ถึงแก่มรณกรรม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 29 Jan 2018 04:41:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ผู้ก่อตั้งอาณาจักร IKEA เสียชีวิตในวัย 91 ปี ‘อิงวาร์ คัมพรัด’ จากลูกชาวนากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีผู้ปฏิวัติวงการเฟอร์นิเจอร์โลก https://positioningmag.com/1154753 Mon, 29 Jan 2018 04:29:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1154753 ภาพถ่ายของ อิงวาร์ คัมพรัด ผู้ก่อตั้งอาณาจักรขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ “อิเกีย” พร้อมด้วยสมุดสำหรับเขียนคำไว้อาลัย ตั้งเอาไว้บริเวณทางเข้าห้างอิเกีย ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) ทั้งนี้บริษัทอิเกียแถลงว่า คัมพรัดถึงแก่กรรมแล้ว สิริอายุ 91 ปี

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – อิงวาร์ คัมพรัด (Ingvar Kamprad) ผู้ก่อตั้ง “อิเกีย” (Ikea) อาณาจักรธุรกิจระดับโลกที่เน้นจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบบถอดประกอบได้ และมีชื่อเลื่องลือในเรื่องไม่ชอบเสียภาษี ได้ถึงแก่มรณกรรมแล้วสิริอายุ 91 ปี กิจการยักษ์ใหญ่เครื่องประดับตกแต่งบ้านสัญชาติสวีเดนรายนี้แถลงในวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) 

คำแถลงของบริษัทกล่าวว่า คัมพรัด “ได้จากไปอย่างสงบท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาผู้เป็นที่รักของเขา” ณ บ้านพักของเขาในเขตสมาลันด์ ทางภาคใต้ของสวีเดนเมื่อวันเสาร์ (27) “หลังจากล้มป่วยเป็นระยะเวลาสั้นๆ”

“มรดกที่เขาทิ้งเอาไว้จักเป็นที่ชื่นชมยกย่องกันไปอีกหลายๆ ปีต่อจากนี้ และวิสัยทัศน์ของเขา –ในการสร้างสรรค์ชีวิตประจำวันที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้คนจำนวนมาก-ก็จะยังคงเป็นเครื่องชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเราต่อไป” เยสเปอร์ โบรดิน ซีอีโอและประธานบริหารของกลุ่มอิเกีย กรุ๊ป กล่าวในคำแถลงฉบับดังกล่าว

ขณะที่นายกรัฐมนตรีสวีเดน สเตฟราน โลฟเวน บอกกับสำนักข่าวทีที ว่า “อิงวาร์ คัมพรัด เป็นผู้ประกอบการที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งมีความหมายเยอะแยะมากมายต่อธุรกิจของสวีเดน และเป็นผู้ที่ทำให้เครื่องประดับตกแต่งบ้านกลายเป็นสิ่งซึ่งผู้คนจำนวนมากสามารถซื้อหาได้ ไม่ใช่เพียงแค่คนจำนวนน้อยอีกต่อไป”

คัมพรัดเกิดเมื่อปี 1926 ในครอบครัวเกษตรกร ที่เขตสมาลันด์ เขาก่อตั้งบริษัทของเขาขึ้นตั้งแต่อายุได้ 17 ปี โดยที่ “บิลัน” นิตยสารทางเศรษฐกิจของสวิส ประมาณการเอาไว้ว่า ณ ปี 2017 คัมพรัดมีทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งเป็นจำนวน 37,300 ล้านยูโร (ราว 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

“เขามาจากแห่งหนซึ่งไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพลังที่อยู่ภายในของเขา ความสามารถของเขา และความมุ่งมั่นตั้งใจของเขา เขาก็ได้สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าทุกๆ คนต่างรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อมองเห็นอิเกียก้าวเข้ามาอยู่ในโลกใบนี้” ยาค็อบ วัลเลนเบิร์ก นายแบงก์และนักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน กล่าวกับหนังสือพิมพ์ทางการเงิน ดาเกนส์ อินดัสทรี

ความสำเร็จของคัมพรัด บังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสิ่งที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียง

