เปิดใจ “IP-Man” หมัดคุณธรรมแห่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของวาทะสะท้านภพ "#ไม่น่ารักเลย"!!

หวาดผวาไปตามๆ เมื่อเขามาถึง! “ไอพี-แมน” แอดมินเพจกรมทรัพย์ฯ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นดั่ง “บอส” ผู้น่าเกรงขามทั้งสำหรับ “คน” และ “ผี” จอมละเมิดทั้งหลาย ณ นาทีนี้ใครมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ สะกิด “บอส” ได้เลยนะครับ!
 
..เป็นที่กล่าวขวัญถึงมาสักระยะแล้ว สำหรับแอดมินเพจ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” กับลีลาการโพสต์ การคอมเมนท์ ไปจนถึงการตอบคำถามที่โดนใจทั้งวัยสะรุ่นและไม่วัยสะรุ่นแห่งโลกโซเชียล ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในด้านปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ชนิดที่พูดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ ในการทำหน้าที่ของแอดมินผู้ที่ต่อมา ได้รับการเรียกขานว่า “บอส”
 
 
จากเด็กสายนิเทศศาสตร์ เคยเป็นทั้งนักข่าวและทำงานด้านประชาสัมพันธ์มาก่อน รวมทั้งครุ่นคิดไตร่ตรอง และศึกษากระแสสังคมมาพอสมควร เป็นจุดเริ่มต้นให้ข้าราชการหน้าใหม่วัย 33 ปี กระทำการอันลือลั่นสะท้านภพออนไลน์ ผ่านสไตล์การใช้สื่อแบบ “ชาวบ้านพูดกับชาวบ้าน” มีทั้งความเป็นกันเอง เข้าใจง่าย (กวนโอ๊ยหน่อยๆ พอหอมปากหอมคอ) และนวดนาบกำราบ “ผี” ด้วยไม้นวม เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน ด้วยหวังดี อีกทั้งเป็นกำลังหลักที่ทำให้เพจซึ่งแต่เดิมมีลูกเพจผู้ติดตามไม่กี่พัน ขยับขึ้นเป็นหลายหมื่น พร้อมกับการติดแฮชแท็กของคนที่ติดตามกระแสนี้ ที่นำมายั่วล้อกันบันเทิงเริงใจ แบบ “#ไม่น่ารักเลยคนับ”
 
เปิดใจได้ แต่ไม่เปิดตัว…ไม่ถือว่า “มารยาทไม่ดี” หรือ “ไม่น่ารักเลย” เพราะบางที คนที่ทำการใหญ่แบบนี้ ก็ต้องมีการปิดบังตัวตนกันบ้าง จริงไหม?
 
“IP-Man” ไม่ใช่ยิปมันอาจารย์บรูซลี ผู้มีเพลงมวยหย่งชุนผดุงคุณธรรม
 
แต่เขาคือ “ไอพี-แมน” แห่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่พร้อมจะปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของทุกท่าน ด้วยสื่อโซเชียล!
 
 
– ถามถึงงานส่วนหลักก่อนครับ โดยรวมแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง
 
ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่ว่าด้วยเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียวแบบที่หลายคนคิดและเข้าใจ เรื่องลิขสิทธิ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินทางปัญญาคือผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ แบ่งได้เป็นสามอย่าง คือ หนึ่ง “เครื่องหมายการค้า” คนทั่วไปก็จะเรียกว่า “โลโก้” หรือ “แบรนด์” สอง “สิทธิบัตร” คือพวกการออกแบบ การประดิษฐ์ ที่มีกระบวนการเอาไปผลิตทำได้ และสามคือ “ลิขสิทธิ์” ซึ่งลิขสิทธิ์ก็มีแยกย่อยออกไปอีก 9 อย่าง เช่น หนัง เพลง จิตกรรม งานปั่น ภาพถ่าย เป็นต้น คือทั้งหมดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
 
ทีนี้ เป้าหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็คือมีส่วนในการตรวจสอบ แจ้งข้อมูล ให้ความรู้และรับจดทะเบียนสิทธิบัตร เพราะที่มีการละเมิดอย่างมากในยุคปัจจุบัน เรามีสื่อต่างๆ โซเชียลเน็ตเวิร์ค มันก็ยิ่งทำให้ละเมิดกันได้ง่ายขึ้น ง่ายจนเราละเลยว่านี่มันเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องมารยาท
 
– ฟังดูเหมือนงานจะมีความเป็นทางการสูงมาก ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสไตล์การโพสต์ในเพจ ตรงนี้มีความเป็นมาอย่างไร
 
