างยอด Engagement สูงถึง 114,753,196 ครั้ง ด้วยเอกลักษณ์ของวงที่ผสมผสานทั้งดนตรี เสน่ห์ของสมาชิก และเนื้อเพลงที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกของแฟน ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้วง BUS ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งกระแส T-Pop ที่ขยายตัวไปทั่วทั้งโซเชียลและได้รับการพูดถึงอย่างล้นหลาม

  1. วิกฤตการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ (109,150,917 engagement)

วิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือของประเทศไทยสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประชาชน บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของภูมิภาค เหตุการณ์นี้จุดกระแสความตื่นตัวในสังคมออนไลน์ โดยมีผู้คนจำนวนมากร่วมกันบริจาคสิ่งของอุปโภค บริโภคและทุนทรัพย์ รวมถึงอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยอด Engagement ที่สูงกว่า 109,150,917 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียในการระดมความช่วยเหลือและสร้างการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

  1. #TheiConGroup (108,937,785 engagement)

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายบนโซเชียลมีเดียคือ “The iCon Group” ซึ่งมียอด Engagement สูงถึง 108,937,785 ครั้ง เนื่องจากมีผู้เสียหายออกมาแจ้งความร้องทุกข์ และอีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ โดยการเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียหายทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และเฝ้ารอติดตามการพิจารณาคดีและบทสรุปของเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ป้ายโฆษณาของดิ ไอคอน กรุ๊ป
  1. การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (107,715,694 engagement)

การรับตำแหน่งของ น.ส.แพทองธารชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยได้รับการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานะลูกสาวของนาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การรับตำแหน่งนี้ถูกจับตามองทั้งในแง่ของประสบการณ์การบริหารประเทศและการดำเนินนโยบายในอนาคต ความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนสะท้อนให้เห็นจากยอด Engagement ที่สูงถึง 107,715,694 ครั้ง บนโซเชียลมีเดีย

  1. Lisa (96,994,809 engagement)

เรียกได้ว่า “#ลิซ่า” ศิลปินหญิงไทยที่กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก ที่โดดเด่นในเรื่องความสามารถ โดยในปี 2024 เธอได้กลับมาในบทบาทศิลปินเดี่ยว ทำให้เกิดกระแสเยาวราชฟีเวอร์จากเพลง “#Rockstar” ซึ่งในปีนี้เธอยังสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมโชว์ในงาน Victoria’s Secret Fashion Show 2024 และการจัด LISA Fan Meetup in Asia 2024 เป็นต้น โดยได้รับความนิยมมากถึง 96,994,809 engagement

  1. การประกวด #MissUniverse2024 (81,432,248 engagement)

การประกวด Miss Universe 2024 เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ด้วยยอด Engagement ที่สูงถึง 81,432,248 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและความตื่นตัวของแฟนนางงามทั่วโลก โดยเนื้อหาที่พูดถึงค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลอย่าง “วิกตอเรีย แคร์ ไทล์วิก จากประเทศเดนมาร์ก” รวมถึงการส่งกำลังใจให้กับ “โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี” ตัวแทนจากประเทศไทย ที่สามารถแสดงศักยภาพและความงามแบบไทยได้อย่างเต็มที่บนเวทีโลก คว้าตำแหน่งรองอันดับ 3 มาครอง

  1. #เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัส (41,159,550 engagement)

เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ได้รับความสนใจในสังคม จากความรุนแรงของเหตุการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารอย่างร้ายแรง เหตุการณ์เช่นนี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรการป้องกันและรับมือกับเหตุฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และนี่คือเรื่องราวที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจตลอดทั้งปี 2567 ใครคิดว่ามีเหตุการณ์ไหนในไทยที่คิดว่าน่าติด Top 10 คอมเมนต์มาคุยกันได้นะ

]]>
1504701
‘หมีเนย-หมูเด้ง’ ครองตำแหน่งขวัญใจชาวโซเชียล ส่วน ‘หลวงพ่อทันใจ’ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยขอพรออนไลน์มากสุด https://positioningmag.com/1504628 Mon, 23 Dec 2024 11:11:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504628 LINE ประเทศไทยได้เปิดเผยถึงเทรนด์กระแสไวรัลและเทรนด์ฮิตในปี 2024 โดยสรุปผ่าน ‘10 เทรนด์ฮิตชีวิต ดิทัล 2024’ จากผู้ใช้ LINE ในประเทศไทย ซึ่งปีนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘หมีเนย – หมูเด้ง – ช็อกโกแลตดูไบ – ไข่พะโล้’ มีการพูดถึงมากที่สุด ขณะที่ ‘กีฬา – สมรสเท่าเทียม – ฉ้อโกง’ กลายเป็นประเด็นฮอต และกระแสร้อนที่คนไทยเกาะติด

 

  1. ‘หมีเนย-หมูเด้ง’ คว้าหัวใจครองโลกดิจิทัล

 

ในรอบปี 2024 เป็นการจับมือครองโลกออนไลน์กันแบบไม่ต้องสงสัย สำหรับ ‘หมีเนย’ จาก Butterbear และ ‘หมูเด้ง’ ที่ติดอันดับท็อปในหลายบริการบนแอป LINE โดย ‘ด้อมหมีเนย’ ขึ้นแท่นกลุ่มแฟนคลับที่มีสมาชิกมากที่สุดบน LINE OPENCHAT กว่า 40,000 คน ส่วน ‘ด้อมหมูเด้ง’ สร้างสถิติใหม่กวาดแฟน ๆ เข้ากลุ่มเร็วที่สุด โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 5,000 คน เป็น 10,000 คน ในเวลาเพียง 10 นาที

 

