ซีรีส์จีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 06 Apr 2023 17:02:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับ ‘WeTV’ แพลตฟอร์มที่ยืนหนึ่งตลาดคอนเทนต์เอเชีย กับกลยุทธ์ที่มากกว่าคอนเทนต์โดนใจ แต่ต้องอยู่กับผู้ชมในทุกทัชพอยต์ https://positioningmag.com/1426070 Fri, 07 Apr 2023 10:00:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426070

เผลอแป๊บเดียว แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอย่าง ‘วีทีวี’ (WeTV) ที่ถือเป็นผู้จุดกระแส ‘ซีรีส์จีน’ และกระแส ‘C-Pop’ ให้กับประเทศไทย ก็กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และปัจจุบัน WeTV ก็ขึ้นแท่นเป็น Top 3 แพลตฟอร์มสตรีมมิงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Positioning จะพาไปเจาะลึกถึงกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มกับ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 4 ปีเต็ม


คาแรกเตอร์ชัด ผู้บุกเบิกคอนเทนต์จีน

ทำตลาดในไทยมา 4 ปีเต็มแล้ว สำหรับ ‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีน โดย กนกพร ยอมรับว่าการแข่งขันนั้นดุเดือดขึ้นทุกวัน เพราะไทยถือเป็นหมุดหมายแรก ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจะเข้ามาทำตลาด โดยผู้เล่นแต่ละรายก็จะมี จุดเด่น และ คาแรกเตอร์ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป สำหรับ WeTV ก็จะเน้นที่คอนเทนต์เอเชียโดยเฉพาะ ซีรีส์จีน

ปัจจุบัน WeTV ถือเป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย โดยมีทั้งซีรีส์ อนิเมะ รายการวาไรตี้ จากจีน ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับบนแพลตฟอร์มของ WeTV ที่ให้บริการในไทยนั้นมีจำนวนคอนเทนต์รวมกว่า 1,200 คอนเทนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนเทนต์จีนที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มถึง 50% ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ซีรีส์จีนย้อนยุค (60%) และโมเดิร์นดราม่า (40%)

“ถ้าคนอยากดูคอนเทนต์จีน เขาก็จะนึกถึงเราเป็น Top of Mind แต่คอนเทนต์จีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเพราะเขามองหาความหลากหลาย ดังนั้น อีก 50% ที่เหลือจะมีทั้งคอนเทนต์จากไทย, เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมะ เข้ามาเสริม”


ซีรีส์จีนไม่ได้โบราณอย่างที่คิด

ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หรือคนยุค 90 อาจจะคุ้นเคยกับซีรีส์และภาพยนตร์จีนมากกว่าคนเจนใหม่ แต่ กนกพร มองว่านั่นไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะซีรีส์จีนในปัจจุบันไม่ได้เหมือนในอดีต แม้ฉากหลังจะย้อนยุคแต่พล็อตเรื่องเป็นแบบสมัยใหม่ เพราะซีรีส์ส่วนใหญ่จะสร้างมาจากนิยาย ทำให้คนเปิดใจได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ดารา คอสตูม เอฟเฟกต์ การถ่ายทำ ก็อลังการ ทำให้สามารถรับชมได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ก็จะมีกลุ่มที่เป็นแฟนนิยายตามมาดูซีรีส์

“ซีรีส์จีนในยุคปัจจุบันแม้จะมีฉากหลังเป็นยุคเก่า แต่พล็อตเรื่องมีความร่วมสมัยและหลากหลายมาก ทั้งแนวต่อสู้กำลังภายใน สืบสวนสอบสวน อย่างเรื่อง เทียบท้าปฐพี (Who Rules The World) ก็มีนางเอกเป็นตัวนำในการดำเนินเรื่อง แหวกขนบสังคมชายเป็นใหญ่”

โดยในปีที่ผ่านมา WeTV มีจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly-active user) เติบโตขึ้น 20% ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในฝั่งของไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมายอดการรับชมคอนเทนต์จีนยังเป็นอันดับ 1 เติบโต 12%
(รองลงมาคือคอนเทนต์ไทยและอนิเมะ) ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในกลุ่มผู้ใช้งานคนไทยตอบสนองต่อคอนเทนต์จีน โดยปัจจุบัน ผู้ใช้งาน WeTV ในไทยนั้น ราว 75% เป็นกลุ่มอายุ 18-45 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง


ย้ำจุดแข็งเบอร์หนึ่งคอนเทนต์เอเชีย พร้อมส่ง ‘มินิซีรีส์’ เสริมแกร่งด้านคอนเทนต์

ในส่วนของกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ แน่นอนว่าคอนเทนต์จีนยังเป็นกลยุทธ์หลัก แต่ที่เพิ่มเติมคือ มินิซีรีส์ โดยจะเป็นซีรีส์  สั้น ๆ ตอนละ 5-10 นาที มีความยาวประมาณ 30 ตอน โดยหลังจากลองเปิดตัวมาประมาณ 1 ปีในไทยก็ได้รับกระแส  ตอบรับอย่างดี เกิดกระแสบนโลกออนไลน์มากมาย สอดคล้องกับการเติบโตของระยะเวลาการออกอากาศบนแพลตฟอร์ม WeTV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โตถึง 420% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้น (Short-video) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจุดเด่นของมินิซีรีส์คือ จะสามารถดูง่าย จบในตอน ปัจจุบัน มินิซีรีส์ในแพลตฟอร์มมีมากกว่า 100 เรื่อง อีกส่วนที่จะเน้นคือ อนิเมะจีน ที่จะมาจับกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก รวมถึงคอนเทนต์ประเภท วาไรตี้ ที่จะช่วยดึงดูดกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี

สำหรับคอนเทนต์ออริจินัล WeTV ก็มีแผนจะผลิตอย่างต่อเนื่องทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย โดยประเทศไทยได้วางเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ปีละ 4-6 เรื่อง ทั้งซีรีส์วายและซีรีส์ดราม่า โดยจะนำไปฉายให้ครบทุกประเทศที่แพลตฟอร์มให้บริการ อย่างล่าสุดซีรีส์ เมียหลวง ก็ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยการครองอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ให้บริการทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยหนึ่งในจุดมุ่งหมายในการทำออริจินัลของ WeTV คือ อยากทำคอนเทนต์ไทยไปสายตาโลก

“อย่างที่เขาพูดกันว่าซีรีส์วายก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยได้ เพราะเป็นอีกคอนเทนต์ที่ไปตกแม่ ๆ จากต่างประเทศ สำหรับ WeTV ปีที่แล้วก็มีออริจินัลซีรีส์วายออกไป 2 เรื่อง คือ กลรักรุ่นพี่ และ 609 Bedtime Story สำหรับปีนี้ล่าสุดก็มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ผลิตซีรีส์วายอย่าง Dee Hup House และ Just Up นำซีรีส์วาย “ค่อยๆ รัก Step by Step” เวอร์ชัน Uncut มาออกอากาศที่ WeTV ”


ขยายพันธมิตร 100% ทุกด้าน

ที่ผ่านมา WeTV ขยายฐานพันธมิตรแทบ 100% ในทุกแกนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค ซึ่งการจับมือกับพันธมิตรถือเป็นอีกกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และรายได้ โดยในฝั่งของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ WeTV ได้จับมือกับช่องดิจิทัลทีวี เช่น ช่อง 8 ที่นำซีรีส์จีนไปฉายตลอด 7 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลองรับชมซีรีส์จีน ถือเป็น Win-Win Strategy
เพราะช่องก็ได้คอนเทนต์คุณภาพไปฉาย ส่วน WeTV อาจจะได้ลูกค้าใหม่ที่ไม่อยากรอชมคอนเทนต์บนทีวี

อีกกลุ่มพันธมิตรสำคัญคือ ผู้ให้บริการการสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำในแต่ละประเทศ อาทิ Telkomsel และ Indihome ในประเทศอินโดนีเซีย AIS, TRUE และ DTAC ในประเทศไทย โดยในระดับภูมิภาค WeTV ยังเป็นพันธมิตรกับแบรนด์และเอเจนซีโฆษณาชั้นนำระดับโลกมากมาย ซึ่ง WeTV ยังเตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์รายไตรมาสในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสด้านพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเอเจนซีโฆษณา อาทิ GroupM, Omnicom Media Group (OMG), และ Dentsu รวมถึงกลุ่มนักโฆษณาและการตลาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มองเห็นศักยภาพจากการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน WeTV

“เราเชื่อว่าทุกคนพยายามมองหาสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าของเขา เราก็ขอเป็น 1 ในสิทธิพิเศษที่เขาจะให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่กลุ่มโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เติบโตสูงมากจริง ๆ รวมไปถึงการทำโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยอมรับชมโฆษณามากขึ้น”


เข้าหาแม่ ๆ ในทุกทัชพอยต์

กนกพร ย้ำว่า แน่นอนว่าทุกแพลตฟอร์มใช้คอนเทนต์เป็นสิ่งแรกในการดึงดูดผู้ใช้ แต่สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารกับผู้ใช้งาน โดย WeTV ให้ความสำคัญกับ คอมมิวนิตี หรือ แฟนด้อม มาก ดังนั้น บนแพลตฟอร์มเองก็จะมีการนำเทคโนโลยีจาก Tencent มาพัฒนา In-App engagement Feature ไม่ว่าจะเป็น Killing Feature อย่าง Flying Comment หรือคอมเมนต์เรียลไทม์ระหว่างรับชมคอนเทนต์ และฟีเจอร์ Send Love ที่ให้แฟนๆได้ร่วมส่งของขวัญ ร่วมโหวตให้กับดารา ศิลปินที่ชื่นชอบได้ นอกจากนี้ยังนำฟีเจอร์นี้มาผนวกกับ On Ground Activity เช่น กิจกรรมแฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรม WeTV AWARDS ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมกับ WeTV แบบเอ็กซ์คลูซีฟตลอดทั้งกิจกรรม นอกจากนี้ WeTV ก็มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าแฟนคลับซีรีส์จีนและคอมมิวนิตีที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“เหล่าแฟนคลับหรือแม่ ๆ สำคัญมาก เพราะถ้าเขาดูและเขาชื่นชอบก็จะมีการบอกต่อ เราก็จะมีการทำงานอย่างใกล้ชิด พยายามจัดงานแฟนมีตกับศิลปิน และมีการใช้ฟีเจอร์อย่าง Live เพื่อให้แฟนคลับทางบ้านได้ดูด้วย โดยเราพยายามจะจัดให้ได้ 4-6 ครั้ง/ปี”


