ชมรมพลังงานไทยทำไทยใช้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Jun 2008 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 งานเสวนา E85 อนาคตพลังงานชาติ ทางเลือก ทางรอดของไทย https://positioningmag.com/41772 Tue, 24 Jun 2008 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=41772

ชมรมพลังงานไทยทำไทยใช้ (The Coalition for Energy Sustainability and Security for Thailand – ESST) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถผลิตหมุนเวียนได้ในประเทศ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “E85 อนาคตพลังงานชาติ ทางเลือก ทางรอดของไทย” ที่ห้องโลตัส 1 และ 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แก่

1. ดร.วิจิตร ศรียรรยงวัฒน์ นายกมูลนิธิสถาบันพืชพลังงานทดแทน
2. นายมานะ ฤทธิชัยสมาจาร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสี่แคว นครสวรรค์ และประธานสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยสี่แคว
3. นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย
4. นายธิบดี หาญประเสริฐ ประธานชมรมพลังงานไทยทำ ไทยใช้ และรองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทดแทน เอทานอล-ไบโอดีเซล แห่งประเทศไทย
5. นาวาเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
6. นายประวิทย์ ประกฤตศรี ตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย

ทั้งนี้ โดยมี นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

การเสวนาเริ่มต้นขึ้นโดยนายมนูญ กล่าวเปิดประเด็นว่า พลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจตอนนี้ และมีอยู่หลายประเภท ตั้งแต่แก๊สโซฮอล์ E10 E20 E85 หรืออาจจะถึง E100 แต่สิ่งที่จะเจาะลึกกันวันนี้คือเอทานอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง E85 ถ้าเราจะเอา E85 มาใช้กัน มันจะเป็นทางรอดจริงๆ หรือไม่ มีปัญหาในด้านใดบ้าง ผลิตเอทานอลได้เพียงพอหรือเปล่า ผลประโยชน์ลงไปที่เกษตรกรจริงๆ หรือไม่

นายธิบดี หาญประเสริฐ ประธานชมรมพลังงานไทยทำ ไทยใช้ และรองประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทดแทน เอทานอล-ไบโอดีเซล แห่งประเทศไทย เริ่มต้นพูดถึงสิ่งที่หลายคนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับแก๊สโซฮอล์ว่า E10 มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าเบนซินธรรมดาอยู่ที่ 2-3% ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดเครื่องยนต์รถ และพฤติกรรมการขับ E20 อยู่ที่ 6% ส่วน E85 อยู่ที่ 26% ซึ่งทุกที่ในโลกยอมรับว่า แก๊สโซฮอล์ให้อัตราการสิ้นเปลืองมากกว่าจริง แต่สิ่งที่คนไม่พูดถึงคือ ประสิทธิภาพของเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ให้กำลัง ให้แรงบิดที่มากกว่าเบนซินธรรมดา 3%

เรื่องสิ่งแวดล้อม และคุณสมบัติทางเคมี เมื่อผสมเอทานอลเข้าไป แรงดันการระเหยมีจริง แต่เมื่อผสมเยอะสิ่งนี้จะต่ำลง และช่วยลดสัดส่วนของ emission มากขึ้นอีกเยอะ

หากจะจัดโครงสร้างราคาให้เหมาะสม สำหรับแก๊สโซฮอล์ E10 E20 และ E85 ควรอยู่ที่ 4 บาท 6 บาท และ 15 บาทตามลำดับ (เทียบจากราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร)

ในส่วนของรถจักรยานยนต์ หลายคนสงสัยนายธิบดีตอบว่า จักรยานยนต์ใช้ E10 ได้แน่นอน เพราะส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะหมดแล้ว ส่วนแก๊สโซฮอล์ประเภทอื่นๆ ทั้ง E20 E85 หรือแม้กระทั่ง E100 ก็สามารถใช้ได้โดยการปรับตั้งเครื่องยนต์ ทว่ายังใช้ได้ตามที่ตั้งปรับ ไม่สามารถใช้ได้แบบเครื่องยนต์ Flexifuel อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ หากใช้ E85 ในจักรยานยนต์ จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มากทีเดียว เพราะควันขาวของจักรยานยนต์มีอันตรายยิ่งกว่าควันดำของรถบรรทุกอีก

