เคานต์ดาวน์ แจส ขี่คลื่น 4G ชี้ชะตาด้วย “มันนี่เกม”

จะได้ไปต่อหรือไม่? โค้งสุดท้ายของแจส กับการก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมมือถือ เมกกะโปรเจกต์ระดับประเทศ ที่ต้องชี้ชะตาด้วย “มันนี่เกม” กำลังเป็นคำตอบสุดท้าย
 
กำลังถูกจับตามองอย่างหนักกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ แจส ได้ออกมาประกาศซื้อหุ้นคืนจำนวน 1,426 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนหุ้นซื้อหุ้น 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 5บาท หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท
 
หลายคนตั้งคำถามว่า แจส กำลังเดินเกมอะไรกันแน่ จะเดินหน้า หรือถอยหลัง?
 
เพราะอีกเพียงแค่ 10 กว่าวันเท่านั้น ก็จะถึงวันที่ 21มีนาคม 2559ที่ถึงกำหนดเส้นตายที่แจส โมบาย บรอดแบนด์ บริษัทลูกของแจสจะต้องนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาต 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz แบ่งเป็นเงิน 8,040ล้านบาท และหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี เป็นเงินจำนวนที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น  75,654ล้านบาท ส่งมอบให้กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากแจส ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่
 
ที่ต้องมาลุ้นกันมากเป็นพิเศษ เพราะ “แจส” จัดเป็นมวยรุ่นเล็กที่หาญกล้าขึ้นเวทีมาชกกับมวยรุ่นใหญ่ “ระดับเฮฟวีเวต” ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจัดอยู่ในระดับ Mega Project ผู้เล่นล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ระดับแถวหน้าของประเทศ หรือไม่ก็ต้องเป็นบริษัทข้ามชาติ  
 
เมื่อ แจส คว้าชัยชนะประมูลใบอนุญาตมาได้ จึงมีกองเชียร์อยู่ไม่น้อย เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมมือถือ จากการมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาบ้าง แทนที่จะตกอยู่ในมือผู้เล่น 3 ราย และแจสเองก็ไม่ธรรมดา ก่อนหน้านี้ บริษัท 3 BB บริษัทในเครือก็เคยเขย่าตลาดบรอดแบนด์แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากทรูมาได้ไม่น้อย ด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองและราคามาแล้ว และยังเป็นเจ้าของช่องโมโน ทีวีดิจิตอล
 
แต่แจสเองจะต้องเผชิญกับคำถามว่า จะนำเงินที่ไหนมาลงทุน เพราะนอกจากค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ยังมีเรื่องค่าเช่า งบการตลาด ทีมงาน เพราะขนาดของธุรกิจรอบนี้ใหญ่กว่าที่แจสเคยทำมาอย่างสิ้นเชิง
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด่านแรก คือ การจ่ายค่าใบอนุญาต และแบงก์การันตี ทำให้ พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องออกมาเปิดแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพื่อยืนยันว่า ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ ที่เจรจากันไว้ตั้งแต่ก่อนประมูลแล้ว
 
แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีวี่แววว่าแจสจะเข้าไปจ่ายค่าใบอนุญาต มีแต่คำยืนยันจาก กสทช.ว่าได้รับการติดต่อจากแจสว่าจะมาจ่ายแน่ๆ
 
ทางด้านธนาคารกรุงเทพ ได้ออกมาระบุว่า ที่ยังไม่อนุมัติเงินกู้ให้ เพราะต้องการให้แจสเสนอแผนธุรกิจใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขประมูลสูงกว่าที่เคยประเมินกันไว้ 4-5 หมื่นล้าน แต่ประมูลจริงกลับทะลุไปถึงกว่า 7 หมื่นล้าน ธนาคารกรุงเทพจึงให้แจสกลับไปทำเรื่องมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และที่แบงก์อยากรู้รายละเอียด คือ ความสามารถในการหารายได้ ทำกำไร และโอกาสทางธุรกิจ เช่น อาจจะมีการเพิ่มทุน และหาพันธมิตรเข้ามา เพื่อมา “การันตี” ความมั่นใจให้กับแบงก์
 
