การแต่งงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 07 Mar 2018 07:25:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รายได้กับความรัก https://positioningmag.com/1154539 Thu, 25 Jan 2018 23:15:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1154539 บทความโดย : อิษณาติ วุฒิธนากุล

เห็นช่วงนี้ข่าวดาราคู่หนึ่งที่เลิกกันเพราะสินสอด 70-80 ล้านกำลังดัง และอีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนแห่งความรักกันแล้ว เลยอยากขอนอกเรื่องธุรกิจมาพูดเรื่องเกี่ยวกับความรักให้เข้ากับบรรยากาศวันวาเลนไทน์กับข่าวช่วงนี้กับเขาบ้างดีกว่า จริงๆ สิ่งที่จะเขียนไม่เชิงเป็นรายได้กับความรักสักเท่าไหร่ น่าจะใกล้เคียงกับรายได้กับการสร้างครอบครัวซะมากกว่าครับ

หากพูดว่าการแต่งงานสร้างครอบครัวมีผลกับเศรษฐกิจโดยตรงก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ้าไม่แต่งงาน ก็ไม่มีลูก เมื่อไม่มีลูกจำนวนประชากรก็จะลดลง เมื่อประชากรลดน้อยลง แรงงานและผลผลิตก็ลดลงตาม การบริโภคก็ต่ำลง ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ก็ลดลง แน่นอนครับเศรษฐกิจจึงมีความเสี่ยงที่จะหดตัวลงเช่นกัน ดังนั้นไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมรัฐบาลในหลายๆประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือกระทั่งไทยเราเอง ถึงพยายามกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกกันมากขึ้น

แต่ถ้าเราดูข้อมูลจะพบกว่านโยบายที่กระตุ้นให้คนมีลูกส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่นะครับ อัตราเกิดในหลายประเทศก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น (ยกเว้นบางประเทศเช่น ฝรั่งเศส โดยมีที่มีสิ่งที่เรียกว่าแพคซ์ PACS ซึ่งทำให้อัตราเกิดเป็นบวกขึ้นมาได้อีกครั้ง โดย PACS เป็นสัญญารูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การแต่งงานแต่ได้ผลประโยชน์หลายอย่างคล้ายการแต่งงาน และมีความยุ่งยากซับซ้อนน้อยกว่าเยอะมากหากอยากเลิกสัญญานี้)

คำถามคือทำไมในปัจุบันหลายคนถึงเลือกที่จะไม่แต่งงาน ไม่มีลูกกันล่ะครับ? จริงๆ ถ้าให้ทายเหตุผลก็คงเดากันไม่ยาก เพราะชื่อบทความก็บอกไว้อยู่แล้วนะครับว่าคือรายได้

หลายท่านอาจคิดว่ารายได้ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้หลายคนในปัจจุบันเลือกที่จะไม่แต่งงานมีครอบครัว งั้นจริงๆ แล้วรายได้สำคัญแค่ไหนกับการมีบุตร มีครอบครัวครับ? ถ้าเราดูตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่านำเราอยู่ในหลายๆ ด้าน รวมถึงอัตราการเกิดที่ต่ำก็คงไม่ปฏิเสธกันไม่ได้นะครับว่ายังไงก็แล้วแต่ รายได้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ขนาดผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหลายๆ คนเลือกที่จะไม่มีลูก หรือเลือกที่จะมีจำนวนบุตรน้อยกว่าที่ตั้งใจเอาไว้ในตอนแรก

Source: the “14th Japanese National Fertility Survey (Survey on Married Couples),” National Institute of Population and Social Security Research (2010)

เราถอยหลังกันมาสักนิดนะครับ ก่อนจะมองเรื่องมีบุตร เรามามองเรื่องการแต่งงานกันก่อนดีกว่าครับ ว่าทำไมหลายคนถึงไม่แต่งงานหรือไม่สามารถแต่งงานได้ จริงๆ แล้วผลสำรวจด้านล่างมันค่อนข้างโหดร้ายกับผู้ชายอย่างเราๆ เอามากๆ นะครับ เพราะมันชี้ชัดว่ารายได้ของเราแทบจะแปรผันตรงกับโนวแน้มที่เราจะได้แต่งงาน เรียกว่าผลกระทบมันชัดเจนมากจนทำให้ต้องนึกถึงประโยคที่คนชอบพูดกันว่า “No money, no honey” คงไม่ใช่แค่คำพูด เพราะชีวิตจริงก็ดูเหมือนจะป็นแบบนี้จริงๆ…

Source: Toshihiko, M. (2016, December 28). 正視に耐えない残酷な現実(男性の年収と未婚率).
Retrieved from http://president.jp/articles/-/20926?page=2