ในส่วนของค่ายรถยนต์ ธิบดีมีความเห็นว่า เรื่องเทคโนโลยีเอทานอลหรือ E85 หลายยี่ห้อก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร เพราะเคยมีที่บราซิล หลายประเทศก็เริ่มไปแล้ว บ้านเราเน้นส่งเสริมเรื่องการประกอบรถยนต์ในประเทศ ความพร้อมเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ในการผลิต แต่ละบริษัทใช้เวลาสั้นยาวต่างกัน เริ่มแรกคงต้องนำเข้าก่อน ซึ่งรัฐคงต้องดูเรื่องความสมดุลตรงนี้ให้ดี เพราะถ้าไปถามบริษัทรถยนต์ จะได้คำตอบที่ไม่เหมือนกันทุกที่ สำคัญที่สุดคือ นโยบายรัฐต้องชัดเจนก่อน

ส่วนที่มีถามมาว่า ค่ายยักษ์ใหญ่เอาด้วยหรือเปล่าเรื่องนี้ ผมคลุกคลีกับเขาอยู่ตอบได้เลยว่าเอาด้วยแน่นอน แต่เขาขอเวลาหน่อย ในเมื่อแต่ละค่ายพร้อมไม่เท่ากัน รัฐก็ต้องกำหนดกติกาที่เป็นธรรมกับทุกคน วัสดุเราพร้อมอยู่แล้ว อย่างน้อย 6 เดือน หรือปีนึงถึงจะเกิดได้ ต้องใช้เวลา ส่วนตัวผมเชื่อว่า ต้องสร้างที่ดีมานด์ก่อน หากรัฐกำหนดเป็นกฎหมาย เกษตรกรก็จะกล้าปลูก กล้าทำกัน เมื่อทุกคนลงไปเล่น การวิจัยพัฒนา การส่งเสริมก็จะเพิ่มมากขึ้น อ้อยอาจไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ แต่เพิ่มผลผลิตได้ ซึ่งถ้าจะเพิ่มผลผลิต ก็ต้องทำให้ดีมานด์มีพอกัน ไม่งั้นก็เหลือ

ประเด็นเรื่องไบโอดีเซลก็ยังต้องพูดอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสมดุลเรื่องการบริโภคดีเซลและเบนซิน เพราะถ้าดีเซลยังใช้มาก เราก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเท่าเดิม รัฐต้องเป็นกรรมการตัดสินอย่างยุติธรรมกับชาติ อย่างน้อยต้องออกเป็นพรบ.เหมือนสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่า 2552 จะต้องผลิต 350 ล้านลิตรต่อวัน

ประเด็นอีโค-คาร์กับ E85 ไปด้วยกันได้ไหม นายธิบดีตอบว่า แรกเริ่มอีโค-คาร์ต้อง 20 กม./ลิตร แต่ E85 สิ้นเปลืองกว่าเบนซิน 25-30% มันก็เป็นได้ยากที่จะตัวเลขเท่านั้นได้ มองในแง่การตลาดของบริษัทรถยนต์ ในเชิงลึกแม้อนุมัติโครงการแล้ว แต่ถ้าบริษัทจะปรับมาใช้ E85 ก็สามารถทำได้เพราะน้ำมันราคาถูกกว่า ถ้าปรับมาใช้ได้ก็ยิ่งดี

ประเด็น E100
เราเคยพยายามจะนำเสนอให้ยกเลิกเบนซิน 95 แต่ก็ยังมีผู้ใช้อยู่ล้านกว่าลิตรที่ไม่ใช้แก๊สโซฮอล์ เนื่องจากไม่เชื่อมั่น ส่วน 91 ยังมีคนใช้อยู่ 10 ล้านลิตร ดูเหมือนง่าย แต่หากไปใช้ E10 91 ทั้งหมดจะกระทบต้นทุนโรงกลั่น ก็ต้องให้เวลาทางโรงกลั่นในการปรับกระบวนการผลิต ส่วนการใช้ E85 ก็คงต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีกหน่อย เพราะถ้าจะลดการกลั่น ดีเซลที่กลั่นได้ก็ลดลงด้วย ก็ต้องคุยกันอีกเยอะ

