กลุ่มกระทิงแดง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 20 May 2020 12:58:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดใจทายาทรุ่น 3 เเห่ง “อยู่วิทยา” นำทัพภารกิจ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ปรับวิถีชีวิตรับวิกฤต https://positioningmag.com/1279432 Wed, 20 May 2020 11:25:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279432 ครอบครัว “อยู่วิทยา” มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของไทย ที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.02 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 6.6 แสนล้านบาทจากการจัดอันดับของ Forbes ปี 2563 ตอบรับเข้าเข้าร่วม “ทีมไทยเเลนด์” หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทย เพื่อขอแนวทางความเห็นในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือประเทศสู้กับวิกฤต COVID-19

นำมาสู่การเปิดตัวโครงการ ‘พึ่งตน เพื่อชาติ’ ด้วยแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ มาร่วมช่วยคนไทยให้ได้ 1 ล้านคน เน้นสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “มีกินมีใช้” พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนเเม้จะเจอวิกฤต โดยในเฟสเเรกจะมีการทุ่มงบ 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกเพื่อสร้าง “100 ชุมชนต้นเเบบ”

ที่ผ่านมาครอบครัวอยู่วิทยาไม่ค่อยออกสื่อมากนัก เป็นโอกาสดีที่เราจะมาพูดคุยกับ “พรรณราย พหลโยธิน” ทายาทรุ่น 3 ที่ผู้ได้รับการมอบหมายให้เป็น “หัวเรือใหญ่” ในการขับเคลื่อนโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ครั้งนี้

พรรณราย หรือ “ผึ้ง” เป็นบุตรสาวของวิชาญ พหลโยธินและสายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา) เเม้ไม่ได้บริหารในธุรกิจหลักของครอบครัว อย่างกระทิงเเดงหรือสปอนเซอร์ เเต่มีความโดดเด่นด้าน “กิจกรรมเพื่อสังคม” ที่ทำมาต่อเนื่อง
ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ดูเเลหลักของ “พึ่งตน เพื่อชาติ”

-พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่น 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา

ในส่วนธุรกิจ พรรณรายดูเเลบริษัทยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีซี
ฟาร์มา-เคม จำกัด พร้อมเปิดกิจการร้านอาหาร The Mew (เขาใหญ่) เเละเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ฯ ดังกล่าวจะกลายเป็นสถานที่อบรมหลักของโครงการนี้

“เราระดมคนทั้งรุ่น 2 และรุ่น 3 ของตระกูลเข้ามาช่วยกันทำ ตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน โดยทายาทรุ่น 3 จะเป็นคนลงมือทำเพราะเป็นพวกคิดไวทำไว เก่งด้านเทคโนโลยี การออกแบบ ขณะที่ผู้ใหญ่รุ่น 2 จะนำประสบการณ์มาคอยให้คำแนะนำ ช่วงนี้กำลังอยู่ระหว่างการสรุปขั้นตอนสุดท้าย”

โดยหัวใจหลักของโครงการคือการพึ่งพากัน พรรณราย อธิบายว่า การแบ่งปันเป็นเสน่ห์ของคนไทยที่ปลูกฝังอยู่ใน DNA ของเราทุกคน ไม่ว่าประเทศจะเกิดวิกฤตร้ายแรงแค่ไหน คนไทยก็ไม่เคยทิ้งกัน เชื่อว่ายิ่งแบ่งปันยิ่งแลกเปลี่ยนมากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจชุมชนก็ยิ่งจะมั่นคงขึ้น เข้มเเข็งมากขึ้น

“เราเชื่อมั่นว่าแนวคิดและหลักปฏิบัติแบบเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และรับมือกับทุกวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

โดยโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ มีงบประมาณ 300 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปีแรก ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและการศึกษา เช่น สภาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ สนับสนุนด้านการเป็น
“พี่เลี้ยง” ให้กับคนที่มีเป้าหมายในชีวิตเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกทักษะวิธีการสร้างแหล่งอาหารเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว

“เป้าหมายตอนนี้คือการเน้นจัดอบรมให้ได้ 1000 คนเเรกภายใน 1ปี เตรียมเปิดรับสมัครในเดือนมิ.ย.นี้ เปิดรับทั้ง
กลุ่มคนเมืองและคนต่างจังหวัด ที่ต้องการจะเปลี่ยนแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ มีความตั้งใจจะเข้ามาเป็น “ทัพหน้า”
ขยายผลสู่ชุมชนทั่วประเทศ โดยระยะยาวเราวางเป้าว่าช่วยคนไทยให้ได้ 1 ล้านคน”

