แม้กระแสรักสุขภาพมาแรง แต่ตลาดน้ำผลไม้ตกลงทุกปี โดย ชนันนัทธ์ พลปัถพี รองผู้จัดการใหญ่ ด้านขายและการตลาด บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าว่า จากในปี 2561 ที่ตลาดมีมูลค่าเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ตลาดตกลงกว่า 10% ต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ด้วยปริมาณน้ำตาลที่มีในน้ำผลไม้ทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยง ขณะที่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกำลังซื้อและพฤติกรรมการซื้อ
“เราเห็นผลกระทบชัดเจนเลยในครึ่งปีแรก ยอดขายแต่ละเดือนทำได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบิลในร้านดอยคำจาก 500 บาทลดลงเหลือ 200-300 บาท ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ยอดขายหน้าร้านที่มีกว่า 50 สาขาหายไป 90% รายได้จากนักท่องเที่ยวก็ไม่มี ส่วนออนไลน์แม้จะเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนยังน้อยแค่ 1-2% ของยอดขายรวม”
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันโปรดักส์ฮีโร่อย่าง น้ำมะเขือเทศ ยังเติบโตได้กว่า 40% คาดว่าจบปีจะมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งช่วยชดเชยรายได้ของน้ำผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้อื่น ๆ ที่ลดลง ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายของบริษัทเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ น้ำผึ้ง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับโดยเติบโตต่อเนื่องตลอด 5 ปี และในปีนี้มียอดการเติบโตสูงกว่า 50% จากผลิตภัณฑ์ใหม่ต่าง ๆ ได้แก่ น้ำผึ้งแท้แบบหลอดบีบซึ่งสร้างรายได้แล้วกว่า 50 ล้านบาท น้ำผึ้งผสมมะนาวสร้างรายได้กว่า 25 ล้านบาท
“ช่วงครึ่งปีหลังเราฟื้นกลับมาได้ด้วยน้ำมะเขือเทศ ซึ่งมันมีกระแสจากใน TikTok ที่มีคนรีวิวน้ำมะเขือเทศดอยคำช่วยเรื่องผิว เลยทำโชคดีที่ทำให้เรากลับมาเติบโตได้”
ปัจจุบัน มะเขือเทศคิดเป็นกลุ่มใหญ่สุดคิดเป็น 40% ตามด้วยน้ำผึ้ง 25% น้ำผลไม้ 10% สมุนไพร 10% ที่เหลือเป็นสินค้าอื่น ๆ
แม้โควิดจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม สมุนไพร เติบโตกว่า 50% ดอยคำจึงมองเห็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้มากขึ้น ที่ผ่านมาดอยคำมีสินค้ากลุ่มสมุนไพร 15 SKU แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครื่องดื่ม เช่น น้ำเก๊กฮวย 2.น้ำสกัดเข้มข้น และ 3.ผง
ล่าสุด ได้ออก สารสกัดฟ้าทะลายโจร แอนดร็อกซิล ตราเคเอ็มพี นอกจากนี้ ดอยคำกำลังพัฒนาสูตร ‘กัญชง-กัญชา’ ซึ่งปัจจุบันอาจติดในเรื่องของกฎหมาย ทำให้ยังอยู่ในช่วงทดลองสูตรต่าง ๆ ยังไม่จัดจำหน่ายจริงจัง โดย 3 ปีจากนี้ดอยคำจะเน้นไปที่ตลาดสมุนไพร พร้อมดันสินค้า Daily Life โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20% ในปีหน้า
“ในปีต่อ ๆ ไปเรามองเรื่องสมุนไพร เน้นธรรมชาติบำบัด จะเดินไปทางสุขภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่ยา แต่รวมถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งตลาดสมุนไพรไทยในปัจจุบันมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เน้นส่งออกเป็นหลัก”
ที่ผ่านมา ดอยคำพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูเด็กลงคงความสดใหม่ของแบรนด์ให้ดูสดใสและมีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยเน้นสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ใช้ KOL เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในการทำแผน CRM รวมถึงการออกแพ็กเกจจิ้งใหม่ ๆ อาทิ แยมหลอดดอยคำ ที่เป็นเจ้าแรกในไทยเพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แก้เพนพอยต์ของแบบกระปุก
“เราเห็นปัญหาว่าแยมแบบกระปุกมันยาก ต้องเปิด ทา ปาด ดังนั้น เราจึงทำวิจัยประมาณ 6 เดือนออกแบบแพ็กเกจแบบหลอด มีการปรับสูตรนิดหน่อย ซึ่งแบบหลอดก็จะเข้าถึงได้ง่ายกว่าเพราะราคาถูก โดยหลังจากที่วางจำหน่ายได้ไม่กี่เดือนฟีดแบ็กค่อนข้างดี แต่ต้องยอมรับว่าตลาดไม่ได้ใหญ่ เพราะคนไทยไม่นิยมกินขนมปัง”