นอกจากนี้เพลง ‘น่ารักมั๊ยไม่รู้’ ของหมีเนยยังติดท็อปเพลงฮิตที่ผู้ใช้นำมาสร้างคอนเทนต์มากที่สุดบนแพลตฟอร์ม LINE VOOM พร้อมด้วยเป็นหนึ่งในเพลงฮิตที่คว้ารางวัล Black Melody ศิลปินที่มียอดดาวน์โหลดบน LINE MELODY สูงสุดภายใน 2 วัน

 

2.คนดังแห่ออกสติกเกอร์ เข้าถึงแฟนในทุกโมเมนต์

 

ฟาก LINE STICKERS ก็พบว่า เป็นปีที่คอลเลกชันสติกเกอร์ ‘คนดัง’ เพิ่มขึ้นสูง จากการเป็นเครื่องมือสื่อกลางที่เข้าถึงกลุ่มแฟนคลับได้ทุกโมเมนต์ ทุกการพูดคุยบนโลกออนไลน์ เพราะมีทั้ง น้องเนย, หมูเด้ง, พี่จอง คัลแลน น้องแดน คุณจูดี้, ครอบครัวตัวฟอร์, หลิง-ออม, เจมิไนน์ – โฟร์ท และนักแสดงที่มีฐานแฟนด้อมอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ก็เป็นปีที่สติกเกอร์จากคำฮิตวลีเด็ดบนโลกโซเชียลก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง อย่าง birthday but with me (เกิดแต่กับกู) ที่ให้อารมณ์สนุกและกวน ไม่พลาดสักกระแส

 

3. ยกเครื่อง ‘อิโมจิ’ ครั้งใหญ่ในรอบ 7 ปี

 

หลายคนอาจเตะตาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเวลาแชท เพราะมีการยกเครื่องปรับโฉม ‘อิโมจิ’ ครั้งใหญ่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่หยิบมาอิโมจิตัวเดิมที่คุ้นเคย อีกหนึ่งไอเท็มสื่อสารอมตะบนโลกดิจิทัลกลับมาออกแบบใหม่และจัดเรียงตัวให้เหมาะกับการใช้งานจริง สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คนใช้อิโมจิเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับอิโมจิบน Reaction ข้อความบน LINE ที่มีผู้ใช้งานมากขึ้นเช่นกัน

 

4. ของกินบนโลกโซเชียลมาแรง รอนานแค่ไหนก็ยอม

 

ต้องเรียกว่า ปี 2024 เป็นปีที่ ‘ของกิน’ ที่เป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีอิทธิพลอย่างมากกับวัฒนธรรมป๊อปในเมืองไทย ทำให้ตลาดอาหารคึกคักแบบไม่ต้องสงสัย อย่าง LINE SHOPPING พบว่า ‘ช็อกโกแลตดูไบ’ เป็นสินค้าขายดีสุดๆ โดยช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมขายได้รวมกว่า 30,000 ชิ้น หรือร้านเค้กทุเรียน เค้กลอดช่องอย่าง Nie and Ivan ก็ครองสถิติการพรีออเดอร์รอเค้กนานที่สุดถึง 5 เดือน

 

ฟาก LINE MAN ก็พบว่า ‘ไข่พะโล้’ จากกระแสของ ‘พี่เอ ศุภชัย’ มียอดออเดอร์จากร้านต่าง ๆ รวมกันแล้วโตขึ้นกว่า 2 เท่าใน 1 เดือน เมื่อเทียบกับเวลาปกติ โดยเฉพาะไข่พะโล้ก็ขายจากร้านต่าง ๆ รวมกันทั่วประเทศมากกว่า 260,000 ฟอง ขณะที่ ‘ข้าวขาหมู’ จากกระแสหมูเด้ง ก็ทำให้ยอดค้นหาเมนูข้าวขาหมูบน LINE MAN เพิ่มขึ้น 50% ภายใน 1 สัปดาห์เช่นกัน ซึ่งทุกเมนูล้วนเป็นมีจุดเริ่มต้นจากกระแสบนโลกโซเชียลทั้งสิ้น

 

5. ‘กีฬา – สมรสเท่าเทียม – ฉ้อโกง’ ประเด็นคอนเทนต์คนไทยมีส่วนร่วมคึกคัก

 

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกปีที่ผ่านมาสร้างบรรยากาศเชียร์ไทยปกคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้คอนเทนต์ของ LINE TODAY ในหมวดกีฬามีผู้รับชมเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเวลาปกติ เช่น ข่าวเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทยในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 สอดคล้องกับที่แฟน ๆ กีฬาเปิดห้องโอเพนแชทเพื่อพูดคุยและเชียร์กีฬาที่ตัวเองชอบเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโอลิมปิกเช่นเดียวกัน ขณะที่คนไทยก็ตื่นตัวเสพคอนเทนต์ข่าวสารประเด็น ‘ฉ้อโกง – มิจฉาชีพ’ รวมกว่า 36 ล้านเพจวิว โดยเนื้อหาที่คนเข้าชมมากที่สุดได้แก่ กรณี The Icon Group อันดับสองได้แก่ ทองแม่ตั๊ก และอันดับสาม อย่างแกงค์คอลเซ็นเตอร์ระบาด

 

ด้านประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม ที่สร้างบรรยากาศของการตื่นเต้นยินดี ก็ครองอันดับหนึ่งการรับชมไลฟ์บน LINE TODAY มากที่สุดถึง 1 ล้านคน จากงาน Pride Parade มากกว่าคอนเทนต์ไลฟ์อื่นถึง 3 เท่า

 

6.วงการเพลงสุดคึกคักเพราะความหลากหลาย

 