โอกาสเติบโตมากพอ ๆ กับความท้าทาย

สำหรับเป้าหมายของ WeTV ในปีที่ 5 นี้ กนกพร ระบุว่า ต้องการรักษาการเติบโตที่ 20-30% และต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้ที่เด็กลง ปัจจุบัน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยมีประมาณ 52 ล้าน ผู้ที่ใช้งาน OTT มีประมาณ 26 ล้านคน เฉลี่ยผู้ใช้จะมีแพลตฟอร์มประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม/คน แสดงว่ายังมีโอกาสสร้างการเติบโต

ปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ใช้งานแบบ VIP ในแต่ละวันมีสัดส่วนประมาณ 25% โดยเป้าหมายของ WeTV ในอนาคตคือ เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% โดย WeTV ก็ได้มีการจัดแพ็คเกจที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น แพ็คเกจ 129 บาท/เดือน, 339 บาท/ 3 เดือน และ 1,200 บาท/ปี อย่างไรก็ตาม WeTV ให้บริการแบบไฮบริด ดังนั้น แพลตฟอร์มจึงสามารถเติบโตจากสมาชิกและรายได้จากฝั่งโฆษณา

“ความท้าทายของแพลตฟอร์ม OTT ในตอนนี้ คือ ผู้ใช้แต่ละกลุ่มก็ชัดมากและไม่ค่อยข้ามกัน ดังนั้น เมื่อตัวเลือกเยอะขึ้น การแข่งขันก็ต้องเพิ่มขึ้น และในอนาคตจะยิ่งเห็นการแข่งขันด้านราคากันมากขึ้น สำหรับ WeTV เองมองว่าว่าในความท้าทายตรงนี้ ยังมีโอกาสให้เราเติบโตได้ ไม่ว่าผู้ใช้จะอยากเอ็นจอยคอนเทนต์เราแบบไหน เราก็พยายาม Customize แพ็คเกจให้ตอบโจทย์มากที่สุด”

จากทั้ง 3 กลยุทธ์ที่ WeTV ได้วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคอนเทนต์คุณภาพใหม่ ๆ การขยายพันธมิตรในทุกมิติทั้งด้านคอนเทนต์ไปจนถึงการเข้าถึงผู้ใช้งานและคู่ค้า รวมถึงการเสริมแกร่งคอมมิวนิตีทั้งจากพลังของกลุ่มแฟนๆภายนอกและ In-App Feature ล้วนตอกย้ำว่า WeTV ไม่หยุดอยู่แค่ Top 3 ผู้ให้บริการคอนเทนต์คุณภาพของเอเชียแน่นอน และ WeTV ก็พร้อมใช้ความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มเป็นส่วนผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ออกไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย

]]>
1426070
‘WeTV’ ขอใช้ ‘ซีรีส์จีน’ ตรึงสาวกสตรีมมิ่ง ท่ามกลางสมรภูมิไร้ลอยัลตี้ https://positioningmag.com/1352893 Wed, 22 Sep 2021 03:00:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352893 ในตลาดสตรีมมิ่งที่ทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาค่ายภาพยนตร์ก็หันมาทำสตรีมมิ่งของตัวเองอย่าง ‘Disney’ ที่เพิ่งปล่อย ‘Disney + Hotstar’ ในไทยไปหมาด ๆ จนปัจจุบันตลาดไทยมีผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งกว่า 20 ราย ที่พร้อมจะแย่งชิงเงินและเวลาจากผู้ใช้ให้อยู่กับแพลตฟอร์มตัวเองได้นานที่สุด

‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีนที่รุกตลาดไทยมากว่า 2 ปี ซึ่งถือเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้า เพราะด้วยเงินทุนที่มหาศาลทำให้สามารถผลิต ‘ออริจินอล’ คอนเทนต์ออกมาป้อนบนแพลตฟอร์มได้อย่างต่อเนื่อง กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางของแพลตฟอร์มจากนี้ รวมถึงฉายภาพการแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งไทย

ลอยัลตี้ไม่มีในตลาด

กนกพร ระบุว่า ปัจจุบันตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยมีการแข่งขันคึกคักมาก เพราะมีผู้เล่นกว่า 20 ราย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นทำให้ ‘ไม่มีลอยัลตี้’ ซึ่งเฉลี่ยแล้วผู้บริโภค 1 คนจะใช้งานประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม และใช้เวลารวมในการรับชมเฉลี่ย 3.30 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ใช้เข้าและออกตลอดเวลา เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องพยายาม แสดงจุดยืนในการนำเสนอคอนเทนต์ และหา คอนเทนต์ที่เป็นเทรนดิ้งทำให้เกิดการพูดถึง

“การแข่งขันตอนนี้คือ คอนเทนต์ ผู้เล่นทุกรายพยายามหาคอนเทนต์ดีมีคุณภาพเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่สิ่งสำคัญต้องมีความแตกต่าง โดยเฉพาะคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟหรือออริจินอล”

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ปักหลักซีรีส์จีน ควบคู่คอนเทนต์เอเชียน

