ตระกูลสิริวัฒนภักดี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 23 Nov 2018 07:53:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จับตา! อมรินทร์ทีวี เขย่าองค์กรครั้งใหญ่ หลังไทยเบฟฯ ส่งทีมผู้บริหารเข้าคุม ประเดิม “ละคร” ปีหน้า https://positioningmag.com/1199102 Fri, 23 Nov 2018 00:00:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1199102 หลังจากกลุ่มไทยเบฟฯ ของครอบครัวสิริวัฒนภักดี ได้ซื้อกิจการ อมรินทร์ พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชั่ง ในปลายปี 2559 โดยยังคงให้กลุ่มอมรินทร์รับหน้าที่บริหารงานเช่นเดิม ส่วนกลุ่มไทยเบฟฯ แค่วางนโยบาย แต่ก็สามารถพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรในปีนี้

แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มไทยเบฟฯ เริ่มขยับเข้ามาคุมการบริหารใน “อมรินทร์ทีวี” ธุรกิจทีวีดิจิทัล

เริ่มจากวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ สามีของ ระริน อุทกะพันธ์ุ ปัญจรุ่งโรจน์ ได้ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในอมรินทร์ทีวี ทั้งตำแหน่งกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้อำนวยการสถานี กลุ่มสิริวัฒนภักดี จึงได้แต่งตั้ง ศิริ บุญพิทักษ์เกศ ผู้บริหารจากกลุ่มช้าง ที่เป็นกรรมการและกรรมการบริหาร เข้ามารักษาการแทนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน

โชคชัย เป็นผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี เป็นผู้เข้าประมูลและปลุกปั้นช่องอมรินทร์ทีวีตั้งแต่เริ่มต้น จนเมื่อกลุ่มช้างเข้ามาถือหุ้นใหญ่ช่วงต้น 47.62% โชคชัยก็ยังมีชื่อเป็นบอร์ดบริษัท แต่เริ่มขยับออกจากตำแหน่งบอร์ดเมื่อเมษายนที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการเข้ามาของ ศิริ บุญพิทักษ์เกศ ในบอร์ดบริหารของกลุ่มอมรินทร์เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยที่ล่าสุดกลุ่มช้างได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 60.1% ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ครอบครัวอุทกะพันธุ์ เหลือหุ้นอยู่เพียง 21.6%

อมรินทร์ทีวี เป็นช่องในกลุ่ม HD วาไรตี้ เน้นรายการวาไรตี้ ประเภทบ้านและสวน แฟชั่น สุขภาพและรายการอาหาร ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่มาจากรายการบ้านและสวน ที่ต่อยอดมาจากนิตยสาร

ต่อมาเมื่อได้ “พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี” มาเป็นพิธีกรข่าว เริ่มมีชื่อเสียงในวงการข่าว มาจากการเล่าข่าวสไตล์เดียวกับ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” และได้มาแจ้งเกิด ในรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ในปี 2558 จนกลายเป็นรายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่องอมรินทร์มาจนถึงทุกวันนี้

“พุทธอภิวรรณ” เป็นพิธีกรข่าว ที่มีบทบาทสูงที่สุดในช่องอมรินทร์ จนช่วงหนึ่งมีข่าวลือว่า เขาจะย้ายช่องไปช่อง 3 ส่งผลให้อมรินทร์ทีวีสะเทือนไม่น้อย แต่ในที่สุดเขาก็กลับมาทำหน้าที่ที่อมรินทร์ทีวีเหมือนเดิม โดยมี 2 รายการที่รับผิดชอบคือ “ทุบโต๊ะข่าว” และ “ต่างคนต่างคิด”