นอกจากนี้ มีการพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ในการนำสินค้าของดอยคำเข้าไปอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่ผ่านมา ดอยคำก็ร่วมกับไอศกรีมวอลล์ในการทำไอศกรีมรสผลไม้ และก็พยายามจับมือกับพาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ เพราะดอยคำไม่ได้ต้องการขายแค่สินค้า แต่ขายวัตถุดิบด้วย อย่างไรก็ตาม การจะออกโปรดักส์ค่อนข้างใช้เวลา เพราะต้องคิดสูตรต่าง ๆ ก่อนจะออกลงตลาด
ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2564 ดอยคำคาดว่าจะมีรายได้ 1,850 ล้านบาท เติบโตจากปี 63 ที่มีรายได้ 1,577 ล้านบาท โดยถือเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบหลายปี
]]>เมื่อเราพูดถึงน้ำมะเขือเทศ หนึ่งในเเบรนด์ที่คิดถึงเเละคุ้นเคยกันดี อย่าง “ดอยคำ” ก็ผุดขึ้นมาในใจ…ในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนา เปลี่ยนเเปลงเเละไม่หยุดนิ่งของการเป็นเเบรนด์ที่ก้าวออกจากภาพลักษณ์เดิมๆ
ด้วยเทรนด์สุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ปลุกกระเเสให้ผู้คนหันมาดื่มน้ำผลไม้มากขึ้น เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ “ดอยคำ” ได้พลิกโฉมภาพลักษณ์ให้ทันสมัย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงานที่มีไลฟ์สไตล์เฮลท์ตี้ เข้าถึงได้ทั้งออนไลน์เเละออฟไลน์ควบคู่กันไป
เรามาลองตามรอย “เส้นทางสายมะเขือเทศ” สู่การเป็น “มะเขือเทศที่รัก” ที่ครองใจผู้บริโภคในยุคดิจิทัลกัน
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่จัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นในพื้นที่เกษตร เพื่อดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนาและแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่มีความหลากหลาย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภายใต้แบรนด์ที่เราคุ้นหูอย่าง “ดอยคำ” โดยมีผลิตภัณฑ์สุดฮิตคือ น้ำมะเขือเทศพร้อมดื่ม สำหรับคนรักสุขภาพ ที่กำลังติดตลาดอยู่ ณ ขณะนี้
โดย “เส้นทางสายมะเขือเทศ” นั้นเป็นคำกล่าวเรียกพื้นที่เกษตรกรรมที่เพาะปลูกมะเขือเทศบนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงภาคอีสานตอนบน ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 2.3 หมื่นไร่ ซึ่งดอยคำ ส่งเสริมและรับซื้อผลผลิตดังกล่าวมายาวนาน ครอบคลุมจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง อย่างนครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่ส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ พนักงาน คู่ค้า และให้ผู้บริโภคได้ “กินของดี” มาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
รู้หรือไม่ว่า การเดินทางบนเส้นทางสายมะเขือเทศของดอยคำ ส่งผลให้เกิดการรับซื้อผลผลิตมะเขือเทศ จากเกษตรกรภาคอีสานตอนบนของไทย ปัจจุบันมีจำนวนสูงถึง 1.2 -1.5 หมื่นตันต่อปี
โดยการมีนำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ผ่านกลุ่มผลิตภัณฑ์ “ ครอบครัวมะเขือเทศ” ที่ได้รับความนิยมจากท้องตลาด ได้เเก่
น้ำมะเขือเทศ ๑๐๐% , น้ำมะเขือเทศ ๙๙% , น้ำมะเขือเทศผสมน้ำผลไม้รวม ๙๘% ม็อกเทล , น้ำมะเขือเทศ ๙๙% สูตรโซเดียมต่ำ , มะเขือเทศเชอร์รีอบแห้ง , มะเขือเทศทาขนมปัง เเละซอสมะเขือเทศ
● น้ำมะเขือเทศ ขนาด 200 มล. จำนวน 2.7 ล้าน กล่อง/ ปี
● น้ำมะเขือเทศ ขนาด 1,000 มล. จำนวน 1.7 ล้าน กล่อง/ ปี
● มะเขือเทศเชอร์รีอบแห้ง จำนวน 1.2 ล้าน ซอง/ ปี
● ซอสมะเขือเทศ จำนวน 5 เเสนขวด/ ปี
● น้ำมะเขือเทศ ๑๐๐% จำนวน 3 เเสนกระป๋อง/ ปี
● มะเขือเทศเข้มข้น สำหรับอุตสาหกรรม จำนวน 2,500 ตัน/ ปี
● ดูแลและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรฯ ของโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จำนวน 800 ราย บนพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำโขงกว่า 2,000 ไร่
● สร้างอาชีพให้คนในชุมชน บริเวณโดยรอบพื้นที่ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จำนวน 250 คน