ปีนี้ LINE MELODY มีการมอบรางวัล Black Melody รางวัลที่มอบให้แก่เพลงที่มียอดดาวน์โหลดเร็วและมากที่สุดบนบริการ LINE MELODY มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18 รางวัล ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่เพลงที่ได้รับรางวัลมีความหลากหลายสุด ๆ สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ความนิยมของผู้ใช้งานที่หลากหลายและขยายกว้างมากขึ้น ตั้งแต่ศิลปินสังกัด ศิลปินอิสระ เพลงประกอบวิดีโอของคัลแลน-พี่จอง สองหนุ่มเกาหลีเที่ยวไทยอย่าง Toxic – HateBerry เพลงที่แต่งจากกระแสโซเชียลอย่าง หมูเด้ง Moo Deng (Reggaeton) – Karat K รวมถึงเป็นครั้งแรกที่ผู้ได้รับรางวัล BLACK MELODY เป็นหมีน้อยน่ารักอย่าง ‘น้องเนย’ จากเพลง น่ารักมั้ยไม่รู้ – Butterbear

 

7. ‘หลวงพ่อทันใจ’ แซง ‘พระแม่ลักษมี’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คนไทยขอพรออนไลน์มากที่สุด

 

หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยใช้บริการขอพรออนไลน์ผ่าน LINE ดูดวงมากที่สุดในปีทีผ่านมา ตามมาด้วยวัดดั๊กดูเศรษฐ์ อินเดีย และ พระแม่ลักษมี เกษรวิลเลจ ที่อยู่ในอันดับสาม นอกจากนี้คนไทยก็ไม่ลืมที่จะ ‘บริจาค’ เพื่อสังคม โดย LINE ดูดวง ร่วมมือกับ ‘เทใจ’ เป็นสื่อกลางในการส่งน้ำใจของคนไทยไปสู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจุดทั่วประเทศ ที่เฉพาะในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวก็ได้รับเงินบริจาคจากพี่น้องชาวไทยกว่า 8 แสนบาท

 

8.เกมสนุก เว็บตูนไทยปังเกินต้าน

 

LINE ไอเดิล เรนเจอร์ เกมใหม่ล่าสุดจาก LINE GAME เผยสถิติผู้เล่นในไทยใช้เวลาในโหมด Idle รวมกว่า 242,023 นาที (4,033 ชั่วโมง) ภายในวันแรกที่เปิดให้บริการ หรือเทียบเท่าการออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมงนานถึง 11 ปี ขณะที่ฟาก LINE WEBTOON “ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม” ก็ต่อยอดความดัง จัดกิจกรรม Pop-up Store กลางสยาม เอาใจแฟนคลับแห่ร่วมช้อปรวมกว่าหมื่นคน

 

9. SME ทั่วไทยกว่า 2 ล้านคน ตื่นตัวหาความรู้ใหม่

 

LINE for Business กระจายความรู้ให้ผู้ประกอบการ SME กว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านงานสัมมนามากมาย อาทิ BOOTCAMP DAY และ UPSKILL SME ที่จับมือกับ สสว. รวมถึงงานธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารอย่าง  ‘จุดประกายธุรกิจไมซ์ ติดอาวุธธุรกิจอย่างยั่งยืน’ ร่วมกับ TCEB และ THAI MICE Connect รวมทั้งคอร์สออนไลน์อย่าง BOOTCAMP Classroom และรายการโค้ชชวนคุย เป็นต้น

 

10. ‘หลานม่า – ธี่หยด 2’ ครองหนังซื้อตั๋วผ่าน LINE Pay

เป็นปีที่หนังไทยคึกคักมากกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยในปี 2567 สุดฮิตอย่าง หลานม่า และ ธี่หยด 2 สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังที่คนซื้อตั๋วและจ่ายด้วย LINE Pay ที่แท็บ SF Cinema บนแท็บ LINE Wallet มากที่สุดของปี

]]>
1504628
วัดชีพจรธุรกิจไทย ปี 68 ธุรกิจไหนติดอันดับ ‘ดาวรุ่ง-ดาวร่วง’ บ้าง? https://positioningmag.com/1504612 Mon, 23 Dec 2024 08:48:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504612 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยถึง ‘ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ประจำปี 2568’ ซึ่งสะท้อนภาพมาจากเทรนด์ของตลาด บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ประเด็นน่าสนใจธุรกิจติดอันดับดาวรุ่งเป็นครั้งแรก ได้แก่ ‘ธุรกิจแอลกอฮอล์’ ในอันดับ 4, ธุรกิจให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม เช่น แม่บ้าน ในอันดับ 6 รวมถึง ‘ธุรกิจคลินิกกายภาพ’ และ ‘ธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จรถ EV’ ในอันดับ 7 สำหรับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2568 ทั้งหมด ประกอบด้วย

 

1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม/ธุรกิจ Cloud Service/ธุรกิจ Cyber Security – ธุรกิจนี้เติบโตและโดดเด่นตามเทรนด์โลก รวมถึงสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

 

2.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์/Social Media/YouTuber/Influencer – เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตน่าสนใจความต้องการและดีมานด์ของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถือเป็นธุรกิจนี้ถือว่า มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน

 

3.ธุรกิจ Soft Power ไทย โดยเฉพาะซีรีส์ หนัง โฆษณา และสื่อออนไลน์ – เทรนด์การเติบโตก็มาจากความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น และมีการขยายไปวงกว้างค่อนข้างมาก แม้ต้นทุนในการผลิตจะยังคงสูงก็ตาม

 

4.ธุรกิจคอนเสิร์ต อีเวนต์/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์/ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย) – ในส่วนของ ‘ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์’ มีผลมาจากภาครัฐและเอกชนมีการจัดงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่ ‘ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ มาจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความโดดเด่นทั้งด้านยอดขาย และกำไร