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่

เบื้องต้นจะมีการจัดอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา ที่จัดอบรมมาต่อเนื่องตั้งเเต่ปี 2558 เเต่จะมีการเพิ่มหลักสูตรให้นำไปปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะกับแต่ละบุคคลมากขึ้น เริ่มจากการเปลี่ยนหลักคิดสู่ “การพึ่งตนเอง” จากการทำความรู้จักอาหารที่เรากิน การเพาะปลูก การแปรรูป การฟื้นฟูดิน การจัดการน้ำไปจนถึงภาพความสัมพันธ์ในระดับลุ่มน้ำ เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ พื้นฐานการดำรงชีวิต การดูแลสุขภาพไปจนถึงศิลปะวัฒนธรรม พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างผลิตภัณฑ์เป็นความพอเพียงแบบร่วมสมัย ฯลฯ

“ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมเเล้ว รอสถานการณ์ดีขึ้น เราจะกระจายลงพื้นที่ชุมชน การอบรมจะอยู่ในช่วง 5-10 วันเพื่อ
สร้างงานสร้างอาชีพ ให้กลับไปพึ่งพาตนเองได้ ใครที่ไม่มีที่ดิน เราก็มีที่ดินของเราให้คนที่อยากทำจริงๆ ได้ทดลองทำ นอกจากนี้จะมีการทำเเพลตฟอร์มเก็บข้อมูล ให้เป็นฐานข้อมูลส่งต่อในระยะยาวด้วย”

ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งตระกูลอยู่วิทยา มองความท้าทายของโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ไว้ว่า ด้วยความที่เป็นเเผนระยะยาว เป็นโครงการเปลี่ยนกระบวนการความคิดของคน จำเป็นต้องใช้เวลาเเละไม่อาจเห็นผลได้ในชั่วพริบตา เราจึงพยายามต่อยอดสิ่งที่เราทำมาอยู่เเล้ว ให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ดังนั้นความท้าทายจึงเป็นการที่ต้องอดทน ก้าวไปทีละขั้น ทำทุกอย่างจากเล็กไปสู่ใหญ่ เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป

บรรยากาศการอบรมในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา

ขณะที่ ‘พึ่งตน เพื่อชาติ’ ถูกวางเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาหลายปี เเต่คนในสังคมกำลังต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนในยามวิกฤต

“พรรณราย” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวก็มีการออกโครงการช่วยเหลือระยะสั้น อย่างการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และบริจาคเงินให้แก่สถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความต้องการทั่วประเทศ รวมมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท และยังได้บริจาคอาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพ แอลกอฮอล์เจล และหน้ากากผ้าให้แก่ชุมชนต่างๆ ตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็ได้ดูแลสวัสดิภาพของกลุ่มพนักงานบริษัท พนักงานขายและพนักงานโรงงานควบคู่กันไปด้วย

“ช่วงต่อไปหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เราจะมีการจัดห้องเรียนออนไลน์ เน้นการสอนให้พึ่งตนเองฉบับคนเมือง เช่นการปลูกผัก 3 วันได้กิน ปุ๋ยหมักน้ำหมัก องค์ความรู้การเกษตรที่ทำได้ง่าย”

บรรยากาศการอบรม ในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา

เมื่อถามถึงการเเพร่ระบาดของ COVID19 ว่ากระทบต่อธุรกิจของตระกูลอยู่วิทยาอย่างไร เธอตอบว่า ได้รับผลกระทบอย่างเเน่นอน เเต่มีการปรับตัวเเละพยายามรักษาพนักงานไว้ให้มากที่สุด โดยส่วนที่เธอดูอยู่ที่เป็นบริษัทยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพนั้น ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงช่วงเเรกที่มีการชะลอการสั่งซื้อเท่านั้น เเต่ตอนนี้ยอดกลับมาปกติเเล้ว เเละมีเเนวโน้มจะขยายตัวขึ้น เพราะคนตื่นตัวในการรักษาสุขภาพมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารที่เขาใหญ่ ได้รับผลกระทบโดยตรง มีการทดลองจัดส่งเเบบเดลิเวอรี่เเต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว โดยได้จัดให้พนักงานเข้าอบรมกับศูนย์เรียนรู้ฯ ในช่วงที่ร้านยังเปิดไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง จึงต้องมีการปรับปรุงร้านใหม่ให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)

“ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหาร มองว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่สุดตอนนี้ ร้านอาหารต้อง
ปรับตัวในทุกด้าน เพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้า เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นคนไทยจะกลับมาเที่ยวในประเทศอีกครั้ง ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม”

เมื่อถามว่ามุมมองการทำ CSR ขององค์กรจะเป็นอย่างไรเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเเบบ New Normal
ทายาทอยู่วิทยา ตอบว่าจะเป็นเเนวเฉพาะทางหรือเฉพาะกลุ่มคนมากขึ้น กลับมาให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง
เเละช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีความยั่งยืน ความมั่นคง ไม่ว่าจะเจอวิกฤตใดก็ตาม จะมีโอกาสรอดได้มากขึ้น เเบรนด์
ต่างๆ ก็คงจะหันมาสนับสนุนด้านการเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อการใชีชีวิตมากขึ้น

“กระบวนการที่จะไปเปลี่ยนความคิดคน ให้มองเห็นค่าของการพึ่งพาตนเอง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย
เเม้จะเป็นเรื่องที่ต้องทำระยะยาว เเต่ถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะเริ่มต้น ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความ
ยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป”

 

]]>
1279432
DKSH ต้องเตรียมรับมือ! “เดอเบล” ดิสทริบิวเตอร์ภายใต้เครือ “กระทิงแดง” ประกาศ 3 ปีจะแซงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มสินค้า FMCG https://positioningmag.com/1229865 Tue, 14 May 2019 13:59:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1229865 ภายใต้ตลาดโลจิสติกส์ไม่ได้มีแค่การส่งพัสดุเท่านั้น ที่แข่งขันอย่างดุเดือดชนิดไม่มีใครยอมใคร หากยังมีอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่แข่งรุนแรงไม่แพ้กัน นั้นคือดิสทริบิวเตอร์หรือตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญตัวหนึ่งสำหรับการทำธุรกิจ ด้วยเป็นขั้นตอนที่นำสินค้ากระจายไปร้านค้าต่างๆ

หลายบริษัทเลือกที่จะกระจายสินค้าเอง เช่น สหพัฒน์ หรือซีพี แต่ก็มีอีกหลายบริษัทที่มองว่าไม่คุ้มที่จะทำเอง จึงไปจ้างบริษัทอื่นที่เชี่ยวชาญมากกว่า ซึ่งแม้ไม่มีตัวเลขสำรวจที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ามีรวมๆ กี่ราย แต่ที่แน่ๆ ในดิสทริบิวเตอร์กลุ่มสินค้า FMCG มีขาใหญ่อยู่ 3 รายหลักๆ คือ DKSH ที่ใหญ่สุด ส่วนเบอร์รองลงมายังเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง เดอเบล และ ซีโนแปซิฟิค เทรดดิ้ง

แต่ดูเหมือนว่าตำแหน่งของ DKSH อาจสั่นคลอนขึ้นมาแล้ว เพราะเดอเบลซึ่งเป็นดิสทริบิวเตอร์ภายใต้เครือกระทิงแดง หรือชื่ออย่างเป็นทางการ เครือ TCP ประกาศจะใช้เวลาอีก 3 ปี ในการแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 1

สาเหตุหลักที่ทำให้เดอเบลลุกขึ้นมาขยับตัวครั้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้เครือ TCP ได้ตั้งเป้าหมายผลักดันยอดขายให้โตขึ้น 3 เท่า เป็น 100,000 ล้านบาทในปี 2022 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของธุรกิจภายใต้ทั้ง ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, ผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่าย

บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ และ บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ต้องลุกขยับตัวทำให้เป้าหมายเป็นจริง

สุรชัย จงเลิศวราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอเบล จำกัด กล่าวว่า

ดิสทริบิวเตอร์สินค้า FMCG แข่งขันที่คนและ Facility โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่จะต้องนำสินค้าไปส่งถูกที่ ถูกเวลา และในจำนวนที่ถูกต้อง

แม้เดอเบลจะมีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งจำนวนร้านค้าปลีกที่ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 140,000 ร้านค้า, ศูนย์กระจายสินค้าหลัก 1 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้ารายย่อยอีก 23 แห่งกระจายตัวตามจังหวัดต่างๆ สามารถใช้เวลาเพียง 2 วันในการนำสินค้าเข้าสู่ร้านค้า

