ทีวีดาวเทียม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 31 Jul 2019 03:37:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โมเดลธุรกิจใหม่! PSI ปั้นแพลตฟอร์ม “ไฮบริด” ทีวีดาวเทียม-อินเทอร์เน็ต ขายเซอร์วิส “เรตติ้ง-ช้อปปิ้งออนไลน์-ดาต้า” https://positioningmag.com/1240930 Tue, 30 Jul 2019 23:05:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1240930 การเปลี่ยนแปลง Media Landscape ที่สำคัญของประเทศไทยก่อนยุคทีวีดิจิทัล คือ การเติบโตของธุรกิจทีวีดาวเทียม ทั้งช่องรายการ แพลตฟอร์มจานและกล่องรับสัญญาณดาวเทียม เจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง PSI เคยทำยอดขายไว้สูงสุด 5 ล้านกล่องต่อปี   

เมื่อเข้าสู่ยุค “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2557 ที่จำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 24 ช่อง กสทช. สนับสนุน “กล่องรับสัญญาณ” ระบบทีวีดิจิทัลแจกฟรี ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับการเติบโตของประชากรออนไลน์ ผู้ชมจึงมีช่องทางเสพคอนเทนต์ได้หลากหลาย ทำให้ธุรกิจกล่องทีวีดาวเทียมเริ่มถดถอย

สมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าตลาดแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม บอกว่า ช่วงที่ผ่านมา PSI ต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวีไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัลปี 2557 ยอดขายกล่องดาวเทียมลดลงทั้งตลาด เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงของสื่อทีวีดิจิทัล

ในด้าน “ฮาร์ดแวร์” พีเอสไอ ยังผลิตจานดาวเทียมและกล่องจำหน่ายเช่นเดิม แม้จำนวนจะลดลงจากยุครุ่งเรือง แต่ก็ยังขายได้ระดับ 1 ล้านกล่องต่อปี ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 2 – 2.5 ล้านกล่องต่อปี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาและนิ่งที่อัตรานี้ถึงปัจจุบัน

สมพร ธีระโรจนพงษ์

โดยพัฒนากล่องรุ่นใหม่เริ่มที่ กล่อง HD มาสู่กล่อง Hybrid รับสัญญาณดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตทีวี เพื่อเป็นตัวเลือกเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณรุ่นเก่า

ไม่เพียงเท่านั้น ได้เริ่มพัฒนาบริการในฝั่ง “ซอฟต์แวร์” ปี 2558 เปิดตัวแอปพลิเคชั่น PSI ARM การบริหารจัดการตัวแทนขายสินค้า และ FIXIT แอปพลิเคชั่น รวบรวมช่างติดตั้งเสาและกล่องดาวเทียม ซึ่งมีช่างอยู่ในเครือข่าย 10,000 คน  

การมีโรงงานผลิตจานและกล่องดาวเทียมอยู่แล้ว จึงมีพื้นฐานในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2559 พีเอสไอเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มด้วย กล้องวงจรปิด OCS ตามด้วย เครื่องปรับอากาศ PSI และเครื่องแยกน้ำ PSI โดยมีเครือข่ายช่าง 10,000 คน ในแอป FIXIT เป็นตัวแทนจำหน่าย ติดตั้ง และดูแลหลังการขาย เป็นการสร้างอีกแหล่งรายได้ให้กับช่าง นอกจากติดตั้งจานและกล่องดาวเทียม

สร้างแพลตฟอร์ม Freedom 

มาในปี 2562 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ พีเอสไอ กับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจในยุค 4.0 ด้วยการสร้าง แพลตฟอร์ม Freedom ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ (OS) ที่พัฒนาขึ้นเอง เหมือนกับแอนดรอยด์ แต่สามารถเขียนฟีเจอร์และเซอร์วิสใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาได้ เป็นระบบปฏิบัติการที่อยู่ในกล่องรับสัญญาณ รุ่น S3 เป็นกล่อง Hybrid รับสัญญาณดาวเทียวและอินเทอร์เน็ตทีวี (IPTV)