 

ส่วน ‘ธุรกิจความเชื่อ’ เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส ปัจจัยหนึ่งมาจากมี Influencer หรือผู้มีชื่อเสียงด้านนี้ สร้างความน่าเชื่อถือสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์กับลูกค้า บวกกับความไม่สนใจของสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ ฯลฯ ส่งผลให้คนหาที่ ‘พึ่งทางใจ’ กันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจความเชื่อมีโอกาสเติบโตต่อไป

 

5.ธุรกิจเงินด่วน/โรงรับจำนำ/ประกันภัยและประกันชีวิต – โดดเด่นตามความต้องการที่มีสูงขึ้น อย่างธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต มีการเติบโตทั้งยอดขายและกำไร ยกตัวอย่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% ต่อเนื่อง

 

6.ธุรกิจให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม เช่น แม่บ้าน ฯลฯ/ธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ – ‘ธุรกิจให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม’ เช่น แม่บ้าน บริการซ่อมต่าง ๆ ฯลฯ เป็นไปตามเทรนด์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็ว ส่วน ‘ธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ’ ที่เป็นดาวรุ่งก็มาจากดีมานด์ที่สูงขึ้นนั่นเอง

 

7.ธุรกิจคลินิกกายภาพ/ธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จรถ EV/ธุรกิจสัตว์เลี้ยง – ธุรกิจเหล่านี้เริ่มมีการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงปลายปี 2567 และปีหน้าเองมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โด ‘ธุรกิจกายภาพ’ จะเป็นการแตกแขนงจากธุรกิจทางการแพทย์และความงาม มี 2 รูปแบบ คือ คลินิกที่เปิดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาทำกายภาพ และเปิดโดยนักกายภาพ เพื่อมารักษาอาการ เช่น ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

 

ขณะที่ ‘ธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จรถ EV’ เนื่องจากมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น และความนิยมของรถ EV เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นทิศทางการขยายตัวของรถ EV อย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับ ‘ธุรกิจสัตว์เลี้ยง’ เป็นการตอบสนองเทรนด์คนรักสัตว์ และรับสัตว์เลี้ยงเป็นลูกหลานที่มาแรงมาก ณ ตอนนี้

 

8.ธุรกิจโทรคมนาคม/Fintech/ตู้หยอดเหรียญ/ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง – ทั้งหมดเป็นธุรกิจที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ต้องการความสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น ส่วน ‘ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง’ เห็นชัดว่า รอบปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องมีอัตราการขยายตัวได้ แม้จะมีปัจจัยบั่นทอนอยู่บ้าง แต่ปีหน้าเชื่อว่า ภาครัฐต้องขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 

9.ธุรกิจเดลิเวอรี่/ทนายความ-ตรวจสอบบัญชี/สตรีทฟู้ดส์/ตลาดนัดกลางคืน/อาหาร-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ – ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ ที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจสตรีทฟู้ดส์และตลาดกลางคืน ซึ่งมีการเติบโตน่าสนใจ และตลาดนัดกลางคืน ถือเป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งในการสนับสนุน Soft Power ของไทย

 

10.ธุรกิจพลังงานทดแทน/โรงพยาบาล คลินิกเกี่ยวกับสัตว์

ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วง ปี 2568 ได้แก่

 

1.ธุรกิจจำหน่ายและให้เช่า CD หรือ VDO – เป็นธุรกิจที่ตกลงมาอย่างชัดเจน และมีการล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ ตามพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป

 

2.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์ม ออนไลน์ – เนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นโลกของออนไลน์ สัดส่วนของสิ่งพิมพ์ลดลง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กันไป หากไม่มีจะเริ่มหายไปจาก

 

3.ธุรกิจคนกลางผลิตและจำหน่ายที่เก็บข้อมูล เช่น CD DVD Thumb Drive ฯลฯ – เป็นธุรกิจที่ต้องเผชิญการดิสรัปต์จากเทคโนโลยีเช่นเดียวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยปัจจุบันผู้คนจะจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบของ Cloud Service ทำให้ธุรกิจ ธุรกิจคนกลางผลิตและจำหน่ายที่เก็บข้อมูล เช่น CD DVD Thumb Drive ฯลฯ เริ่มลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด และปีหน้าเองเรื่อง AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้เริ่มหายไปจากตลาด

 

4.ธุรกิจบริการส่งหนังสือพิมพ์ – เป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ลดลง

 

5.ธุรกิจผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม – แนวโน้มของธุรกิจนี้จะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากได้กำไรมากกว่า ทำให้ธุรกิจผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศปรับตัวลดลง

 

6.ธุรกิจถ่ายเอกสาร – สอดคล้องกับแนวโน้มของพฤติกรรมคนจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะดูเอกสารผ่านออนไลน์หรือมือถือมากขึ้น

 

7.ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ดั้งเดิม ไม่มีการออกแบบดีไซน์ – หากผู้ประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ไม่มีดีไซน์ จะหายไปจากตลาดที่ปัจจุบันการสร้างสรรค์และดีไซน์มีความสำคัญ

 

8.ธุรกิจรถยนต์มือ 2 – รอบปีที่ผ่านมาจะเห็นบริษัทรถยนต์มือสองหรือเต็นท์ขายรถยนต์มือสองปิดกิจการไปค่อนข้างเยอะ เนื่องจากราคารถยนต์มือหนึ่งทั้งระบบสันดาปและรถ EV มีราคาถูกลง ซึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์มือสองมีราคาแตกต่างไม่มากนัก ทำให้คนหันไปซื้อรถยนต์มือหนึ่งมากขึ้น

 

9.ธุรกิจขายเครื่องเล่นเกม – การเป็นดาวร่วงของธุรกิจนี้ มาจากการดิสรัปต์และการเติบโตของธุรกิจเกมออนไลน์