จุดเด่นของ WeTV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจากจีน ดังนั้น คอนเทนต์จำนวน 800 เรื่อง รวมกว่า 1 ล้านนาที กว่า 50% เป็นคอนเทนต์จากจีน ซึ่งถือเป็นการจุดกระแสของ C-POP หรือเหล่า ดาราจีน ให้เป็นที่นิยมในไทยโดยเฉพาะในหมู่สาว ๆ ที่นิยมซีรีส์วาย ประกอบกับการที่คนไทยคุ้นเคยกับคอนเทนต์จีนตั้งแต่อดีต จึงทำให้ WeTV เข้าถึงผู้บริโภคไทยได้ไม่ยาก

ส่วนอีก 50% ของคอนเทนต์จะเน้นไปที่คอนเทนต์เอเชีย อาทิ เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมชั่น รวมถึงการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศนั้น ๆ ทำออริจินอลของตัวเอง เพราะรองรับผู้บริโภคที่มีความ fragmentation หรือชอบหลากหลาย โดยในไทย WeTV มีพันธมิตรทางคอนเทนต์มากกว่า 40 ราย

ทั้งนี้ 70% ของผู้ชม WeTV เป็นผู้หญิง และผู้ชมกลุ่มหลักมีอายุเฉลี่ย 18-24 ปี มีสัดส่วน 29% และ 25-34 ปี มีสัดส่วน 26% โดยคอนเทนต์จีนยังเติบโตสูงสุดที่ 137% คอนเทนต์ไทย 40% และคอนเทนต์อนิเมะ 93%

“ความท้ายของเราคือภาพจำที่มีแต่ซีรีส์จีน ซึ่งเราก็พยายามจะเพิ่มความหลากหลาย เพราะอย่างน้อยเปิด WeTV มาจะเจอคอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่งที่ตรงกับความชอบบ้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้ไม่หันไปหาแพลตฟอร์มอื่น อย่างอนิเมชั่นก็ช่วยเพิ่มกลุ่มผู้ใช้ชายให้เพิ่มขึ้น”

สร้างคอมมูนิตี้มัดใจผู้ชม

แน่นอนว่าสาวกซีรีส์ย่อมมีคอมมูนิตี้ที่เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยน ดังนั้น WeTV จึงพัฒนาฟีเจอร์ Flying comment ที่ให้ผู้ชมสามารถแสดงความคิดเห็นระหว่างชมคอนเทนต์เพื่อสร้าง Engagement การมีส่วนรวมระหว่าง WeTV กับผู้ชม โดยฟีเจอร์ดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงด้วยยอดโตกว่า 3 เท่า และ มีจำนวนคอมเมนต์ถึงกว่า 1.5 ล้านคอนเมนต์ต่อเดือน

นอกจากนี้มี ฟีเจอร์ Ins-screen ที่ผู้ใช้สามารถย่อจอเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ในแอปพลิเคชัน มี ฟีเจอร์ Vote สำหรับโหวตในรายการไลฟ์สด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแฟนมีตติ้งกับ WeTV Global Brand Ambassador อีกด้วย

ใช้บริษัทในเครือสร้างการรับรู้

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ WeTV จะใช้และพันธมิตรในเครือเทนเซ็นต์ ประเทศไทย อย่าง Sanook, JOOX, PUBG MOBILE และ WeComics เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับรู้กับผู้ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของ WeTV ได้มากขึ้น

รวมถึงพันธมิตรนอกเครือ อย่างการนำคอนเทนต์ไปฉายบน ช่อง 8 เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงผู้ชมโทรทัศน์ นอกจากนี้จะเพิ่มช่องทางชำระเงิน รวมถึงไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มอย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเดลิเวอรี่ หรือการแลกคะแนน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการ และเพิ่มช่องทางในการรับชมออนไลน์

ปักเป้า 3 ปีขึ้นเบอร์ 2 ตลาดอาเซียน

ตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในปี 2019 WeTV ตั้งเป้าขึ้น Top3 ในตลาดไทย โดยตั้งแต่ช่วงมกราคม-สิงหาคม 2021 WeTV มียอดผู้ใช้งาน DAU เพิ่มขึ้นถึง 63% จากปี 2020 และยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่มีผู้ใช้งานแบบรับชมโฆษณา (Advertising Video On Demand – AVOD) และเป็นอันดับ 2 ในส่วนของผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิก (Subscription Video On Demand – SVOD) โดยใน 6 เดือนแรก WeTV มียอดผู้ใช้งานรายเดือน (MAU) เฉลี่ยที่ 13 ล้านคน และ 25% เป็นผู้ใช้ VIP

ขณะที่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ WeTV มีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users หรือ MAU) กว่า 45 ล้านราย จากภาพรวมตลาด Over-the-top (OTT) ที่มีผู้ใช้รวมทั้งหมด 180 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึง 31% ของประชากรในภูมิภาค โดย WeTV มียอดชมวิดีโอมากกว่า 25 ล้านวิวต่อวัน นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิกของ WeTV ยังเติบโตขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป้าหมายของ WeTV ใน 3 ปีจากนี้คือ ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด OTT เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติบโตให้ได้ 3 เท่าในตลาดไทย

]]>
1352893
จับตาสงคราม ‘สตรีมมิ่งจีน’ ของยักษ์ใหญ่ iQIYI กับ WeTV ที่ย้ายสมรภูมิรบมาไทย https://positioningmag.com/1317698 Wed, 03 Feb 2021 13:15:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317698 หากพูดถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในไทยเราอาจจะคุ้นกับแพลตฟอร์มยักษ์จากฝั่งตะวันตกอย่าง ‘Netflix’ เสียมากกว่า แม้ว่าช่วง 2-3 ปีหลังจะมีผู้เล่นมากหน้าหลายตาขึ้นก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘WeTV’ (วีทีวี) ที่มี Backup เป็น ‘Tencent’ เทคคอมปานียักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้บริการในไทยเมื่อปี 2019