เริ่มทำตลาดกล่อง S3 Hybrid ตั้งแต่ต้นปี 2562 ปัจจุบันมีสินค้าอยู่ในตลาดแล้ว 1.5 แสนกล่อง ถึงสิ้นปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 4 แสนกล่อง และสิ้นปี 2563 น่าจะได้ 1 ล้านกล่อง ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อทดแทนกล่องรุ่นเก่าที่ถึงเวลาเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ส่วนฐานลูกค้าใหม่อยู่ที่ราว 10%

เปิดตัวเซอร์วิส “เรตติ้ง” ทีวี

การสร้างแพลตฟอร์มกล่อง S3 Hybrid พีเอสไอได้ใส่ฟีเจอร์สำคัญ คือ การวัดเรตติ้งผู้ชม ในช่องทีวีทุกช่องที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอ รวมทั้ง “ทีวีดิจิทัล” ที่สามารถวัดผู้ชมได้ทั้งการรับชมผ่านสัญญาณดาวเทียมทางหน้าจอทีวีและเรตติ้งออนไลน์ จากอินเทอร์เน็ตทีวี และยูทูบ ที่จะคำนวณออกมาเป็นเรตติ้งเดียวกัน

เมื่อติดตั้งกล่อง S3 Hybrid แล้ว ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอป PSI Rating เพื่อใช้มือถือเป็นรีโมต กล่อง S3 Hybrid กดเปลี่ยนทีวีช่องต่างๆ ทั้ง ทีวีดิจิทัล และทีวีดาวเทียม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเรตติ้งผู้ชมมาด้วย ข้อมูลถึงเดือน ก.ค. 2562 มีฐานผู้ชมที่ติดตั้ง กล่อง S3 Hybrid แล้ว 1.37 แสนกล่อง ซึ่งหมายถึงผู้ชมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างการวัดเรตติ้ง

พีเอสไอ ได้เริ่มวัดเรตติ้งผ่านกล่องดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2554 ช่วงแรกติดตั้งซิมมือถือเข้าไปในกล่องทีวีดาวเทียม จำนวน 2,000 กล่อง สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ จากนั้นพัฒนาระบบวัดเรตติ้งมาอย่างต่อเนื่อง มาถึงปัจจุบันที่ใช้กล่อง S3 Hybrid ที่ข้อมูลทั้งผู้ชมหน้าจอทีวีและการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ จะรายงานผลเรตติ้งแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น PSI rating บนมือถือและแท็บเล็ต

เป้าหมายของพีเอสไอ จะเพิ่มกล่อง กล่อง S3 Hybrid ให้ได้ 1 ล้านกล่องในปี 2563 ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูล 1 ล้านครัวเรือน 

โดยพีเอสไอ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ไปนำเสนอระบบการวัดเรตติ้งผ่านกล่องดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตทีวี ให้สำนักงาน กสทช. ทีวีดิจิทัล และมีเดีย เอเยนซี พิจารณาในการคัดเลือกผู้จัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ ไม่ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ พีเอสไอก็จะพัฒนาระบบการวัดเรตติ้งบนกล่อง S3 Hybrid ต่อไป

ชูเรตติ้งแหล่งที่สอง เจาะลูกค้า SMEs

การพัฒนาระบบเรตติ้งของพีเอสไอ เพื่อให้บริการช่องทีวีดาวเทียมที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอกว่า 100 ช่อง ใช้เป็นข้อมูลในการขายโฆษณากับลูกค้าที่สนใจ โดยเฉพาะ SMEs ธุรกิจที่กำลังเติบโต และไม่ได้ซื้อเวลาโฆษณากับทีวีดิจิทัล ผ่านเอเยนซี ที่ส่วนใหญ่ให้บริการกับลูกค้าบริษัทต่างชาติ และผู้ประกอบการไทยรายใหญ่