 

10.ธุรกิจผลิตกระดาษ/ธุรกิจโชห่วย – แม้จะมีการใช้กระดาษอยู่ แต่ ‘ธุรกิจผลิตกระดาษ’ ก็ไม่โดดเด่นเหมือนในอดีต และการดำเนินธุรกิจไม่สามารถทำกำไรอย่างที่ผ่านมา ส่วน ‘ธุรกิจโชห่วย’ ได้รับผลกระทบจากการรุกตลาดอย่างหนักของร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยต้องการความสะดวกสบายและความครบครันมากขึ้นนั่นเอง

 

ส่วนธุรกิจที่เคยโดดเด่น เป็นดาวรุ่งในปี 2567 แต่ในปี 2568 ไม่ได้ติดอันดับ ได้แก่ ธุรกิจ E-Sport Game, ธุรกิจยานยนต์, ธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้าง, ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

]]>
1504612
SCB EIC หั่น ‘เศรษฐกิจไทย’ 2568 เหลือ 2.4% เหตุเปราะบางจากภายใน และถูกซ้ำด้วยนโยบาย ‘ทรัมป์ 2.0’ https://positioningmag.com/1504495 Fri, 20 Dec 2024 10:24:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504495 ดูเหมือนนโยบาย Trump 2.0 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง จะสั่นคลอนเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ SCB EIC ลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.5% จาก 2.8% และแน่นอนว่านโยบาย Trump 2.0 จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับไทย และจะเริ่มเห็นชัดครึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

SCB EIC คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยปี 2567 อาจโตได้ 2.7% โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 4% จากการส่งออก รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่อง และจะส่งผลบวกไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2568 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบาย Trump 2.0 ที่จะยิ่งเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจโตได้เพียง 2.4% จากที่ประเมินไว้ว่าจะโต 2.6%

โดย 3 ผลกระทบหลักที่ไทยจะต้องเผชิญจากนโยบาย Trump 2.0 ได้แก่

  • ไทยเสี่ยงสูงเจอภาษีนำเข้า : เนื่องจากนโยบาย Trump 2.0 คือการ ขึ้นภาษี ในขณะที่ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้ามากเป็นอันดับ 1 ดังนั้น ไทยค่อนข้างพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น การขึ้นภาษีจะส่งผลให้การส่งออกยากขึ้น ในขณะที่ 70% ของสินค้าที่ไทยส่งออก เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุล โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเครื่องจักร
  • สินค้าจีนทะลักเข้าไทยกว่าเดิม : จีน คือประเทศหลักที่ได้ผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 เพราะมีการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ทำให้จีนต้องระบายสินค้าออกจากประเทศ และไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนระบายสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีนมากขึ้น ก็จะยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันคาดว่าสินค้าจีนในไทยคิดเป็น 1 ใน 4 ของสินค้าทั้งหมด
  • สหรัฐฯ ดึงฐานการผลิตสำคัญกลับประเทศ : จากนโยบาย America first ที่จะกระตุ้นการลงทุนในประเทศ อาจทำให้ไทยเสี่ยงที่บริษัทสหรัฐฯ ดึงฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญกลับประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายการลงทุนในไทย

อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยบวกบ้าง อาทิ สหรัฐฯ อาจหันมานำเข้าสินค้าจากไทย เพราะเลิกนำเข้าจากจีน, ผู้ประกอบการบางรายอาจจะนำเข้า วัตถุดิบบางชนิดจากจีนในราคาถูกลง รวมถึงไทยอาจได้ประโยชน์จากการ กระจายฐานการผลิตของจีน 

แนะรัฐบาลไทย เตรียมแผนเจรจา

จากนโยบาย Trump 2.0 ทำให้หลายประเทศมีการเตรียมการรับมือ ดังนั้น ไทยเองก็ต้องเตรียมมาตรการเพื่อแข่งขันกับหลาย ๆ ประเทศ โดย สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า รัฐบาลต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเจรจา โดยต้องศึกษาว่าธุรกิจไทย และสินค้ากลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ และมีข้อเสนออะไรแลกเปลี่ยนเพื่อลดผลกระทบหากมีการขึ้นภาษีนำเข้า เช่น อาจจะยอมนำเข้าสินค้าจากอเมริกามากขึ้น เป็นต้น

“เชื่อว่าทรัมป์เองก็อยากเปิดโต๊ะเจรจา ดังนั้น เราต้องเตรียมตัวเตรียมข้อเสนอ และหาเจ้าภาพตรงกลางในการเจรจา ว่าจะเป็นทางกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศ”

ในส่วนของการดึงการลงทุนจากภายนอก ไทยก็ต้องแข่งขันกับหลายประเทศ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีมาพัฒนาสกิล และส่งออกสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องหาทางดึงดูดการลงทุน ต้องมีข้อเสนอที่แข่งขันได้กับประเทศอื่น ๆ

สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ไทยจะโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมา ฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซา สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลงเพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการซื้อบ้านและรถในปีหน้า โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญคือการขออนุมัติสินเชื่อ ปัจจัยราคา รายได้และภาระชำระหนี้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูล NCB สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก

ดังนั้น คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ. 2568 ไปอยู่ที่ 2% และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง 

]]>
1504495
จับตา 12 ประเด็นสมรภูมิ ‘อีคอมเมิร์ซ’ 2025 ปีที่ต้องรับมือกับ ‘สินค้าจีนคุณภาพดี’ และ E-Commerce Tax! https://positioningmag.com/1504098 Wed, 18 Dec 2024 10:39:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504098 ปี 2025 จะเป็นอีกปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซ และเหมือนเป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กูรูผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด จะมาวิเคราะห์ถึงเทรนด์ เพื่อช่วยให้ผู้ค้าออนไลน์เตรียมพร้อม ปรับตัว และไม่พลาดโอกาสในการทำธุรกิจในตลาดออนไลน์ที่ท้าทายนี้