อย่างไรก็ตาม เรตติ้งรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ที่ออกอากาศในช่วงหลัง 2 ทุ่ม ในปีนี้ เริ่มแกว่ง โดนคู่แข่ง “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ที่จัดเต็มทั้งทีมข่าวและคอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบข่าวเสมือนจริง ทำความนิยมเรตติ้งแซงหน้าไปในช่วงปลายไตรมาสแรกของปีนี้ และมาเจอหนักเมื่อมีข่าว “13 หมูป่าติดถ้ำหลวง” ในขณะที่อมรินทร์ทีวีติดพันกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ทำให้ไทยรัฐทีวีมีเรตติ้งแซงชนะอมรินทร์ทีวี มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อรูปแบบของการทำรายการข่าว ขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว ความเสี่ยงของช่องก็มากขึ้น เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว จากกรณีช่อง 3 เมื่อไม่มี “สรยุทธ์” ความนิยม เรตติ้ง และรายได้ก็ลดลงอย่างมาก ฝ่ายบริหารใหม่ช่องอมรินทร์จึงได้ปรับปรุงทีมข่าวใหม่ เพิ่มพิธีกรข่าวเข้ามาในผังรายการข่าวมากขึ้น โดยการประกาศเติมทีมพิธีกรข่าวใหม่ไปเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทีมใหม่ประกอบไปด้วย นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวรุ่นเก๋า มานั่งอ่านข่าวในช่วงเย็น “ข่าวเย็นอรุณอมรินทร์” ช่วงเวลา 16.00-17.00 น. และ ศุภโชค โอภาสะคุณ มาอ่าน “ข่าวเช้าอรุณอมรินทร์” เวลา 05.30-08.00 น. ในขณะที่ “พุทธอภิวรรณ” ยังครองช่วงไพรม์ไทม์เวลาหลัก 2 รายการเช่นเดิม

เพิ่มรายการหลากหลายมากขึ้น รวมถึง “ละคร”

ในปีนี้ช่องอมรินทร์ทีวีเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงรายการ เมื่อมีทุนหนามากขึ้นจึงมีรายการถ่ายทอดสดกีฬาเข้ามาในผัง ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มช้าง โดยมีรายการมวยเข้ามาลงผัง “ศึกช้าง มวยไทย Real Hero” ในทุกวันอาทิตย์, ถ่ายทอดสด ศึกยอดมวยไทย “นายขนมต้ม” แล้วยังได้สิทธิ์ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ด้วย

นอกจากนี้ก็เริ่มมีรายการประเภทเกมโชว์วาไรตี้เข้าลงผังบ้างแล้ว เช่น Win Win War Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน และ Snatch Million เกมกระชากล้าน

ในขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวด้วยว่า ผังใหม่ของช่องอมรินทร์ในปีหน้า จะเริ่มจัด “ละครไทย” ลงผังด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่พิสูจน์มาจากหลายๆ ช่องแล้วว่า “ละคร” คือคอนเทนต์เข้าถึงคนดูกลุ่มแมส สามารถเรียกเรตติ้งได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จะเริ่มลงตลาดละคร จึงมีข่าวว่าอมรินทร์ทีวี อาจจะเริ่มต้นด้วยละครในช่วงวันหยุด เพื่อเป็นการชิมลางทดลองตลาดก่อน

ในการพบปะกับเอเจนซี่เมื่อเร็วๆ นี้ อมรินทร์ได้เปิดตัวว่า ในปีหน้าจะเริ่มมีละครที่ผลิตโดยบริษัท Change 2561 ของ “พี่ฉอด สายทิพย์ มาตรีกุล ณ อยุธยา” มาเปิดตลาดละครเป็นรายแรก

ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเป็นกลุ่มรายการใหม่ที่เข้ามาช่วยสร้างการรับรู้ช่อง และเรตติ้งช่องให้เพิ่มสูงขึ้นได้ หลังจากที่ช่วงหลังๆ เรตติ้งเฉลี่ยช่องเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มช่องท็อปเท็น

ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันสูงในวงการทีวี การขยับปรับใหญ่ของช่องทุนหนา จึงน่าจับตามองว่า จะสามารถดันความนิยมและเรตติ้งช่องให้กลับมาพุ่งขึ้นได้หรือไม่.

