ข่าวปลอม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 04 Mar 2020 06:50:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Facebook เปิดให้ WHO ลงโฆษณาฟรี ไล่ลบข่าวปลอม-สินค้าปลอม ต้านไวรัส COVID-19 https://positioningmag.com/1266852 Wed, 04 Mar 2020 05:53:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1266852 Facebook ประกาศให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงโฆษณาฟรีบนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้องของไวรัส COVID-19 พร้อมลบข่าวปลอมและโฆษณาสินค้าปลอมที่อ้างว่าช่วยรักษาไวรัสได้ออกจากระบบ รวมถึงให้นักวิจัยนำดาต้าใน Facebook มาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจการระบาดใหญ่ครั้งนี้

Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ประกาศวันนี้ (4 มีนาคม 2020) ว่า บริษัทจะมอบสิทธิลงโฆษณาฟรีบนแพลตฟอร์มแก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) และนำข้อมูลหลอกลวงเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ออกจากระบบ

เมื่อผู้ใช้ Facebook ค้นหาเกี่ยวกับ “ไวรัสโคโรนา” บนแพลตฟอร์ม จะมีกล่องข้อความขึ้นหน้าจอเพื่อเสนอข้อมูลล่าสุดของไวรัสจาก WHO หรือหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ และในประเทศที่ WHO รายงานว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คนแล้ว ผู้ใช้ Facebook จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโดยตรงบนหน้า News Feed

โดย Zuckerberg โพสต์บน Facebook ว่าเขาได้เปิดให้ WHO ลงโฆษณาได้ฟรี และจะให้เครดิตการลงโฆษณาอีกหลายล้านเครดิตแก่องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทยังจะลบ “ข้อมูลปลอมและทฤษฎีสมคบคิดที่องค์กรสาธารณสุขแจ้งเข้ามา” ออกไปจากระบบ

“เรายังจะบล็อกไม่ให้ผู้ใช้ยิงโฆษณาฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้ ตัวอย่างเช่น โฆษณาที่กล่าวอ้างว่าสินค้านั้นๆ สามารถรักษาไวรัสได้” Zuckerberg เสริม

Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP)

Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกโจมตีอย่างหนักในประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปีที่แล้วบริษัทนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อประกาศว่า บริษัทจะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือลบคอนเทนต์ที่โพสต์โดยนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนบริษัทจะใช้กลยุทธ์อีกแบบหนึ่งในการรับมือข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัส COVID-19

Zuckerberg ยังประกาศด้วยว่า นักวิจัยของบริษัทกำลังรวบรวมข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตนของผู้ใช้ Facebook เช่น แผนที่ความหนาแน่นของประชากร เพื่อทำความเข้าใจการแพร่ระบาดของไวรัส

ด้านองค์กรการกุศลของเขาและภรรยา Chan Zuckerberg Initiative ยังร่วมมือกับมูลนิธิของ Bill Gates เพื่อสนับสนุนนักวิจัยในกัมพูชา ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การค้นพบการเรียงลำดับจีโนมทั้งหมดของไวรัส “ภายในเวลาไม่กี่วัน” เพื่อช่วยให้การระบุว่าผู้ต้องสงสัยรายนั้นๆ ติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ทำได้ง่ายขึ้น

Facebook เองเพิ่งจะประกาศยกเลิกงานประชุม F8 ที่จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยขณะนี้ในสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายแล้ว

Source

]]>
1266852
Facebook แนะวิธีดูข่าวปลอมก่อนแชร์ https://positioningmag.com/1217615 Mon, 04 Mar 2019 09:07:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1217615 ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม กำลังเป็นปัญหาของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเวลานี้ เพราะบางทีกว่าจะรู้ว่าเป็นข่าวปลอมก็ข่าวชิ้นนั้นถูกแชร์ออกไปมากมาย จนส่งผลกระทบไปตามๆ กัน

Facebook จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท แนะนำเคล็ดลับในการตรวจสอบข่าวปลอมได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น

1. ดูแหล่งที่มาของข้อมูล

ตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ แต่ต้องระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือซึ่งมักจะใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน

ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน

ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อหรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และเป็นบุคลากรที่อยู่ในแวดวงการรายงานข่าวมาเป็นระยะเวลามากน้อยอย่างไร นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบด้วยการอ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันได้

ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุน

ข้อมูลประกอบในบทความนั้นสนับสนุนเนื้อหาหลักของเรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือข้อมูลที่ถูกหยิบมาเพียงแค่บางส่วนหรือออกนอกบริบท สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงได้

ตรวจสอบวันที่

อย่าลืมดูวันที่ที่เนื้อหาถูกตีพิมพ์ เพราะเรามักพบเห็นผู้คนแชร์ ‘ข่าว’ เก่าอยู่บ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งข่าวเก่าอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ถูกต้องเสมอไป นอกจากนี้ ข่าวปลอมอาจประกอบด้วยการรายงานช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลวันที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นด้วย

2. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว

ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ เนื้อหาของข่าวปลอมมักประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด

อีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำคือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม ‘นักอ่านเวลาน้อย’ เมื่อผู้คนมักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการเขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมาและประกอบด้วยข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ในประเทศไทย ร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขาอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ

3. แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว

คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเรา ก่อนที่คุณจะระบุว่าเรื่องราวใดๆ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่าอคติส่วนตัวของคุณไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวในขณะนั้น

เคล็ดลับเพิ่มเติม

หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความที่ปรากฏชื่อผู้เขียน (by-line) ควรคำนึงไว้ว่าผู้เขียนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาทั้งหมด และคุณควรตรวจสอบบทความอื่นๆ ที่ผู้เขียนคนดังกล่าวเขียนด้วย

หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนจากองค์กร (op-ed) ควรคาดการณ์ไว้ก่อนว่าบทความอาจมีเนื้อหาที่ลำเอียงหรือมีอคติ แม้ว่าจะประกอบด้วยข้อเท็จจริง แต่เนื้อหาประเภทนี้มักสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหรือหน่วยงานและมีบทสรุปแบบไม่เป็นกลาง

4. ข่าวปลอมมักทำให้ดูน่าเชื่อถือ

เรื่องราวบางเรื่องถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น ควรแชร์ข่าวที่มั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น ข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบท ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้อง.

]]>
1217615