3 ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการไทยต้องเจอปีหน้า

  • สินค้าจีนคุณภาพดีถูกกฎหมายเตรียมบุกไทย

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สินค้าจากจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานทะลักเข้าสู่ไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2025 คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายของภาครัฐเริ่มเข้มงวดขึ้น และการแข่งขันในประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าจีนที่มีคุณภาพหลายรายหันมาขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่สำคัญของจีน ดังนั้นจะเห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพและนำเข้ามาแบบถูกกฎหมาย เข้ามาแข่งขันกับ ผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

  • e-Commerce Tax มาแน่ ผู้ขายเตรียมปรับราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ประกาศให้อีมาร์เก็ตเพลสที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี เช่น Lazada, Shopee, TikTok, Grab, Foodpanda, Line Man ต้องส่งรายได้ของร้านค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มให้กับกรมสรรพากร

ในปี 2025 กรมสรรพากรจะเริ่มเห็นตัวเลขยอดขายที่ชัดเจน และจะเริ่มเก็บภาษีจากผู้ค้าเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่า    ผู้ค้าในอีมาร์เก็ตเพลสที่เดิมไม่ได้คำนึงถึงภาษี จะต้องปรับโครงสร้างราคาและจัดการภาษีในธุรกิจออนไลน์ของตนเองด้วย

  • Vertical Commerce การค้าเฉพาะกลุ่มมาแรง

Vertical Commerce คือ การขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น สินค้าเด็ก สินค้าสัตว์เลี้ยง สินค้าผู้สูงอายุ สินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า พบได้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line และ Facebook

การเติบโตของ Vertical Commerce เกิดจากการสร้าง Vertical Community หรือชุมชนกลุ่มเล็กที่มีความสนใจเหมือนกัน ซึ่งการรวมตัวของชุมชนเหล่านี้จะนำไปสู่การซื้อขายที่เฉพาะเจาะจง ช่วยให้ผู้ค้าปิดการขายได้ง่ายขึ้น

ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด

4 เทรนด์การค้าที่ยังมาแรง

  • TikTok Commerce ที่ขยายจากสินค้าสู่บริการ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าผ่าน TikTok เติบโตขึ้นมาก และ TikTok ก็ยังมุ่งการลงทุนและขยายตลาดในด้าน TikTok Commerce อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTok Shop ซึ่งกำลังพัฒนาไปไกลกว่าการขายสินค้าที่จับต้องได้ โดยกำลังก้าวไปเข้าสู่การขายบริการต่าง ๆ เช่น บัตรกำนัลโรงแรมและร้านอาหาร

ปี 2025 TikTok จะกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเซอร์วิสที่ครบวงจร โดยผสานคอนเทนต์ คอมมูนิตี้ และคอมเมิร์ซ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับทำการตลาดและขายสินค้า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซดุเดือดยิ่งขึ้น

  • Video Commerce ดันยอดขายออนไลน์ผ่านวิดีโอ

เมื่อ TikTok แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทรนด์ Video Commerce หรือการขายผ่านวิดีโอ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ดุเดือด โดยแพลตฟอร์มวิดีโอต่าง ๆ พยายามปรับตัวและผสานระบบการขายเข้าไปในคอนเทนต์ของตนเอง เช่น การจับมือระหว่าง YouTube กับ Shopee เพื่อให้สามารถใส่ลิงก์ร้านค้าและสินค้าในวิดีโอได้โดยตรง และ Facebook กับ Instagram ที่เริ่มรองรับการใส่สินค้าในวิดีโอ ทำให้ผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้ทันที

Video Commerce จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานวิดีโอและการขายที่ทำให้เกิดประสบการณ์การช้อปปิ้งที่มีความบันเทิงและดึงดูดใจมากขึ้น เทรนด์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายและลูกค้าผ่านคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจ

  • Affiliate Marketing ช่องทางการขายที่ไม่ควรมองข้าม

การทำตลาดแบบ Affiliate Marketing จะเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada, TikTok จะเปิดโอกาสให้เจ้าของสินค้านำสินค้าไปฝากไว้ พร้อมตั้งค่าคอมมิชชันให้กับผู้ที่นำสินค้าไปขายต่อ ซึ่งการทำตลาดแบบนี้จะทำให้ KOL และอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานลูกค้าของตัวเอง สามารถนำสินค้าที่เจ้าของสินค้าฝากขายมาโปรโมตให้กับผู้ติดตาม เมื่อเกิดยอดขายก็จะได้รับคอมมิชชัน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของตลาดออนไลน์ และเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าทำการตลาดหรือโฆษณาแพงๆ เพียงจ่ายแค่ค่า Affiliate หรือค่า marketing fee

 5 แนวทางรับมือการผูกขาดจากมาร์เก็ตเพลส

ปี 2025 ชัดเจนมากว่าอีมาร์เก็ตเพลสในไทยถูก ผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เพียงไม่กี่ราย ทำให้ขึ้นค่าธรรมเนียมได้อย่างตามอำเภอใจโดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น อีมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ยังยึดข้อมูลลูกค้า ทำให้ผู้ค้าเข้าไม่ถึงชื่อ เบอร์โทร หรือแม้แต่ที่อยู่ของลูกค้า ต้องตกอยู่ในสถานะจำยอม ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้าไปทำการตลาดเอง จะย้ายฐานลูกค้าข้ามไปแพลตฟอร์มอื่นก็ทำไม่ได้