]]>
1199102
ปิดดีล 2 ทายาท สิริวัฒนภักดี ซื้อหุ้น 50% จีเอ็มเอ็ม ชาแนล (GMM25) ตั้ง 2 บริษัทใหม่ถือหุ้นแทน อเดลฟอส https://positioningmag.com/1149663 Fri, 08 Dec 2017 11:19:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1149663 หลังจากได้ ทายาทของตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง (ทีวีดิจิทัลช่อง GMM 25) ส่งผลให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เท่าๆกัน  ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ล่าสุดบริษัท ได้แจงถึงการเพิ่มทุน และได้ปรับโครงสร้างการลงทุนของกลุ่มบริษัทตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจองซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นแล้ว

โดยจีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้ง ได้แจ้งถึงการเพิ่มทุนจดทะเบียนของจีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้งจำนวน 1,200  ล้านบาทจากเดิม 800 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท

โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 12 ล้านหุ้น หุ้นละ 100 บาท ราคาจองซื้อหุ้นละ 100 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้ง และได้มีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนการสละสิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยสรุปได้ดังนี้

  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 9,999,998 หุ้น (ร้อยละ50)   
  • บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด  ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น (ร้อยละ24.99)
  • บริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น (ร้อยละ 24.99)  และผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้นจำนวน 4 หุ้น

ส่งผลให้ โครงสร้างผู้ถือหุ้น และโครงสร้างการถือหุ้น ของจีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้งภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้นแล้ว สามารถสรุปได้ดังนี้

  • บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวน 9,999,998 หุ้น (ร้อยละ50)   
  • บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด  ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น (ร้อยละ24.99)
  • บริษัท  ภักดีวัฒนา จำกัด ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น (ร้อยละ 24.99) และผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้นจำนวน 4 หุ้น

โดยโครงการการถือหุ้น ของ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ประกอบด้วย จีเอ็มเอ็ม แชนแนล  (ช่องจีเอ็มเอ็ม25) , จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (เอไทม์ มีเดีย, เอไทม์ ทราเวิลเลอร์)

ทั้งนี้ บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด (เป็นของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น 100%) และบริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด (เป็นของ ปณต สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น 100%) จะเข้ามาจองซ้อหุ้นใน บริษัท จีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้ง แทน บริษัทอเดลฟอส จำกัด

นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ การซื้อหุ้น  จะต้องมีการโอนกลับคืนให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  (มหาชน)

โดย บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้ซื้อและรับโอนหุ้นใน บริษัทเอ็กแซ็กท์จำกัดและบริษัททีนทอล์กจำกัด จำนวนประมาณร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน และบริษัท ซีเนริโอ จำกัด จำนวนร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน จากบริษัทจีเอ็มเอ็มมีเดียจำกัด (มหาชน ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการได้รับชำระเงินคืนทุนจากการชาระบัญชีของ บริษัท บลิสพับลิชชิ่ง จำกัด จากจีเอ็มเอ็มมีเดีย และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ได้ปรับโครงสร้างการลงทุนของกลุ่มบริษัทตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจองซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นแล้วโดยบริษัทฯได้ขายและโอนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทถืออยู่ในจีเอ็มเอ็มมีเดียและในบริษัทจีเอ็มเอ็มทีวีจำกัดให้แก่จีเอ็มเอ็มแชนแนลเทรดดิ้ง

