ซีพีผนึกอาลีบาบา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 10 Nov 2016 08:41:43 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 บิ๊กดีล ซีพีผนึกอาลีบาบาบุกฟินเทค บูมตลาดหรือผูกขาด? https://positioningmag.com/1107858 Wed, 09 Nov 2016 23:50:28 +0000 http://positioningmag.com/?p=1107858 การลงเอยของบิ๊กดีลระหว่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และ อาลีบาบา ของ แจ็ค หม่า นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ แห่งประเทศจีน กำลังถูกจับตามอง ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงฟินเทคในอนาคต

บริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT Finacial) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ อาลีเพย์ (Alipay) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการธุรกรรมทางการเงินของอาลีบาบา (Alibaba) จะเข้าร่วมลงทุนในบริษัทแอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) บริษัทลูกของแอสเซนด์ (Ascend) ในเครือซีพี ในสัดส่วน 20% และอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 30% เพื่อร่วมกันขยายตลาดอาเชียน โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงินลงทุน

ความร่วมมือในระยะแรก จะมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินออนไลน์ และการให้สินเชื่อธุรกิจรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของบริษัทในเครือซีพี และในอนาคตจะต่อยอดขยายไปสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนและประกันภัยในอนาคต

ในเบื้องต้น ลูกค้าที่ใช้บริการอาลีเพย์ สามารถชำระเงินผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และใช้บริการผ่านทรู มันนี่ในไทย ขณะเดียวกันลูกค้าทรู มันนี่จะใช้บริการของอาลีเพย์กว่า 8 หมื่นร้านค้า ที่มีระบบชำระเงินของอาลีเพย์ได้เช่นเดียวกัน

ถัดจากนั้น แอสเซนด์ มันนี่ จะนำความรู้ที่ได้จากแอนท์ ไฟแนนเชียล มาต่อยอดการทำธุกิจ “ฟินเทค” ในไทย เพื่อเตรียมสำหรับบริการทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาด พฤติกรรมของลูกค้า การสร้างลอยัลตี้ฐานลูกค้า มาใช้ในการต่อยอดบริการ ปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย การลงทุน และธุรกิจประกันภัยในอนาคต

เวลานี้ แอสเซนด์ มันนี่เอง ก็มีการปล่อยสินค้าให้กับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย คู่ค้ารายย่อยในเครือซีพีที่ต้องการเงินหมุนเวียนในการใช้จ่ายเพื่อเป็นคู่ค้าทางธุรกิจอยู่แล้ว ก็สามารถนำฐานลูกค้าตรงนี้มาต่อยอดจากระบบของแอนท์

ส่วนทางด้านแอนท์ ไฟแนนเชียลเอง การร่วมมือกับแอสเซนด์ มันนี่ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการหาพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อช่วยขยายบริการ ธุรกรรมทางการเงินดิจิตอล อาลีเพย์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บิ๊กดีลนี้ ก็มีมุมมองทั้งด้านบวก และสร้างความกังวลใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ และฟินเทคในไทย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ให้ความเห็นว่า ข้อดีที่เกิดจากความร่วมมือของอาลีบาบา และกลุ่มซีพี จะผลักดันธุรกิจฟินเทคให้มีการเติบโตมากขึ้น เพราะได้ Know how จากประเทศจีนมาช่วย และอาลีบาบาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ทำให้ตลาดมีความตื่นเต้น เป็นส่วนผสมทำให้ Ecosystem ของอีคอมเมิร์ซเกิดการขยายตัว และยังทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

แต่ผลกระทบที่อาจตามมาก็คือ อาจทำให้เกิดการผูกขาดได้ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มธนาคาร เนื่องจากธุรกิจนี้ของกลุ่มอาลีบาบาที่กำลังเติบโตในประเทศจีน ก็ส่งผลกระทบกับธนาคารเต็มๆ เพราะหลายคนสามารถกู้เงินผ่านบริการทางการเงินของอาลีบาบา แทนที่จะเป็นธนาคารเหมือนกับในอดีต ทำให้เห็นการเปลี่ยนมือจากแต่ก่อนต้องเข้าธนาคารอย่างเดียว ในไทยก็คงไม่แตกต่างกัน คนทั่วไปก็สามารถเข้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกู้เงินได้เช่นกัน ซึ่งทางกลุ่มซีพีเองก็มีบริการครบทุกอย่าง เช่นเดียวกับทางอาลีบาบา ต่อไปคงได้เห็นการร่วมมือกันมากขึ้นในหลายๆ ด้าน

บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้ แพลนเน็ต จำกัด มองว่า ต้องดูพฤติกรรมคนไทย และคนทั้งโลกมีการใช้เรื่องเพย์เมนต์ ออนไลน์มากขึ้น ในประเทศจีนขึ้นแท็กซี่ก็จ่ายเงินผ่าน อี วอลเลต หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ที่ผูกกับบัตรเครดิต พฤติกรรมผู้บริโภคมาทางนี้กันมากขึ้นแล้ว

สำหรับดีลนี้มองว่าไม่ว่าจะอาลีบาบา รวมทั้งผู้เล่นรายอื่นๆ จะช่วยทำให้ตลาดทางด้านการชำระเงินออนไลน์คึกคัก และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น เนื่องจากแต่ละรายอาจจะมีลูกเล่นและการให้บริการที่หลากหลาย ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การผูกขาดยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ เพราะตลาดเรื่องเพย์เมนต์ในประเทศไทยยังเป็นตลาดใหม่ มีผู้เล่นหลายรายยิ่งมาช่วยทำให้ตลาดตื่นตัว และเวลานี้คนไทยเองยังกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่ ไม่เหมือนในจีนที่มีอาลีบาบา และเทนต์เซนต์ ที่เป็นรายใหญ่

word_icon

การมีผู้เล่นใหม่ๆ น่าจะช่วยปลุกกระแสให้ใช้ระบบเพย์เมนต์มากขึ้น ทำให้ตลาดตื่นตัว ซื้อของได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาจจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมถูกลงก็ได้ถ้ามีการแข่งขันกันมากขึ้น ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์มากที่สุด

word_icon2

แต่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบคือธนาคาร อาจทำให้บทบาทและอำนาจของธนาคารลดลง เพราะ Non-bank เข้ามามีบทบาท และเข้าใกล้ผู้บริโภคมากกว่า มีการกู้เงิน และมีจุดแข็งเรื่องเครือข่าย ทำให้ทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยตรง และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด หรือเว็บไซต์ Kaidee.com มองว่าการจับมือร่วมกันครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไทยอย่างแรกเห็นได้ชัดเลยก็คือทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซและตลาดเพย์เมนต์ในประเทศไทยมีการตื่นตัวจากการที่มีผู้เล่นรายใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดมีการเติบโตเพราะที่ผ่านมาระบบการชำระเงินหรือระบบเพย์เมนต์ของไทยยังไม่ราบรื่นเท่าไหร่นักเชื่อว่าอาลีบาบาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้

word_icon

อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนที่มีการเติบโตได้นั้นเกิดจากระบบเพย์เมนต์ที่ดีทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบการชำระเงินของ Alipayที่มีการวางระบบที่ดีและครอบคลุม ซึ่งในประเทศไทยยังมีปัญหาหลักก็คือเรื่องระบบการชำระเงิน หลายคนไม่มีบัตรเครดิต หรือคนที่มีบัตรเครดิตจะไม่ใช้บนช่องทางออนไลน์ รวมถึงการชำระเงินมีวิธีการยุ่งยากเกินไป บางครั้งต้องลงทะเบียนก่อน ผู้ใช้เลยไม่ค่อยสะดวกที่จะใช้เท่าไหร่ การที่ร่วมมือกันครั้งนี้เชื่อว่าจะมีวิธีทำให้สะดวกยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยด้วย

word_icon2

ขณะเดียวกัน ทางด้าน กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว (facebook.com/KornChatikavanijDP) ถึงกรณีดังกล่าวว่า “เห็นทั้งโอกาสและความน่ากลัว”

“ผมคุยกับน้องในแวดวง Fintech เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับ ว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ทำให้ ‘เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า Seven Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง Online และ Offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอปฯ มือถือ, กู้เงิน Peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ Seven Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ’