ในฝั่งของ “ทีวีดิจิทัล” ที่ซื้อข้อมูลเรตติ้งจาก “นีลเส็น” อยู่แล้ว ก็สามารถใช้เรตติ้งพีเอสไอเป็น Second Source ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันก็มีเรตติ้งของ AIS Play ที่วัดผู้ชมจากแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นอีกแหล่งข้อมูล

“ดาต้าไม่โกหก การมีแหล่งข้อมูลเรตติ้งอื่นๆ จะทำให้แม่นยำขึ้น และสามารถใช้เป็น Second Source เปรียบเทียบหากฐานข้อมูลแรกมีความแตกต่างกันมาก เพราะตัวเลขเรตติ้งหมายถึงการกำหนดราคาโฆษณาและรายได้ที่ช่องทีวีจะได้รับ” 

เรตติ้งของพีเอสไอ มาจากผู้ซื้อกล่อง S3 Hybrid ที่ต้องต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อดูช่องรายการผ่านออนไลน์ นั่นหมายถึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ลงโฆษณา

ข้อมูลเรตติ้งของพีเอสไอ ในเดือน ก.ค. ท็อป 5 เรตติ้ง อันดับ 1 คือ ช่อง 3 ตามมาด้วย โมโน, ช่อง 7, เวิร์คพอยท์, ช่องวัน และไทยรัฐทีวี 

บริการ “ทีวี ช้อปปิ้ง” กดซื้อเรียลไทม์

อีกฟีเจอร์ที่จะให้บริการของกล่อง S3 Hybrid คือบริการ ช้อปปิ้ง ออนไลน์ ที่เหมาะกับธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง เทคโนโลยีการใช้แอป PSI บนมือถือเป็นรีโมต กดดูรายการทีวี ช้อปปิ้ง หากผู้ชมตัดสินใจซื้อ สามารถกดซื้อและจ่ายเงินผ่านแอปบนมือถือทันทีแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องโทรผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจ ทีวี ช้อปปิ้ง เป็นการสร้าง Emotion ระหว่างที่ดูเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ การมีเครื่องมือที่กดซื้อได้ทันที จะช่วยให้การตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น และสร้างยอดขายให้สินค้า

บริการนี้สามารถเสนอขายให้กับทีวี ช้อปปิ้งช่องต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มดาวเทียมพีเอสไอ ที่มีกว่า 10 ช่อง เช่น ทีวีไดเร็ค, ทีวีดีโมโม่, โอ ช้อปปิ้ง

อีกรูปแบบที่ทำได้ คือการสร้างแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ออนไลน์ ให้กับแบรนด์และผู้ประกอบการที่สนใจ โดยเป็นธุรกิจที่มีสินค้าจำนวนมาก มีฐานสมาชิกอยู่แล้ว พีเอสไอจะขายทั้ง “ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์” รวมทั้งกล่องรับสัญญาณ เพื่อให้องค์กรธุรกิจนั้นๆ นำไปแจกสมาชิก เพื่อใช้แพลตฟอร์มกล่องรับสัญญาณ เป็นอีกช่องทางการขายและสื่อสารกับลูกค้า

“วิธีคิดของพีเอสไอ ทั้งเรื่องเรตติ้งและช้อปปิ้ง ออนไลน์ เป็นการลงทุนก่อน จากนั้นพัฒนาเซอร์วิสให้พันธมิตรได้ประโยชน์ การหาบิสสิเนสโมเดลร่วมกันสามารถทำได้หลายรูปแบบทั้งการขายซอฟต์แวร์หรือแบ่งรายได้ร่วมกัน”

การสร้างแพลตฟอร์มกล่องดาวเทียม ที่มีเซอร์วิส เรตติ้งและช้อปปิ้ง ออนไลน์ ไม่ได้มองแค่ตลาดไทย แต่มองโอกาสในกลุ่มเพื่อนบ้านด้วย ที่ผ่านมาพีเอสไอเข้าไปทำตลาดกล่องดาวเทียมมาหลายปีแล้ว ปีนี้ได้เปิดตัวกล่อง S3 ทำตลาดในเมียนมา รวมทั้ง กัมพูชา และลาว เป็นประเทศต่อไป