ทางด้านสายทิพย์ มนตรีกุล  อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ  จีเอ็มเอ็ม มีเดีย  บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้  ถือว่าเป็นการต่อยอดครั้งสำคัญของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ซึ่งผู้ร่วมทุนเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีโอกาสเติบโตได้อีก เนื่องจาก บริษัทแกรมมี่มีจุดแข็งทางด้านคอนเทนต์  และปัจจุบันช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ถือว่าได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างดี   และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน การเพิ่มทุนจึงช่วยให้สามารถลงทุนในด้านคอนเทนต์ต่างๆของช่องได้มากขึ้น และเชื่อว่าหลังจากการ เพิ่มทุน และเสริมความแกร่งด้านคอนเทนต์  จะส่งผลให้อันดับเรตติ้งช่องจีเอ็มเอ็ม25  เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

]]>
1149663
เปิดแผน จีเอ็มเอ็ม25 หลังได้ ”ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ถือหุ้น https://positioningmag.com/1137784 Tue, 29 Aug 2017 04:01:48 +0000 http://positioningmag.com/?p=1137784 หลังจากการประกาศการได้ผู้ถือหุ้นของบริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่มี ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี 2 ทายาท เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้เข้ามาถือร่วมถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 50% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม25 เป็นอีกช่องที่จะมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา อนาคตของช่องนี้จะเป็นอย่างไร

พี่ฉอดสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ซีอีโอ สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าว ว่า การเข้ามาของ “อเดลฟอสนั้น จะเน้นการลงทุนเป็นหลัก และจะส่งคนเข้ามานั่งในบอร์ดของบริษัท ส่วนการดำเนินธุรกิจจะเป็นของผู้บริหารและทีมงานเดิม 

ปรับโครงสร้างธุรกิจ

การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด จะเป็นบริษัทหลัก ที่จะถือหุ้นโดยทั้งสองฝั่ง คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอเดลฟอส ฝ่ายละ 50%

จากนั้นจะนำบริษัทที่ทำเกี่ยวเนื่องและเกื้อกูลกัน ประกอบไปด้วย 1. จีเอ็มเอ็ม แชนแนล (จีเอ็มเอ็ม ช่อง 25) 2. จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ซึ่งมี เอทีไทม์ มีเดีย และเอไทม์ ทราเวิลเลอร์ อยู่ภายใต้อีกที และ 3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี ซึ่งเป็นคอนเทนต์ โพรไวเดอร์ผลิตรายการ มาอยู่ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง อีกที

นำบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้อง คือ บริษัท เอ็กแซ็กท์ บริษัท ซีเนริโอ ซึ่งเคยผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ แยกไปอยู่ภายใต้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวมทั้งทีนทอล์คไม่ได้ดำเนินธุรกิจ และบลิสที่ได้ปิดกิจการไปแล้ว แยกออกไป

ขยายคอนเทนต์และกลุ่มเป้าหมาย

เงินลงทุนที่ได้มาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นใหม่ ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาใช้ในการลงในช่อง GMM25 เป็นหลัก เพราะธุรกิจทีวีดิจิทัลต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยจะนำมาใช้ผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ทั้งละครและรายการต่างๆ 

โดยที่เราจะขยายไปพร้อมกัน ทั้งทีวีและวิทยุ อีเวนต์ต่างๆ ทั้งออนไลน์ออนแอร์และออนกราวด์จะถูกขยายไปพร้อมๆ กัน กรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ทุกอย่างจะต้องถูกขยายไปด้วยกัน

การขยายคอนเทนต์ในครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อต้องการขยายฐานคนดูไปในต่างจังหวัดมากขึ้น และจะเน้นไปที่กลุ่ม Gen C เป็นคนรุ่นใหม่ นิยมความทันสมัย ไม่ได้บริโภคสื่อจอเดียว ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์” เดียวกับช่อง โดยไม่จำกัดอายุและพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มคนดูที่กว้างไม่ได้เล็กแล้ว 

กลุ่มเป้าหมายดั้งเดิมของช่องที่วางไว้แต่แรกคือ คนอายุ 15-34 ปี แต่ต่อไปเราจะไม่จำกัดอายุ และจะไปขยายในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นกลุ่มแมส ที่อยู่จังหวัดไกลๆ