และในปี 2020 ที่ผ่านมา ‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ก็เหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันคือ เน้นคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น นี่จึงเป็นศึกที่น่าจับตาอีกศึกในตลาดสตรีมมิ่งไทย

สงครามเดิมแต่ย้ายสมรภูมิ

สำหรับตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยจะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2020 เพราะการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม แต่จริง ๆ ตลาดสตรีมมิ่งไทยมีมานานมากแล้ว เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เกิดสงครามสตรีมมิ่งมาแล้วกว่า 10 ปี โดยผู้เล่น 3 เจ้าใหญ่ ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent โดย Baidu ก็คือเจ้าของ ‘iQIYI’ ทาง Tencent ก็มี ‘Tencent Video’ ส่วน Alibaba มี ‘Youku’ ที่เสมือน YouTube เมืองจีน โดยเป็นผู้เล่นรายเดียวที่ยังไม่เข้ามาไทย

ทั้ง 3 บริษัทต่างก็ทำสงครามกันมานาน ต่างคนต่างก็ทุ่มให้กับการทำ ‘ออริจินัลคอนเทนต์’ ของตัวเองเพื่อดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุด โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน

ด้าน Tencent Video ก็ตามมาติด ๆ ด้วยผู้ใช้งานแอคทีฟ 550 ล้านรายต่อเดือน และในที่สุดสงครามดังกล่าวก็ลามมาถึงตลาดไทย โดยเริ่มจาก Tencent ที่เปิดตัว ‘WeTV’ ไปเมื่อปี 2019 ภายใต้บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีแบรนด์ในเครืออย่างเว็บไซต์ Sanook, JOOX มิวสิกสตรีมมิ่ง, เกม PUBG MOBILE ส่วน iQIYI เพิ่งขยับออกมาลุยตลาดต่างประเทศในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย

ศึกชิงความแข็งแกร่ง ‘เอเชียนคอนเทนต์’

ด้วยความที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีจำนวนมากทั้งผู้เล่นระดับโลกอย่าง Netflix, HBO Max, Amazon Prime Video ผู้เล่นโลคอล อาทิ AIS Play, True ID, Mono Max, Doonee เป็นต้น ซึ่งแต่ละเจ้าก็พยายามลงทุนทำซีรีส์ด้วยทุนสูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน

ส่วนรายเล็กที่ไม่มีเงินทุนก็ต้องมีคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างความแตกต่าง เช่นเดียวกันกับ WeTV และ iQIYI ที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าคงจะไม่ไปแข่งที่คอนเทนต์ฝั่งตะวันตกที่ไม่ถนัด แต่จะขอโฟกัสไปที่คอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก เพื่อขอชิง ‘เวลา’ ของผู้บริโภคให้มาอยู่ที่แพลตฟอร์มของตัวเองบ้าง ดังนั้น ทั้งคู่จึงเป็นคู่แข่งหลักของกันและกันไปโดยปริยาย

โดยเมื่อเทียบกันแล้ว คอนเทนต์หลักของทั้ง WeTV และ iQIYI กว่า 50% จะเป็นคอนเทนต์ ‘จีน’ เหมือนกัน ส่วนอีก 50% ก็จะเป็นซีรีส์เกาหลี, การ์ตูนญี่ปุ่น จุดที่จะชิงชัยคงจะเป็น ‘คอนเทนต์แม่เหล็ก’ ของตัวเอง อย่างฝั่งของ WeTV ก็มี ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในไทย ส่วน iQIYI ก็มีออริจินัลวาไรตี้ขวัญใจวัยรุ่นทั่วโลกอย่าง Youth With You 3 ซีซั่นล่าสุดที่ได้ ลิซ่า BLACKPINK มารับหน้าที่เมนเทอร์ประจำรายการอีกครั้ง

ผู้ผลิตไทยได้ประโยชน์เต็ม

เพราะทั้งคู่ต่างต้องการเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น การพยายามดึงคอนเทนต์จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาไว้บนแพลตฟอร์มจึงเป็นอีกสงครามนอกจากแค่แย่งลูกค้า ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย โดยที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นความร่วมมือในการดึงลิขสิทธิ์ซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ มาลงในแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงประกาศความร่วมมือกันผลิต ‘ออริจินัลคอนเทนต์’

อย่างที่ผ่านมา WeTV ก็จับกระแสซีรีส์วาย เดินหน้าสร้าง ‘ออริจินัล คอนเทนต์วาย’ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทย สร้างสรรค์คอนเทนต์ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’” และนอกจากซีรีส์วายยังมีออริจินัลซีรีส์ ประเภทอื่น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ส่วน iQIYI ก็จะเน้นไปที่ ‘ซิทคอม’ โดยดึงเอา ‘เป็นต่อ’ ‘เสือ ชะนี เก้ง’ และ ‘3 หนุ่ม 3 มุม x2’ มาลงในแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งเตรียมจะปั้นออริจินัลซีรีส์ไทยในอนาคตด้วย และด้วยความที่แต่ละแพลตฟอร์มนั้นให้บริการในหลายประเทศ นี่ก็ถือเป็นอีกช่องทางการพาคอนเทนต์ไทย Go Inter ในตลาดโลกได้ด้วย

