ทำให้พีพีทีวีจึงต้องเลือกใช้ระดม “ดูด” รายการดังจากช่องใหญ่ ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 เข้าเสริมผัง พร้อมตั้งความหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่จะเริ่มผลักดันช่องเข้าสู่กลุ่มท็อปเท็น แต่เมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือน ดูเหมือนว่าเรตติ้งตัวชี้วัดความนิยมรายการเหล่านั้น เริ่มแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังเท่าไรนัก
The Voice เป็นรายการแรกที่ถูกดึงเข้าพีพีทีวี ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เนื่องจากเป็นรายการใหญ่ ฐานผู้ชมแน่น แต่ต้องโผออกจากอกช่อง 3 ด้วยพิษเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขันสูง เมื่อผู้ผลิตรายการเห็นว่ามีแนวโน้มขาดทุนสูงจากจำนวนสปอนเซอร์ที่ลดลง แม้ว่าช่อง 3 ช่วยลดราคาค่าเช่ารายการให้แล้วก็ตาม แต่ผู้ผลิตรายการประเมินแล้วว่า เป็นไปได้ยากที่ทำกำไรได้ตามเป้าหมาย จึงดอดไปเจรจากับพีพีทีวีที่อ้าแขนรอรับไว้แล้ว
พีพีทีวี มองว่า หากได้รายการใหญ่ มีคนรู้จักดี มีฐานคนดูจำนวนมาก จะช่วยสร้างเรตติ้งได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาสร้างความรู้จัก และคนดูเหมือนกับรายการใหม่
โดยเข้ามาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการ The Voice ทั้งหมด 3 ปี ครอบคลุม รายการ The Voice ปีละ 3 รายการ The Voice, The Voice senior และ The Voice Kids โดยใช้เงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท
ในขณะที่เอพีแอนด์ เจ ผู้ผลิตรายการเดิม ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เอพีเจ แอนด์ โค ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ผลิตรายการ ไม่ต้องแบกความเสี่ยงในการหาโฆษณา และยังได้ส่วนแบ่งรายได้จากการหาสปอนเซอร์ด้วย
ถัดมาในเดือนธันวาคม 2561 พีพีทีวีเรียกเสียงฮือฮา ด้วยการคว้ารายการ “กิ๊ก ดู๋” ของค่ายเจเอสแอล จากอกช่อง 7
จนช่อง 7 ต้องยกเลิกการออกรายการที่ถ่ายทำค้างไว้ทั้งหมดในช่วงกลางเดือนธันวาคม จนเกิดดราม่า “ย้ายช่อง” เจเอสแอลต้องออกมาแถลงข่าวว่า เป็นเพราะปัญหาทางธุรกิจ สปอนเซอร์ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงจากค่าเช่าเวลาที่ช่อง 7 จนต้องหันมาสังกัดพีพีทีวี ที่เสนอรูปแบบการจ้างผลิต และมีส่วนแบ่งรายได้จากการหาสปอนเซอร์
รายการที่ 3 “ก่อนบ่าย คลายเครียด” รายการตลกที่อยู่คู่ช่อง 3 มายาวนานกว่า 20 ปี ประกาศย้ายช่องอย่างกะทันหันในเดือนมกราคม 2562 หลังจากที่โดนช่อง 3 ลดเวลาออกอากาศจาก 5 วันเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้ “เป็ด เชิญยิ้ม” หอบรายการเข้าเจรจากับพีพีทีวี จนได้ออกอากาศในช่องใหม่ พีพีทีวี ในช่วงเวลาเดิม เป็นเวลา 5 วันเหมือนที่อยู่กับช่อง 3
แต่รูปแบบการเจรจาธุรกิจ ไม่ได้เหมือนกับ 2 รายการก่อนหน้า เนื่องจาก เป็ด เชิญยิ้ม ยังต้องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการอยู่เหมือนเดิม จึงเป็นรูปแบบการเช่าเวลาช่องพีพีทีวี