รถขนส่งสินค้ากว่า 300 คัน และทีมรถขาย 600 ทีม พร้อมพนักงานขายและทีมงานสนับสนุนอีก 2,200 คน และที่สำคัญประสบการณ์ในการเป็นดิสทริบิวเตอร์ให้กับสินค้าอื่นๆ ทั้ง โอวัลติน แบรนด์ เจเล่ เมจิกฟาร์ม เบนโตะ กาแฟเพรียว โกปิโก้ ขนมเบง เบง เครื่องดื่มบริ๊งค์ และวิตอะเดย์ ฯลฯ เป็นต้น

แต่จากเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาทภายในปี 2022 ส่วนปีนี้คาดมีรายได้ 20,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้านี้มีรายได้ราว 17,000 ล้านบาท และต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้านอกกลุ่ม TCP เป็น 60% จากเดิมมีอยู่ 40% จึงพบว่าสิ่งที่เดอเบลมีอยู่ไม่เพียงพอ

เพราะปัจจัยที่จะส่งผลสำเร็จประกอบไปด้วย 3 ข้อ ได้แก่. 1.กำลังพลและทรัพยากรต่างๆ โดยเป็นร้านค้าหรือช่องทางที่ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค, 2.การบริการครบวงจร ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระกระจายสินค้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ 3.ฐานลูกค้าและช่องทางขายที่ครอบคลุม

จากการสำรวจของนีลเส็น ระบุ ร้านค้าโชห่วยในเมืองไทยมีอยู่ 3.4 แสนร้านค้า ซึ่งจากจำนวนที่เดอเบลมีอยู่ยังสามารถขยายได้อีกมาก จึงเป็นที่มาของการประกาศใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ถือเป็นการใช้งบลงทุนที่มากที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 17 ปี เพื่อพัฒนาใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.การลงทุนด้านเทคโนโลยีทั้งในด้านการขาย ด้านข้อมูลการตลาด ด้านโลจิสติกส์ และคลังสินค้าเพื่อให้การบริการกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ใช้งบ 400 ล้านบาท

2.การขยายสาขาเพิ่มศูนย์กระจายสินค้า โดยจะเป็นศูนย์ใหญ่ 1 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างหาพื้นที่ และศูนย์ย่อยอีก 5 แห่ง ใช้งบ 900 – 1,000 ล้านบาท กับเพิ่มทีมขายอีก 400 คน เพื่อรองรับจำนวนคู่ค้าและประเภทสินค้าที่จะหลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมบริหารและพัฒนาศักยภาพการขายให้กับทีมงาน ใช้เงินอีก 200 ล้านบาท

3.เปิดช่องทางการขายใหม่ ทั้งออนไลน์ซึ่งเป็นได้ทั้งการทำเว็บเอง กับไปร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ และออฟไลน์ตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญ หรือ Vending Machine เพื่อให้ครอบคลุมร้านค้า และเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างรวมถึงขยายไปต่างประเทศ

สุรชัยอธิบายเรื่องจำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญเพิ่มเติมว่า เดิมอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ที.จี. เวนดิ้ง ซึ่งมีอยู่ราว 1,500 ตู้ หลักๆ เป็นตู้เครื่องดื่มที่ดั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันดูแลร่วมกันเพราะเห็นว่า ตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญกำลังเป็นอาวุธใหม่ของธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและน่าสนใจเป็นอย่างมาก

เพราะเดิมตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญมักจะจำหน่ายในพื้นที่ปิด เช่นโรงงาน โรงเรียน สถานที่ที่คนไม่สามารถออกไปซื้อสินค้าข้างนอกได้ แต่ทุกวันนี้มีคนที่สนใจจะทำธุรกิจค้าปลีกกันมาก

แต่มักจะติดข้อจำกัดสำคัญด้านเงินลงทุนราคาที่ดินที่สูง และการขาดแคลนแรงงานที่จะขายของและเฝ้าร้าน ดังนั้นตู้จำหน่ายสินค้าจะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการจะค้าขายดังกล่าว

เดอเบลจึงพร้อมลุยธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เปิดเผยว่าจำนวนตู้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเท่าไหร่ และถูกนำไปวางยังที่ใดบ้าง เพราะยังอยู่ในระหว่างการวางแผนธุรกิจ