จากการขยายธุรกิจใหม่ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการแอปพลิเคชั่น กล่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ S3 Hybrid ปีนี้ พีเอสไอ เชื่อว่ายังทำรายได้รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่เคยทำได้ก่อนยุคทีวีดิจิทัล

โมเดลธุรกิจใหม่ขาย “เซอร์วิส”

“พีเอสไอ” ที่อยู่ในธุรกิจจานดาวเทียมมาเกือบ 30 ปี หากย้อนไปช่วงที่ยากที่สุด สมพร บอกว่า คือปี 2545 กับการสร้างระบบ OTA การเรียงช่องและจูนช่องผ่านกล่องรับสัญญาณอัตโนมัติ ที่กว่าจะสร้างรายได้จากบริการนี้ต้องใช้เวลา 10 ปี

เช่นเดียวกับวันนี้ที่ พีเอสไอ กำลังสร้างแพลตฟอร์ม Freedom ที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน อย่างน้อยต้องมีกล่อง S3 Hybrid อยู่ในครัวเรือนไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกล่องในปี 2563 ก่อนที่จะเห็นการต่อยอดจาก “เซอร์วิส” อื่นๆ

แผนธุรกิจจากนี้ ในปี 2563 จะเริ่มหารายได้จากโมเดลธุรกิจใหม่ B2B จากการขายแพลตฟอร์มทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ กล่อง S3 Hybrid ให้ลูกค้าองค์กรนำไปสร้าง “ช่องทางขายและการสื่อสาร” กับผู้บริโภคที่เป็นฐานสมาชิกประจำ

ปี 2564 เริ่มบริการ ช้อปปปิ้ง ออนไลน์ และบริการเรตติ้งทีวี จากฐานผู้ชมกว่า 1 ล้านตัวอย่าง ลูกค้าหลักคือ ช่องทีวีที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอ ปี 2565 หลังจากเก็บข้อมูลผู้ชมทีวีมาแล้ว ตั้งแต่ปีนี้ จะเริ่มนำ BIG Data ข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อต่อยอดสู่การให้บริการข้อมูลกับลูกค้าที่สนใจ

พีเอสไอ อยู่ในช่วงสร้างแพลตฟอร์มออฟไลน์และออนไลน์ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ยุคต่อยอดสร้างรายได้จาก “เซอร์วิส” ด้วยบริการขายเรตติ้งทีวี, ช้อปปิ้ง ออนไลน์ และบริการดาต้า

ปัจจุบันทำตลาดทั้งฮาร์ดแวร์ขายกล่องทีวีดาวเทียม ช่วง 5 ปีจากนี้ตั้งใจจะสร้างแพลตฟอร์มกล่อง S3 Hybrid ให้ได้ 10 ล้านกล่อง และมุ่งสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์เซอร์วิสใหม่ๆ เพื่อให้พีเอสไอก้าวสู่ยุคผู้ให้บริการ “มัลติแพลตฟอร์ม”

]]>
1240930
“ทีวีไดเร็ค” ยกเลิกซื้อช่อง ”สปริงนิวส์” กลับสู่โหมดเดิม เช่าเวลาทีวีดิจิทัล-ทีวีดาวเทียม https://positioningmag.com/1216557 Tue, 26 Feb 2019 14:39:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1216557 หลังจาก “ทีวีไดเร็ค” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2561 ในการเข้าซื้อหุ้น ทีวีดิจิทัล “สปริงนิวส์” สัดส่วน 90.1% มูลค่าพันล้านบาท โดยต้องเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าในท้ายที่สุดแล้วดีลนี้ต้องจบลงและยุติการซื้อขายไปในที่สุด

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์มูลค่า 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 949 ล้านบาท และค่าจ้างสปริงนิวส์ทำข่าวอีก 130 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินเดือนละ 8.7 ล้านบาท จำนวน 124 เดือน ตลอดอายุสัญญาในอนุญาตทีวีดิจิทัลถึงปี 2572 โดยสปริงนิวส์ ต้องเคลียร์หนี้ก่อนเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือนธันวาคม 2561   

แต่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้มีการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นสำหรับทีวีดิจิทัลไปจัดการประมูล 5 จี แล้วนำรายได้มาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งค่าประมูลที่ยังเหลือค้างจ่ายรวม 15,000 ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (Mux) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ Must Carry ทำให้ทีวีไดเร็คและสปริงนิวส์ได้เลื่อนการซื้อขายไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนมาตรการช่วยเหลือของ กสทช.