สงครามที่ไม่มีผู้ชนะขาด

ทั้ง 2 แพลตฟอร์มต่างงัดไม้เด็ดกันมาโกยผู้ใช้ ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ แต่โมเดลของทั้งคู่ยังเป็นแบบ ‘ฟรีเมียม’ โดยให้ดูฟรีได้ (แต่มีโฆษณา และอาจจะดูช้าหน่อย) โดยค่าบริการ VIP ของ WeTV อยู่ที่ 119 บาทต่อเดือน ราคาเดียวกันกับ iQIYI เลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครยอมใครจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แพลตฟอร์มระบุว่าไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องมีผู้ใช้ VIP มากน้อยแค่ไหน (เพราะสามารถหารายได้จากโฆษณาได้อยู่ดี)

ดังนั้น เมื่อผู้เล่น 2 รายใหญ่พยายามจะขับเคี่ยวกันในตลาด ทั้ง 2 ต่างมีงบลงทุนมหาศาลการจะหาผู้ชนะขาดในตลาดนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต่างคนต่างก็มีคอนเทนต์เรือธงที่ต่างกัน แถมผู้บริโภคก็สามารถเลือกที่จะดูทั้ง 2 แพลตฟอร์มได้เพราะดูฟรี

ดังนั้น ปัญหาน่าจะเกิดกับผู้เล่นหน้าใหม่หรือผู้เล่นหน้าเก่าที่จะเข้ามาในตลาด โดยเน้นที่เอเชียนคอนเทนต์มากกว่าอาจเผชิญกับความยากลำบากที่จะสอดแทรกสู้ในสงครามนี้

]]>
1317698
อานิสงส์ล็อกดาวน์! ดัน JKN ขายคอนเทนต์มากขึ้น เตรียมอิมพอร์ตซีรีส์วาย-จีนเสริมทัพ https://positioningmag.com/1300078 Mon, 05 Oct 2020 17:00:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300078 ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังได้เห็นธุรกิจขายคอนเทนต์ไปได้สวย เพราะผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ถ่ายทำไม่ได้ จำเป็นต้องใช้คอนเทนต์สำเร็จรูป ดันยอด JKN เติบโต เตรียมขนซีรีส์จีน ซีรีส์วายเสริมทัพซีรีส์อินเดียที่เคยเป็นกระแสฟีเวอร์อยู่พักใหญ่

เพิ่มดีมานด์หาคอนเทนต์ ทีวีจะจอดำไม่ได้!

แม้ในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะกระทบหลากหลายธุรกิจ ในวงการทีวีดิจิทัลเองก็มีปัญหาซบเซามาสักพักใหญ่ เพราะเม็ดเงินโฆษณาลดลง ยิ่งมีไวรัสเข้ามายิ่งซ้ำเติมรายได้หนักเข้าไปอีก แต่ทางผู้ประกอบการเองก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะปล่อยให้จอดำไม่ได้เป็นอันขาด

แต่วิกฤตก็มีโอกาสให้เห็น เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การดูทีวี เสพคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็ต้องหาคอนเทนต์มาป้อนให้กับสถานีอยู่ตลอด เมื่อดีมานด์การดูคอนเทนต์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการต้องเจอคือไม่สามารถเปิดกองถ่ายได้ บางเจ้าต้องใช้มุกละครรีรัน เพื่อหล่อเลี้ยงเรตติ้งให้ไม่ตกลงมากกว่านี้

ทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดคือการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูปนั่นเอง จึงทำให้ JKN ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศยังสามารถเติบโตได้ เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการลูกหนี้ให้เหมาะสม

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เล่าว่า

“แนวโน้มอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์คอนเทนต์ หลังวิกฤติ COVID-19 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ต่างชะลอการผลิตคอนเทนต์แล้วหันมาซื้อลิขสิทธิ์สำเร็จรูปเพื่อนำไปออกอากาศแทนการผลิตรายการเอง จึงเป็นโอกาสทองของ JKN ในการทำตลาดเพื่อจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นปีที่ดีของ JKN ในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด”

แอน จักรพงษ์ หรือสาวข้ามเพศสุดฮอตที่สุดในยุคนี้ ได้เสริมเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ธุรกิจขายคอนเทนต์ยังไปได้ดี เพราะหลังจากช่วงล็อกดาวน์คนอยู่บ้านมากขึ้น ดูทีวีมากขึ้น สถานีต้องเลือกที่จะซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป เพราะถ่ายทำรายการไม่ได้ และเปิดกองถ่ายไม่ได้

“ตอนนี้คนทำคอนเทนต์สำเร็จรูปรวยทุกคน เพราะสถานีไม่ผลิตเองได้ แค่สถานีในไทยจองคอนเทนต์มายอด 500 ล้านบาท ตอนนี้มียอดขายเกิน 2,000 ล้านแล้ว แต่ต้องสร้างสมดุลให้ดี ต้องมีวิธีเก็บเงินจากลูกค้า ข้อดีของการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป ทางช่องไม่ต้องซื้อเองจากต่างประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปิดสัญญา ถ้าซื้อกับเราพร้อมใช้งาน”  

