ค้าปลีกจีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 12 Oct 2020 15:49:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สำรวจการจับจ่ายชาวจีนช่วง ‘Golden Week’ ยังคง ‘เติบโต’ แม้ ‘คนจน’ จะเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1301191 Mon, 12 Oct 2020 10:40:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301191 ผ่านไปแล้วสำหรับช่วง ‘Golden Week’ หรือวันหยุดยาวของของจีน วันที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-8 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยหยุดยาว 7 วัน ก็เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักหลังจากเจอ COVID-19 ไป ซึ่งปกติแล้วช่วงหยุดยาวดังกล่าวชาวจีนส่วนใหญ่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ จึงได้เห็นภาพการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลภายในประเทศแทน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า ยอดขายโดยเฉลี่ยต่อวันสำหรับการค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม สูงกว่าวันหยุด Golden Week ของปีที่แล้ว 4.9% โดยมียอดขายรวมที่ 1.6 ล้านล้านหยวน (7.4 ล้านล้านบาท) ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระบุว่า การเข้าชมของนักท่องเที่ยวในประเทศมีทั้งหมด 637 ล้านคนและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 466.56 พันล้านหยวน ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มีผู้เข้าชม 782 ล้านคน และมีการใช้จ่าย 649.71 พันล้านหยวน

ขณะที่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีในเกาะเขตร้อนของมณฑลไห่หนานเพิ่มขึ้นเกือบ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.04 พันล้านหยวน (4.6 แสนล้านบาท) และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% นอกจากนี้ นักช้อปชาวจีนยังซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยยอดขายรวมบน Tmall Global ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักของอาลีบาบาในการซื้อสิ้นคาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 79% ในช่วง 7 วันแรกของเดือนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ราคาที่พักในโรงแรม, เครื่องใช้ในครัวเครื่องดนตรี และอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ โดย Trip.com และ Ctrip ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบริการเกี่ยวกับการเดินทางระบุว่า เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมามูลค่าสินค้ารวม (GMV) ของการจองโรงแรมเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยโรงแรมระดับ 4 ดาวและ 5 ดาวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของการจอง ขณะที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเลือกวันหยุดพักผ่อนที่ยาวนานขึ้นจำนวนแขกของโรงแรมที่เข้าพัก 7 วันติดต่อกันในช่วง Golden Week เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะดีดตัวขึ้น แต่ในส่วนของชาวเน็ตจีนที่มีรายได้ 2,000 หยวน (9,200 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 43.2% จากเดือนมีนาคมที่มี 39% ขณะที่ผู้มีรายได้ 1,000 หยวนหรือน้อยกว่าคิดเป็น 21% (4,600 บาท) สูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย ส่วนผู้ใช้ในกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 8,000 หยวนขึ้นไป (36,000 บาท) ลดลงจาก 13.3% ในเดือนมีนาคมเป็น 11.5% ในเดือนมิถุนายน

“ข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคในประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังคงมีเงินสดไว้ใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางของจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย และตอนนี้กำลังจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจำนวนมาก” Jianguang Shen หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ JD Digits กล่าว

Source

]]>
1301191
สู้พิษการเมืองไม่ไหว! “ล็อตเต้” เล็งขายกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตใน “จีน” https://positioningmag.com/1139271 Mon, 11 Sep 2017 08:18:19 +0000 http://positioningmag.com/?p=1139271 รอยเตอร์ – บริษัท ล็อตเต้ ชอปปิ้ง ของเกาหลีใต้กำลังพิจารณาขายกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตในจีน รวมถึงทางเลือกอื่นๆ หากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกรุงโซลและปักกิ่งยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า เจ้าหน้าที่จากบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์วันนี้ (11 กันยายน)

เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า “เราจำเป็นต้องมองหาทางเลือกต่างๆ ไว้บ้างเป็นธรรมดา แต่เวลานี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือตัดสินใจเกี่ยวกับรายละเอียดของแผน” 

เขายังปฏิเสธที่จะเผยว่ามีแผนการอื่นใดอีกบ้างที่ ล็อตเต้ กำลังพิจารณาอยู่

เมื่อวันเสาร์ (9 กันยายน) หนังสือพิมพ์ โชซุน อิลโบ ของเกาหลีใต้ได้อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ล็อตเต้ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่อันดับ 5 ของเกาหลีใต้ว่า ล็อตเต้มีแผนขายกิจการ “ล็อตเต้ มาร์ท” มากถึง 50 สาขาจากทั้งหมด 99 สาขาที่มีอยู่ในจีน รวมถึงปลดพนักงานชาวจีนออกบางส่วน 

