กลุ่มศรีตรัง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 09 Dec 2020 13:58:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ยิ่งมีวัคซีนยิ่งต้องใช้ “ถุงมือยาง” ศรีตรังทุ่ม 4.8 หมื่นล้านเพิ่มกำลังผลิตแย่งตลาดมาเลย์ https://positioningmag.com/1309820 Wed, 09 Dec 2020 10:59:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309820
  • สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยเปิดตัวเลขความต้องการ “ถุงมือยาง” ทั่วโลกปี 2563 โต 20% ปี 2564 โตต่อไม่ต่ำกว่า 10% ประเมินความสำเร็จของวัคซีน COVID-19 ไม่ใช่ปัจจัยลบ และอาจเป็นปัจจัยบวกเพราะต้องใช้ถุงมือยางเพิ่มในการฉีดวัคซีน
  • วางเป้าพาประเทศไทยชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มจาก 13% เป็น 20% ภายใน 5 ปี วอนรัฐสนับสนุนที่ตั้งโรงงาน-แหล่งเงินทุน
  • รายใหญ่ของไทย “ศรีตรัง” ชี้ตลาดยังอยู่ในภาวะ “โอเวอร์ดีมานด์” ราคาเติบโตจากปีก่อน 300% วางแผนลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาทเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 เริ่มปีแรก 2564 ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เปิด 4 โรงงานใหม่ภาคใต้
  • “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดโลกปี 2563 อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) พบว่า ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น 20% จากปีก่อน หรือเท่ากับ 3.6 แสนล้านชิ้นต่อปี เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 และคาดว่าปี 2564 ความต้องการจะยังโตต่อเนื่องอย่างน้อย 10% หรือเท่ากับ 3.9 แสนล้านชิ้นต่อปี

    แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ประสบผลสำเร็จ แต่วีรสิทธิ์มองว่า ไม่น่าจะทำให้ดีมานด์การใช้ถุงมือยางลดลง และอาจเป็นผลบวกให้ความต้องการยิ่งสูงขึ้นด้วย เพราะการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกต้องใช้ถุงมือยาง ดังนั้น ตลาดน่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

    ชิงจังหวะพาถุงมือยางไทยตีตลาดจากมาเลย์

    สำหรับศักยภาพของประเทศไทย ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยาง 19 ราย มีกำลังผลิตรวมกันในกลุ่มนี้ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 13% เป็นอันดับ 2 ของตลาด ขณะที่อันดับ 1 ของโลกคือ “มาเลเซีย” มีส่วนแบ่งสูงถึง 62%

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า สมาคมฯ มีเป้าที่จะผลักดันให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มเป็น 20% ภายใน 5 ปี และเป็น 40% ภายใน 10 ปี เป้าหมายนี้นับเป็น “งานหนัก” เพราะเจ้าตลาดคือมาเลย์มีความแข็งแรงมาก และคู่แข่งอีก 3 ประเทศคือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนามก็ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเช่นกัน

    “สิ่งที่ต้องพัฒนาหลักๆ คือหนึ่ง ไทยต้องตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางได้ง่ายกว่านี้ ปัจจุบันการตั้งโรงงานจะติดล็อกผังเมืองไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม ขณะที่จีนกับเวียดนามการเปิดโรงงานใหม่ง่ายมากๆ สองคือ อุตสาหกรรมถุงมือยางเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้” วีรสิทธิ์กล่าว

    โดยเขาระบุว่าภาครัฐควรจะให้ความสำคัญและผลักดันอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยมากขึ้น เพราะมีโอกาสเป็น “โปรดักต์ แชมเปี้ยน” ของประเทศ ด้วยศักยภาพประเทศไทยมีทั้งผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญ เป็นแหล่งน้ำยางธรรมชาติ และตลาดโลกมีดีมานด์เติบโต แม้จะพ้นอานิสงส์ COVID-19 เชื่อว่าจะยังโตต่อได้เพราะเทรนด์ธุรกิจการแพทย์กำลังเป็นขาขึ้น โดยช่วงปี 2560-62 ตลาดนี้เติบโตเฉลี่ย 8-12% ต่อปีอยู่แล้ว