เเม้ดอยคำจะมีชื่อเสียงในวงการสินค้าเพื่อสุขภาพมายาวนาน เเต่ก็เพิ่งมาแจ้งเกิดจริงๆ จังๆ จากกระแส “มะเขือเทศฟีเวอร์” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังคนไทยเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พร้อมๆ กับการบูมของโลกโซเชียลมีเดีย มีการบอกต่อกันผ่านรีวิวต่างๆ ขยายฐานลูกค้าไปเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานมากขึ้น จากเดิมที่เคยมีลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่เป็นหลัก
ดอยคำ เริ่มภารกิจ “รีเเบรนด์” ครั้งใหญ่ในปี 2559 เป็นการยกเครื่องใหม่หมดทั้งโลโก้ แพ็คเกจจิ้ง พร้อมกับทุ่มงบการตลาดในการสื่อสารถึงผู้บริโภคมากขึ้น
ท่ามกลางการเเข่งขันที่ดุเดือด ลูกค้าหลายคนยังติดปัญหาเรื่องรสชาติ ดอยคำวางกลยุทธ์เพื่อ “เเก้เกม” ด้วยการส่งน้ำมะเขือเทศแบบโซเดียมต่ำ มาเจาะสายรักสุขภาพเเละคนที่กังวลเรื่องน้ำตาล รวมไปถึงการออกสินค้าเป็นน้ำมะเขือเทศผสมน้ำผลไม้รวม ๙๘% เเบบม็อกเทล เอาใจลูกค้าที่รับรสชาติน้ำมะเขือเทศ ๙๙% ไม่ไหว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
นอกจากเเก้เกมเเล้ว ดอยคำยังเดิน “เกมรุก” ด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และขยายตลาดไปในระดับแมส เร่งแผนกระจายสินค้าสู่ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการ “ขายออนไลน์” ที่กำลังได้รับความนิยม เมื่อผู้คนหันมาสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19
ส่วนการโปรโมท ดอยคำเลือกที่จะหยิบยก “คุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์ตระกูลมะเขือเทศ มาเป็นพระเอก มีการสื่อสารการตลาดทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไป โดยที่ผ่านมา ดอยคำมีการใช้งบการตลาดเฉลี่ยเพียงปีละ 3% ของยอดขาย หรือราว 30-60 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดก็ถือว่าน้อยมาก เพราะบางแบรนด์มีการใช้งบการตลาดหลักร้อยล้านขึ้นไป
หลังมุ่งสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ดอยคำกลับมาสร้างความเเปลกใหม่อีกครั้ง ตอกย้ำภาพลักษณ์เเบรนด์ “ครอบครัวมะเขือเทศ” อันดับ 1 โดยส่งเเคมเปญ “มะเขือเทศที่รัก” ออกมาเจาะกลุ่มผู้บริโภค วัยรุ่น-วัยทำงาน ผ่านการสร้างภาพจำใหม่ โดยใช้ “ลายเส้น” บอกเล่าเรื่องราวของผลผลิตมะเขือเทศจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ลวดลาย “เส้นทางสายมะเขือเทศ”
เล่าถึงพื้นที่เพาะปลูกมะเขือเทศที่อุดมสมบูรณ์ในเขตภาคอีสานตอนบน ตลอดฝั่งแม่น้ำมูลบนเนื้อที่ 2.3 หมื่นไร่ จนมีคำกล่าวเรียกพื้นที่นี้ว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ”
ลวดลาย “การขึ้นค้าง”
นำเสนอถึงวิธีการปลูกผลผลิตมะเขือเทศแบบแนวตั้ง โดยการใช้คานไม้พยุงลำต้นไม่ให้ราบไปกับพื้นดิน ช่วยลดสาเหตุการเน่าเสียของผลมะเขือเทศ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
ลวดลาย “รถอีแต๊ก”
บอกเล่าถึงยานพาหนะอันเป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักกันดีของเกษตรกร ใช้บรรทุกมะเขือเทศจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ระดับความสุกเหมาะสม พร้อมนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ “ครอบครัวมะเขือเทศ”
นอกจากนี้ เพื่อส่งต่อความห่วยใยไปยังผู้บริโภคเเละสิ่งเเวดล้อม ดอยคำได้ออก “หน้ากากอนามัยแบบผ้า” คอลเลคชั่นใหม่ ดีไซน์โดดเด่นผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวของเส้นทางสายมะเขือเทศ ให้ความรู้สึกชิคๆ คูลๆ เข้ากับวิถีชีวิตยุค New Normal เเละมีประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมๆ กัน โดยจะ “เเถมฟรี” เมื่อซื้อสินค้าของดอยคำตามรายการที่กำหนด
อีกกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล ดอยคำได้นำเรื่องราวของ “เส้นทางสายมะเขือเทศ” มาสื่อสารใหม่ให้มีความสนุกสนานเเละทันสมัยยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง หรือ “AR” (Augmented Re-ality)