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานดับเพลิงจีนได้สั่งปิดห้าง ล็อตเต้ มาร์ท ไปถึง 74 สาขา โดยอ้างว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบด้วยการระงับและป้องกันอัคคีภัย เช่น เอากล่องไปวางขวางประตูหนีไฟ เป็นต้น ส่วนอีก 13 สาขาก็จำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากทำกำไรไม่ได้ตามเป้า

รัฐบาลจีนหันมาใช้วิธีเล่นงานบริษัทเกาหลีใต้ต่างๆ นานา เพื่อแก้แค้นที่กรุงโซลตัดสินใจอนุญาตให้สหรัฐฯ ส่งระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (THAAD) เข้าไปติดตั้งบนคาบสมุทรเกาหลีเมื่อปีที่แล้ว 

แม้เกาหลีใต้จะอ้างว่าทำเพื่อสกัดภัยคุกคามเกาหลีเหนือ แต่จีนนั้นเกรงว่าเรดาร์อันทรงพลังของ THAAD จะสอดแนมเข้าไปถึงดินแดนของตนได้

ล็อตเต้ เป็นกลุ่มธุรกิจโสมขาวที่ถูกจีนแก้เผ็ดหนักที่สุด เนื่องจากบริษัทยอมยกที่ดินให้รัฐบาลโซลนำไปใช้ติดตั้งระบบ THAAD

รัฐบาลเกาหลีใต้อนุมัติให้ติดตั้งแท่นยิงจรวด THAAD เพิ่มอีก 4 ตัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (7 กันยายน) หลังจากโสมแดงทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6


ที่มา : mgronline.com/around/detail/9600000092988

]]>
1139271
ค้าปลีกจีนกับผู้บริโภคยุค Gen M ครองเมือง https://positioningmag.com/1118936 Fri, 10 Mar 2017 05:10:11 +0000 http://positioningmag.com/?p=1118936 ไชน่าเดลี่ รายงาน (27 ก.พ.) ว่าพฤติกรรมการบริโภค และกำลังซื้อของคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า คนยุค Millennials ที่อยู่ในวัยระหว่าง 18-37 ปี ซึ่งมีมากกว่า 415 ล้านคน ครองสัดส่วนการบริโภคในประเทศมากราว 1 ใน 3

แนวโน้มเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือพฤติกรรมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ความนิยมใหม่ๆ ของกิจกรรมสันทนาการ งานอดิเรก ตลอดจนวิถีบำบัดความทุกข์สุขต่างๆ

เจิ้ง อิ่งฉี วัย 26 ปี ผู้จัดการสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เธอซื้อสิ่งของต่างๆ เกือบทุกชิ้นผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่กิ๊บติดผม แต่การช้อปปิ้งเดินดูของจริง ก็ยังจำเป็นเพราะถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจสัปดาห์ละครั้ง

แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างสามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ก็คงไม่สามารถแทนที่การเดินดู เดินจับสัมผัสสินค้า หรือลองสวมใส่ตรงหน้าได้ อีกทั้งการออกไปเดินช้อปปิ้ง ยังเป็นเหมือนการนัดเพื่อนสังสรรค์

รายงานล่าสุดพบว่า คนจีนยุค Millennials ส่วนใหญ่เกิดช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 แม้จะประหยัดเวลาได้มากในการทำกิจกรรมชีวิตประจำวันต่างๆ แต่ก็ใช้เวลาและเงินจำนวนมาก กว่าสำหรับกิจกรรมบริโภคต่างๆ

รายงานของโกลด์แมน ซาคส์ ระบุว่า บรรดาแบรนด์สินค้าต่างๆ ล้วนกำลังศึกษารูปแบบการบริโภคของคนรุ่นใหม่นี้อย่างใกล้ชิด

อนาคตอันใกล้ จีนจะเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ได้ขยายตัวผ่านช่องทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซ, เกมส์มือถือ และช่องทางถ่ายทอดสดวิดีโอต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รายงานของ CBRE จีน พบว่า คนรุ่นใหม่แม้ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ก็ยังต้องการการเดินดูชมทดลองประสบการณ์ของจริง ในห้างสรรพสินค้า