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า ด้วยความยากในการตั้งโรงงานใหม่ ทำให้ปีนี้กำลังผลิตถุงมือยางไทยน่าจะยังคงอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปีเท่าเดิม แต่ข้อมูลจาก กรมศุลกากร ชี้ให้เห็นว่าถุงมือยางกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทวีมูลค่าแม้จะไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้ จากมูลค่าการส่งออกถุงมือยางปี 2562 อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ปี 2563 เฉพาะช่วง 10 เดือนแรกมีการส่งออกไปแล้วถึง 5.4 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

     

    ตลาดสดใส ราคาถุงมือยางพุ่งทะยาน 300%

    ด้าน บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT บริษัทที่เพิ่งเปิด IPO ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กำลังรับทรัพย์อู้ฟู่จากกระแสความต้องการเหล่านี้ โดยปัจจุบันศรีตรังมีส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางโลกอยู่ 6-7% และส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางไทย 80% เป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

    “ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์” ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน STGT กล่าวว่า ปัจจุบันถุงมือยางไม่ใช่แค่ “ไม่เพียงพอ” เท่านั้น แต่อยู่ในระดับที่ “ขาดแคลนรุนแรง” ซึ่งทำให้ตลาดมีลักษณะเป็นตลาดของผู้ขายอย่างชัดเจน ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2563 ราคาถุงมือยางปรับขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 300% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ราคามีการปรับขึ้นสูงยิ่งกว่าช่วงครึ่งปีแรก

     

    เพิ่มกำลังผลิต เป้าหมายอนาคต 1 แสนล้านชิ้น

    “จริญญา จิโรจน์กุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT กล่าวว่า ด้วยกระแสความต้องการทั้งจาก COVID-19 และเทรนด์ธุรกิจการแพทย์ ทำให้ศรีตรังเชื่อว่าตลาดจะมีดีมานด์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายการลงทุนรวม 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อตั้งโรงงานใหม่ ขยายกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ 3.3 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสแรกเริ่มลงทุนแล้ว 4 โรงงาน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง และ อ.สะเดา จ.สงขลา 2 แห่ง ทั้งหมดจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2564 ส่งให้กำลังผลิตของศรีตรังปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสต่อไปจะใช้เงินลงทุนอีกราว 1.0-1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานอีก 3 แห่ง แบ่งเป็นใน จ.ชุมพร 1 แห่ง และ จ.ตรัง 2 แห่ง กำหนดการสร้างเสร็จภายในปี 2566 และจะทำให้ศรีตรังมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 6.5 หมื่นชิ้นต่อปี หรือเกือบเท่าตัวของปัจจุบัน

    การเร่งเพิ่มกำลังผลิตเหล่านี้ ธนวรรณเสริมว่า บริษัทประเมินว่าจะไม่โอเวอร์ซัพพลาย โดยปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชากรน่าจะเป็นบวกกับบริษัท และคาดว่าจะเป็นบวกยาวไปถึงปี 2565 ด้วย เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องรอคิวการผลิตวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดให้ประชากรได้จริงช่วงปลายปี 2564 และจะทยอยฉีดต่อเนื่องไปถึงปี 2565

    ส่วนหลังจากนั้นตลาดจะเป็นอย่างไร จริญญากล่าวว่า ศรีตรังจับตามองอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะเกิด New Normal ในการใช้ชีวิตประจำวัน การให้บริการต่างๆ ระมัดระวังเรื่องความสะอาดขึ้น เหมือนเช่นปัจจุบันที่การใช้ถุงมือยางไม่จำกัดเฉพาะแวดวงการแพทย์ แต่นำไปใช้ในธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร การบิน โรงแรม งานบริการ และอาจจะยังคงเดิมแม้โรค COVID-19 สามารถควบคุมได้แล้ว

    ]]>
    1309820