ซีรีส์อินเดียยังไปได้สวย เสริมทัพซีรีส์จีน-ซีรีส์วาย

ในส่วนของตัวคอนเทนต์ JKN เคยสร้างปรากฏการณ์ “ซีรีส์อินเดีย” ฟีเวอร์มาแล้วเมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว JKN เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายใหญ่ ทำให้ทีวีดิจิทัลต่างซื้อคอนเทนต์ไปเติมสล็อตเพื่อจับกระแส บางช่องสามารถสร้างเรตติ้งสูงที่สุดอีกด้วย

จากซีรีส์อินเดียในวันนั้นจนถึงตอนนี้ ก็ถือว่ากระแสแผ่วลงไปจนอยู่ในสภาวะปกติ แต่ก็ยังมีบางช่องที่ยังมีฉายอยู่ราวๆ 4 ช่อง แต่มีการขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น

ธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงิน และบัญชี JKN บอกว่า

“ซีรีส์อินเดียในประเทศไทยแม้จะซาลง แต่ยังไปได้เรื่อยๆ ยังมีทีวีดิจิทัลซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายอยู่ เพียงแค่ไม่พีคในระดับนั้น จะไปเติบโตในต่างประเทศมากกว่า ทางเราได้เติมคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม จะมีซีรีส์จีน ซีรีส์วาย และฮอลลีวูด”

รูปแบบการเลือกคอนเทนต์ของ JKN จะเน้นซีรีส์เน้นแอคชั่น ดราม่า วัฒนธรรมของเอเชีย เพราะในตลาดต่างประเทศมีความเกี่ยวโยงกันด้านวัฒนธรรม ทำให้คอนเทนต์ขายได้ดี รวมถึงคอนเทนต์สารคดีก็มีมากขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน JKN มีปริมาณคอนเทนต์ในมือรวม 3,000 กว่าเรื่อง รวมเวลาทั้งหมด 20,000 ชั่วโมง ในปีนี้ได้ใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์ 1,500-1,800 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าปกติที่ลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น

โดยที่สัดส่วนรายได้ของ JKN อยู่ที่ขายคอนเทนต์ 90% และโปรดักชั่น 10%

ถ้าถามถึง “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเป็นที่นิยมในไทย จักรพงษ์บอกว่า เราต้องมีทุกรูปแบบ จะมีเอาเข้ามาอยู่แล้ว โดยจะมีเปิดผังครั้งใหญ่ และพันธมิตรในวันที่ 3 พ.ย. นี้

สำหรับในครึ่งปีหลัง JKN ยังรุกขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 สามารถขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์อินเดีย และฟิลิปปินส์ ให้แก่ มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น รวมถึงทยอยส่งมอบคอนเทนต์ซีรีส์ละครไทยจากช่อง 3 ให้แก่ TV5 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดรายการฟรีทีวีช่องหลักของประเทศฟิลิปปินส์

ไตรมาสสุดท้ายมีการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมทั้งในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา บรูไน ไต้หวัน ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาณ

จากการขยายตลาดต่างประเทศจะช่วยให้ JKN มีการเติบโต 10-15% คาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งเป้าว่ามีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 30%

]]>
1300078
Tencent เอาด้วย! ส่ง “WeTV” ลุย Video Streaming ไทย ชูจุดขาย “ซีรีส์จีน” หวังแทรกระหว่าง Netflix และ Line TV https://positioningmag.com/1215048 Tue, 19 Feb 2019 03:57:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1215048 ช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมาแวดวง Video Streaming ของเมืองไทยได้มี “น้องใหม่” เปิดตัวไปอย่างเงียบๆ ไปแล้ว โดยไม่ได้ส่งเสียงเอิกเกริกมากนัก นั่นคือ “WeTV” ของค่าย Tencen ยักษ์ออนไลน์จากจีน ซึ่งมีหลายๆ บริการเป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างดีทั้ง WeChat, JOOX และเกม ROV เป็นต้น

Positioning ได้ต่อสายตรงถึง กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการบริษัทเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสอบถามถึงที่มาที่ไปของ “WeTV” โดยเขาเล่าให้ฟังว่า มองตลาด Video Streaming ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะในวันนี้ยังมีผู้เล่นหลักแค่ 2 รายคือ Netflix และ Line TV

แต่ทั้งสองรายยังมีช่องว่างอยู่เพราะ “Netflix” คอนเทนต์หลักจะเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จากฝั่งตะวันตก แม้ก่อนหน้านี้จะเริ่มจับมือกับผู้ผลิตไทย ในการนำคอนเทนต์ไทยเข้าไปรีรัน รวมไปถึงการสร้าง Original Content แล้วบ้างก็ตาม ด้าน “Line TV” ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์จากเมืองไทย ผ่านมาจับมือกับคอนเทนต์โพรวายเดอร์และช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ ในการนำทั้งละครรายการวาไรตี้เข้าไปเป็นเอ็กซ์คลูซีฟรีรัน และการปั้น Original Local Content

WeTV จึงเข้าไปแทรกตัวด้วยการนำคอนเทนต์ทั้งละครซีรีส์และรายการวาไรตี้ของจีน ซึ่งทั้งคู่ยังไม่ได้มีมากนักโดยเฉพาะ “ละครจีน” ที่หากย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีเรียกได้ว่าตีคู่เป็นที่รู้จักของคนไทยมาพร้อมกับละครไทย แม้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจะแผ่วลงไปมากเพราะมี ซีรีส์เกาหลี เข้ามาตีตลาดไปบ้างก็ตาม