เรตติ้งทีวีไม่ใช่คำตอบเดียว

ตลอด 3 ปีที่ทำมา เรตติ้งของช่อง GMM25 (คนดูอายุ 15-34) จะอยู่ที่ .15 ปีนี้ (2560) ขยับมาอยู่ที่ .18 ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

ดังนั้น วิธีการขายโฆษณาของช่องจึงต้องทำเป็น แพ็กเกจเป็นการซินเนอยี่กัน ระหว่างมีเดีย วิทยุ ทีวี พร้อมทั้งขายการไทอินสินค้าในรายการรวมถึงการใช้ เรตติ้ง” คนดูทีวีควบคู่ไปกับสถิติคนดูในโลกออนไลน์ ทั้งในยูทิวบ์และเฟซบุ๊ก

พี่ฉอด ยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ ทำให้จีเอ็มเอ็ม25 แตกต่างไปจากการขายของช่องอื่นๆ และจัดการบริหารต้นทุนได้ดี

ถึงแม้ว่าช่องจีเอ็มเอ็ม25 จะมีเรตติ้งน้อยมาก ห่างไกลกับช่องเบอร์ต้นๆ มาก แต่ถ้าเราใช้เรตติ้งอย่างเดียว เราก็ไม่รอด เพราะเวลานี้คนดูสดและย้อนหลังออนไลน์ ผ่านมือถือ ซึ่งสถิติตรงนี้บอกชัดเจน เมื่อนำมาผสมกับรูปแบบการขายเป็นแพ็กเกจ ทำให้เราเติบโตไปได้

พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา

แม้ช่องยังขาดทุนอยู่และมีหลายสถานการณ์ที่เข้ามา ต้องเผชิญปัญหาที่ควบคุมไม่ได้สูงมาก แต่การได้ผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาก็น่าจะเห็นผลในปีหน้า

หลายคนมองว่า มีความยากลำบาก แต่การที่จีเอ็มเอ็ม25 สามารถหาผู้ลงทุนเข้ามาได้เป็นตัวสะท้อนว่า ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจของเราทำให้ผู้ถือหุ้นใหม่มองเห็นโอกาสในการเติบโต และจะก้าวไปข้างหน้าได้อีกจึงเข้ามาลงทุน”

]]>
1137784
อนาคต “แกรมมี่” หลังขายหุ้นให้ “ลูกเจ้าสัว” https://positioningmag.com/1137645 Mon, 28 Aug 2017 02:00:36 +0000 http://positioningmag.com/?p=1137645 ต้องนับเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของแกรมมี่ หลังการขายหุ้นเพิ่มทุน สัดส่วน 50% คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ให้กับ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” 

เพราะนี่คือ การ “ปลดเปลื้อง” ลดภาระการลงทุนในธุรกิจมีเดียชิ้นสุดท้าย เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตรายการ หรือ “คอนเทนต์ โพรไวเดอร์” เต็มตัว

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และบอบช้ำอย่างหนัก จากการพยายามแสวงหาเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนขาลงของธุรกิจเพลง ที่ต้องโดนพายุ “ดิจิทัล” ซัดกระหน่ำ

หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจ “เพย์ทีวี” ผ่านดาวเทียม GMMZ ถือเป็นธุรกิจที่ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นธุรกิจ “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ จึงทุ่มลงทุนไปจำนวนมากทั้งคอนเทนต์ และการจัดจำหน่ายผลิตกล่องดาวเทียม

แต่ปรากฏว่าธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ไม่สามารถสู้กับ “ทรูวิชั่นส์” เจ้าตลาดไม่ได้ จึงต้องแบกรับผลขาดทุนชนิดเลือดสาด หมดไปหลายพันล้าน

แกรมมี่จึงต้องทยอยตัดขายทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และธุรกิจที่ไม่ทำเงิน ต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 3-4 ปี