แอน ฟิชแมน ผู้ก่อตั้ง Generational Targeted Marketing กล่าวว่า อะไรที่ชาว Millennials ให้ความสำคัญ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายสินค้าพึงพิจารณา

งานวิจัยผู้บริโภคชาวเอเชีย ของโกลด์แมน ซาคส์ คาดว่า รายได้รวมของคนยุค Millennials จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านล้านดอลลาร์ จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่าง 5,900 – 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อนี้ เทียบเป็นมากกว่าครึ่งของมูลค่ารวมการบริโภคภาคเอกชนในประเทศสหรัฐฯ ใน 10 ปีข้างหน้า หากสหรัฐฯ ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ที่ราว ร้อยละ 3.7 เช่นที่เคยประสบความสำเร็จในทศวรรษที่ผ่านมา

การวางกลยุทธ์ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ที่ดี จะเป็นสิ่งชี้ขาดชัยชนะการตลาด ยกตัวอย่างเช่น อาลีบาบา ที่ได้เชื่อมโยงช่องทางการซื้อขายกับเครือข่ายอย่าง Intime Retail Group Co. แล้ว

ที่มา : http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9600000020519

]]>
1118936
แข่งเดือด ! คลื่นลูกที่ 3 ซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์จีน https://positioningmag.com/56041 Sun, 20 Oct 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=56041

เมื่อ 5 ปีก่อน ครอบครัวเพื่อนสนิทชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้เดินทางมาฮ่องกงครั้งแรก ผู้เขียนประหลาดใจเมื่อสินค้าพวกเขาตั้งใจมาช้อปกระจายไม่ใช่มือถือหรือกระเป๋าหลุยส์ฯ แต่เป็นยาสระผม ครีมทาผิว และสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคแบรนด์ใหญ่ระดับโลกที่เราหาได้ตามห้างฯ ทั่วไป เมื่อสอบถามก็ได้คำตอบว่า พวกเขาเชื่อว่าส่วนใหญ่สินค้าเหล่านี้ที่ผลิตในจีนจะมีสารพิษปนเปื้อน!

ความกลัวของผู้บริโภคเริ่มจากของอุปโภคบริโภคเริ่มจาก “ของใช้” และวันนี้ก็ขยายวงอย่างรุนแรงไปถึง “ของกิน” เพราะตลอดปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีนต่างรับรู้แต่ข่าวร้ายๆ ไม่ว่าเป็น นมผงปนเปื้อน เนื้อไก่ที่กินอาจจะไม่ใช่ไก่จริงๆ ไข่ สาหร่าย และซาลาเปาปลอม ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคจีนผวากับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขึ้นชื่อว่า Made in China จนขึ้นสมอง!

ข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับการวิจัยของหูรุ่นที่ระบุถึง “ดัชนีความสุขของเศรษฐี” (Millionaire Happiness Index) ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยพบว่าสิ่งเศรษฐีจีนต้องการมากที่สุดไม่ใช่ ความรัก เวลา หรือความต้องการด้านวัตถุ แต่เป็นการขอแค่มีสุขภาพที่ดี และซึ่งความจริงที่จริงยิ่งกว่าก็คือ คนจีนทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต่างคาดหวังที่จะมีสุขภาพดีกันทั้งสิ้น!

ดังนั้นปัญหาวิกฤตความเชื่อด้านอาหารการกินของชาวจีนนี้เอง เป็นที่มาของการเกิดธุรกิจเทรนด์ใหม่ในโลกไซเบอร์ นั่นคือ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ (生鲜电商)” หรือพูดง่ายๆ คือ การนำตลาดสดมาไว้บนเน็ต เพื่อให้คนสั่งซื้อได้จากทั้งเว็บและมือถือ

จากหนังสือ สู่เสื้อผ้า จนมาถึง “ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์”

กูรูกล่าวกันว่าเทรนด์การขายสินค้าออนไลน์ในจีนในวันนี้ก้าวมาถึงยุคที่ 3 แล้ว ที่เริ่มต้นจากการหนังสือ โดยลอกโมเดลมาจากแอมะซอน จนมาถึงสินค้าแฟชั่นอย่างเสื้อผ้า ทั้งสินค้าส่งตรงจากโรงงานเพื่อจับกลุ่มวัยทีนที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของนักช้อปไซเบอร์ในจีน ล่าสุดคลื่นลูกที่ 3 คือ “อาหารสด” ซึ่งการมาถึงของคลื่นลูกนี้จะยิ่งทำให้ระบบการขายของผ่านเน็ตในจีนบูมเป็นก้าวกระโดด เพราะเป็นการอาหารการกินที่คนทุกเพศทุกวัยต้องการบริโภค และนี่เองจึงทำให้เกิดการคาดการว่าแม้ตลาดซุปเปอร์ฯออนไลน์ในจีนเพิ่งเปิดแค่ปีเดียว แต่ก็เชื่อว่าจะมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาทในเร็ววันนี้!

ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่ามหาศาลเมื่อเทียบกับกำไรต่อชิ้นต่ำ เนื่องจากเป็นอาหารสดที่คนทั่วไปทราบราคาตลาดอยู่แล้ว ทั้งยังมีต้นทุนของการขายและจัดส่งที่สูงกว่าสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งในห้องเย็น และยังต้องปรับเวลาการส่งให้เร็วยิ่งขึ้นจากวันเป็นชั่วโมง! เพื่อคงความสดใหม่พร้อมรับประทาน

แต่ในมุมร้ายก็มีมุมดี เพราะการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นเป็นสิ่งตายตัว เมื่อเข้ามาช้อปยังโลกออนไลน์ ฟีเจอร์ของการเก็บประวัติการสั่งซื้อ ทำให้อำนวยความสะดวกในการซื้อซ้ำได้ภายในคลิกเดียว ซึ่งก็ทำให้ประหยัดเวลา (เพราะใครๆ ก็เบื่อที่จะเลือกซื้อสินค้าเดิม แถมยังต่อคิวจ่ายเงินซื้อของที่ซุปเปอร์กันทั้งนั้น) และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกค้าทุกคนกลายเป็นลูกค้าขาประจำได้มากขึ้นอีกด้วย

ฝรั่งกับจีน เหตุที่ซุปเปอร์ฯ ออนไลน์บูมนั้นมันคือหนังคนละม้วน

อันที่จริงเทรนด์ของซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือจีนแผ่นดินใหญ่ก็บูมพร้อมๆ กัน ขอเริ่มที่ฝั่งอเมริกาก่อน โดยยักษ์อี-คอมเมิร์ซอย่างแอมะซอนก็ได้ทำการทดลองขายสินค้าสดออนไลน์ผ่านบริการชื่อว่า แอมะซอนเฟรช มาแล้ว 5 ปี นอกเหนือจากอาหารที่แพงกว่าตลาด 14% แล้ว โมเดลธุรกิจคือการสมัครสมาชิก Amazon Prime Fresh เพื่อจ่ายค่าขนส่งอาหารสดรายปีให้ถึงบ้าน (ปีละ 9,000 บาท) รวมถึงบริการสตาร์ทอัปน้องใหม่ที่การันตีจัดส่งสินค้าจากซุปเปอร์มาเก็ตถึงบ้านภายใน 3 ชั่วโมงอย่าง Instacart

และไม่ว่าบริการไหนในอเมริกา ต่างมีกลุ่มเป้าหมายเหมือนๆ กัน คือ กลุ่มคนมีเงิน ที่เวลาน้อย และไม่อยากขับรถไปไกลเพื่อซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน จึงยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อคุณภาพและความสบาย

แต่สำหรับที่จีน ประเด็นวิกฤตคุณภาพอาหาร ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดบริการซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และที่ปลูกในประเทศจนผ่านการรับรอง แต่ที่น่าวิตกกว่าก็คือ ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางถึงสูงกล้าที่จะยอมจ่ายค่าอาหารสด ที่การันตีว่าปลอดสารพิษ ทั้งๆ ที่แพงกว่าตลาดทั่วไปตั้งแต่ 40-175%

ฉะนั้นวันนี้ความจริงในจีนวันนี้ก็คือ “อาหาร” ได้กลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงชนชั้นของคนจีนไปเสียแล้ว!