คือแต่เดิม เพจของกรมฯ ยังเป็นรูปแบบธรรมเนียมเดิม ไม่แตกต่างจากการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการ ทีนี้ ด้วยความที่เราเป็นนักนิเทศศาสตร์ เคยทำงานด้านสื่อ เป็นนักข่าว ทำงานประชาสัมพันธ์ พอเรามาทำงานข้าราชการตรงนี้ เราก็แทนตัวเราเองว่าเราเป็นประชาชน และเราก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ผมเพิ่งจะทำงานข้าราชการได้ 1 ปี จะถามอะไรดี พูดภาษาระดับไหนดี จะหยาบก็ไม่ได้ ต้องมาแปลงให้มันสวยงาม มีเรื่องร้องเรียนมาต้องทำหนังสือร่ายยาวไปอีกทอด เป็นขั้นตอนกว่าจะไปถึง แล้วไปถึงหรือไม่ก็ไม่กล้าซักถาม (ยิ้ม) แจ้งได้อย่างเดียวหรือเปล่า เราก็เอาความเป็นประชาชนคนหนึ่งมาเริ่มต้นวางแผนที่จะทำ โดยเริ่มจากโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมก่อน เพื่อให้มันตอบโจทย์กับประชาชนมากที่สุด อยากให้เขามองเราเป็นเพื่อน คือไม่ว่าจะถามเรื่องอะไร ผมตอบให้หมดทุกเรื่องเลย ตอนนี้เรื่องไม่เกี่ยวกับกรมก็ถามกันเข้ามา อย่าทำยาสอดทำแท้งก็ยังถาม
 
– ทำไมกลายเป็นอย่างนั้นไปได้
 
อาจจะเป็นอารมณ์ต่อเนื่องมาจากการที่คนรู้สึกมีความประทับใจในสิ่งที่เราทำ เขารู้สึกว่าเขาบอกเราได้ทุกเรื่อง ก็ตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราคิดไว้คนเดียวแต่แรกว่ามีความรู้สึกอยากจะให้ความเป็นข้าราชการมันไม่ต้องมีเครื่องแบบ มียศ มีบ่า ไม่ต้องมีภาษาที่มันทางการ ถ้าสังเกตดู เพจเราจะไม่มีอะไรแบบนี้เลยจนหลายคนสงสัยว่าเพจจริงหรือเปล่า (หัวเราะ)
 
แต่ทุกอย่างมันก็จะมีแผน การที่จะทำเพจขึ้นมาสักเพจหนึ่ง ความยากของมันก็คือว่าเราต้องกำหนดคาแร็กเตอร์ อย่างหลายๆ เพจที่เราเห็นได้ปัจจุบันก็มีทั้งผู้ชายตอบค่ะ/ครับ หรือว่าการตอบแบบกวนตีนสุดโต่งก็มี หรือจะตอบกลับสู้ประชาชนได้อย่างเคเอฟซี ตอนนี้ เพจเราก็จะถูกเปรียบเทียบกับเคเอฟซี เพราะว่าเราไม่ได้กวน แต่เราจะตอบในลักษณะที่ว่าเราเอาคืนได้ แถมเรียบร้อยสุภาพ
 
ตอนแรกก็ใช้ระยะเวลาพอสมควร คือเรามานั่งดูสังเกตลักษณะนิสัยคนไทยมีไลฟ์สไตล์ 3 ส่วน หนึ่งคือ “เผือก” สองคือ “ตลก” สามคือ “ไม่ดวงก็เสี่ยงโชค” เราจับสองอันแรกมาปรับใช้ อย่างการเผือก เราก็ออกไปที่ต่างๆ ใครมีปัญหากับใคร ตอนนั้นมีเพจชื่อดัง ไอ้จ่ากับอีเจี๊ยบ เราก็เข้าไปคอมเมนท์ คนก็เริ่มสงสัย ด้วยความตลกจากคอมเมนท์ที่เราไม่ใช่ตลกคาเฟ่ แต่เป็นตลกสถานการณ์ รวมไปถึงคำต่างๆ ที่เราใช้ เราก็ศึกษามาเยอะเหมือนกัน เช่น เด็กติดเกมใช้ศัพท์อะไร เด็กฟุตบอล เด็กแฟชั่น เขาใช้ศัพท์อะไร เราก็ต้องไปเรียนรู้ ตามสถานการณ์ให้ทัน
 
 
– ฟังแล้วดูเหมือนการปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอของเพจกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรากระทำโดยไม่ได้ตามนโยบาย
 
(หัวเราะ) ไม่ครับ เพราะด้วยความที่หน้าที่การงานค่อนข้างเยอะส่วนหนึ่งแล้ว กับการที่เป็นเรื่องใหม่ ผมก็เลยเริ่มทำเอง ทดลองมาเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ แซมก่อน แล้วรอดูผลฟีดแบคว่าเป็นอย่างไร อย่างเมื่อก่อนที่ลงรูปลงข้อมูลงานประชุมสัมมนาความรู้หรือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเรื่องกฎหมาย โดยภาษากฎหมาย ก็ปรับเป็นทำอินโฟกราฟฟิคหรือทำอะไรที่น่าดึงดูด เข้าใจง่ายๆ เพราะเราก็ไม่ใช่เด็กกฎหมาย ก็เริ่มไปเป็นเรื่องๆ จากเรื่องที่คนถามเยอะก่อน ทำให้มันดูง่าย แล้วก็เพิ่มวิธีการเล่า ใส่ความมันความเก๋าข้างนอก เราก็ไปทำดึงคน พอเราไปทำดึงเข้ามาได้มันก็ทำให้เวลาเราทำเรื่องอะไรพวกนี้ จากที่เมื่อก่อน ทำอินโฟกราฟฟิคขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง ได้ยอดไลค์ไม่ถึง 20 ไลค์ คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น คนก็เริ่ม เฮ้ยๆๆ ได้ความรู้ แล้วก็…มันสิทธิ์ของตูนี่หว่า เริ่มเจออะไรที่เป็นอย่างนี้ ตื่นตัวว่ามันไม่ถูก เริ่มมองรอบๆ ตัวเอง
       