การเปิดตัวครั้งแรกของ “The Voice” และ “กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน” เป็นไปได้ดีพอสมควร โดยเรตติ้งวันเปิดตัวอยู่ที่ 0.575 แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนไปอยู่สูงสุดที่ 0.969 ในตอนที่ 4 หลังจากนั้นก็ได้เรตติ้งเฉลี่ยในช่วง 0.6-0.8 ประคองตัว จนเกิด “ดราม่า” โค้ช “ป๊อป ปองกูล” ในเรื่องความรักสามเส้า แต่ดราม่าทุกอย่างคลี่คลายได้โดยเร็ว ตอนจบซีซัน 7 ได้เรตติ้ง 0.883 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งรายการอยู่ที่ 0.775
ส่วน “กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน” เปิดตัวด้วยเรตติ้ง 0.827 กับเทป “พี่ตูน บอดี้สแลม” แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากการจัดศิลปินนักร้องที่จับกลุ่มแมสมากขึ้น จนได้เรตติ้งเกิน 1 ไปสูงสุดที่ 1.192 ในเทปที่ 5 หลังจากนั้นสถานการณ์เรตติ้งรายการ ค่อยๆ ดิ่งลงทีละนิด จนเทปล่าสุดวันที่ 23 เมษายน 2562 ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.504 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แค่เพียง 2 รายการนี้ กับรายการถ่ายทอดสดฟุตบอล ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ก็สามารถผลักดันพีพีทีวีเข้ามาติดอันดับท็อปเท็นของกลุ่มที่วีดิจิทัล โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พีพีทีวีสามารถเข้ามาติดในอันดับ 10 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.233 เป็นครั้งแรก
ส่วน “ก่อนบ่าย คลายเครียด” เริ่มมาออกอากาศในเดือนมีนาคม ช่วงเวลาเช้าของจันทร์–ศุกร์ เปิดตัวด้วยเรตติ้งเพียง 0.100 เคยลงต่ำสุดที่ 0.067 แต่ก็กลับขึ้นมามีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 0.1-0.2 มาตลอด ในขณะที่เคยได้เรตติ้งในระดับ 0.7-0.9 ในครั้งที่อยู่กับช่อง 3
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม ทั้งรายการ The Voice ที่ต่อด้วย The Voice Senior และ The Voice Kids รวมถึง “กิ๊ก ดู๋” มีเรตติ้งลดลงเรื่อยๆ เนื่องจาก สถานการณ์แข่งขันแย่งชิงอันดับ 10 ในตารางทีวีดิจิทัล เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นมาก และเดือนมีนาคม ยังเป็นช่วงการเลือกตั้งใหญ่ของไทย ทำให้รายการข่าวมาแรง เนชั่นทีวีจึงเบียดเข้ามาอยู่ในอันดับ 10 แทน พีพีทีวีหล่นไปอยู่อันดับ 11 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.197
หากวิเคราะห์เหตุผลสำคัญที่เรตติ้งรายการดัง ทั้งกลุ่มรายการ The Voice และ “กิ๊ก ดู๋” ลดลงต่อเนื่อง น่าจะมี 2 สาเหตุใหญ่ คือ การปรับช่วงเวลาออกอากาศ และคู่แข่งจากช่องละคร ที่ดุเดือดขึ้นทุกวัน
เนื่องจาก “กิ๊ก ดู๋” เป็นรายการที่จับกลุ่มผู้ชมตลาดแมสมาตั้งแต่ต้น เมื่อมาอยู่พีพีทีวี จึงมีการปรับรูปแบบรายการเพื่อขยายฐานผู้ชมตลาดแมสให้ช่อง จึงเน้นเชิญนักร้องรับเชิญที่เป็นรู้จักดีในวงกว้างมากกว่า เช่น ไมค์ ภิรมย์พร, ตั๊กแตน ชลดา หรือลำไย ไหทองคำ
ในช่วงที่ “กิ๊ก ดู๋” ยังอยู่กับช่อง 7 ถูกวางเวลาออกอากาศในช่วงเวลาดึกหลังละครไพรม์ไทม์ ไม่ต้องไปชนรายการฮอตจากช่องอื่นๆ อีกทั้งการอยู่ที่ช่อง 7 มีฐานผู้ชมเรตติ้งการันตีอยู่แล้ว เมื่อย้ายมาลงช่วงไพรม์ไทม์ทุกวันอังคาร ต้องเจอศึกหนักจากละคร และหลากหลายรายการในช่องอื่นๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เรตติ้งรายการลดลง