โดยจะมีทั้งรูปเเบบ AR Games อย่างเกม “งับมะเขือเทศ” เเละผ่านการประมวลผลจากรายละเอียดของตราสัญลักษณ์ดอยคำ ด้วยแอปพลิเคชันไลน์ใน Line Official @DoiKham บนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต โดยจะเป็นวิดีโอบอกเล่าที่มาผลผลิตมะเขือเทศ จากต้นกำเนิดสู่ผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของดอยคำ ในรูปแบบ 3 มิติ ผ่าน 3 เรื่องราว ได้แก่
● ของขวัญธรรมชาติ พืชผลล้ำค่าจากแดนไกล
บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ต้นกำเนิดของผลมะเขือเทศ รวมไปถึงประวัติและวัฒนธรรมการบริโภคมะเขือเทศในประเทศไทย
● เส้นทางสายมะเขือเทศ” แห่งแดนอีสาน
บอกเล่าที่มาของคำว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ” ภายใต้การดำเนินงานเกี่ยวกับการให้ความรู้และส่งเสริมทักษะการปลูกผลผลิตมะเขือเทศแก่เกษตรกรภาคอีสานตอนบน ของดอยคำ
● ที่ 1 แห่งความภาคภูมิใจ ผลผลิตที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้ กินดี…อยู่ดี
เรื่องราวของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่แปรรูปผลผลิต “เส้นทางสายมะเขือเทศ” สู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ “ครอบครัวมะเขือเทศ”เป็นผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจเเละสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
นอกจากนี้ ดอยคำยังนำคอนเซ็ปต์ “เส้นทางสายมะเขือเทศ” สู่พื้นที่งานสร้างสรรค์ที่ “จับต้องได้จริง” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ผ่านการจัดเเสดงผลงาน ตลาดนัดสินค้าดอยคำ (Pop-Up Market) เเละนิทรรศการข้อมูลความรู้ “เส้นทางสายมะเขือเทศ” เเละกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ภายในงาน DISCOVER DOI ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี ในวันที่ 17 กันยายน – 8 ตุลาคมนี้
“มะเขือเทศที่รัก” อีกหนึ่งเเคมเปญของดอยคำ ที่เป็นกลยุทธ์เจาะใจคนรุ่นใหม่ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวผ่านศิลปะ ปรับภาพลักษณ์เเบรนด์ให้เข้าถึงง่ายเเละมีความทันสมัยมากขึ้น รุกการสื่อสารทั้งด้านออฟไลน์-ออนไลน์
การชูพลังของสตอรี่เเบรนด์ และดัน “สินค้าพระเอก” อย่างมะเขือเทศ ไปพร้อมๆกับการมุ่งออกสินค้าใหม่ๆ คอยเซ็ตเทรนด์ตลาดอยู่เสมอ…นับเป็นการปรับตัว พัฒนา เปลี่ยนเเปลงที่ทำให้เเบรนด์ที่อยู่มายาวนาน 4 ทศวรรษยังมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดในทุกวันนี้
]]>
ถึงจะเข้าสู่เมืองไทยได้ 13 ปีแล้ว แต่สำหรับแบรนด์น้ำผลไม้พร้อมดื่ม “มินิทเมด” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของ “โคคา–โคลา” ในประเทศไทย กลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 11.5% ในตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากนีลเส็น : กันยายน 2017 – สิงหาคม 2018)
ตัวเลขที่เกิดขึ้น โคคา–โคลา มองว่า อาจจะไม่ได้ดูหวือหวามากนัก แต่ถ้ามองในตลาดก็ติดท็อป 3 ซึ่งในตลาดโลก “มินิทเมด” รั้งตำแหน่งผู้นำ ที่มียอดขาย 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 150 ประเทศทั่วโลก
การจะมีส่วนแบ่งที่เยอะกว่านี้ กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของโคคา–โคลา และถือเป็นโจทย์ใหญ่ด้วย เนื่องจากในตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีผู้เล่นจำนวนมาก ที่มาพร้อมกับการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ต้องชิงไหวพริบในการดึงดูดผู้บริโภค
ทำให้โคคา–โคลาจึงแก้โจทย์ด้วยการจับมือกับ “ดอยคำ” ในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร คือ มะเขือเทศ และเสาวรส จากเกษตรกรส่งเสริมของดอยคำ มาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้พร้อมดื่มมินิทเมด ในสองรสชาติ คือ น้ำมะเขือเทศผสมเนื้อส้ม และน้ำรสเสาวรสผสมน้ำผึ้งและมะนาว วางจำหน่าย 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ โมเดิร์นเทรด ขนาด 335 มิลลิลิตร ราคา 18 บาท และเทรดดิชันนัลเทรด ขนาด 280 มิลลิลิตร ราคา 15 บาท
ที่ต้องเป็น “มะเขือเทศ และเสาวรส” เพราะทั้งคู่เป็นผลไม้ที่สร้างชื่อของดอยคำ และยังตอบโจทย์เรื่องเทรนด์สุขภาพ จะช่วยให้โคคา–โคลาสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค
คลาวเดีย นาวาร์โร ผู้อำนวยการตลาด บริษัท โคคา–โคลา ประจำประเทศไทยและลาว กล่าวว่า
การจับมือในครั้งนี้ถือเป็นการเอาจุดแข็งของทั้งคู่มารวมกัน โดยฝั่งโคคา–โคลาเป็นแบรนด์ระดับโลก ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าจำนวนมาก ส่วนดอยคำมีความเชี่ยวชาญในผลไม้ไทย โดยทั้งคู่จะทำร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น ฤดูที่ผลไม้ชนิดไหนออกมามาก จะนำไปวางแผนสำหรับสินค้าตัวต่อไป ซึ่งผลไม้ที่มีความเป็นไปได้ต่อไป เช่น ลูกพีชและแอปเปิล
ดีลนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่มีโลโก้ของ “แบรนด์อื่น” ปรากฏบนแพ็กเกจจิ้งของโคคา–โคลา ในเมืองไทย โดยฝั่งโคคา–โคลาให้เหตุผลที่ยอมให้ติดโลโก้ของดอยดำบนสินค้า ด้วยเชื่อว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงผู้บริโภค ว่าสินค้าชนิดนี้มีวัตถุดิบจากเมืองไทยเป็นส่วนประกอบ
เบื้องต้นทั้ง 2 รสชาติจะวางขายในช่วงนี้ประมาณ 3-4 เดือนก่อน หากได้รับการตอบรับที่ดี ก็มีการวางแผนให้วางจำหน่ายในระยะยาว รวมไปถึงส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและพัมพูชา
ในขณะที่ฟาก “ดอยคำ” ผลประโยชน์หลักที่จะได้จากความร่วมมือในครั้งนี้คือ การขายวัตถุดิบที่ออกมาเกินความต้องการ
แต่ละปีดอยคำจะรับซื้อ “มะเขือเทศ” จากเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 12,000 – 15,000 ตัน มากที่สุดคือ 30,000 ตัน แล้วแต่แผนผลิตสินค้า ส่วน “เสาวรส” มีการรับซื้อเฉลี่ย 4,000 – 5,000 ตัน ในระยะหลังๆ เริ่มมีเกษตรกรปลูกมากขึ้น เนื่องจากปลูกได้ง่าย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ด้วยเสารสชอบอากาศในไทยจึงปลูกได้ทั้งภาคเหนือและอีสาน
ซึ่งแต่ก่อนจะมีทั้งขายในประเทศและส่งไปขายยังต่างประเทศ แต่ช่วงที่ผ่านมาตลาดในต่างประเทศเริ่มไม่ค่อยดี ส่งผลให้สินค้าต้องเอามาขายในประเทศมากขึ้น จนเกิดเป็นภาวะที่สินค้าเกินความต้องการในที่สุด
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า
“ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ดอยคำสามารถขายวัตถุดิบให้กับตลาดที่กว้างและใหญ่ขึ้น อีกทั้งได้เรียนรู้การทำงานของโคคา–โคลา ซึ่งบทเรียนที่ได้จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ถือเป็นบทเรียนที่ไม่สามารถหาได้ง่ายๆ”
นอกจากแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบแล้ว อีกเรื่องที่ดอยคำจะได้คือ การขยับตัวเองจากเดิมในตลาดกลาง–บน ลงมาสู่ตลาดแมสมากขึ้น เนื่องจากการประกาศเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ทำให้ดอยคำได้รับผลกระทบซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี
“ผู้บริโภคชาวไทยตื่นเต้นง่ายกับทุกๆ เรื่อง พอเกิดอะไรขึ้นมาก็กระทบทันที อย่างภาษีน้ำตาลก็ทำให้ผู้บริโภคซื้อน้ำผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัดอย่างลิ้นจี่หรือสตรอว์เบอร์รี่น้อยลง เพราะกังวลเรื่องการปรับสูตร กลัวรสชาติจะเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ส่งผลให้ยอดขายในกลุ่มผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัดหายไปถึง 40%”
ด้วยความที่ดอยคำมีสินค้าเยอะมากกว่า 100 SKU เมื่อสินค้าบางตัวทำกำไร บางตัวไม่ทำกำไร จึงต้องบาลานซ์พอร์ตเพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรที่รับซื้อสินค้ามา ดอยคำจึงต้องปรับตัว
“กำไรน้อยลงเพราะต้องแบ่งบางส่วนไปจ่ายภาษี รายได้คาดว่าติดลบ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2,400 ล้านบาท แต่ทำได้จริง 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น เติบโตประมาณ 3%
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ดอยคำต้องการคือ เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยู่กับผู้บริโภคตลอดทั้งวัน โดยดอยคำมองว่าตัวเองไม่เคยมีคู่แข่ง ไม่คิดจะทำสงครามราคา ยกเว้นถูกบีบมากๆ เพราะเห็นรายอื่นๆ อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เข้ามาทำให้ตลาดโตขึ้นมากกว่า.