นี่คือความสะดวกของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเราแทบนึกไม่ออกว่าจะมีคู่แข่งคู่ไหนที่สามารถให้บริการในระดับเดียวกันได้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงว่าการครองตลาดในระดับนี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการอื่น รวมไปถึงผลต่อการพัฒนา SME และนวัตกรรมโดยทั่วไปที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน

“ดังนั้นสิ่งที่เราอยากขอ คือ อย่ากีดกันทางการค้าคนอื่น ให้โอกาสฟินเทคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเครือ Alibaba หรือ CP เติบโตบ้าง และเติบโตไปด้วยกัน เช่น ถ้าจะใช้บริการฟินเทคที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ให้คนใช้มือถือค่ายอื่นใช้ได้ด้วย จะจ่ายเงินด้วย e-wallet ที่เซเว่นก็ให้โอกาส e-wallet เจ้าอื่นเป็น payment gateway ได้บ้าง แล้วการแข่งขันจะทำให้ประเทศไทยรวมถึงกลุ่ม CP เองพัฒนาได้อีกเยอะครับ”

เรื่องแบบนี้ไม่มีประเทศใดที่เพียงแค่ฝากความหวังไว้ว่า ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จะใจกว้าง ทุกประเทศเขาใช้อำนาจรัฐและกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันมีจริง รัฐเราต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ใครมาปิดประตูตีแมวในบ้านเราครับ (แนวคิดจากการสนทนาและบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ เลขาฯ ชมรมไทยฟินเทค)

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของบทสะท้อนถึงบิ๊กดีลที่เกิดขึ้นระหว่างซีพีและอาลีบาบา  ท่ามกลางโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะมีระบบอีเพย์เมนต์เป็นแรงขับเคลื่อนโอกาสของธุรกิจอยางเอสเอ็มอีที่จะมีช่องทางในการขายสินค้าผ่านเครือข่ายออนไลน์แต่ก็กังวลถึงอนาคตที่อาจจะเกิดการผูกขาดขึ้นได้

info_alibaba

]]>
1107858
เปิดแผนความร่วมมือ ‘อาลีบาบา – ซีพี’ https://positioningmag.com/1107511 Fri, 04 Nov 2016 06:51:20 +0000 http://positioningmag.com/?p=1107511 หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญในธุรกิจช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างบริการธุรกรรมทางการเงินยักษ์ใหญ่จากจีน และไทย คือ แอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT Finacial) ผู้ให้บริการ อาลีเพย์ (Alipay) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการธุรกรรมทางการเงินของอาลีบาบา (Alibaba) กับ แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) บริษัทลูกของ แอสเซนด์ (Ascend)

ภายในงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ฮ่องกง นอกจากผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัทที่เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันแล้ว ประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ‘แจ็ค หม่า’ และ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็ได้บินด่วนด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวมาร่วมงานดังกล่าว

โดยปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดเผยถึงสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นของ ANT ภายใน Ascend Money ว่าอยู่ที่ 20% และมีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนอีก 10% เป็น 30% ภายใน 2 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้มีการบอกมูลค่าการลงทุนในดีลนี้แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ยังระบุถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทางอาลีบาบา กรุ๊ป เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นอย่างมากในธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน และแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างประชากรจีนที่มีการใช้งานอาลีเพย์จำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นคือ ลูกค้า Alipay สามารถใช้งาน Alipay Wallet (กระเป๋าเงินออนไลน์) ในไทย ผ่านช่องการทำธุรกรรมของทาง Ascend Money ที่ปัจจุบันให้บริการผ่าน ทรู มันนี่ (True Money) ในประเทศไทยได้ทันที ขณะเดียวกันลูกค้าที่ใช้งาน True Money ก็สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบของ Alipay ได้เช่นเดียวกัน

‘เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบดังกล่าวเกิดขึ้น ลูกค้าของ True Money ก็สามารถนำบริการกระเป๋าเงินออนไลน์ของทรูไปใช้งานกับร้านค้าที่รองรับระบบการชำระเงินของ Alipay กว่า 80,000 ร้านค้าทั่วโลกได้ทันที รวมถึงร้านค้าในประเทศไทยที่ใช้บริการ True Money ก็สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าชาวจีนได้ด้วย’

ถัดมาคือในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี ข้างหน้า ทาง Ascend ที่มีโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยี ที่ ANT ใช้ มาประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจ FinTech ในประเทศไทย เพราะถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการวางรากฐานบริการธุรกรรมทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระะบบวิเคราะห์ความเสี่ยง การตรวจจับช่องโหว่ต่างๆจากการให้บริการ

ขณะเดียวกันก็จะนำความรู้ในแง่ของกลยุทธ์ในการทำตลาด การเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า รวมถึงแผนการตลาดของ ANT มาใช้กับทาง Ascend ที่จะต่อยอดการให้บริการอย่าง การสร้างรอยัลตี้ของฐานลูกค้าที่เป็นสมาชิก ก่อนจะพัฒนาเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย การลงทุน ธุรกิจประกันต่อไป

เนื่องจากปัจจุบัน ทาง Ascend Money ก็เริ่มมีปล่อยสินเชื่อให้แก่องค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย รวมถึงคู่ค้ารายย่อยในเครือซีพีที่ต้องการเงินหมุนเวียน ในการใช้จ่ายเพื่อเป็นคู่ค้าทางธุรกิจอยู่แล้ว ก็สามารถนำฐานลูกค้าตรงนี้มาต่อยอดจากระบบของ ANT ได้เช่นเดียวกัน

‘การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของลูกค้า (Data Analytics) เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ Ascend จะได้เรียนรู้จากพฤติกรรมการจ่ายเงินของเราในปัจจุบัน ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก วิธีที่ ANT คิด และตรงกับ Ascend คือในกระบวนการสร้าง คอมเมิร์ซ ลูป (Commerce Loop)’

สร้างแนวคิดใหม่จากรูปแบบการใช้สอยของลูกค้า

เนื่องจากปัจจุบัน การทำตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะแยกส่วนกันระหว่างการสร้างความเชื่อมั่น (Awareness) ผ่านการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ต่อมาคือการดึงความสนใจลูกค้า (Interest) ด้วยการออกโปรโมชันต่างๆ และสุดท้ายคือการทำรอยัลตี้โปรแกรม (Royalty Program) เพื่อตอบแทนลูกค้าที่เป็นสมาชิก

‘จริงๆแล้วทั้ง 3 ส่วนนี้ควรผสมเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการที่ให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าใหม่ๆผ่านแอป ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เจาะจงตัวบุคคล เพื่อสร้างความสนใจ ขณะที่ร้านค้าก็สามารถออกโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลได้ รวมถึงการสร้างระบบสมาชิกเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านแอป’

จากแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อสร้างคอมเมิร์ซลูป ที่จะเปลี่ยนวิธีที่คนใช้ในการทำอีคอมเมิร์ซ เพียงแต่ว่าในการทำรูปแบบดังกล่าวต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือผู้ให้บริการต้องพร้อม และตลาดก็ต้องพร้อมรับ เพราะถ้าทำเร็วเกินไป ผู้บริโภคไม่ใช้ ไม่สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า บริการก็จะไม่เกิด

‘ธุรกิจนี้ต้องการความเชื่อมั่นสูง ดังนั้นจึงเติบโตช้าในช่วงแรก แต่เมื่อลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เข้าถึงเริ่มมีความมั่นใจในการใช้งาน ก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยใช้ปรับตัวหันมาใช้งาน และจะเติบโตแบบต่อเนื่องต่อไป เพราะถือเป็นบริการที่สะดวกเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทำให้ลูกค้าค่อนข้างคิดหนัก กลัวว่าถ้าง่ายเกินไปจะทำให้เงินหาย’

ตอนนี้บริการทางการเงินยังอยู่ในรูปแบบของเวอร์ชัน 1.0 อยู่ คือเป็นบริการเฉพาะในแต่ละภาคส่วน แต่ในอนาคตเมื่อปรับเป็นเวอร์ชัน 2.0 ที่นำพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ามาวิเคราะห์ในการนำเสนอ ลูกค้าก็จะเห็นถึงมูลค่าเพิ่มที่ได้รับ และจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอลภายใต้แนวคิด ‘FinLife’

1_cp

Alipay ได้อะไร?