]]>
1229865
ปรับเกมสู้ศึก ! กลุ่มกระทิงแดงฮึด เปิดแผน 5 ปี ควัก “หมื่นล้าน” ลงทุนหนักในรอบ 61 ปี ปั๊มรายได้แสนล้าน https://positioningmag.com/1134888 Wed, 02 Aug 2017 18:54:15 +0000 http://positioningmag.com/?p=1134888 นับเป็นการเปิดเกมรุกครั้งใหญ่ในรอบ 61 ปีของ “กระทิงแดง” หลังจากเน้นทำธุรกิจแบบ “โลว์ โปรไฟล์” มาตลอด แต่ด้วยเกมการแข่งขันอันเข้มข้น จากทั้งแบรนด์ในแบรนด์นอก และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ได้เวลาที่ตระกูล อยู่วิทยา ต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาด พร้อมกับควักเงินลงทุนก้อนใหญ่ ในการบุกขยายไปต่างประเทศ เพื่อผลักดันธุรกิจให้โตไปอีกขั้น ภายในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้

กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลังภายใต้บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ที่ก่อตั้งโดย “เฉลียว อยู่วิทยา” ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหาร โดยมี สราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม TCP

ภายใต้ธุรกิจกลุ่ม TCP ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารบริษัทอื่นๆ และแบรนด์ในเครืออีกมากมาย ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตสินค้าของกลุ่มกระทิงแดง 2. บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด รับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกระทิงแดง 3. บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด บริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และ 4. บริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ

จากแบรนด์กระทิงแดงที่เป็นพระเอกหลัก ได้ถูกขยายทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มตามเทรนด์ของผู้บริโภค ปัจจุบันมีแบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก 6 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์ คือ 1. เครื่องดื่มชูกำลัง คือ กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ 2. เครื่องดื่มเกลือแร่ คือ สปอนเซอร์ 3. เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ คือ แมนซั่ม 4. เครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ 5. เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และ 6. หัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม

เมื่อพอร์ตสินค้ามีครบแต่การแข่งขันก็นับวันก็ยิ่งดุเดือดขึ้น ถือเป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือ เพราะตลาดในประเทศเองก็เน้นทำโปรโมชั่นลดราคา ตัดราคากัน ทำให้องค์กรต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ต้องคิดไปทำไป อยู่เฉยไม่ได้ ได้เวลาที่กลุ่ม TCP จึงต้องเปิดเกมรุกบุกตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยจะได้ทุ่มงบ 10,000 ล้านบาท เปิดแผนการลงทุนใน 5 ปี (พ.ศ. 2560-2565) ถือเป็นการลงทุนใหญ่สุดในรอบ 61 ปีนับตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

ไฮไลต์การลงทุนในเม็ดเงินจำนวนหมื่นล้านนั้นมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1. เพิ่มฐานที่ตั้งสำนักงาน และโรงงานในต่างประเทศ เพื่อทำตลาดอย่างเต็มที่ 2. ขยายกำลังการผลิต และพัฒนาสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น และ 3. การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “การลงทุนหมื่นล้านในช่วง 5 ปีนี้ ถือเป็นงบลงทุนสูงที่สุดในรอบ 61 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมา จากปกติลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท การลงทุนจะเน้นใน 3 ส่วน เรื่องการบริหาร พัฒนาสินค้า และการตั้งสำนักงานในต่างประเทศ จะเน้นลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเพื่อขยายตลาดสร้างการเติบโต มีเป้าหมายมีรายได้ 100,000 ล้านบาทใน 5 ปีให้ได้”

อัพทีมบริหาร-ดึงมืออาชีพเข้าองค์กร

ขณะเดียวกันแผนลงทุนระยะยาว 5 ปีของกลุ่ม TCP จะให้น้ำหนักกับการ พัฒนาบุคลากร โดยการทุ่มเม็ดเงินในการลงทุนด้านนี้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเชิงการจัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรตั้งแต่ระดับพนักงาน ปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร เพื่อให้มีความแข็งแกร่ง และเข้าใจธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้เปิดรับทีมงานใหม่ๆ ที่เป็นมืออาชีพเพื่อมาเป็นทีมบริหาร ส่วนใหญ่มาจากสายอุปโภคบริโภค และสายเครื่องดื่มจากบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรเพื่อใช้ในการบริหารงานในต่างประเทศได้

