คำสั่งศาล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 13 Aug 2020 05:50:30 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ศาลแคลิฟอร์เนียสั่ง Uber ให้เปลี่ยนสถานะคนขับจาก “ผู้รับจ้างอิสระ” เป็น “พนักงาน” https://positioningmag.com/1292275 Thu, 13 Aug 2020 04:38:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1292275 ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินให้ Uber และ Lyft สองผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร่วมขับขี่ (ride-sharing) รายใหญ่ ปรับสถานะคนขับที่ทำงานให้แพลตฟอร์มเป็น “พนักงาน” ในบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและสวัสดิการสุขภาพตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังมีเวลาอีก 10 วันในการยื่นอุทธรณ์ก่อนที่คำตัดสินนี้จะถูกบังคับใช้

อีธาน ชูลแมน ผู้พิพากษาศาลสูงแห่งซานฟรานซิสโก ได้ให้คำตัดสินเบื้องต้นต่อคดีที่ ฮาเวียร์ บีเซอร์รา อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้อง Uber และ Lyft โดยมีคำสั่ง “ไม่ให้” ทั้งสองบริษัทจัดสถานะคนขับรถในแพลตฟอร์มเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ในระหว่างที่ศาลจะมีการพิจารณาเพิ่มเติม คำสั่งนี้จะมีผลภายใน 10 วัน แต่ระหว่างช่วงเวลานี้ทั้งสองบริษัทสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ และทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์แล้วว่าจะยื่นอุทธรณ์ในทันที

ข้อกล่าวหาที่มีต่อ Uber และ Lyft นั้นฟ้องร้องตามข้อกฎหมายที่ชื่อว่า Assembly Bill 5 เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 มีชื่อเล่นว่า “กฎหมายฟรีแลนซ์” เพราะจุดประสงค์หลักของกฎหมายต้องการขีดเส้นแบ่งแยกผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทว่าเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” หรือ “พนักงาน”

กฎหมายนี้ได้กำหนดว่า ถ้าหากบุคคลผู้นั้นทำงานให้บริษัทในสิ่งที่ไม่ใช่แกนหลักของธุรกิจ เป็นอิสระจากการควบคุมและทิศทางนโยบายของบริษัท รวมถึงมีการรับจ้างทำงานลักษณะเดียวกันแก่องค์กรอื่นด้วย จึงจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้รับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์

Lyft อีกหนึ่งบริษัท ride-sharing สำคัญของสหรัฐฯ (Photo : Shutterstock)

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากบริษัทใดๆ รวมถึง Uber และ Lyft ถูกตัดสินให้เปลี่ยนสถานะผู้รับจ้างงานเป็นพนักงานในบริษัท บริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าล่วงเวลา สวัสดิการสุขภาพ และสวัสดิการอื่นๆ ที่จำเป็นให้พนักงานตามกฎหมาย

ในกรณีของบริษัท ride-sharing ปัจจุบัน “ผู้รับจ้างอิสระ” หรือที่มักเรียกกันว่าพาร์ตเนอร์คนขับ ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงและบำรุงรักษารถยนต์ด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะต้องกลายเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทแทนในอนาคต เป็นเหตุให้แพลตฟอร์ม ride-sharing เหล่านี้คัดค้านกฎหมายฟรีแลนซ์มาโดยตลอด เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นทั้งที่ยังไม่เริ่มทำกำไรเลย

 

บริษัทค้าน : “คนขับ” ก็ไม่อยากเป็น “พนักงาน”

มาฟังมุมมองของฝั่งแพลตฟอร์มกันบ้าง ทั้ง Uber และ Lyft ต่างออกแถลงการณ์ว่าจริงๆ แล้วคนขับรถเองก็ต้องการจะเป็นฟรีแลนซ์มากกว่าเป็นพนักงานในเครือ เพราะคนขับจำนวนมากไม่สะดวกเข้าเป็นพนักงานเต็มเวลา

แถลงการณ์ของ Uber ยังโจมตีกลับฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่า “เมื่อคนแคลิฟอร์เนียมากกว่า 3 ล้านคนไม่มีงานทำ ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งของเราควรจะมุ่งเน้นกับการสร้างงานสร้างอาชีพ ไม่ใช่พยายามทำลายอุตสาหกรรมท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้”

“ดารา โคสโรว์ชาฮี” ซีอีโอ Uber

“ดารา โคสโรว์ชาฮี” ซีอีโอ Uber ยังพยายามหาทางออกให้กับประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้นปี โดยเขามองว่าเรื่องนี้ควรจะมี “ทางเลือกที่สาม” ให้กับคนขับ ทำให้ผู้รับจ้างอิสระยังคงมีอิสระและยืดหยุ่นในอาชีพการงาน พร้อมๆ กับได้รับสวัสดิการและการปกป้องทางกฎหมายที่มากขึ้น

ทางเลือกที่สามที่เขาเสนอคือ บริษัทจะตั้งกองทุนสวัสดิการที่จ่ายให้ในสัดส่วนสอดคล้องกับจำนวนชั่วโมงที่ผู้รับจ้างอิสระทำงานให้กับบริษัท เขายังระบุว่าถ้าหากมีโมเดลนี้เกิดขึ้นจริงใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา Uber จะจ่ายเข้ากองทุนนี้ไปแล้ว 655 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเฉพาะปี 2019 เท่านั้น

สำหรับความเห็นของผู้พิพากษาชูลแมนมองว่า ในยามนี้ที่ไวรัสโคโรนาระบาดหนัก ทำให้ความต้องการใช้บริการของ Uber และ Lyft ลดลงอย่างรุนแรง ในภาวะที่จำนวนการใช้บริการลดลงต่ำที่สุด อาจจะเป็น ‘เวลาที่ดีที่สุด’ ที่จำเลยจะต้องเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงเป็นวงกว้างแก่คนขับของตนเอง

Source: Forbes, CNBC

]]>
1292275