รถที่ใช้คาบูเรเตอร์มีอยู่ 57,000 คัน โจทย์คือ 17,000 คันเท่านั้นที่ไม่สามารถจูนเครื่องมาใช้เบนซิน 91 ได้ สถิตินี้บอกว่า รถพวกนี้อายุเกิน 15 ปีหรือเปล่า แล้วเค้าเปลี่ยนเครื่องไปใช้หัวฉีดหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อว่า มีแค่ 3,000-4,000 คัน คิดเป็น 0.001% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟันธงไปเลยว่าจะเลิกไปเลยไหม ไม่ยังไงก็ให้ปตท.นำเข้ามาขายเฉพาะ ราคาแพงหน่อยก็ว่ากันไป เจ้าของรถโบราณก็มีเงินกันอยู่แล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะเห็น E85 เมื่อไร ธิบดีตอบว่า ปีครึ่งก็เห็นแล้วแบบไม่เป็นทางการ อยู่ที่รัฐบาลไทยต้องชัดเจนจริงๆ

นาวาเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ปีนี้เราประมาณกันว่า เรานำเข้าน้ำมัน 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้เรามีส่วนแบ่งการใช้เอทานอล คิดเป็น 3.8% ในเวลา 10 ปีที่เราผลักดันกันมา แต่ในบราซิลนับตั้งแต่ปี 1977 ที่เขาเริ่มต้นทำกัน ตอนนี้ของบราซิลคิดเป็น 45% แล้ว สิ่งที่ยังขาดในบ้านเราคือเรื่องกฎหมาย กรณี E85 ตอนนี้เหมือนมือหนึ่งไปทางหนึ่ง อีกมือไปอีกทาง เหมือนคนกำหนดนโยบายยังไม่รู้และเข้าใจจริงๆ

อันที่จริงถ้าเราทำ E85 ไม่ต้องกลัวว่าน้ำตาลจะแพงเลย ถ้าทำจริงๆ น้ำตาลจะถูกด้วยซ้ำไป อาหารก็ไม่ขาดแคลนด้วย การผลักดันเรื่องเอทานอล เป็นเรื่องที่เราทำเพื่อภาคเกษตรเป็นสำคัญ เนื่องจากคนกว่า 30 ล้านคนในประเทศยังอยู่ในภาคเกษตร

เรื่อง E85 ทุกค่ายที่ขายรถยนต์ในบราซิล มี E100 เนื่องจากบราซิลไม่ต้องนำเข้าน้ำมันเลย 45% มาจากการปลูกขึ้นมา ส่วนอีก 55% มาจากการขุดน้ำมันได้หน้าบ้านตัวเอง ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์มีองค์ความรู้อยู่แล้ว E85 เกิดในประเทศไทยได้แน่นอน

กรณีที่มีข้อสงสัยว่า การผลิตเอทานอล/แก๊สโซฮอล์ใช้พลังงานสูงกว่าพลังงานที่แก๊สโซฮอล์ให้ ขอตอบว่าไม่จริง ถ้าเทียบกับน้ำมัน น้ำมันขุดจากซาอุดิอาระเบีย ขึ้นมาเก็บ ขนส่งมาบ้านเรา ก็ใช้พลังงานเยอะเหมือนกัน ยังไงๆ ประเทศไทยก็ได้กำไรประมาณ 7 เท่า เพราะตอนปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อยก็ใช้คน ตอนเลี้ยงใช้เทวดา (ธรรมชาติ) ตอนเก็บเกี่ยวก็ใช้คน ไม่ได้ใช้น้ำมันพูดง่ายๆ ว่า จริงๆ ต้องคิดเปรียบเทียบกับในภาพรวมตั้งแต่ต้นจนจบแล้วเราจะเห็นภาพว่า มันไม่จริง เรื่องอาหารโลกขาดแคลน ก็ไม่ต้องคิดเลย