]]>“สรภัส สุตเธียรกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บอกว่า ดอยคำ ไม่ใช่แค่น้ำผลไม้ แต่เป็นแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพ และมี “น้ำมะเขือเทศ” เป็นสินค้า “พระเอก” และการทำตลาดของแบรนด์ต้อง “หักมุม” สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้ โดยเฉพาะตลาดน้ำผลไม้หลายรายจะขายความอร่อย มีโฆษณาออกอากาศทางโทรทัศน์กันคึกคัก แต่ดอยคำเลือกที่จะโปรโมตประโยชน์สินค้า ทำตลาดออนไลน์มากกว่าออนแอร์ ไม่ค่อยหวือหวานัก
กลยุทธ์หนึ่งที่สร้างความฮือฮาคือไวรัลการออกแถลงการณ์ “ขอโทษผู้บริโภค” เพียงเพราะรสชาติสินค้านั้นไม่ถูกปากคนไทยส่วนใหญ่ สินค้าราคาไม่เท่ากัน เพราะขึ้นกับฤดูกาลของพืชผลทางการเกษตร ที่บริษัทต้องรับซื้อจากเกษตรกร แม้กระทั่งชนิดผลไม้แตกต่างจากท้องตลาด
อีกจุดขายที่เห็นชัดคือการชูน้ำมะเขือเทศ 99% และ 98% “แตกต่าง” จากคู่แข่งในตลาด เพราะมี “ส่วนประกอบอื่น” ผสมอยู่ เช่น น้ำผลไม้รวม น้ำผักรวม วิตามินต่างๆ เพื่อให้บริโภคและให้ประโยชน์จริงๆ ทั้งหญิงและชาย
99% ยังเป็นกิมมิคการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคตั้งคำถามว่า อีก 1% ที่เหลือมีอะไรผสมในกล่อง นับเป็นการสร้างการจดจำแบรนด์ให้มากขึ้นด้วย
สำหรับภาพรวมตลาดน้ำมะเขือเทศมีมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท ติดลบ 10% จากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดเติบโตตั้งแต่ 20% ไปจนถึงหลัก 100% การหดตัวของตลาดน้ำมะเขือเทศเกิดจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หดตัวลง เพราะเครื่องดื่มน้ำผลไม้ถือเป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับผู้บริโภค หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายจะตัดการซื้อสินค้าดังกล่าวทันที โดยตลาดน้ำมะเขือเทศ ดอยคำเป็นผู้นำตลาดมีส่วนแบ่ง 90% ที่เหลือเป็นยูนิฟ ทิปโก้ เป็นต้น และปีที่ผ่านมาพบว่า “คาโกะเมะ” ผลิตภัณฑ์น้ำมะเขือเทศเข้มข้นที่เกิดจากการร่วมทุนของ “โอสถสภา” และ “อิโตชู (ไทยแลนด์)” และ “คาโกเมะ” ประเทศญี่ปุ่น เลิกทำตลาดแล้ว หลังเข้ามาบุกตลาดตั้งแต่ปี 2556
ขณะที่ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าราว 14,000 ล้านบาท หดตัว 4% โดยทิปโก้ เป็นผู้นำ มีส่วนแบ่งตลาด 28% ดอยคำ 25% มาลี 19%
“บริษัทแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาดน้ำผลไม้ปลายปีที่ผ่านมา”
สำหรับแผนธุรกิจดอยคำปีหน้า บริษัทเตรียมงบลงทุน 1,700 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เพิ่มกำลังผลิตน้ำผลไม้ 2.5 เท่า จากปัจจุบัน 12,000 ลิตรต่อชั่วโมง และลงทุน 300 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าและศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางพืช (แล็บ) ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 อ.แม่จัน จ.เชียงราย 300 ล้านบาท เพื่อวิจัยพันธ์พืชใหม่ๆ ให้เกษตรกรเครือข่าย 7,000 กว่ารายเพาะปลูกด้วย
“พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บอกว่า ปัจจุบันการรับรู้แบรนด์ (Awareness) ดอยคำจากผู้บริโภคมีทั้งบวกและลบ ในเชิงบวกคือรับรู้ถึงคุณประโยชน์สินค้า แต่ที่ออกไปทางลบคือ “ดื่มยาก” แต่อย่างไรเสีย ถ้าพูดถึงน้ำมะเขือเทศดอยคำก็เป็นแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคนึกถึง ซึ่งในการตลาดนับเป็นเรื่องดีที่แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจได้ (Top of mind)
สำหรับแผน 10 ปี (2557-2567) มีเป้าหมายการลงทุนและสร้างการเติบโตระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อผลักดันให้ “ดอยคำ” เป็น “ราชันย์แห่งมะเขือเทศ” หรือ King of Tomato ดังนั้น บริษัทจะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมมากขึ้นในกลุ่มอาหาร ซอส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากมะเขือเทศ จากปัจจุบันมีสินค้าหลักน้ำมะเขือเทศ มะเขือเทศอบแห้ง และแยมมะเขือเทศ
ปัจจุบันดอยคำมีกำลังการผลิตมะเขือเทศราว 1.5-3 หมื่นตันต่อปีต่อฤดูกาลผลิต หากต้องการผลิตสินค้ามากขึ้น จะมองหา “พันธมิตร” มาเสริมทัพธุรกิจให้เติบโต เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตมะเขือเทศร่วม “แสนตัน” มีโรงงานที่มีกำลังการผลิตเหลือ ที่พร้อมจะรองรับการขยายตัวของบริษัทได้
ในปีหน้า บริษัทเตรียมรีแบรนด์ “น้ำมะเขือเทศผมน้ำผักรวม 99% เวอร์จิ้นแมรี่” เป็น “น้ำมะเขือเทศผสมน้ำผักรวม 99% สูตรจัดจ้าน” เพื่อสอดคล้องกับความความเป็นไทยและรสชาติสินค้าที่จัดจ้าน
นอกจากน้ำมะเขือเทศ บริษัทมีแผนจะปั้นผลิตภัณฑ์ “เสาวรส” ให้เป็นพระเอกตัวใหม่ตามมา เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตจากการเป็นผลไม้ที่ดี มีประโยชน์และคุณค่าอาหารมาก
]]>ด้วยความที่แบรนด์ดอยคำมีอายุถึง 40 ปี ถ้าเปรียบเป็นคนก็จัดว่าอยู่ในช่วงวัยกลางคน ดอยคำจึงใช้จังหวะนี้ “รีแบรนด์” เพื่อสร้างความสดใสให้เข้ากับคนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกัน เพื่อตอบรับกับเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง คนหันมาดื่มน้ำผลไม้มากขึ้น แต่ที่มากไปกว่านั้น เมื่อดอยคำได้อานิสงส์จากกระแสบอกต่อบนโลกออนไลน์ กับกินน้ำมะเขือเทศดอยคำเพื่อความงาม ส่งผลให้ดอยคำเติบโตและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาดอยคำมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อยู่ทุก 10 ปี อยู่แล้ว แต่การรีแบรนด์ครั้งนี้ นี้ถือเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เป็นการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด เราเลือกทำจังหวะนี้เพราะแบรนด์ได้โตเต็มที่ก็ ได้เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้รับกับตลาดที่เปลี่ยน และความคาดหวังของผู้บริโภคที่มากขึ้น” สรภัส สุตเธียรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการรีแบรนด์ครั้งนี้
ดอยคำก็ใช้จังหวะนี้ซึ่งเป็นช่วงที่แบรนด์กำลังโตเต็มที่ ในการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ดอยคำ โฉมใหม่ หัวใจเดิม” มีการปรับโลโก้ และดีไซน์ของแพ็กเกจจิ้งใหม่ทั้งหมดทุกสินค้า เพื่อให้มีความทันสมัย และเน้นภาพลักษณ์สินค้าพรีเมียม
