กิ๊กดู๋ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 02 Jan 2019 08:04:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 พีพีทีวี ปีแห่งปรากฏการณ์ “ดูด“ บทพิสูจน์สถานะ “พลังเศรษฐี” ที่ยังรอความสำเร็จ https://positioningmag.com/1205875 Sat, 29 Dec 2018 09:58:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1205875 ปี 2018 ช่องพีพีทีวี ของกลุ่มปราสาททองโอสถ ตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของไทย ได้สร้างความฮือฮาในวงการทีวีดิจิทัล ด้วยปรากฏการณ์ “ดูด” ทั้งรายการ ดารา กลายเป็นช่องพลังเศรษฐีที่เข้ามาช่วยสร้างความหวังต่อลมหายใจให้กับบรรดาผู้ผลิตรายการในวงการ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

พีพีทีวี เป็นหนึ่งในช่องดิจิทัลทีวีกลุ่ม HD ที่มีมูลค่าการประมูลสูง ที่กลุ่มปราสาททองโอสถประมูลมาในมูลค่าถึง 3,460 ล้านบาท ด้วยความฝันของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ต้องการมีทีวีดิจิทัลในมือเพื่อจะสามารถช่วยต่อยอด พีอาร์ธุรกิจในกลุ่มทั้งโรงพยาบาล, โรงแรม และสายการบินที่มีมูลค่ามหาศาลได้

เมื่อตอนเปิดตัวสถานที่ในปี 2557 พีพีทีวีลงทุนหนัก ทั้งสร้างคอนเทนต์เอง ด้วยการผลิตละคร และรายการวาไรตี้ ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ต่างประเทศมากมาย แต่เมื่อทุ่มทุนในช่วงที่ช่องใหญ่ยังแข็งแรง ในฐานะช่องเล็กที่ยังไม่มีคนรู้จักมากนัก ผลตอบรับจึงยังไม่ชัดเจน จนพีพีทีวีค่อยๆ ขยายต่อไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกต่างประเทศ กลายเป็นคอนเทนต์หลักของช่อง แต่สถานการณ์ความนิยมของช่องก็ยังไม่ดีนัก เรตติ้งอยู่ในกลุ่มท็อป 15 ของทีวีดิจิทัลทั้งหมด 25 ช่อง

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเมื่อปลายปี 2560 เมื่อ “สุรินทร์ กฤติยาพงศ์พันธุ์” ผู้บริหารฝ่ายการตลาดมือดีของช่อง 3 โดน “หมอเสริฐ” ดึงตัวออกมาจากช่อง 3 มารับตำแหน่งใหญ่ กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของพีพีทีวีอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2560 นับเป็นจุดเริ่มแห่งปฏิบัติการ “ดูด” ของช่องพีพีทีวี

สุรินทร์ไม่ได้มาพีพีทีวีเพียงคนเดียว แต่ยังดึงมือการตลาดในทีมจากช่อง 3 ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารชุดใหม่พอดี ทำให้ง่ายต่อการดึงมือดีบางคนออกมาอยู่พีพีทีวี ในขณะที่กลุ่มผู้บริหารใหม่ในช่อง 3 กำลังคนดันคนใหม่ๆ จากกลุ่มเอไอเอสเข้ามาบริหารแทน

หลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2561 ก็ดึง “พลากร สมสุวรรณ” อดีตเอ็มดีช่อง 7 เข้ามาเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่พีพีทีวีอีกคน ทำให้พีพีทีวีกลายเป็นช่องที่รวมผู้บริหารจากทั้งช่อง 3 และช่อง 7 มารวมตัวกันได้เป็นครั้งแรก

ในช่วงครึ่งปีแรก พีพีทีวีภายใต้การนำของ สุรินทร์ ประกาศว่า พีพีทีวีจะเดินหน้าสู่การเป็น World Class TV ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์รายการบันเทิงต่างประเทศ, สารคดีอินเตอร์ และเริ่มผลิตรายการวาไรตี้ในประเทศ เข้ามาเสริมผังเพื่อค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากช่องเด่นด้านกีฬามาเป็นช่องวาไรตี้บันเทิงบ้าง