– เรื่องที่ทำขึ้นตอนแรกนั้นเกี่ยวกับอะไร คนถึงได้หันมองสนใจ
 
เรื่องแรกเป็นเรื่องที่คิดว่าคนไม่จำเป็นต้องรู้ แต่เราอยากจะทำ คือเรื่อง ‘สิทธิบัตร’ ที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย นั่นก็คือ “ไม้จิ้มฟัน” (หัวเราะ) ที่เอาเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าอย่างน้อยคนจะได้รู้ว่าอันนี้คือสิทธิบัตร แล้วสิทธิบัตรคืออะไร มันก็จะต่อไปเรื่อยๆ ไม้จิ้มฟันจะเอาไปจดเป็นสิทธิบัตรได้อย่างไร มันต่างหรือเหมือนกับของที่เราใช้ตอนนี้ไหม และสิทธิบัตรมันต่างจากลิขสิทธิ์หรือเปล่า การพิมพ์ข้อความในทวีตเตอร์เพียงหนึ่งประโยคถือว่าเป็นลิขสิทธ์ไหม ก็โยนบอมไว้ สุดท้ายก็มีเข้ามาถาม
 
ตอนนั้นส่วนมากก็จะเป็นงานบอม โยนลงไปบอม เดี๋ยวเขาก็จะมีคำถามกลับมาหาเราเอง ทั้งในคอมเมนท์และอินบ็อกซ์ นี่คือโจทย์ที่เราคิดไว้ โดยจะแบ่งวิธีการขั้นตอนทำงานเป็นสามส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง ให้ข้อมูล สองคือแจ้งเรื่องละเมิด อันนี้ถือว่าสถิติพีคมาก จากเมื่อก่อน เดือนละ 200 ข้อความที่มีคนแจ้ง ตอนนี้วันหนึ่งมี 200 ข้อความ ซึ่งการแจ้งก็มี 3 อย่าง พอไปเจอการละเมิดลิขสิทธิ์ คือการเอาภาพเขา เซฟมา เอาหนังมาเผยแพร่ อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ ไปเจอเพจหนังใหม่เรื่อง “แบทแมนปะทะซูเปอร์แมน” เพิ่งเข้าโรงวันเดียว วันศุกร์หนังซูมมีให้ดูแล้ว คนเห็นเขาก็แจ้งมา ก็เยอะแบบนี้ สองของปลอม ขายพวกเสื้อบอลปลอม ร้องเท้าปลอม อะไรที่ปลอม ทุกอย่าง ส่วนขั้นตอนที่สามคือเรื่องที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน ประเภทนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม เช่น เพื่อนคนนี้ไปเอารูปเพื่อนคนนี้มา เพจนี้ไปเอารูปเพจนี้มาแล้วไปตัดทิ้ง แต่เราไม่ได้มองว่าเรื่องพวกนี้มันหยุมหยิม เรามองว่าการเข้าไปให้ข้อมูล เข้าไปบอกพวกเขา ทำให้เรามีพื้นที่ แล้วคนอยู่ในนั้นเยอะ พอเห็นเรามาปุ๊บ อย่างน้อยเขาก็อาจจะได้อะไรจะแง่มุมที่เราชี้แจง
 
เราอยากให้เขาแก้ไข เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน เราเป็นเพื่อนกัน ทุกเรื่องที่ได้รับการแจ้งมาร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เขาก็จะมีหน้าที่ป้องปรามและติดต่อไปที่เจ้าของ เพราะเราไม่มีอำนาจจับกุม เราก็จะมีลิสต์เลยว่าสินค้านี้ใครเป็นผู้ดูแล หนังเรื่องนี้ใคร เพลงใคร ซึ่งก็จะมีผลในการดำเนินงาน รูปแบบเหล่านี้ต้นเดือนนี้ก็จะรวดเร็วขึ้น แค่แคปเจอร์และไลน์หา แต่เราอยากจะเตือนก่อน แบบเพจเกมที่เขาเอาเกมมาปล่อยให้ฟรีเป็น 10 กว่าปีแล้ว แต่เขาก็ยอมลบและขึ้นแบนเนอร์ขอโทษในเพจเขา แล้วในเว็ปเขาอีก ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถยอมความกันได้ ก็คุยกันเป็นรายๆ ไป เพจหนังหลายเพจก็ปิดลง ปิดของเขาเอง โดยที่เราไม่ได้ด้วยท่าทีนักเลง ประมาณว่า เฮ้ย ไม่ดีว่ะ พอ เลิกเถอะ แต่มันก็มีพวกลองของกวนๆ เหมือนกัน แต่เราก็…เดี๋ยวๆๆ เดี๋ยวรู้เรื่อง (หัวเราะ)
 