ในปี 1973 เขาผละจากสวีเดนซึ่งมีโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงลิ่ว ไปอาศัยอยู่ที่เดนมาร์ก ก่อนที่จะโยกย้ายต่อไปพำนักในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเก็บภาษีในอัตราต่ำลงมาอีก

คัมพรัดประกาศในปี 2013 ว่าเขากำลังจะก้าวลงจากบอร์ดบริหารของ อินเตอร์ อิเกีย ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้านแนวความคิดและแบรนด์ของยักษ์ใหญ่เฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ และบุตรชายคนเล็กสุดของเขาก็ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการ หลังจากนั้นอีก 1 ปี ตัวคัมพรัดเองก็เดินทางกลับมาพำนักอยู่ในสวีเดน

ผู้เยี่ยมชมใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพของอิงวาร์ คัมพรัด ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท “อิเกีย” ณ พิพิธภัณฑ์อิเกีย ในเมืองแอล์มฮุลท์ ประเทศสวีเดน เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.)

เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงว่าได้เปิดการสอบสวนเรื่องข้อตกลงด้านภาษีของอิเกียในประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยที่ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2014 สหพันธ์นักหนังสือพิมพ์แนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งได้เข้าตรวจสอบไฟล์ด้านภาษีจำนวนมากที่รั่วไหลออกมาจากประเทศลักเซมเบิร์ก ได้ระบุว่า อิเกียเป็นหนึ่งในประดาบรรษัทนานาชาติระดับยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีเบาะแสว่ามีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษีนิติบุคคล ด้วยการโยกย้ายถ่ายโอนเงินทองไปยังดินแดนปลอดภาษีแห่งต่างๆ

ขณะที่กลุ่มอิเกียกรุ๊ปเองยืนยันว่า ตนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกติกาด้านภาษีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างเต็มที่

“ความโง่เขลาของช่วงเยาวชน”

มรดกที่ทิ้งเอาไว้ของคัมพรัด ในเรื่องการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ซึ่งผู้คนจำนวนมากสามารถซื้อหาได้ ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากลูกค้ามากมายทั่วโลก

“ดีไซน์ที่ดีงามกลายเป็นประชาธิปไตยสำหรับผู้คนในวงกว้างขึ้นมาโดยอาศัยความสามารถของเขา” สตีเวน โคเอต. นักท่องเที่ยววัย 45 ปีจากแอฟริกาใต้ กล่าวกับเอเอฟพี “ทุกๆ คนที่อยากจะได้อะไรสักอย่าง … ซึ่งออกแบบมาอย่างสวยงามน่านิยม สามารถที่จะไปซื้อหามันได้จากห้างอิเกีย”

อย่างไรก็ดี คัมพรัดเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ในเรื่องที่เขาเคยมีสายสัมพันธ์อยู่กับขบวนการเยาวชนของพวกนาซี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

สวีเดนนั้นประกาศตัวเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 2 และพรรคนาซีของประเทศนี้ยังคงมีบทบาทแข็งขันต่อมาภายหลังมหาสงครามดังกล่าวยุติลงเมื่อปี 1945 ผู้ก่อตั้งอิเกียกล่าวว่า เขายุติไม่ไปเข้าร่วมการประชุมของพวกนาซีตั้งแต่ปี 1948 แล้ว

ในเวลาต่อมาเขาพูดถึงระยะเวลาดังกล่าวว่า เป็น “ความเขลาของช่วงเยาวชน” และเป็น “ความผิดพลาดใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม”

ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2012 ขณะ ผู้ก่อตั้ง “อิเกีย” อิงวาร์ คัมพรัด โพสให้ถ่ายรูปที่สถาบันเทคโนโลยีสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ (EPFL) ในเมืองโลซานน์

เรื่องราวของอิเกีย (ชื่อ อิเกีย Ikea มาจากอักษรย่อตัวแรกของชื่อและนามสกุลของเขา อิงวาร์ คัมพรัด Ingvar Kamprad, เอล์มตารีด Elmtaryd ชื่อฟาร์มของเขา และ ออกุนนารีด Agunnaryd ชื่อเทศบาลที่เขาพำนักในตอนเริ่มแรก) เริ่มต้นขึ้นในปี 1943