ส่วนในมุมของ ANT ก็จะมีการนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจการเงิน กับกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินจากธนาคาร (Unbank) ที่ Ascend มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากตลาดหลักของ Ascend อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา

‘ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนประชากรที่เข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินเพียง 60% เท่านั้น ในขณะที่อีก 40% ไม่มีบัญชีธนาคาร ทำให้เงินสดยังเป็นช่องทางหลักในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการเจาะตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติม’

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่วางไว้ให้ Ascend Money ต้องทำในการครองตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการเพิ่มจำนวนจุดรับบริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็น 5 แสนจุดภายในปี 2560 จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วราว 6 หมื่นจุด โดยแบ่งเป็นในประเทศประมาณ 2 หมื่นจุด และในต่างประเทศประมาณ 4 หมื่นจุด

‘การเพิ่มจุดบริการจะเน้นเพิ่มในประเทศที่ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการจากธนาคารได้ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ประชากรไม่มีบัญชีธนาคาร ดังนั้นเป้าหมายในการขยายตัวเกือบ 10 เท่าจึงไม่น่าเป็นปัญหา’

ขณะเดียวกันในแง่ของจำนวนฐานลูกค้าที่ใช้งานก็ต้องเพิ่มขึ้น 10 เท่าด้วยเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันบริการ True Money มีลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานในระบบราว 20 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ใช้งานเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ประมาณ 4 ล้านราย ซึ่งมีลูกค้าที่ใช้งานประจำราว 7 แสนราย ก็ต้องเพิ่มลูกค้าที่ใช้งานประจำเป็น 7 ล้านราย ภายใน 1 ปีครึ่ง

ที่ผ่านมา Ascend Money มีมูลค่าเงินที่ผ่านระบบราว 7.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 30% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในระดับนี้ต่อไป โดยปัจจัยที่ทำให้เติบโตมาจากการที่มีจำนวนลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการ เบื้องต้นได้เตรียมที่จะเพิ่มงบลงทุนในปีหน้าอีกเท่าตัวเป็น 2 พันล้านบาท จากที่ใช้ไปในปีนี้ราว 1 พันล้านบาท

เมื่อมองถึงภาพรวมแล้ว สิ่งที่ ANT ได้แน่ๆคือจำนวนฐานลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Ascend Money ที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้ Alipay มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มถึง 2 พันล้านรายใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีลูกค้าใช้งานอยู่ราว 450 ล้ายราย

ก้าวต่อไปของ Alipay

ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโส บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป เล่าให้ฟังถึง ความท้ายทายในการทำธุรกิจของ ANT ว่า มี 3 สิ่งหลักๆด้วยกัน คือเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินดิจิตอล ที่ผู้ใช้งานจะไม่ได้สัมผัสกับเงินสด ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องมีความมั่นใจในแง่ของระบบความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ

ต่อมาคือเรื่องของการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานเงินสดในหลายๆภูมิภาค ที่ยังใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยเป็นรูปแบบหลักอยู่ รวมถึงการเสริมช่องทางในการนำเงินสดเข้าสู่ระบบเงินดิจิตอลที่ต้องทำได้ง่าย และสะดวก สุดท้ายคือการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิตอล เพื่อให้ผู้ใช้มีแรงจูงใจในการที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงินสดเป็นเงินดิจิตอล

ดังนั้น แผนธุรกิจของ ANT คือการหาพาร์ทเนอร์ที่เข้าใจในตลาดของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นแผนการณ์สำคัญที่จะทำให้บริการ Alipay เป็นที่รู้จักในระดับโลก ด้วยการให้พาร์ทเนอร์ในแต่ละพื้นที่ สร้างรูปแบบการใช้งานธุรกรรมการเงินดิจิตอลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ขึ้นมา ด้วยการสนับสนุนในแง่ของเทคโนโลยี และความรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ

เมื่อเห็นถึงรูปแบบการทำธุรกิจดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ ANT หรือ อาลีบาบา ทำคือการสร้างธุรกิจให้แก่ผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ เปรียบเสมือนการแบ่งกันเติบโต เพื่อสร้างความสะดวกในการให้แก่ผู้ใช้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปคือ Ascend ที่เป็นบริษัทภายใต้เครือของซีพี จะนำรูปแบบดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจในไทยอย่างไรต่อไป

อ่านต่อ >> http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000110155

]]>
1107511