– ตอนนี้คือยังไม่มีการดำเนินจับกุม
 
เรื่องคดี เดี๋ยวมันเป็นไปตามขั้นตอน เพราะคนที่จะแจ้งความได้ก็คือเจ้าของหรือว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล อย่างภาพยนตร์ต่างประเทศก็จะมีอีกหน่วยงานหนึ่ง เพลงก็อีกหน่วยงานหนึ่ง ทุกอันเราแจ้งให้ทราบหมดว่ามีการละเมิด เพราะลิขสิทธิ์มันยอมความกันได้ ตัวอย่างผมไปเอารูปใครสักคนมา คนนั้นบอกว่าไม่แฟร์ ขอให้ลบ แค่ลบก็จบได้ หรือไม่ต้องลบก็ได้ แต่ใส่เครดิต หรือขอบคุณจากต้นทางก็ได้ หรือจะไม่เอาเพราะเอาไปหลายรูปขนาดนั้น ขอคิดรูปละ 200 บาท จ่ายเงินไป จบ เพราะฉะนั้นมันมีวิธีการจบได้หลายอย่าง จะขอก็ได้ เขียนไปแล้วถ้าเขาบอกว่ายินดี ลงได้ก็ได้ แต่มันเหมือนเป็นเรื่องมารยาทส่วนหนึ่ง
 
แต่คนชอบคิดว่าไปเจอรูปมา หาต้นตอไม่เจอ มันก็อปกันมาจนไม่รู้จะไปขอใคร คุณเดินไปเจอกระเป๋าเงินตกอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นของใคร เราหยิบมา อันแรกจุดประสงค์คือหยิบมาใช้ ผิดไหม ผิด ต่อให้เจ้าของเขาไม่รู้ บางคนบอกว่าไม่ได้ทำเพื่อการค้า มันไม่มีเหตุผล โจรไปปล้นมา บอกจะช่วยคนจน ยังไงคุณก็เป็นโจร คุณไปหยิบของเขามา คุณไม่เอามาใช้ ยังไงก็ถือว่าขโมย หยิบไปให้คนอื่น หยิบไปให้ทำบุญอะไรก็ผิด เอาไปทำการกุศล ทำบุญ ไม่ได้ไปค้าขาย มันไม่ใช่เหตุผล เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราไปเอาของเขามา 
 
 
ปุ่มแชร์ ปุ่มเดียวง่ายมาก แต่การก็อปต้องไปคลิกขวา 1 ทีเพื่อเซฟเข้ามา คลิกวาง คลิกเข้าไปคร็อปอีก มันก็มีเจตนา ต่อให้มีเหตุผลข้ออ้างอย่างไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่ เราไม่อยากให้มองว่าเป็นศัตรูกัน คนผิดไม่รู้ก็มี อาศัยว่าผมอยากเอามัน อยากแชร์ ชอบ เซฟเขามา ชอบจริงๆ ก็มี แต่ที่หวังไม่ดีก็มี หวังว่าเดี๋ยวมันจะมาไลค์เพจตัวเองเยอะๆ ซึ่งเด็กบางคนสมัยนี้ มีหนังซูมมา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อยากให้คนมากดติดตามหรือแชร์ตัวเองเยอะๆ เพราะเหมือนรู้สึกว่าเป็นฮีโร่ ทั้งๆ ที่มันไม่มีผล ไม่มีรายได้อะไร แต่พอลงแล้วคนมาคอมเมนท์บอกขอบคุณ สุดยอดฮีโร่… ประหนึ่งพ่อพระ การกระทำอันนี้จริงๆ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่าเราต้องทำให้เด็กๆ หรือประชาชนตระหนัก
 
ดังนั้น บางทีสไตล์การตอบมันจึงเป็นการตบหัวแล้วลูบหลัง จะมีลักษณะอย่างนี้ ถามมา เราก็ต้องให้ความจริงก่อน แล้วก็อธิบายว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เข้าใจ แม้มันจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ในเร็ววันนี้ แต่ผมเชื่อว่าหลายคน พอจะไปเรื่องของละเมิดปุ๊บ กดเข้าไปดูไปเจอ อย่างน้อยแค่ก่อนคลิกให้เขาฉุกคิดว่ามันไม่เวิร์คหรือต้องไปหาต้นตอให้เจอก่อน หรือเมื่อไม่ได้จริงๆ ก็ให้ลองมาถามเราดูก็ได้ว่าเราจะมีช่องทางไหนต่อ ประมาณนั้น มันก็มีวิธีในการทำให้มันถูกต้องได้ ตามมารยาทก็ได้ ในเชิงกฎหมาย อาจจะไม่เน้นเท่าไหร่ แต่ทางมารยาทยังพอทำได้
 
– ตอนพอเริ่มทำ มีใครค้านบ้างไหมเกี่ยวกับวิธีการแบบนี้
 
ไม่ค้านครับ แต่จะมีอยู่สองอย่างที่ต้องรอบคอบ คือหนึ่ง สไตล์ในการตอบ และสอง ข้อมูล เรื่องสไตล์ โชคดีมากที่ผู้ใหญ่เห็นว่าทำแล้วมันโอเค อย่างที่บอกว่าเราวางแผนมาตั้งแต่ตอนแรกว่าเราจะตีกรอบอบย่างไร ตอบได้เท่านี้ ถ้าเจอคนกวนตีนเราจะไม่ตอบ เงียบ เราเงียบได้ แต่ส่วนที่ผู้ใหญ่จะให้ระวังมากที่สุดคือข้อมูล ต้องถูกต้อง ไม่มีการที่เราคิดเอง ตอบไม่ได้ก็บอกแมนๆ ตอบไม่ได้ ขอไปถามคนที่มีความรู้มากกว่า หรือคนที่เกี่ยวข้อง เพราะบางทีเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของอะไรที่มันซับซ้อน ก็จะเก็บไปหาคำตอบมา
 