ในขณะที่ The Voice ในช่อง 3 เคยออกอากาศในช่วงวันอาทิตย์เย็น ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของวันหยุด เป็นช่วงเวลาครอบครัว ที่เหมาะกับวางผังรายการที่ดูได้ทั้งครอบครัว แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไปชนกับรายการถ่ายทอดสดหลายรายการกีฬาของช่องพีพีทีวี ทำให้ต้องมาลงผังในทุกวันจันทร์ช่วงไพรม์ไทม์แทน
การไปลงผังช่วงไพรม์ไทม์ทุกวันจันทร์–อังคาร จะมีคู่แข่งจากทั้งรายการ ละคร จากทั้งช่อง 7, ช่อง 3 ช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ที่กำลังดันละครเต็มที่ ช่วงนี้เจอละครจากช่อง 3 ตั้งแต่ “ตุ๊กตาผี” ยาวมาถึงละครกระแสแรง “กรงกรรม” และยังเจอกับรายการวาไรตี้เกมโชว์ จากเวิร์คพอยท์ แถมด้วยรายการข่าวจากไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี ที่วันไหนข่าวฮอต เรตติ้งก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีหนังใหญ่ จากช่องโมโน ที่พร้อมจัดสู้เรียกเรตติ้งบ่อยครั้ง
อีกทั้งเมื่อ The Voice ซีซัน 7 จบลง พีพีทีวีเลือก The Voice Senior ออกอากาศต่อ ถึงจะมาเป็น The Voice Kids ทำให้ช่วงจังหวะความนิยมมีการสะดุด เนื่องจาก The Voice Senior ได้รับความนิยมน้อยกว่า The Voice 2018 เกือบครึ่งหนึ่ง แม้จะมีเพียง 4 ตอนเท่านั้นที่คั่นเวลา ก่อนมาถึง The Voice Kids
ดังนั้น ความต่อเนื่อง การสร้างความจดจำผังรายการ ให้กับผู้ชมจึงลดลง ยิ่งเป็นช่องเล็ก เด่นด้านรายการกีฬา ยังไม่มีรายการภาคบันเทิงอื่นๆ ดึงความสนใจของผู้ชมได้มากเหมือนช่องใหญ่ ผู้ชมจำนวนหนึ่งแทบจะลืมไปว่า มีรายการ The Voice ลงผังในทุกวันจันทร์
เหตุผลประกอบทั้งหมด เป็นสาเหตุใหญ่ จึงมีส่วนทำให้เรตติ้งกลุ่มรายการ The Voice ช่องพีพีทีวี ลดลงต่อเนื่อง เพราะนอกจากคอนเทนต์ดีแล้ว กลยุทธ์การจัดวางผังรายการ ช่วงเวลาที่เหมาะสม น่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากด้วยเช่นกัน
ผิดไปจากเป้าหมายของพีพีทีวี ที่ตั้งความหวังไว้สูงว่า การดึงคอนเทนต์เด่น รายการดีจากช่องใหญ่ ด้วยการทุ่มทุนเป็นหลักหลายร้อยล้าน มาลงผังจะช่วยสร้างฐานผู้ชมใหม่ให้กับช่อง เพื่อเข้าสู่กลุ่มช่อง TOP 10 อย่างถาวร หรือเข้าสู่ TOP 5 ให้สำเร็จให้ได้ กลายเป็นว่ากลุ่มรายการกีฬา ยังคงเป็นรายการสร้างเรตติ้ง และความนิยมของช่องเหมือนเดิม
สำหรับผู้ผลิตรายการที่ย้ายช่องมาทั้ง The Voice และ กิ๊ก ดู๋ ในแง่การเงิน คงไม่ได้รับบาดเจ็บ จากผลตอบรับที่ลดลงในครั้งนี้ เพราะถือเป็นการสละเรือลำเก่า มาได้รายได้ที่ชัดเจนในการรับรับจ้างผลิต แต่คนที่รับบทหนัก คือ เจ้าของช่องอย่างพีพีทีวี ที่ทุ่มเทงบประมาณไปเต็มที่
กลางปีนี้ พีพีทีวีมีแผนการนำละครไทย ที่ประกาศทุ่มงบมหาศาลออกอากาศไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่า จะเป็นรายการหมวดบันเทิงที่สามารถสร้างจุดเปลี่ยน เรียกกระแส ความนิยมช่องขึ้นมาอีกครั้งได้มากน้อยแค่ไหน.