ดร.สมัยเสริมประเด็นอีโค-คาร์กับการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ว่า ถ้าจูนจริงๆ เชื่อว่า อาจจะได้ ในอัตรา 20 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อสำคัญคือ เราต้องมีการตัดสินใจทางการเมืองที่แน่วแน่ ออกมาเป็นกฎหมายให้ชัดเจน อย่างในสหรัฐผลักดันพลังงานด้วยกฎหมายในทุกรัฐ แคลิฟอร์เนียกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมหนักหนาสาหัสกว่าเรามาก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ข้อสงสัยในเรื่องที่ว่า เราจะมีเอทานอลเพียงพอต่อการผลิต E85 หรือเปล่า ในส่วนของผู้ผลิตเอทานอล ถ้าขึ้นผลิตครบทุกโรงงาน เราจะมี 49 โรงงาน ต้องบอกว่าพอ และเหลือด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสภาพความเป็นจริง โรงกลั่น ผู้ผลิตรถ ผู้ใช้รถ ก็ต้องไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้ 11 โรงงานผลิต 1.575 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งที่ความต้องการในประเทศยังแค่ 7 ลิตรต่อวันเท่านั้นเองต่อวันตอนนี้ เราก็เลยต้องส่งขายทางอื่น

ต้องบอกว่า การเลือกส่งเสริม E85 นั้นมาถูกทางแล้ว แต่ปัญหาคือ กฎหมายยังกำหนดให้เอทานอล ต้องขายให้โรงกลั่นน้ำมันอยู่ ดังนั้นเราต้องเปิดเสรีการขาย ภาพการผสมน้ำมันกับเอทานอลต้องเปลี่ยน เราอาจจะตั้งโรงงานผสมที่หัวเมือง ให้ใกล้โรงเอทานอล หรือเปิดให้ผู้ค้าเอทานอลสามารถแป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้ ไม่อย่างนั้นการขนส่งเอทานอล 85% ไปให้ผู้ผลิตน้ำมัน ค่าขนส่งต้องเพิ่มขึ้น

หากราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ถ้าตั้งราคา E85 ที่ 25 บาท การจะทำให้ E85 ไปรอดก็อยู่ที่โครงสร้างราคาเอทานอลนี่แหละ โครงสร้างราคาที่ว่า หมายรวมถึงสัดส่วนของราคาของแต่ละภาคส่วน ตั้งปต่ผู้ผลิตเอทานอล ผู้ผลิตน้ำมัน ผู้ขายน้ำมัน โครงสร้างราคาต้องได้รับการกำหนดอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

การจัดเก็บภาษี 2.575 บาทต่อลิตรสำหรับเอทานอล ในเมื่อรัฐบาลบอกว่า ภาษีของเอทานอลที่ใช้เชื้อเพลิงไม่เก็บ มันก็ควรลดลงมาอยู่ที่ 0.55 บาท

ทั้งนี้ หากจะจริงจังกับ E85 รัฐต้องดูแลพื้นที่การปลูกพืชไร่ให้ดีๆ จัดการให้ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว อีกเรื่องหนึ่งคือ กฎหมายจัดการเอทานอลยังไม่มีชัดเจน เพราะเอทานอลยังถือว่าอยู่ในหมวดสุรา จึงมีกรมสรรพสามิตดูแล เป็นไปได้ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับเอทานอลโดยเฉพาะ

นายสิริวุทธิ์ยังย้ำว่า เรามีพอกินอยู่แล้วสำหรับการผลิตน้ำตาล เรื่องน้ำตาลขาดไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน เราควรจะห่วงเรื่องที่ต้องนำเข้าน้ำมันเข้ามามากกว่า

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตเอทานอล 11 รายมีกำลังผลิต 1.5 ล้านลิตร 10 รายมาจากโรงงานน้ำตาล อีกรายเป็นมันสำปะหลัง