โดยในการประชุมบอร์ดทีวีไดเร็ค เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 จึงมีมติให้  “ยุติ” ซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ หันมาเช่าเวลาทีวีดิจิทัล-ทีวีดาวเทียม   

ทรงพล กล่าวว่าหลังจากยุติดีลการซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว “ทีวีไดเร็ค” จะไม่กลับไปเจรจาเพื่อซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์อีก โดยจะใช้รูปแบบเช่าเวลาวันละ 12 ชั่วโมงกับช่องสปริงนิวส์เหมือนเดิม โดยจะมีการเซ็นสัญญากันใหม่อีกครั้ง ปัจจุบันยังใช้สัญญาเดิมเช่าเวลาช่องสปริงนิวส์นำเสนอโฮมช้อปปิ้งวันละ 18 ชั่วโมง จนถถึงเดือนกรกฎาคม 2562

ปัจจุบันทีวีไดเร็คเช่าเวลาทีวีดิจิทัลทั้งหมด 18 ช่อง โดยหลังจากยกเลิกแผนซื้อช่องสปริงนิวส์แล้ว จะมีการเช่าเวลาทีวีดิจิทัลเพิ่ม และจะเช่าเวลาช่องทีวีดาวเทียมเพิ่มอีก 10 ช่อง นอกจากนี้จะขยายช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้กลยุทธ์ “ออมนิ แชนแนล” โดยปีนี้วางเป้าหมายยอดขาย 4,800 ล้านบาท เติบโต 20%

พงษชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานบริหารสถานีโทรทัศน์ บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การยุติดีลการซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ เนื่องจากมีมาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลของ กสทช. ซึ่งยังไม่สามารถสรุปแนวทางที่ชัดเจนได้

แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ กสทช. ระบุว่าจะชดเชยเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย ซึ่งสปริงนิวส์ จ่ายเงินงวดที่ 5 ไปแล้วจำนวน 219 ล้านบาท โดยไม่ได้ขยายเวลาจ่ายเงินตาม มาตรา 44 ดังนั้นหากเป็นไปตามมาตรการเยียวยาของ กสทช. สปริงนิวส์จะได้เงินค่าประมูลงวดที่ 5 คืน ทำให้ราคาการซื้อขายที่ประกาศไว้ในเดือนกันยายา 2561 ต้องกลับมากำหนดราคาใหม่ ทีวีไดเร็คจึงต้องยุติการซื้อขายไปในที่สุด

Now 26 เปลี่ยนเป็น Spring 26

ทางด้านบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW 26 ได้แจ้งการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท สปริง 26 จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 และจะเปลี่ยนชื่อสถานีทีวีดิจิทัล ช่อง Now 26 เป็น Spring 26 (สปริง 26) ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอรายการและข่าว โดยใช้เทคโนโลยีสตูดิโอ AR และ Visual Effect ที่เดียวในประเทศไทย และเชื่อมต่อผู้ชมจากทีวีสู่ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ

นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรคอนเทนต์หลัก คือ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ผลิตสารคดีระดับโลก และ แม็กซ์ มวยไทย ผู้จัดรายการชกมวยชื่อดัง

ปัจจุบันทีวีดิจิทัล Now 26 ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้ SD เป็นธุรกิจในเครือบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ภายใต้การบริหารของ “ฉาย บุนนาค” ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหาร ของ NMG มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562.

]]>
1216557