ผู้บริหารของจัสมินบอกว่า คงไม่เลือกวิธีการเพิ่มทุน เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้น และการบริหารไว้ ทางออกน่าจะเป็นการหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาถือหุ้น  และตั้งแต่มีข่าวออกไป ก็มีบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในธุรกิจสื่อสารของทุกประเทศในแถบเอเชีย ติดต่อขอมาเจรจาหลายราย
 
แต่เรื่องแบบนี้ก็ต้องใช้เวลา แม้จะไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ก็ตาม เพราะทุกรายเคยผ่านการลงทุน ถือหุ้นมาแล้ว จึงมีความเข้าใจธุรกิจค่อนข้างดี แต่ก็ต้องมีเรื่องรายละเอียดต้องเจรจา จึงยังไม่สรุป
 
จนกระทั่งล่าสุด แจส ได้ออกมาประกาศซื้อหุ้นคืน 20% ในราคาหุ้นละ 5 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5,000 ล้าน  
 
ความเคลื่อนไหวของแจสครั้งนี้ ก็ยิ่งสร้างความสงสัยให้กับนักลงทุน และนักวิเคราะห์เอง ต่างก็ออกมาประเมินเหตุการณ์ ภายใต้พื้นฐานของข้อมูลที่แตกต่างกันไป
 
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า นี่คือสัญญาณว่า แจส น่าจะเตรียมถอดใจกับการหาเงินไปจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แล้ว เพื่อไม่ต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมาก ทั้งค่าใบอนุญาต และการลงทุนทำธุรกิจอีกจำนวนมาก จึงได้นำเงินสดที่มีอยู่ในมือไปซื้อหุ้นคืนแทน เพื่อช่วยให้ราคาหุ้นดีดกลับไปที่ระดับเดิมก่อนจะมีการเข้าสู่ 4G และจนถึงวันนี้ แจสเองก็ยังไม่ได้ประกาศพันธมิตรอย่างเป็นทางการ
 
ในขณะที่นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่า การที่แจสออกมาประกาศซื้อหุ้นคืนในช่วงเวลานี้ เป็นสัดส่วนหุ้นที่ซื้อคืนสูงถึง 20% ก็เป็นไปได้ว่าแจสมีแผนจะเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงในภายหลัง เนื่องจากการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงในภายหลัง เพื่อไม่ต้องการให้ Control Dilution ของพิชญ์ โพธารามิก ต่ำเกิน 20%
 
นอกจากนี้ยังมองว่า แบงก์กรุงเทพน่าจะยังคงให้การสนับสนุนแจส เพราะในอนาคต เรื่องของ “ฟินเทค” จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของการสื่อสาร และธนาคาร ในระดับที่เป็นการเปลี่ยน “แลนด์สเคป“ ทางด้านการเงิน และจะเกิดการร่วมือกันระหว่างธนาคาร และผู้ให้บริการมือถือ เกิดขึ้นในอนาคต
 
แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัดว่า “แจส” จะอยู่หรือไปบนเวทีใหญ่ระดับ “Mega Project” ในอุตสาหกรรมมือถือ จนกว่าจะถึงวันที่ 21 มีนาคม 2559
 
แม้แต่ กสทช.เอง จากที่เคยยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ เวลานี้ก็ขอสงวนสิทธิ์ไม่ออกความเห็นกรณีของแจสแล้ว เพราะเกรงจะกระทบต่อราคาหุ้น และยืนยันว่าจะไม่มีการผ่อนปรนผ่อนจ่ายเป็นงวด หรือขยายระยะเวลาในการจ่ายชำระเงินออกไป
 
สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ ที่หลายคนคิดว่ารู้ อาจไม่ใช่สิ่งที่รู้ก็ได้ เช่นเดียวกับ “พันธมิตร” ที่แจสกำลังติดต่ออยู่ อาจจะมีทั้งที่ “มองเห็น” และ “มองไม่เห็น” ก็เป็นได้
 
เพราะทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับ “มันนี่เกม” จะพลิกสถานการณ์ทำให้แจสก้าวข้ามจากที่เคยสร้างทางหลวงชนบท มาสู่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ได้หรือไม่ ส่วนนักลงทุนรายย่อย ก็รอดูแค่ว่า จะซื้อหุ้นแล้วไปต่อดี หรือขายทิ้งดี
 
งานนี้เลยต้องขึ้นอยู่กับ “มันนี่เกม” ล้วนๆ