แต่ผลตอบรับในช่วงแรกยังไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะรายการใหม่ๆ ที่จัดหา และผลิตมานั้นยังไม่สามารถเรียกผู้ชมได้ การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกต่างประเทศ และรายการข่าว จึงยังคงเป็นรายการหลักของช่องที่เรียกความนิยมเรตติ้งได้มากที่สุด ตัวเลขเรตติ้งเฉลี่ยช่องลดลงจากอันดับที่ 11 ในเดือนพฤษภาคม ตกลงไปอยู่อันดับที่ 15 ในเดือนมิถุนายน และกรกฏาคม ก่อนกลับขึ้นมาในอันดับ 11 ในเดือนสิงหาคม ด้วยการได้สิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาเอเชียนเกมส์จากเวิร์คพอยท์

พลิกกลยุทธ์ “ดูด” สร้างประเด็น talk of the town 

เมื่อรูปแบบการซื้อรายการดังจากต่างประเทศมาออนแอร์ที่ช่อง ยังไม่ได้ผล พีพีทีวีเริ่มคิดหากลยุทธ์ใหม่ ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้บรรดาผู้ผลิตรายการจากช่องใหญ่ที่เจอพิษเศรษฐกิจ การหาสปอนเซอร์ในแต่ละรายการเป็นได้ยากมากขึ้น ผู้ผลิตหลายรายจึงต้องเล็งหาที่ใหม่ ที่มีกำลังมากพอที่จะให้การช่วยเหลือได้ จึงมาลงตัวที่พีพีทีวี

The Face Men ซีซัน 2 จากค่ายกันตนาเป็นรายการแรกที่มาตกลงกับช่องพีพีทีวี หลังจากไม่สามารถตกลงกับช่อง 3 ได้ มาในช่วงที่พีพีทีวีกำลังหารายการบันเทิงมาเพิ่มฐานคนดูให้ช่อง อีกทั้งยังตอบโจทย์ กลุ่มผู้ชมระดับ World Class ให้ช่องได้

แต่พลังของ The Face ยังไม่มีมากพอที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับช่องได้มาก เพราะเป็นรายการเจาะเฉพาะกลุ่ม ยังไม่ Mass พอ จากผลการออกอากาศในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการอยู่ที่ 0.222 เมื่อเทียบกับซีซันแรก ออกอากาศที่ช่อง 3 ได้เรตติ้งเฉลี่ย 1.380 แต่หากเทียบกับเรตติ้งเฉลี่ยของช่องช่วง 11 เดือนของปีนี้ ที่อยู่ในระดับ 0.161 ก็นับได้ว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง

ประเด็น talk of the town แสดงถึงพลังการดูดครั้งแรก คือ การดึงรายการ The Voice  Thailand ซีซัน 7 ออกมาจากช่อง 3 ได้สำเร็จ

กรณี The Voice เป็นปัญหาจากสภาวะเศรษฐกิจ ผู้ผลิตรายการหารายได้จากสปอนเซอร์ได้ยากลำบากมากขึ้นจากโมเดลการให้เช่าเวลาของช่อง 3 แม้ว่าในการเจรจาช่วงแรก ช่อง 3 ยินยอมลดราคาค่าเช่าเวลาให้เป็นกรณีพิเศษ แต่ผู้ผลิตรายการก็ยังไม่สามารถอยู่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสปอนเซอร์หลัก เมื่อพีพีทีวียื่นมา จึงเกิดการย้ายข้ามช่องอย่างกะทันหัน

รายการ The Voice เริ่มออกอากาศทางช่องพีพีทีวี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ออกอากาศไปแล้ว 5 ตอน ได้เรตติ้งเปิดตัวที่ 0.575 และสูงสุดในชณะนี้อยู่ที่ 0.969 ในตอนที่ 4 แม้จะเทียบกับเรตติ้งที่ออกอากาศในช่อง 3 ไม่ได้ แต่ก็กลายเป็นรายการบันเทิงในประเทศที่มีเรตติ้งสูงสุดของช่องแล้ว