ในปี 2012 ผู้ชายญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 ปีราว 30% ไม่ได้แต่งงานนะครับ ซึ่งถ้าเอาจำนวนคนที่ไม่ได้แต่งงานมาแบ่งดูตามรายได้จะพบว่า เกือบ 60% ของคนที่ไม่ได้แต่งงานคือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุดของคนช่วงอายุนี้ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านเยนหรือ 3 แสนบาทต่อปี (เพื่อความง่ายเอาอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 100 เยน = 30 บาทนะครับ) จริงอยู่ว่ารายได้ต่อเดือนของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 25,000 บาท ซึ่งอาจจะเพียงพอสำหรับบ้านเรา แต่ในญี่ปุ่นแล้วนี่เรียกว่าแทบจะใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลยนะครับ อย่าลืมนะครับว่า Cost of living หรือค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นสูงกว่าไทยอยู่ที่ราวๆ 68% (Source: numbeo.com)

หากรายได้ 1 ล้านเยนต่อปีไม่เพียงพอกับการที่จะหาเจ้าสาวให้กับตัวเอง แล้วรายได้เท่าไหร่ถึงเพียงพอครับ? แน่นอนครับว่าคำถามนี้คงต้องให้ทางฝั่งผู้หญิงเป็นคนตอบ

Source: Yasuda, M. (2013), Marriage and Childbirth in 2013. Retrieved from: http://www.myilw.co.jp/research/report/pdf/myilw_report_2013_02.pdf

ซึ่งผลสำรวจในปี 2013 พบว่าเกือบ 90% ของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นในช่วงวัย 30 ต้องการแต่งงานกับชายที่มีรายได้อย่างน้อย ย้ำนะครับว่าอย่างน้อย 3 ล้านเยนหรือราว 9 แสนบาทต่อปีขึ้นไป แต่จริงๆ แล้วเกือบ 70% ต้องการแต่งงานกับชายที่มีรายได้มากกว่า 4 ล้านเยนหรือราว 1.2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปนะครับ คิดง่ายๆ คือชายที่จะแต่งงานด้วยต้องมีรายได้อย่างน้อยเดือนละ 1 แสนบาทขึ้นไป

ปัญหาคือมีผู้ชายในวัยช่วงนั้นแค่ครึ่งเดียวที่มีรายได้มากกว่าสามล้านเยนต่อปี เลยไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมพอล่วงเข้าวัยช่วงอายุ 40 แล้วถึงยังมีผู้ชายญี่ปุ่นถึง 1 ใน 3 ที่ไม่แต่งาน เอ…หรือจะพูดว่าไม่สามารถแต่งงานได้ดีครับ ใครเคยบอกว่าเกิดเป็นผู้ชายนั้นแสนง่ายครับ จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนที่หลายๆ ท่านเคยคิดแล้วก็ได้นะครับ

ว่าแต่ของไทยเราหละครับ คุณผู้หญิงคิดว่าคนที่จะแต่งงานด้วยต้องมีรายได้ต่อปี ต่อเดือน สักเท่าไหร่ดีครับ? ถ้ามาตราฐานหญิงไทยเราคล้ายกับผู้หญิงชาวญี่ปุ่น โดยถ้าเทียบกับค่าครองชีพและคิดเลขแบบง่ายๆ ก็จะแปลว่าชายไทยที่หญิงไทยเราอยากแต่งงานด้วยจะต้องมีรายได้ราวๆ 6 หมื่นบาทต่อเดือน (เอาโบนัสรวมหมดนะครับ)

จริงๆ แล้วจำนวนนี้ถือว่าค่อนข้างสูงเลยนะครับถ้าเทียบกับรายได้คนไทยในปัจจุบัน เพราะผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2015 บอกว่า กทม. เป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงที่สุดแต่ก็ยังอยู่ที่ 45,572 บาทต่อเดือน

ต่อให้เงินเดือนจำนวนนี้เป็นของคุณผู้ชายในครัวเรือนเพียงคนเดียว (โดยหลายครัวเรือนทั้งสามีภรรยาจะมีรายได้ทั้งคู่) ก็ยังน้อยกว่าน้อยกว่าจำนวนเงิน 6 หมื่นบาทอยู่พอสมควร เอ….ถ้างั้นคุณผู้หญิงว่าผู้ชายที่อยากแต่งงานด้วยควรมีรายได้ต่อเดือนสักเท่าไหร่ดีครับ? (ไม่เอายิ่งมาก ยิ่งดีนะครับ )

จริงๆ แล้วนะครับ ไม่ว่าจะเท่าไหร่บทสรุปก็ง่ายๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ คือผู้ชายอย่างเราหากต้องการแต่งงานมีครอบครัวก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากจะก้มหน้าก้มตาทำงานเก็บเงินกันต่อไป ท่องไว้ครับว่า “No money, no honey!” นะครับ ^^”

]]>
1154539