ขาใหญ่ ปรับตัวไว

ที่จีนตลาดไหนมีศักยภาพ แค่กระพริบตาก็กลายเป็นทะเลสีเลือด และวันนี้ตลาดซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ก็มีขาใหญ่คลุมเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่เว็บค้าสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างอี้เฮ้าเตี้ยน (一號店) เว็บอี-คอมเมิร์ซอันดับต้นๆ อย่าง jd.com ก็ต่างพร้อมใจกันเปิดบริการขายของสดออนไลน์กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นผักสด ผลไม้ และสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่เหมือนกับซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แบ่งแยกออกเป็นล็อกให้เลือกคลิกซื้อได้สะดวก และที่ล้ำกว่านั้นก็คือ มีการการันตีที่จะจัดส่งถึงบ้านภายใน 100 นาทีด้วย ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในประวัติของการช้อปสิ้นค้าออนไลน์ของทั่วโลกเลยทีเดียว

ซุปเปอร์มาเก็ตแบบ AR คืออนาคต

ข่าวใหญ่ที่คนในวงการค้าปลีกจีนยากที่จะรับได้คือ ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากแต่ร้านค้าปลีกยักษ์ของฝรั่งอย่าง วอล์มาร์ท, คาร์ฟูร์ และ เทสโก้ ในจีนต่างประสบปัญหายอดขายไม่มากอย่างที่คิด และเมื่อคิดหักลบกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ค่าเช่าที่ น้ำไฟ และค่าแรงงานที่แพงขึ้น ทำให้หลายค่ายต่างพากันที่จะถอนตัวออกจากตลาด โดยรายแรกที่ยอมถอดใจก็คือ คาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส

เมื่อรู้ว่าธุรกิจโลกออฟไลน์มีต้นทุนดังที่กล่าวมาสูง โดยเฉพาะกับการค้าปลีกที่กำไรต่อชิ้นต่ำ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา และล่าสุดทางเว็บอี-คอมเมิร์ซที่เป็นเจ้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “อี้เฮ้าเตี้ยน” (ที่แม้จะเป็นของคนจีนแต่ก็ได้รับเงินลงทุนจากวอลมาร์ทที่ซื้อหุ้นไปแล้วถึง 51%) ก็ได้หันมาสร้างห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเสมือนจริงผ่านแอปฯ Augmented Reality โดยข้อดีที่ได้เปรียบร้านค้าปลีกในโลกออฟไลน์อย่างยิ่งยวดก็คือ การเลือกทำเลได้ตามชอบใจ เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่มีค่าไฟ ไม่มีค่าเช่าที่ ไม่จำกัดขนาดของพื้นที่ อัปเดทสินค้าใหม่ได้ตลอดเวลา

กล่าวคือ ทางทีมงานได้สร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเสมือนจริงในรูปแบบ 3 มิติ โดยเมื่อลูกค้าไป ณ จุดที่ร้านค้าเปิดให้บริการ ก็เพียงเปิดแอปฯ และส่องมือถือไปยังทิศทางที่ถูกต้องก็จะสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ในซุปเปอร์ได้จริงๆ เมื่อช้อปเสร็จก็รอรับของที่บ้านได้ทันที

ดูวิดีโอแนะนำการช้อปซุปเปอร์ผ่านแอปฯ AR ของอี้เฮ้าเตี้ยน ได้ที่นี่


ฟังดูแล้วไอเดียนี้เหมือนเป็นแค่กิมมิกการตลาด แต่หลังจากที่เปิดทำการ ก็พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 17% ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะสินค้าที่ลด 50% จะขายดีเป็นพิเศษ ซึ่งการเปิดห้างเสมือนจริงที่ต้นทุนถูกมหาศาลนี้เอง ทำให้ทางอี้เฮ้าเตี้ยนวางแผนที่จะเปิดซุปเปอร์ตามใจชอบของตัวเองถึง 1,000 แห่งภายในปีนี้

ถึงตอนนี้การมาถึงของเทรนด์ซุปเปอร์ฯ ออนไลน์ในจีนก็ถูกเฉลยถึงสาเหตุอย่างชัดเจนแล้ว เมื่อมองมาถึงเมืองไทยที่อุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบอาหารที่รสชาติดีราคาถูก จึงไม่อาจเร่งดีมานด์ด้านการค้าอาหารสดออนไลน์ได้ แต่กับสินค้าหมวดอื่นๆ จำพวกสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นยังมีโอกาสโตอีกมาก เพราะด้วยการเคลื่นย้ายมาสู่คอนโดกลางกรุง การมีบริการส่งตระกร้าที่บรรจุสินค้าต้องใช้จากซุปเปอร์ถึงประตูห้องได้ทุกสัปดาห์ เพียงลูกค้าแค่คลิกออเดอร์ออนไลน์ จุดนี้เชื่อได้ว่าคนเมืองบนตึกระฟ้าย่อมอ้าแขนรับอย่างแน่นอน!

]]>
56041