]]>หลังจากที่พีพีทีวีงัดกลยุทธ์ “ดูด” รายการวาไรตี้ชื่อดังจากช่องใหญ่มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ล่าสุด พีพีทีวีได้ทำข้อตกลงกับบริษัท โคเมดี้ ไลน์ ของ ธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือ “เป็ด เชิญยิ้ม” นำรายการ “ก่อนบ่ายคลายเครียด” ที่กำลังออกอากาศอยู่ทางช่อง 3 มาออนแอร์ที่ช่องพีพีทีวี ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
“ก่อนบ่ายคลายเครียด” เป็นรายการตลกเก่าแก่อยู่กับกลุ่มช่อง 3 มาตั้งแต่ยุคแอนะล็อกทีวี เริ่มในปี 2540 เป็นรายการที่รวมดาวตลกชื่อดัง และรุ่นใหม่แทบทั้งวงการ ในฐานะที่ “เป็ด เชิญยิ้ม” เป็นอดีตนายกสมาคมตลก และผู้ก่อตั้งตลกคณะ “เชิญยิ้ม” ที่เป็นหนึ่งในตำนานของวงการตลกของเมืองไทย ยึดผังรายการช่อง 3 ในช่วงเวลาสาย ก่อนบ่ายตามชื่อของรายการ ครองใจผู้ชมได้หลากหลายวัยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี
รายการตลก เป็นหนึ่งในรายการเป้าหมายที่หลากหลายช่องต้องการ เพราะจับกลุ่มเป้าหมายแมสชัดเจน สำหรับคนที่อยู่บ้าน เปิดทีวี อีกทั้งเป็นรายการที่สามารถนำไปรีรัน ออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง หลายช่องเลือกที่จะผลิตรายการใหม่ๆ แต่ไม่ใช่สำหรับพีพีทีวี
พีพีทีวี ช่องที่มีทุนทรัพย์กระเป๋าหนัก มีความชัดเจนมากว่า ต้องการดึงรายการดังจากทุกช่องมาเพื่อสร้างชื่อเสียงช่อง ขยายกลุ่มคนดูในระยะเวลาอันสั้น เพราะรายการเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์เหมือนกับนำรายการใหม่ๆ ซึ่งพีพีทีวีทำสำเร็จมาแล้วจากการ “ดูด” รายการ The Voice จากช่อง 3 และ “ กิ๊ก ดู๋” จากช่อง 7 จนมาสร้างฐานเรตติ้งช่อง จากช่องในอันดับ 12-15 ในปีที่แล้ว จนทำติดอันดับท็อปเท็นได้สำเร็จในปีนี้
เรตติ้งเฉลี่ยช่องพีพีทีวีในปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 12 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.164 ส่วนเรตติ้งเดือนธันวาคม 2561 อยู่ในอันดับ 11 เรตติ้งเฉลี่ย 0.202 ในขณะที่เรตติ้งประจำสัปดาห์ช่วงวันที่ 14-20 ม.ค. 2562 พีพีทีวีติดท็อปเท็น ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.200
สำหรับเรตติ้งเฉลี่ยของ “ก่อนบ่ายคลายเครียด” ทางช่อง 3 ตลอดปี 2561 มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.840 เป็นกลุ่มผู้ชมในกรุงเทพฯ 1.462 สูงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับพื้นที่ต่างจังหวัด 0.734 ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของช่องพีพีทีวี ที่ประกาศไว้ว่าเป็น World Class TV ต้องการสร้างฐานผู้ชมในกลุ่มคนเมือง ที่เป็นผู้หญิงให้มากขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตรายการทีวี เปิดเผยว่า ดีลของรายการ “ก่อนบ่ายคลายเครียด” กับพีพีทีวี มีความแตกต่างจากดีลรายการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของรายการทั้งหมด และว่าจ้างผลิต แต่เป็นรูปแบบที่บริษัท โคเมดี้ ไลน์ ของ “เป็ด เชิญยิ้ม” ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมด สามารถนำรายการไปเผยแพร่ในสื่ออื่นๆ และแบ่งผลประโยชน์จากรายได้ค่าโฆษณาในรายการ
เนื่องจากรายการตลกส่วนใหญ่ จะมีรายได้จากเผยแพร่ทั้งในช่องทางออนไลน์และแผ่นซีดี ที่สามารถไปเปิดในร้านอาหาร รถทัวร์ หรือขนส่งสาธารณะ เพื่อความบันเทิง คลายเครียด จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดีลมีความแตกต่างกัน
ในขณะที่รายการ The Voice และ กิ๊ก ดู๋ เป็นการซื้อลิขสิทธิ์รายการ และว่าจ้างผลิตโดยพีพีทีวีเป็นเจ้าของคอนเทนต์ทั้งหมด ที่เป็นการการันตีว่า ผู้ผลิตรายการไม่ขาดทุนจากการย้ายจากช่องใหญ่มาสู่ช่องเล็ก
อย่างไรก็ตาม การที่รายการตลกที่อยู่คู่ผังช่อง 3 มานาน ต้องย้ายรายการออกจากช่อง 3 นั้น คาดว่าคงไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องโดน “ดูด” เท่านั้น เพราะการอยู่ที่ช่องใหญ่ มีเรตติ้งสูงกว่า ราคาค่าโฆษณาก็แพงกว่า แตกต่างกับพีพีทีวีหลายเท่าตัว รายได้ของผู้ผลิตรายการต้องลดลงอย่างชัดเจน เรื่องนี้คงต้องรอการชี้แจงจากผู้ผลิตรายการเอง
ในส่วนช่อง 3 นั้น มีรายงานว่า ได้จัดผังใหม่ ดึงรายการ “โกดัง มหาสนุก” ที่ผลิตโดยบีอีซี เทโร บริษัทในเครือช่อง 3 ซึ่งเดิมออกอากาศในช่วงหลังเที่ยง และมีเรตติ้ง ความนิยมใกล้เคียงกัน มาลงผังแทน “ก่อนบ่ายคลายเครียด” เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป.
]]>