ในส่วนของราคาน้ำตาล ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่สูง เพราะน้ำตาลมีเหลือ บราซิลผลิตเอทานอลเป็นหลักแล้วได้น้ำตาลเป็นผลพลอยได้เหลือขาย ราคาในตลาดโลกจึงไม่ขยับมาก อัตราการบริโภคน้ำตาลตอนนี้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะกระแสสุขภาพมา แนวโน้มจะน้อยลงด้วยซ้ำ

บราซิลเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นอิสระต่อราคาน้ำตาล เนื่องจากอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนามาก รถยนต์รุ่นแรกๆ ที่ดัดแปลงเพื่อใช้เอทานอลอย่างเดียวล้วนๆ ต่อมาจึงเกิดเทคโนโลยี FFV ขึ้น ปรับระบบให้รับกับสัดส่วนของน้ำมันอย่างเหมาะสม ส่วนตัวเชื่อว่า เทคโนโลยี FFV เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ประสิทธิภาพในการเผาไหม้และการผลักดันลูกสูบของ E85 ดีกว่าเบนซินธรรมดามาก ที่สำคัญช่วยประเทศ ช่วยชาวไร่ได้มากทีเดียว หากมีเทคโนโลยีดีพอ ก็ช่วยเพิ่มผลผลิตได้

คุณประวิทย์มีความเห็นเพิ่มเติมว่า E20 อาจจะกลายเป็นเชื้อเพลิงพื้นฐานในอนาคตได้ ส่วน E85 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนไทย

นายมานะ ฤทธิชัยสมาจาร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสี่แคว นครสวรรค์ และประธานสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยสี่แคว ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตอ้อย คิดว่า E85 เป็นทางรอดแน่นอน ในส่วนของภาคเกษตรกร ผลที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรคือ มันเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ มันเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสใน 2 ด้าน ทั้งทางด้านพลังงานและเกษตร

อ้อย เป็นพืชพลังงานตัวจริง ไม่มีผลกระทบต่อเรื่องอาหารแน่นอน เราผลิตน้ำตาลในไทย 7.8 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 2 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก เป็น top-3 ของโลก แต่ตัวเกษตรกร จน และมีหนี้อยู่ 24,000 ล้านบาท แต่ E85 จะเป็นโอกาสที่ดีของเรา เป็นการบริหารอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่

ถ้าเราผลิตเอทานอลได้ตรงนั้น ผลิตน้ำมันได้ตรงนั้น ก็ไม่ต้องขนส่งไปขนส่งมา เป็นโอกาสที่ดีจริงๆ ของการแก้ไขเรื่องพลังงาน แก้ไขปัญหาความยกาจน เรื่องพืชผลทางการเกษตรด้วย

– รัฐบาลควรนำบทเรียนในบราซิลมาศึกษาดู ไม่ควรมองมิติเดียวว่า ทำอย่างไรให้พลังงานราคาต่ำลง รัฐต้องมองด้วยว่า ภาคอื่นจะอยู่ได้ไหม ต้องดูท่อน้ำตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ประชาชน ผู้ผลิตเอทานอล ราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นไง ราคาน้ำมัน บราซิลส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดก่อน แต่ผมของมองว่า ให้ประชาชนอยู่บน ฐานสามเหลี่ยมด้านซ้ายเป็นผู้ผลิตเอทานอล ฐานขวาเป็นเกษตรกรผู้ผลิตอ้อย อยากให้รัฐบริหารสามเหลี่ยมด้านเท่านี้ให้สมดุล ไปรอดแน่นอน

– ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของผู้ผลิตน้ำตาล มาเชื่อมต่อเข้ากับผู้ผลิตเอทานอล จะช่วยเรื่องลอจิสติกส์ได้มาก อุตสาหกรรมอ้อย จะสามารถบิดผันไปเป็นอุตสาหกรรมเอทานอลได้

– ในเมื่อตลาดเรามีในเอเชียอยู่แล้ว และเราใช้เอทานอลเป็นรายแรกในภูมิภาค โอกาสในการชิงความได้เปรียบในการส่งออกเอทานอลในอนาคตก็มี