คัมพรัดซึ่งได้รับความสนับสนุนทางด้านการเงินจำนวนเล็กน้อยจากบิดาของเขา เริ่มต้นขายพวกปากกา, กรอบรูป, เครื่องพิมพ์ดีด และสินค้าอื่นๆ และนำสินค้าที่มีผู้สั่งซื้อไปส่งโดยใช้รถจักรยานของเขาเอง ความสำเร็จในตอนแรกของเขามาจากการกดราคาขายของเขาลง เพื่อให้ต่ำกว่าของพวกคู่แข่งขันซึ่งมีกิจการเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า

ชีวิตที่สมถะมัธยัสถ์ 

ในปี 1947 หนุ่มคัมพรัดเริ่มต้นขายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งทำโดยพวกช่างฝีมือในท้องถิ่น และอีก 4 ปีต่อมาก็เริ่มต้นจัดพิมพ์แคตาล็อกสินค้าสำหรับให้สั่งซื้อทางไปรษณีย์เป็นเล่มแรกของเขาขึ้น โดยที่เมื่อถึงเวลานี้ อิเกียมีการจัดพิม์แคตาล็อกเช่นนี้กันปีละ 200 ล้านเล่ม ในภาษาต่างๆ 33 ภาษา

โมเดลการทำธุรกิจแบบปฏิวัติวงการของอิเกีย อันได้แก่การผลิตสินค้าออกมาเป็นชิ้นๆ ที่สามารถนำไปประกอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งตัดลดค่าขนส่งและต้นทุนในการจัดเก็บในคลังสินค้า ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปี 1956 หลังจากที่มีลูกจ้างผู้หนึ่งเสนอแนะว่าโต๊ะที่บริษัทขายควรจะสามารถถอดเอาขาโต๊ะออกมาได้ในระหว่างการขนส่ง เพื่อทำให้ขนหีบห่อบรรจุภัณฑ์ขึ้นลงรถได้อย่างสะดวก

อีก 2 ปีต่อมา คัมพรัดเปิดห้างอิเกียแห่งแรกขึ้นที่เมืองแอล์มฮุลท์ ทางใต้ของเมืองเกิดของเขานั่นเอง

นับจากปี 1970 เป็นต้นมา อิเกียสามารถพิชิตตลาดสำคัญๆ ในยุโรป, อเมริกาเหนือ, เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ด้วยอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของพวกชนชั้นกลางที่กำลังเริ่มปรากฏขึ้นมาในพวกประเทศอย่างเช่น รัสเซียหลังยุคสงครามเย็น

กลุ่มอิเกียปัจจุบันมีห้างอยู่ 403 ห้างในตลอดทั่วทุกทวีป ว่าจ้างลูกจ้างพนักงาน 190,000 คนทั่วโลก และทำยอดขายได้ในระดับปีละ 38,000 ล้านยูโร (47,000 ล้านดอลลาร์)

ทว่าคัมพรัดยังคงใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์เหลือเกิน โดยมีรายงานว่าเขาสวมใส่เสื้อผ้าที่ซื้อหามาจากพวกร้านขายของถูก ยังคงขับรถยนต์วอลโวคันเก่า และควักบัตรลดราคาสำหรับลูกค้าผู้จงรักภักดีมาจับจ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำ

คุณลองมองที่ตัวผมซิ ผมคิดว่าผมไม่ได้สวมใส่อะไรเลยที่ไม่ได้ซื้อหามาจากตลาดนัดขายของถูก ผมต้องการที่จะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี

อภิมหาเศรษฐีผู้นี้บอกกับสถานีโทรทัศน์ ทีวี 4 ของสวีเดนเมื่อปี 2016

ในปี 2013 มีรายงานว่าเขาถูกบังคับให้ต้องโอนเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์แก่พวกลูกๆ ของเขา ภายหลังเกิดความบาดหมางแตกร้าวอย่างขมขื่นภายในครอบครัว เกี่ยวกับรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเขายังคงเก็บรักษาเอาไว้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ตามเนื้อหาของหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับอิเกีย

ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2015 ขณะ อิงวาร์ คัมพรัด ผู้ก่อตั้ง “อิเกีย” เดินทางมาถึง เพื่อเข้ารับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่พระราชวังในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/around/detail/9610000009150

]]>
1154753