สรภัส บอกว่า กลุ่มลูกค้าเดิมของดอยคำเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ อย่างกลุ่มคนกินเจ หรือซื้อเป็นของฝากให้คนอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ด้วยเทรนด์สุขภาพ และเทรนด์เรื่องความงามเติบโต ทำให้คนหันมาดื่มน้ำผลไม้ และดอยคำเองก็มีน้ำมะเขือเทศเป็นพระเอกที่คนเชื่อว่ากินแล้วสวย เป็นจุดที่เราจะขยับขยับไปหากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ดอยคำมองว่า ปีนี้ดอยคำจะสร้างรายได้ 1,800 ล้านบาท เคิบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 1,480 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้เป็น น้ำผลไม้ 70% และอื่นๆ 30% โดยที่น้ำมะเขือเทศกินสัดส่วน 60% จากรายได้ของน้ำผลไม้ทั้งหมด
กว่าที่ดอยคำจะตัดสินใจรีแบรนด์ ต้องทำการบ้านมาเป็นเวลา 2 ปี โดยได้ใช้เอเจนซี่ที่ปรึกษาด้านการตลาดร่วมกันถึง 5 ราย ได้แก่ IPG, Dragon ink, BPN, Kinetic และ VGI
มณลักษณ์ อัศวศิลปกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เล่าว่า เริ่มต้นจาก IPG จะดูแลเรื่องแบรนด์ ทำการรีเสิร์ชความคิดเห็นของผู้บริโภค และวิเคราะห์ Identity ของแบรนด์วามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร เพื่อให้แบรนด์ได้เกิดใหม่
“จากผลวิจัยพบว่า แบรนด์ดอยคำถ้าเปรียบเป็นคนก็เหมือนเป็นป้าที่แก่แต่เก๋าคนนึง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเข้าถึง ไอพีจี เลยเสนอให้จับป้าคนนี้แต่งตัวใหม่ให้วัยรุ่น จากนั้นส่งต่อให้ทาง Dragon ink นำคอนเซ็ปต์ต่างๆ ที่ได้จากการวิจัยมาครีเอตผลงานที่เป็น Visual ทั้งหมด เป็นการออกแบบกราฟิกทั้งโลโก้ และแพ็กเกจจิ้ง ที่มีการเปลี่ยนใหม่ยกชุด
จากนั้นก็ทำคลิปวิดีโอไวรัลในชื่อ “ดอยคำขอโทษ…” โดย BPN Production ที่ได้เผยแพร่บนช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าใจในตัวแบรนด์มากขึ้น เพราะจากทำรีเสิร์ชก็ได้จุดที่ผู้บริโภคพูดถึงเยอะก็คือเรื่องรสชาติ ราคา และชนิดของผลไม้ ดอยคำจึงมองว่าจุดต่างๆ เหล่านี้เป็นเหมือนจุดอ่อนที่เป็นจุดแข็งที่แท้จริงของดอยคำ รสชาติที่เป็นธรรมชาติแท้ แม้จะไม่อร่อยเท่าแบรนด์อื่น ราคาที่จับกลุ่มพรีเมียม และชนิดของผลไม้ที่ไม่ได้ทำตามท้องตลาดตามแบรนด์อื่น จึงเป็นที่มาของการขอโทษที่ไม่ได้ทำตามตลาด แต่ผลิตของดีให้ตลาด
เนื่องด้วยงบโฆษณาที่มีจำกัด และมองว่ามีสื่ออื่นที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ จึงตัดสินใจไม่ใช้ภาพยนตร์โฆษณา แต่หันมาเน้นช่องทางของสื่อนอกบ้าน และ In store เป็นหลัก เพื่อให้คาแร็กเตอร์ของแบรนด์ ที่ถูกมองว่าค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว ดูเปิดเผย และการใช้สื่อนอกบ้านให้คนเห็นมากขึ้น โดยให้ Kinetic ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อนอกบ้านเป็นผู้ดูแลการซื้อสื่อ รวมถึง VGI ด้วย
การรีแบรนด์ครั้งนี้ ยังมาพร้อมกับการขยายร้านค้าปลีกชื่อ “ครอบครัวดอย” ด้วยการเตรียมการแฟรนไชส์ จากเวลานี้ที่มีอยู่ 3 สาขาได้แก่ ลำปาง เชียงราย และสกลนคร ตั้งเป้าขยายให้ครบ 76 จังหวัดภายใน 5 ปี
สำหรับจำหน่ายสินค้า นอกเหนือจากช่องทางโมเดิร์นเทรด ดอยคำยังเปิดร้านค้าปลีกขึ้นมาเพื่อจำหน่ายสินค้าทั้งหมดของดอยคำ โดยจะมี 3 รูปแบบด้วยกัน แบบ A จะมีขนาดใหญ่ที่สุด จะมีโซนขายสินค้า ร้านกาแฟ และร้านอาหาร แบบ B จะมีโซนขายสินค้า และร้านกาแฟ และแบบ C จะมีแค่โซนขายสินค้า ปัจจุบันร้านดอยคำมีทั้งหมด 40 สาขา
]]>