ดร.วิจิตร ศรียรรยงวัฒน์ นายกมูลนิธิสถาบันพืชพลังงานทดแทน กล่าวว่า E85 เป็นทางเลือกที่ดี ผู้มีส่วนที่จะช่วยผลักดันสำคัญก็คือ รัฐบาล ต้องสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้ การผลักดัน E85 จะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อโรงกลั่นน้ำมัน ปีละ 20 ล้านลิตรที่เคยกลั่น ต้องลดกำลังลงถึง 17 ล้านลิตร การวางโรดแมพต้องชัดเจน ผู้ประกอบการน้ำมันก็ต้องการจัดการขนส่ง และการเบลนเอทานอลเข้าไปกับน้ำมัน มีการควบคุมไม่ให้เอาเอทานอลที่จะใช้ในการผลิตพลังงานไปใช้ในการผลิตสุราอย่างไม่ถูกต้อง (รั่วไหล)

ขณะเดียวกัน การมี E85 จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทน อยากให้รัฐบาลออกมาตรการอะไรออกมา ก็ควรเป็นไปตามกลไกจริงๆ ของตลาด ในทางปฏิบัติจริง ๆ เราทำได้อยู่แล้ว บริษัทน้ำมันอย่างปตท. ก็พร้อม แต่รัฐต้องกำหนดให้ชัดเจน กระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องช่วยกันดู เช่น กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องกำหนดราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญ รัฐบาลจะกำหนดอย่างไร ก็ควรให้เป็นอย่างนั้นชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะลำบากกับหลายฝ่าย

นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และผู้ดำเนินรายการ เสริมในประเด็น E20 ว่า หากมี E85 เข้ามา ประเด็นเรื่องเครื่องยนต์ยังไม่เป็นปัญหามากนัก สถานีบริการน่าจะเป็นข้อจำกัดมากกว่า เพราะปั๊มต้องเปลี่ยนถังใหม่เลย

แต่ในอนาคต แต่ละปั๊มคงจะจำหน่ายครบทุกผลิตภัณฑ์ทุกที่ไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอา ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในย่านนั้น แปรตามลักษณะของลูกค้าในภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องลงทุนเปลี่ยนถังถ้าไม่จำหน่าย E85 ทั้งนี้ขึ้นกับการขยายตัวของ E85 ด้วยว่าไปได้เร็วแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่า คงไม่เร็วนักเหมือน E20 ตอนนี้ที่ค่อยๆ ขยายไป

อีกทางเลือกหนึ่ง คือการผสมเอทานอล 5% แล้วบังคับเป็นกฎหมายให้เป็นเบนซินหลักเหมือนดีเซล B5 ก็ได้ อาจจะช่วยได้

เรื่อง E100 ในมุมของยานยนต์ชอบที่จะพัฒนามาเป็น E85 เพราะห่วงเรื่องการสตาร์ท เนื่องจากต้องอาศัยเชื้อเบนซินอยู่หน่อย ถ้าจะใช้ E100 ก็ทำได้ แต่ต้องมีรายละเอียด และอาจจะมีค่ายรถยนต์บางค่ายที่ยังไม่พร้อม แต่ E85 จะค่อนข้างพร้อมทุกเจ้า ทั้งนี้ทั้งนั้น การเริ่มทำ E85 ทุกคนมีจุดที่เจ็บตัวเหมือนกันทั้งนั้น โรงกลั่นต้องกลั่นน้อยลง แต่ในแง่เทรดเดอร์เขาใช้เงินซื้อเอทานอลน้อยลง เพราะถูกกว่าน้ำมันดิบ แต่เรื่องการผลิตหรืออะไรก็ต้องดูกันไป

สรุปคือ E85 อาจจะเป็นทางเลือกไปก่อนในช่วงแรกๆ แต่ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปเรื่อยๆ E85 ก็คงเป็นทางรอดของพวกเราทุกคน

]]>
41772