เหนือกว่าสิ่งใดทั้งหมดคือเรื่องที่ร้องเรียนมา ต้องแก้ปัญหาแล้วส่งต่อ ส่วนปัญหาอะไรที่เข้าติดต่อมา ต้องตอบให้ทั้งหมด ตกหล่นไม่ได้ หรือร้องเรียนอะไรมาก็แล้วแต่ ต้องแก้ปัญหาให้เขาทุกเรื่อง ตอนนี้จากจุดเริ่มที่เราคนเดียว “IP-Man” จากบอสเพียงคนเดียว (ยิ้ม) เราก็มีกราฟฟิคมาช่วย แล้วตอนนี้ก็มีอีก 1 คนที่เข้ามาช่วย เป็นบอสคนที่สอง เป็นคนรวบรวมข้อมูล รายงานสถิติและส่งให้เราจนสามารถแก้ปัญหาได้ อันนี้ในกรณีที่ต้องการคำตอบในเชิงทางการหรือว่าเอกสาร เขาจะมีสาระมากกว่า ส่วนผมไม่มีสาระ (ยิ้ม)
 
– เริ่มจากไม้ขีดก้านแรกที่บอมลงไป จำนวนผู้ให้สนใจก็เพิ่มขึ้น อย่างนี้เรารับมือในการตอบไขประเด็นสงสัยหรือให้ความรู้ได้ทันอย่างไร
 
ก็จะค่อยๆ ทยอย เพราะเราก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในงานอื่นๆ ด้วย อันนี้มันเป็นแค่ 1 ใน 10 ของงานที่เราทำ แม้ว่าจะกลายเป็นหน้าที่หลักแล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังมีงานอื่นๆ ที่เรารับผิดชอบอยู่เยอะมาก แต่คือส่วนหนึ่ง ที่เราทำตรงนี้กัน ก็เพราะเราเล่นโซเชียลมีเดียกันอยู่แล้ว และเราก็พยายามบริหารให้มันได้เรื่อยๆ โอเคตอนนี้คนอาจจะเข้ามาคำถามเยอะ แต่การบริหารจัดการ เราไม่ได้ทำแค่ 2 คน ทุกคนในกรมเป็นแบ็คอัพให้เรา เจอคำถามยากๆ ขึ้นมา หงายท้อง จากเมื่อก่อน ถามประมาณ 1บวก 2 ได้เท่าไหร่ เดียวนี้มาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เจอ เช่น เอาหนังเขามาแล้วเราแปลซับเอง แต่เราโดนละเมิดเอาไปอีกที คนที่เขามาเอาที่เราแปลไปใช้ผิดไหม เป็นต้น มันซับซ้อนมากขึ้น เราก็ต้องส่งต่อให้คนที่เชี่ยวชาญตีความ ก็จะมีกลุ่มคนที่เป็นแบ็คอัพตลอด
 
วิธีการก็ง่ายๆ คือแค่แคปเจอร์หน้าจอ ส่งไปให้เขาตอบ เขาตอบกลับมา อาจะเป็นภาษาที่เป็นทางการหน่อย เราก็มีหน้าที่แปลภาษาพวกนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ มันต้องมีอะไรที่ดึงดูดเขาต่ออีก ถ้าสังเกตในเพจ ทุกการแชร์หรือว่าทุกการตอบคำถาม เราจะพยายามเข้าไปตอบ เพราะเรานึกถึงความรู้สึกเขาว่าเขาใส่ใจ เราก็ทำงานให้เขารู้สึกดีว่าเราตอบคำถาม แม้คำถามมันจะเดิมๆ เจอถามอย่างนี้ทุกวัน ไม่เคยเบื่อ ไม่มีวันไหนที่มานั่งเบื่อ การให้คำตอบเขาไปแล้วเขาเข้าใจ นั่นคือสิ่งที่เรารู้สึกประสบความสำเร็จ
 
– ความมุ่งหวังในการเปลี่ยนแปลงนอกจากให้ประชาชนตื่นรู้และหันมาสนใจ ยังมีจุดประสงค์อื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่
 
ปกติหลายคนชอบตั้งคำถามว่าจะทำไปเพื่ออะไร มันมีจุดประสงค์เดียวเลยคือทำให้คนทุกคน เราอยากให้คนรู้สึกว่าเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามันก็เป็นเรื่องของเราเอง เราต้องปกป้องตัวเราเอง เราถ่ายรูปของเรา ใครมาเอาไป เมื่อก่อนช่างมัน เอาไปเหอะ ไม่เป็นไร ถือว่าช่วยโปรโมท แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เพราะหนึ่ง เราต้องปกป้องสิทธิ์ตัวเอง สอง เราต้องเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย ยังไม่ต้องไปถึงปราบปรามหรืออะไร ขอแค่ตรงนี้ก่อน คนมักจะคิดว่าไม่เป็นไร ทำเพลงขึ้นมา อยากให้คนเอาไปปล่อยต่อซะด้วยซ้ำ จะได้ดัง ไม่ใช่ครับ ทุกอย่างมันสามารถเอาเรื่องพวกนี้ทำมาเป็นรายได้ได้
 