เริ่มตั้งแต่ขายทิ้งหุ้น “มติชน” ที่ถืออยู่ 22% ในราคา เท่าทุนกับที่ซื้อมาในปี 2548 ให้กับกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ ตามมาด้วยการขายหุ้นในซีเอ็ด ซึ่งทำธุรกิจร้านหนังสือ       

จนในที่สุด อากู๋ ก็ตัดยอมขายทิ้งธุรกิจเพย์ทีวีไปให้กับ CTH ตามมาด้วยธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมมูลค่า 45 ล้านบาทให้กับบริษัท ซีทรู จำกัด ของ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอ ไทยแอร์เอเชีย

รวมทั้งขายหุ้น 50% ที่ถืออยู่ในบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ให้กับบริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มมาลีนนท์

การตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตของแกรมมี่ ก็เพื่อต้องการฝากอนาคตไว้กับ ธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ที่อากู๋ไปประมูลมาถึง 2 ช่อง คือช่องวันและช่อง GMM 25

ช่องวัน นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่เคยมีประสบการณ์ และฝากฝีมือจากการผลิตละคร และซิทคอม ป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ มาแล้ว

ส่วนช่อง GMM 25 นั้นมี พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เป็นหัวเรือใหญ่ เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทีน

ถึงแม้แกรมมี่จะมี “หน้าตัก” ในเรื่องของการผลิตคอนเทนต์มาแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลกลับไม่สวยหรูอย่างที่คิด ไหนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแย่งชิงเค้กก้อนเล็กลงจากคู่แข่ง 24 ราย พฤติกรรมคนดูก็เปลี่ยนไป ไม่ได้อยู่แค่หน้าจอทีวี และแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ยิ่งนานวัน การแย่งชิงโฆษณายิ่งเข้มข้นขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจขาลงด้วยแล้ว แม้แต่ช่องหลักอย่างช่อง 3 และช่อง 7 เอง ก็ยังต้องกุมขมับ ต้องลุกขึ้นมาทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ไม่ต้องพูดถึงช่องรองลงมา จะต้อง “จัดหนัก” ขนาดไหน

เมื่อแกรมมี่มีทีวีดิจิทัลในมือถึง 2 ช่อง ก็ยิ่งต้องแบกรับภาระการลงทุนเป็นเท่าตัว ซึ่งแกรมมี่เองก็ไม่ได้มี “สายป่าน” ที่ยาวพอจะทนกับภาวะขาดทุนต่อไปเรื่อยๆ ได้

ช่องวัน แม้เรตติ้งจะติดอยู่อันดับ 5 และ 6 ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เรตติ้ง อยู่อันดับ 13-14 แต่ก็ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ละครที่เป็นไฮไลต์ แม้จะพยายามลดต้นทุนการผลิต แต่รายได้จากโฆษณาที่หาได้ก็แค่ “เสมอตัว” การจะทำให้ “จุดคุ้มทุน” ก็ยิ่งห่างไกลกับความเป็นจริง

สถานการณ์แบบนี้ หากปล่อยไว้นานจะยิ่งลำบาก แกรมมี่จึงต้องวิ่งหา “นายทุน” ใหม่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจ

เริ่มจาก “ช่องวัน” ที่ใช้เงินลงทุนสูงสูงกว่า จีเอ็มเอ็ม 25 แกรมมี่ติดต่อเจรจามาแล้วหลายราย รวมทั้ง “กฤตย์ รัตนรักษ์” เจ้าของช่อง 7 ก็เคยถูกทาบทามมาแล้ว

แต่ในที่สุด มาลงตัวที่ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” เจ้าของช่องพีพีทีวี ที่ยอมควักเงิน 1.9 พันล้าน มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 50% ในบริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรซ์ เจ้าของช่องวัน เมื่อปลายปีที่แล้ว

ตามมาด้วยดีลล่าสุด คือการขายหุ้น 50% คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดี

หลังการ “ปลดล็อก” ลดภาระการลงทุนทีวีดิจิทัล แกรมมี่เองจะกลับสู่สามัญ หันมาเป็นผู้ผลิตรายการ หรือ content provider โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และบุคลากรในมือ ในธุรกิจเพลง ดนตรี คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ ผลิตรายการทีวี ละคร ป้อนให้กับ “ช่องทีวี” ทุกราย

เพราะเวลานี้ ไม่ได้มี “ทีวีดิจิทัล” เท่านั้น แต่ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Over The Top หรือ OTT ที่กำลังทรงอิทธิพล เพิ่มบทบาทต่อคนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ให้บริการ OTT ล้วนแต่เป็นรายใหญ่ ที่เป็นข้ามชาติ YouTube, Facebook, Line TV และ Netflix ช่องเหล่านี้ นอกจากมีคอนเทนต์ต่างประเทศที่มีอยู่แล้ว ยังต้องการคอนเทนต์ไทยเพื่อสร้างฐานคนดูในวงกว้าง OTT ข้ามชาติเหล่านี้ จึงยอมจ่ายค่าจ้างในการผลิตรายการ เช่น ละคร สูงถึงตอนละ 2-5 ล้านบาท

ในขณะที่เจ้าช่องทีวีต้องเสียต้นทุนผลิตอย่างต่ำๆ ก็ตอนละ 1 ล้านบาทขึ้นไป ไหนยังต้องวิ่งหาโฆษณาอีก สถานการณ์แบบนี้ อย่างดีก็แค่ “คุ้มทุน”

สู้หันมารับจ้างผลิต ป้อนให้ช่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ทีวีดิจิทัล” แพลตฟอร์มดิจิทัล OTT ได้รายได้มาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องมีต้นทุน ให้แบกรับเหมือนกับการเป็นเจ้าของช่องทีวี ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า “จะออกหัวหรือออกก้อย”

ส่วนช่องวัน และช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 นับจากนี้ จะเดินไปตามนโยบาย และทิศทางของพาร์ตเนอร์แต่ละราย

ช่องวันนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร เนื่องกลุ่มปราสาททองโอสถเองต้องการคงจุดยืนของช่องวันไว้เช่นเดิม โดยมีละครเป็นคอนเทนต์หลัก เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยพยายามผลักดันให้พีพีทีวีทุ่มลงทุนผลิตละคร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันไปมุ่งเรื่องของกีฬาแทน และให้ช่องวันเป็นหัวหอกในเรื่องของละคร

ส่วนจีเอ็มเอ็ม 25 นั้นในเบื้องต้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารเช่นกัน ตามข้อตกลงที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ทำไว้นั้น พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ยังคงรับหน้าบริหารงานต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพื่อคงจุดแข็งของช่อง ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นไว้

แต่ในระยะยาวแล้ว ช่อง GMM 25 จะต้องปรับเนื้อหาเพื่อขยายไปสู่กลุ่มคนดูทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมายของของไทยเบฟ ที่เป็นระดับแมส

เพราะจุดมุ่งหมายของการซื้อหุ้นในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ต้องการใช้เป็น “ช่องทาง” ในการสร้างการรับรู้ให้กับสินค้าในเครือข่ายไทยเบฟ ซึ่งมีทั้งธุรกิจเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ไปยังผู้บริโภคทั่วไป

ดีลการซื้อหุ้นครั้งนี้ นอกจากทีวีดิจิทัลแล้ว ยังได้รวม “เอไทม์ มีเดีย” สื่อวิทยุ ที่ถือเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่ไปด้วย ก็เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มคนฟังทั่วไปให้ได้มากที่สุด

นี่คือ ที่มาของดีลทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อการกลับสู่สามัญ ในการเป็นคอนเทนต์ โพรไวเดอร์ อย่างเต็มตัวอีกครั้งของแกรมมี่

]]>
1137645