ขยายกำลังการผลิต-เติมพอร์ตสินค้า

หัวใจสำคัญของธุรกิจอีกอย่างหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของสินค้าที่จะเข้าถึงผู้บริโภค สราวุฒิมองว่า จาก 6 กลุ่มสินค้าที่กลุ่ม TCP มีอยู่ตอนนี้เป็นสินค้าที่ยังมีการเติบโตอีกมาก เป็นเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค และก็ยังคงโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เน้น 3 กลุ่มหลักเป็นพระเอก ก็คือ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ และฟังก์ชันนัลดริ้งก์

ในอนาคตจะมีพัฒนาสินค้าสูตใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ หรืออาจจะแตกกลุ่มใหม่ๆ ตามทิศทางของผู้บริโภค โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาได้ใช้งบวิจัยและพัฒนาสินค้า 30 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ได้มีสินค้าใหม่ออกมาแล้วกว่า 9 รายการ

รวมถึงมีการลงทุนด้านโรงงานเพิ่ม เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงาน เพราะปัจจุบันมีกำลังการผลิตในอัตรา 80-90% แล้ว จากจำนวนโรงงานที่อยู่ในประเทศไทย 2 แห่ง และที่ต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน มีกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี ตั้งเป้าว่าจะลงทุนโรงงานในไทยอีก 1 แห่ง เพื่อเป็นฐานในการผลิตเป็นหลัก

ตั้งออฟฟิศในต่างแดน ล้วงลึกความต้องการผู้บริโภค

สราวุฒิเล่าว่า แผนที่วางไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ จะมีเปิดสำนักงานใหม่ และโรงงานใหม่อย่างน้อยปีละ 1 แห่ง แต่กำลังศึกษาอยู่ว่าประเทศไหนจะมีความพร้อมมากที่สุด โดยที่มีเป้าหมายที่จะทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็น “เฮ้าส์ออฟแบรนด์” มีสินค้าในเครือครบทุกกลุ่ม

สาเหตุที่ต้องตั้งสำนักงานในต่างประเทศนั้น เพื่อเป็นการศึกษาความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลึกซึ้งขึ้น โดยที่จะผลิตสินค้ากลางๆ แล้วจำหน่ายทุกประเทศไม่ได้อีกแล้ว เพราะพฤติกรรมแตกต่างกัน ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียด้วยแล้ว รวมทั้งยังสามารถทำการตลาดได้เต็มที่อีกด้วย จากเดิมที่ทำการตลาดร่วมกับพาร์ตเนอร์

ปั๊มรายได้แสนล้าน ส่งออกเพิ่มเป็น 80%

จากแผนที่วางไว้ใน 5 ปีของกลุ่ม TCP นี้ ได้ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทในปี 2565 จากปัจจุบันที่ตั้งเป้ามีรายได้ 30,000 ล้านบาท (สิ้นปี 2560) มีการเติบโต 8% สัดส่วนรายได้กลุ่มใหญ่ยังเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง 68% เครื่องดื่มเกลือแร่ 20% และอื่นๆ 12%

ส่วนรายได้จากในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 40% และรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 60% ปัจจุบันมีจำหน่ายใน 170 ประเทศทั่วโลกโซนที่มีความสำคัญก็คือโซนอาเซียน มีรายได้เกิน 50% ซึ่งตลาดอาเซียนยังมีการเติบโตได้อีกในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะมีกลุ่มของประชากรที่มีอายุน้อยอยู่มาก คนกลุ่มนี้แอคทีฟ ใช้พลังงานสูง นิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2565 ด้วย

ในตลาดยุโรปได้มีอีกบริษัทในการบริหาร คือ บริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช ในประเทศออสเตรีย เป็นตัวแทนนำสินค้าเรดบูลจำหน่ายในตลาดยุโรป บริษัทนี้ครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้น 51% และนักธุรกิจชาวออสเตรียที่เป็นพาร์ตเนอร์ถือหุ้น 49%

ส่วนตลาดในประเทศจีนที่ได้ทำตลาดมา 20 ปี ตอนนี้ได้ทำการหยุดชะงักชั่วคราว เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อของการเจรจาธุรกิจ เพราะเพิ่งหมดสัญญากับพาร์ตเนอร์รายเก่า โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน






]]>
1134888