เดี๋ยวนี้มันมีเยอะแยะ ขนาดทำเพลงร้องเพลงลงยูทูปก็มีรายได้แล้ว แล้วพวกที่ไปขโมยเขามา เอารายได้ทั้งนั้นของเขาไป เพราะบางคน มีคนดูเยอะ ก็มีโฆษณาเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กหรือในเฟซบุ๊กส่วนตัว เข้ามาในยูทูป บางคนบอกไม่ได้ทำเพื่อการค้าแต่ได้เงินนะ อย่ามา อย่ามา (ยิ้ม) ดังนั้น ถ้าเราทำเองเราได้เอง จะไม่ดีกว่าเหรอ
 
ทั้งหมดที่เราทำ นักการตลาดบอกว่านี่คือการสร้างอะแวร์เนส (Awareness) ให้คนจดจำแล้ว แต่จริงๆ เป้าหมายเราไม่ได้คิดถึงการตลาด เราทำแค่เราอยากทำ เราทำให้ประชาชน แต่ด้วยคำพูดจาเรามันไปสะกิดติ่งคนพอดี หลายๆ คำ จังหวะจะโคนมันโดนพอดี เช่น “โอ้ ไม่น่ารักเลย” นี่จริงๆ ก็ขึ้นกับจังหวะเหมือนกัน คำว่าไม่น่ารักเลย ที่มาคือตอนนั้นมีเพจหนึ่งไปลงหนัง Deadpool วันนั้นหงุดหงิดมากเลย เพราะจะไปดูแล้วมันไม่มีรอบ แล้วก็กลับมาบ้าน มาเล่นเน็ต มาสไลด์ๆ ดู มาแล้ว!! ลงเต็มเรื่องเลย ตอนแรกก็จะพิมพ์แบบอารมณ์ล้วนๆ แต่ก่อนจะโพสต์ ก็พิมพ์ไว้ก่อนหลายๆ แบบ มีทั้งแบบแรงไป มีทั้งวิชาการเกินไป ลบอยู่หลายรอบ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
 
ก็ต้องกรองเยอะ สุดท้ายก็มา “ไม่น่ารักเลย” สั้นๆ ไม่ได้พิมพ์ยาวด้วยนะ “การเอาหนังคนอื่นมาเผยแพร่ ไม่น่ารักเลย” แต่คำสั้นๆ คำเดียวมันเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนชีวิตผมด้วย มาจากคำนี้ คำว่า “ไม่น่ารักเลย” คำพูดคำเดียวจริงๆ บางทีมันไม่ได้มีทฤษฏีอะไรเลย และคนดันไปเห็นแล้วแคปเจอร์ไว้ และไม่นานต่อมา วิดีโอนั้นก็โดนลบทิ้งไปเลย ที่สำคัญ คนก็ยังแคปเจอร์ไปพูดเป็นกระแส ซึ่งเราก็ไม่ได้ลบ เขาลบเอง เขายอมลบเอง ก็ถือว่าเขาคงเข้าใจ
 
 
– คำเพียงคำเดียวมันทรงอิทธิพลขนาดนั้น
 
จริงๆ อย่าว่าแค่ “ไม่น่ารักเลย” เมื่อก่อนเราไม่รู้จะพิมพ์อะไร แค่ส่งหน้าสติ๊กเกอร์ยิ้มกลมๆ คนก็จะบอกว่าทำไมช่างดูทรงพลังขนาดนี้ (หัวเราะ) เหมือนคนรู้ตัวว่าทำผิดอยู่แล้ว แล้วเราเข้าไป แต่ก็มีที่เขาเข้ามาต่อกรเรา เราก็จะบอกว่า “มาวิ่งเล่นอะไรแถวนี้” เพราะว่าเพจที่ละเมิดชอบมากวน หรือ “เฮ้ย…ไม่มีที่ให้เล่นเหรอ มาวิ่งเล่นอะไรแถวนี้” เท่านั้น ลบเหี้ยนเลย “กลับบ้านจะร้อง” บางทีก็ถ้าเขาอยู่ในที่ของเขา ก็ว่าไปอย่าง
 
แต่ถ้าเอาจริงๆ การจะปิดเพจพวกนี้หรือว่าไปหาคนโพสต์ หน่วยงานข้าราชการก็รู้ว่าไม่ยากหรอก แป๊บเดียว จะเล่นใครล่ะก็ไม่ยาก ค้นหา IP Address ดูรู้แม้กระทั่งพิกัด เสิร์ชเจอยันบ้าน แต่เราไม่ได้อะไรขนาดนั้น เราตักเตือน เราไม่ได้แบบว่าผิดแล้วต้องโหดเลย เป็นเพื่อนกันมากกว่า ด้วยจุดประสงค์เรา อยากจะบอกเขาอย่างนั้นว่าการกระทำอย่างนี้มันมีผลเยอะ แต่ด้วยความที่เป็นข้าราชการ ก็มีลบคอมเมนท์เราทิ้งก็มี หรือบางทีเข้ามาด่าทอ เราก็ถือว่าทุกการถูกด่า เราก็เอามาวางแผนต่อไปว่าทัศนคติของคนบ้านเราเป็นอย่างนี้นะ แล้วเราจะวางกฎวางการแก้ไขปรับเขาเหล่านั้นอย่างไร
 