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสจะดุเดือดมากขึ้น หลายแพลตฟอร์มไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นพื้นที่ขายสินค้า แต่กำลังรุกเข้าไปในธุรกิจอื่นที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น บางแพลตฟอร์มสร้างระบบการชำระเงินของตนเอง และมีบริการขนส่งเพื่อรองรับธุรกรรมภายในระบบ อย่างกรณีของ Shopee ได้ขยายไปสู่ฟู้ดเดลิเวอรี่ ขายประกัน และให้บริการสินเชื่อด้วย ส่วน Grab ที่เริ่มจากบริการขนส่งสินค้าและเดลิเวอรี่ก็ได้ขยายมาสู่บริการสินเชื่อสำหรับผู้ค้าบนแพลตฟอร์มและไรเดอร์

  • ช่องทางการค้าของตัวเอง (Owned Channel) ลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส

การผูกขาดและยึดข้อมูลลูกค้าโดยอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ผู้ค้าควรหันมาพัฒนาช่องทางการขายของตนเอง หรือที่เรียกว่า Owned Channel การทำ Owned Channel ก็เหมือนการที่เรา “สร้างบ้าน” เอง ส่วน E-Marketplace คือคอนโดที่เรา “เช่า” เขาอยู่ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ สามารถสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำได้มากขึ้น

ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่จะทำให้ Owned Channel เชื่อมต่อระบบชำระเงินและระบบขนส่งได้โดยตรง ซึ่งช่วยให้ธุรกรรมคล่องตัว และลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส เช่น บริการจาก Pay Solutions ที่เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของ Owned Channel ได้ทุกช่องทาง สามารถรองรับการชำระผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บัตรเดบิต บัตรเครดิต Mobile Banking หรือ Alipay WeChat Pay และสามารถชำระที่เคาน์เตอร์ด้วยเครื่องรูดบัตร All-in-one รองรับการผ่อนชำระทุกธนาคาร

  • 3C Commerce สร้างความยั่งยืนผ่านคอนเทนต์และคอมมูนิตี้

การค้าออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งแค่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่กำลังก้าวสู่เทรนด์ที่เรียกว่า 3C Commerce ซึ่งประกอบด้วย 1.Content การสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจในตัวสินค้า 2.Community เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดี ย่อมดึงดูดผู้ติดตาม สร้างฐานแฟนคลับ และสร้างชุมชนที่มีความผูกพันกับแบรนด์ 3.Commerce คอนเทนต์และคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การซื้อขายสินค้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ค้าและลูกค้า

3C Commerce จึงช่วยเพิ่มความผูกพันที่ทำให้ลูกค้าไม่เพียงซื้อสินค้า แต่ยังติดตามและสนับสนุนแบรนด์อย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์จึงไม่เป็นเพียงการทำธุรกรรมอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และเริ่มขยับไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น

  • AI Commerce ขับเคลื่อนอนาคตอีคอมเมิร์ซ

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนกลยุทธ์ ออกแบบ ไปจนถึงการทำโฆษณา ทุกขั้นตอนจะมี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ดังนั้น การผสาน AI เข้ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มความสะดวกสบาย แต่เป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ดียิ่งขึ้น

  • e-Commerce Automation ระบบอัตโนมัติ ยกระดับธุรกิจออนไลน์

E-Commerce Automation หรือระบบอัตโนมัติสำหรับอีคอมเมิร์ซ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่แค่การขายสินค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์ม เช่น การจัดการออเดอร์ การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ระบบบัญชีออนไลน์ การจัดการขนส่ง การบริหารโฆษณา การตอบกลับอัตโนมัติสำหรับลูกค้า ซึ่งการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ลดความซับซ้อนของงานที่ต้องทำด้วยตนเอง และเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ

  • e-CommerceListening ผู้ช่วยวิเคราะห์ตลาด

ปัจจุบัน ข้อมูลออนไลน์มีอยู่มากมายมหาศาล กระจัดกระจาย เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น E-Commerce Listening จะเข้ามาเป็นเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ โดยช่วยติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าทุกชิ้นในตลาดไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคา ข้อมูลสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน ยอดขายและกลยุทธ์ของคู่แข่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม วางแผนการตลาดได้แม่นยำ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

]]>
1504098
กรุงเทพฯ แซงโตเกียว ขึ้นเบอร์ 1 จุดหมายปลายทางช่วงคริสต์มาส https://positioningmag.com/1503779 Tue, 17 Dec 2024 04:41:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1503779 กรุงเทพฯ แซงโตเกียว ขึ้นเบอร์ 1 จุดหมายปลายทางช่วงคริสต์มาส ค้นหาเพิ่ม 14% คนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้สนใจมาไทยมากสุด ส่วนคนไทยช่วงปีใหม่ในประเทศชอบไปพัทยา ฟากต่างประเทศ เมืองโตเกียว ครองเบอร์หนึ่งในใจคนไทย

อโกด้า (agoda) รายงานการค้นหาที่พักยอดนิยมช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 2567 พบว่า 5 อันดับแรกจุดหมายปลายทาง มีดังนี้

  • อันดับ 1 กรุงเทพฯ, ไทย
  • อันดับ 2 โตเกียว, ญี่ปุ่น
  • อันดับ 3 โซล, เกาหลีใต้
  • อันดับ 4 ไทเป, ไต้หวัน
  • อันดับ 5 โอซาก้า, ญี่ปุ่น

“การค้นหาที่พักกรุงเทพฯ ช่วงคริสต์มาสเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกรุงเทพฯ แซงหน้าโตเกียวขึ้นมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับหนึ่ง”