อีกรายการที่เป็น Talk of the town คือ การดูด “กิ๊ก ดู๋” จากรังช่อง 7 ชนิดที่เกิดดราม่าตามมามากมาย แต่อย่างไรก็ตาม เทปแรกของ “กิ๊ก ดู๋” ในช่องพีพีทีวี จะเริ่ม 8 มกราคมปีหน้า โดยเป็นการประเดิมด้วย “ตูน บอดี้สแลม” โดยที่ช่องคาดหวังสูงมากว่า อย่างน้อยต้องได้เรตติ้งเกิน 1

ดูดต่อเนื่อง ดึงดาราเข้าสังกัด

ไม่จบแค่ดูดรายการ เมื่อมีรายงานข่าวว่า พีพีทีวีกำลังเจรจากับนักแสดงดังหลายรายที่อยู่ในสังกัดช่องใหญ่ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 แต่ก็มีข้อสรุปในเบื้องต้นกับ “ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล” จากช่อง 7 เป็นคนแรก

เหตุผลทำไมพีพีทีวีจึงต้อง “ดูด” นักแสดง มาจากแผนการเริ่มต้นผลิตละคร ทันทีที่พีพีทีวีประกาศแผน มีผู้จัดละครจากช่องใหญ่เข้ามารุมล้อมมากมาย แต่ปัญหาหลักที่ได้รับฟีดแบ็กจากบรรดาผู้จัด คือ หานักแสดงแม่เหล็กมาเล่นไม่ได้ เมื่อไม่มีนักแสดงของตัวเอง จึงจำเป็นต้องดึงดาราดังๆ ที่กำลังหมดสัญญากับช่องใหญ่มาเป็นนักแสดงในสังกัด เพราะมีความเชื่อมั่น นักแสดงดัง และรายการดัง คือก้าวแรกของการสร้างชื่อเสียงให้กับช่องใหม่อย่างพีพีทีวี และจะช่วยดึงฐานคนดูชุดใหม่มาเข้าช่องได้

ทั้งนี้ พีพีทีวี ได้เริ่มทยอยเปิดละครไปแล้วหลายเรื่อง โดยคาดหมายว่าจะเริ่มออนแอร์ได้ในกลางปีหน้า โดยวางผังไว้ในช่วงเวลาทองหลังข่าว ในวันพุธ-ศุกร์ ชนิดที่พร้อมชนกับละครทุกช่องที่มีอยู่ในตลาด การที่จะสู้กับทุกช่องได้นอกเหนือจากเรื่อง บท แล้ว ดารานำ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่พีพีทีวีต้องใช้พลังเงินในการลงทุนอย่างเต็มที่

ทุ่มทุนหนักปีละกว่าพันล้าน

ในระดับสเกลการลงทุนจากพลังดูดเหล่านี้ คาดการณ์ว่าพีพีทีวีจะใช้เงินไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท เริ่มจากรายการ The Voice ที่ซื้อลิขสิทธิ์ และจ้างผลิตเป็นเวลา 3 ปี มูลค่า 500 ล้านบาท สำหรับการทำปีละ 3 รายการ ตั้งแต่ The Voice Thailand, The Voice Junior และ The Voice Senior ออกอากาศทุกวันจันทร์หลังข่าว, กิ๊ก ดู๋ ทำสัญญาระยะยาว 2 ปี ออกอากาศต่อเนื่องทุกวันอังคารหลังข่าว ย่อมเป็นหลักร้อยล้านบาท และยังมีการผลิตละครอีกหลายเรื่อง ที่ต้นทุนแต่ละเรื่องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

ในขณะที่รายการกีฬาหลักๆ ที่เป็นจุดเด่นของช่อง ทั้งฟุตบอลลีกต่างประเทศ และอีกหลายชนิดกีฬา ที่มีข่าวว่าพีพีทีวีจะยังคงทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะต้องใช้เงินหลักร้อยล้านบาท นี่ยังไม่รวมการผลิตรายการอื่นๆ ในช่องอีกมากมาย

การลงทุนหนักขนาดนี้ หากไม่ใช่ช่องเศรษฐีจริงๆ ก็คงทำไม่ได้ แต่คำถามที่ตามมาคือ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พีพีทีวีได้ทุ่มทุนหนักระดับพันล้านไปทุกปี ดูดเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ไปมาก แต่ก็ยังสถานะเป็นช่องในกลุ่ม HD ที่มีเรตติ้งต่ำสุดในกลุ่มนี้.

]]>
1205875