– ใช้เวลานานไหมจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงนี้
 
ตั้งแต่เดือนเมษายนที่แล้วจนถึงปลายปี ก็ประมาณ 9 เดือนที่พยายามทำอย่างไรก็ได้ให้ดึงคน ตอนนั้นที่เข้ามาเพจ เราก็มีอยู่ประมาณ 4 พัน เจออะไรที่มันเป็นคำถามเรื่องลิขสิทธิ์หรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง เราก็พยายามเข้าไปตอบ ก็ดึงคนมาได้บ้าง จาก 4 พันขึ้นมาเป็นหนึ่งหมื่นช่วงปลายปี จนมาต้น พอมีกระแสคำว่า “ไม่น่ารักเลย” มันพีคมาเลย ตอนนี้อยู่ที่ 82,000 ยอดติดตาม ช่วงเวลาแค่ประมาณสักเดือน ขึ้นมา 5-6 หมื่นกว่าคน
 
แต่ว่ามันไม่ได้มีแผนอะไร เราไม่ใช่นักการตลาด เรารู้อย่างเดียวว่าเราเป็นข้าราชการ และเราเป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็เลยตอบแบบประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ตอนนี้ ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูเรื่องคอลล์เซ็นเตอร์ แม้ไม่เหมือนในเพจ แต่ก็จะพูดด้วยภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย เพราะการให้ข้อมูลประชาชน สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เขาเข้าใจได้ง่าย เมื่อก่อนต้องเตรียมโน่นนี่นั่น ภาษาราชการ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ข้อดีก็คือว่าเราเข้าถึงประชาชนได้เยอะขึ้น เราไม่ได้คำชม แต่เราอยากทำให้เขารู้สึกว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เขาอยากจะถามอยากจะคุย ก็กลับไปตอนแรกที่มีอะไรก็ไม่รู้แจ้งมา บัตรใบขับขี่ปลอมก็แจ้งมา พอเราบอกว่าให้ไปแจ้งที่โน่น ก็งอนเราอีก (หัวเราะ)
 
– อาจจะเพราะเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มีเยอะ
 
ส่วนหนึ่งด้วยครับ แต่ตรงนั้นแบบทางการเราก็ทำอยู่ เรามีทีม มีสายตรวจ มีสายสืบ แต่ที่เราทำตรงนี้บนโซเชียลมีเดีย เพราะเห็นว่ามันแพร่ไปได้ง่ายและเร็ว ปิดเพจหนึ่งไปเปิดแตกอีก 5-10 เพจ เขาก็ทำได้ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การไปปิดเพจ ปัญหามันอยู่ที่จิตสำนึกของคน ก็มีคนที่บอกอย่างนี้ เราก็ตอบอย่างนี้ไปตลอด ปิดสักกี่ล้านเพจ ถ้าคนมันไม่สำนึก ก็ยังมีอยู่ แต่เรามองอีกแง่หนึ่ง อย่างน้อยประชากรบ้านเรา 60-70 ล้านคน เชื่อว่า 8 หมื่นกว่าคนที่กดติดตามตอนนี้ อาจจะมีผิดใจกันบ้าง ถูกใจกันบ้าง แต่มันก็น่าจะไปด้วยกันได้ในมุมมอง
 
ถ้าแนวทางในการดำเนินการหรือการเข้าไปชาร์ตอะไรอย่างนี้ ตอนนี้มันได้รับผลที่ดี อย่างคนละเมิดเอง เขารู้ เขาก็ยอมลบให้ หรือบางทีบางคนติดต่อมาเพื่อให้เข้าไปเตือนเข้าไปบอก มันดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเขาไปทะเลาะกันเอง ฉะนั้น ถ้ามันเป็นแนวทางที่ดีก็ยังจะยินดีที่จะทำให้อยู่ อย่างรายการหนึ่ง เขาไปเอาภาพฟุตเทจของประชาชนทั่วไปมา ก็ให้ความรู้เข้าไป ก็ไปตาม เขาก็ยอมตกลงกันได้ เคลียร์กันได้ คือเราไม่มีสี ไม่มีอะไร เราทำทุกอย่างเป็นเส้นเดียวกัน
 
– ไม่ใช่แค่เขียนเสือให้วัวกลัวใช่ไหม
 
บอกแล้วครับ เสือจริงๆ อาจจะมองเป็นเสือกระดาษ คือเราไม่ได้มีอำนาจไปจับ แต่เราประสานให้ คือถ้ามองเป็นกระดาษ ก็อาจจะโดนกระดาษบาดได้ ไม่ได้วาดให้ดุ น่ากลัว คนถึงยอม ในตอนนี้ลดลงเยอะ
 