สำหรับการค้นหาที่พักยอดนิยมในคืนวันปีใหม่ พบว่า กรุงเทพฯ ติดท็อปลิสต์จาก 5 อันดับ ดังนี้

  • อันดับ 1 โตเกียว, ญี่ปุ่น
  • อันดับ 2 กรุงเทพฯ, ไทย
  • อันดับ 3 ไทเป, ไต้หวัน
  • อันดับ 4 พัทยา, ไทย
  • อันดับ 5 โอซาก้า, ญี่ปุ่น

“สาเหตุหลักที่กรุงเทพฯ ได้รับความนิมยมด้านจุดหมายปลายทางช่วงการเฉลิมฉลองมาจากอากาศเริ่มเย็นลง บรรยากาศคึกคักมีสีสัน และเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม” นายปิแอร์ ฮอนน์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย อโกด้า กล่าว

ส่วนนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาไทยมากสุดช่วงปีใหม่ ได้แก่

  • ญี่ปุ่น
  • เกาหลีใต้
  • มาเลเซีย
  • สิงคโปร์
  • อินเดีย

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่วางแผนเที่ยวในประเทศ ให้ความสนใจ 5 เมืองนี้มากสุด คือ พัทยา กรุงเทพฯ เขาใหญ่ เชียงใหม่ และหัวหิน/ชะอำ

สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่มองหาการเริ่มต้นปี 2568 ที่ต่างประเทศ โตเกียว ฮ่องกง ไทเป เซี่ยงไฮ้ และโอซาก้า เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามลำดับ

]]>
1503779
คนไทยอยากซื้อบ้าน แต่เงินเก็บไม่พอ หนุนเทรนด์เช่าโต 12-25% https://positioningmag.com/1503571 Mon, 16 Dec 2024 07:37:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1503571 ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) รายงานผลสำรวจความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ว่า ภาพรวมผู้บริโภคมีความต้องการซื้อบ้านสูง 50% ภายใน 1 ปีนี้ แต่หากเจาะลึกความพร้อมทางการเงิน พบว่า

  • กลุ่มมีเงินเก็บพอซื้อบ้าน มีเพียง 33%
  • กลุ่มเก็บเงินซื้อบ้านได้ครึ่งทาง 48%
  • กลุ่มไร้แผนเก็บเงินซื้อบ้าน 18%

“คนวางแผนซื้อบ้านไม่มีความพร้อม ส่วนกลุ่มผ่อนบ้านคอนโดก็เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคจึงเลือกเก็บออมเงินเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

สอดคล้องกับข้อมูลจากเครดิตบูโร ระบุ ไตรมาส 3 ปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทยในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 13.6 ล้านล้านบาท (จากหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ 16.3 ล้านล้านบาท) เติบโต 0.5% (YoY) ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวมทั้งหมด เพิ่มขึ้น 14.1% (YoY) สูงสุดในรอบ 12 ปี (นับแต่ไตรมาส 4 ปี 2555)

“ความต้องการซื้อ” ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ โต 10-19% บ้านหรูพุ่ง

1.คอนโด +19%

  • ระดับราคายอดฮิต 1-2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% (YoY)

2.บ้านเดี่ยว +10%

  • ระดับราคายอดฮิต 3-4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% (YoY)
  • ราคา 10-20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% (YoY)

3.ทาวน์เฮ้าส์ +10%

  • ระดับราคายอดฮิต 1-2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% (YoY)

“ความต้องการเช่า” ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ โต 12-25%

1.คอนโด +12%

  • ระดับราคาที่นิยม 7,5001-10,000 บาท/เดือน ลดลง 12% (YoY)

2.บ้านเดี่ยว +25%

  • ระดับราคายอดนิยม 12,501-15,000 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 8% (YoY)

3.ทาวน์เฮ้าส์ +10%

  • ระดับราคายอดนิยม 12,501-15,000 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 5% (YoY)

ตลาดเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน

  • คอนโด เพิ่มขึ้น 10% ระดับค่าเช่าที่คนสนใจมากสุด 7,501-10,000 บาท/เดือน ลดลง 18% (YoY)
  • บ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้น 30% ระดับค่าเช่าสุดฮิต 100,001-200,000 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 38% (YoY)
  • ทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 23% ระดับค่าเช่าฮิตสุด 12,501-15,000 บาท/เดือน ลดลง 11% (YoY)

“การตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพยังเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ระดับค่าเช่าบ้านเดี่ยวปรับสูงขึ้น ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคระดับบนที่ไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานถาวรหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย (Expat)”

อสังหาปี 68 ฟื้นตัวแบบ K-Shaped

โดยสรุป อสังหากลุ่มบนขยายตัวได้ดี ส่วนกลุ่มกลาง-ล่างยังลำบาก เนื่องจากผู้บริโภคขาดสภาพคล่องการเงิน

สะท้อนจากข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 419,812 ล้านบาท ลดลง 16.2% (YoY) ส่วนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ในปีนี้ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50%

ปัจจัยที่น่าจับตา ได้แก่

  • คนหาบ้านยังไม่หลุดพ้น “กับดักหนี้” อุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อบ้าน มาจาก หน้าที่การงานที่ไม่มั่นคง (56%) และประวัติหนี้เสียในเครดิตบูโร (41%)
  • การผิดนัดชำระหนี้บ้านมีอัตราเร่งตัว (อ้างอิง สศช.) ในไตรมาส 3 ปี 2567 มูลค่าหนี้เสียที่สูงถึง 23.2% จาก 18.2% (QoQ) และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% จาก 3.98% (QoQ) “ส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท“
  • ดีมานด์ที่อยู่อาศัย Upper Class ราคา 7-15 ล้านบาท ชะลอตัว สวนทางซัพพลายเพิ่มขึ้น 17-24%
]]>
1503571