สำหรับ WeTV ถูกพัฒนามาจากแพลตฟอร์ม “Tencent Video” ในจีนถือเป็น Video Streaming เบอร์ 1 และปี 2018 ยังเป็นแอปพลิเคชั่นอันดับ 2 ที่ทำรายได้สูงสุดใน App Store ทั่วโลก โดยการเข้ามาในเมืองไทยได้วางตัวเองเป็น “แมส” ไม่ได้มุ่งไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เบื้องต้นคอนเทนต์จะเป็นจะมีแค่ซับไทย ส่วนพากย์ไทยยังไม่มี เช่น รายการ Produce101, ซีรีส์ห้วงเวลาแห่งรักและสยบฟ้าพิชิตปฐพี เป็นต้น จำนวนคอนเทนต์ทั้งหมดระบุไม่ได้เพราะเพิ่มทุกวัน โดยช่วงแรกจะเปิดให้ดูฟรีไปก่อนหลังจากนั้นดูฟรีก็ยังคงมีอยู่ แต่จะจำกัดจำนวนตอน ถ้าต้องการดูมากกว่านั้นต้องเสียค่าบริการ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดราคาไว้

นอกเหนือจากคอนเทนต์ที่เป็นของจีนแล้ว ในส่วนของคอนเทนต์ในประเทศได้เริ่มนำร่องจับมือกับทาง “ช่องวัน 31” ในการนำคอนเทนต์ไปเอ็กซ์คลูซีฟรีรัน 30 วันบน WeTV ระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่าตอนนี้มีรายการวาไรตี้อยู่บน WeTV แล้ว 2 รายการคือรายการ “รู้ไหมใครโสด” และ “TOP ONE ตัวจริงชิงหนึ่ง”

รวมถึงยังมี “ทะเลริษยา” ละครแนวดราม่าที่มีอ้อม-พิยดา อัครเศรณี แสดงนำ ร่วมกับ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, เอมี่ กลิ่นประทุม, วิว วรรณรท สนธิไชย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายการที่รอขึ้นอยู่อีกหลายรายการ รวมไปถึงละครเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง

การจับมือดังกล่าวทาง WeTV มีการดีลสล็อตละครในช่วง Primetime ของช่องถึง 2 สล็อตที่มีการออนแอร์ในทุกวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีบนช่องวัน โดยนอกเหนือจากละครทะเลริษยาที่กำลังออนแอร์อยู่ในช่วงเวลา 20:10 น. แล้วยังจะมีละครสล็อต 1 ทุ่มที่จะมาให้ติดตามเร็วๆ นี้ต่อจากละครขุนปราบดาบข้ามภพ

“วันนี้ทางช่องวัน31 กำลังเติบโตในฐานะของคอนเทนต์โพรวายเดอร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงช่องโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว มีการทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนดูทุกกลุ่มเป้าหมาย ในปีนี้ทางเรายังคงจับมือกับออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมากขึ้นรวมถึงความร่วมมือในปีที่ผ่านมาอย่าง Line TV ก็ยังมีกันอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม “กฤตธี” บอกว่านอกเหนือจากคอนเทนต์ดังที่กล่าวมาแล้ว “Original Local Content” ถือเป็นอีกส่วนที่ต้องทำ ส่วนจะจับมือกับช่องวันไหมยังระบุไม่ได้ เพราะดีลกับช่องวันเองยังไม่ได้เสร็จสิ้นทั้งหมด ซึ่งนอกจากช่องวันแล้วยังได้เจรจากับคอนเทนต์โพรวายเดอร์รายอื่นๆ อยู่ด้วย

ตลาดไทยเป็นตลาดที่ว่าเมื่อไหร่ที่มีคอนเทนนต์คนก็จะมาโหลดเอง ซึ่งความท้าทายอยู่ที่ต้องไปวัดกันว่าคอนเทนต์ใครจะดีกว่ากัน สำหรับ WeTV ต้องมีละครที่ฮิตก่อนซึ่งไม่จำเป็นต้องฮิตทุกเรื่องแค่ขอให้มีบางเรื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ก็พอตอบโจทย์กับทุกๆ ไลฟ์ไสตล์ ไม่ได้เป็นกลุ่มคนเมืองหรือคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

การเติบโตของ WeTV ต้องดูการเติบโตของอินเทอร์เน็ตด้วย แต่ก็จะไม่ยากเหมือนตอนเปิดตัว “JOOX” เมื่อ4 ปีก่อนในช่วงเป็นมิวสิกสตรีมมิ่งยังไม่แพร่หลาย ไม่มีคนรู้จักจึงต้องไป Educate ว่าคืออะไรทำไมต้องมาฟัง JOOX

ส่วน WeTV ไม่ต้องไป Educate ตลาดเพราะมีผู้เล่นรายอื่นทำให้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำอย่างรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไปได้ ตอนนี้ได้วางแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งปีหลัง เลื่อนจากแผนเดิมภายในไตรมาส 1 เนื่องจากต้องทดสอบระบบต่างๆ เสียก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้ลงตัวมากนัก.

]]>
1215048