– ถึงขนานนามเราว่าบอสใช่ไหม
 
(หัวเราะ) บอสคำนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้านาย แต่มันมาจากคำในเกม “บอสมาแล้ว” มันดูแข็งแกร่ง ดุ ดูน่าเกรงขาม แต่ภาพเราก็ไม่ได้ทำให้ดุขนาดนั้น อย่าไรก็ตาม เราก็รู้สึกเป็นเกียรติ ดีใจมากๆ ที่คนรู้จักเราเยอะขึ้น มีฉายาให้เรามากขึ้น ใน Twitter ก็มีฉายาอื่นอีก เช่น เรียกเราว่า “กรมสิ่งประดิษฐ์มาร์คเกอร์” น่ารักมุ้งมิ้งมาก หรืออย่างที่เขาบอกว่า บอสมา ใครหักไม้ผี เวลาเราไป คนเขาก็มองว่ากรมไปช่วยเขาได้ เป็นตัวแท็งก์ในเกม ตีเราเถอะ อย่าไปตีกันเอง ลักษณะอย่างนี้มากกว่า แล้วมันก็เป็นเรื่องที่แปลกสำหรับตัวผมเองในภาพการเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่ เรามีแฟนอาร์ตเยอะมาก มีคนทำมาสคอตให้เรา เพจ “จ็อดแปดริ้ว” ก็วาดให้ และอีกเยอะ รวมแล้วก็น่าจะทำเป็นนิทรรศการได้ เพราะมีถึง 30-40 รูป
 
– ถ้าการดึงกรมลงมา ดึงข้าราชการให้เป็นเพื่อนกับประชาชน อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ส่วนตัวรู้สึกอย่างไรบ้าง
 
คือบางคนอาจจะคิดว่าทำไมทำอะไรให้ไม่มีความน่าชื่อถือเลย ก็ยังมีกลุ่มบางคนคิดว่าข้าราชการต้องดูจริงจังหน่อย ก็มีคอมเมนท์ที่เราเจอ แต่กระแสของคนที่เขาชอบ ก็ทำให้ได้รับรู้ว่ายังมีอีกด้านที่เขาชอบ เขาก็จะไปตอบแทนเราว่าเป็นอย่างนี้มันดีกว่าอย่างไร โดยส่วนตัวเชื่อว่าการที่เราเข้าถึงคนดีกว่า จากที่ไม่ขอบก็อาจจะเข้าใจกันมากขึ้น จากที่ชอบอยู่แล้วก็อาจจะเกลียดมากขึ้น (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้มันลดรูปการเป็นข้าราชการ เราทำทุกอย่าง ทำเพื่อประชาชน สุดท้ายคำตอบก็คือว่า ผลมันเป็นอย่างไร เราเปลี่ยนทั้งระบบไม่ได้ แต่หลายหน่วยงานจะเข้ามาปรึกษาอยากใช้แนวทางนี้ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ก็มีเข้ามาแล้วในส่วนของภาคกระทรวงเดียวกันเอง แต่อาจจะไม่ต้องมาสไตล์นี้หรอก ลองนึกภาพกระทรวงกลาโหมจะมาอย่างนี้ก็ไม่ได้ หรือกระทรวงสาธารณะสุขก็ไมได้ ของเขาก็ต้องจริงจัง แต่แค่ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้ง่าย เข้าใจข้อมูลได้ง่าย
 
ส่วนกรมนี้ข้อดีคือชื่อกับภารกิจ เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรกับคนที่ทำงานครีเอทีฟกับคนที่ทำงานสร้างสรรค์สไลต์อย่างนี้ แบบนี้ มันตอบโจทย์ชัดกว่า ข้อที่ควรใส่ใจคือทำให้เขาเข้าใจข้อมูลมากกว่า เป็นข้อที่เราใส่ใจมากที่สุด จากนิสัยตัวตนของเราส่วนหนึ่งที่เราก็เป็นคนชอบเทคแคร์คนอื่น เราใส่ใจคนอื่น เชื่อมาตลอดว่าถ้าวันหนึ่งเราได้มาเป็นข้าราชการ เราอยากจะเป็นข้าราชการที่ดี อยากจะให้กรมหรือหน่วยงานรัฐบ้านเมืองเราดีขึ้น ก็ภูมิใจที่ตอนนี้เรามีส่วนในการช่วยพัฒนา ตอนนี้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ใช่แค่พัฒนาให้เข้าถึงประชาชนแค่โซเชียลมีเดีย สาระความเป็นกรมเราก็ปรับเปลี่ยนให้เข้าใจประชาชน อย่างค่าธรรมเนียตอนนี้เราก็ยกเลิกโน่นนี่นั่นไปหลายอย่าง แล้วก็ลดเรื่องเอกสาร ทำระบบให้มันง่ายขึ้น มันไปทั้งหมดทั้งวง ไปเรื่อยๆ
 
เราอาจจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่มีเครื่องราช แต่ผู้ใหญ่เขาเห็น ตอนนี้หลายกรมก็ทำหนังสือเข้ามา อยากให้ไปช่วยบรรยาย ให้ช่วยเรื่องตรงนี้ ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ คือการให้บริการสำคัญที่สุด เพราะการเป็นราชการ ราชการ คือ “ข้า” เราก็ต้องบริการประชาชนอยู่แล้ว แล้วทำอย่างนี้ ประชาชนรู้สึกดี เราก็รู้สึกดี เราก็ยิ่งมีแรงในการที่จะทำ ไฟท์ทุกอย่างให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่านั้นเอง ตอบโจทย์แค่นี้เองครับ เพื่อประชาชน