ธุรกิจทีวี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 12 Feb 2019 10:34:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดหมดใจ “ประชุม มาลีนนท์” น้องเล็กผู้เข้ามาคุมอาณาจักรช่อง 3 ในวันที่เจอ “โจทย์” ยาก https://positioningmag.com/1213537 Tue, 12 Feb 2019 06:33:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1213537 ประชุม มาลีนนท์ น้องคนเล็กของตระกูล “มาลีนนท์” รับตำแหน่ง CEO บีอีซี เวิลด์ หรือ กลุ่มช่อง 3 ได้เปิดให้ Positioning สัมภาษณ์ ถึงการเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ และการมองทิศทางของธุรกิจทีวี พร้อมที่จะปรับตัวหาแหล่งรายได้ใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของทีวีดิจิทัล

ประชุม มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผู้ชาย 4 และผู้หญิง 4 คน โดยที่เขาเข้ามารับหน้าที่บริหารสูงสุด หลังจากที่บรรดาพี่ชายทั้ง 3 คนผ่านงานใหญ่เหล่านี้มาทั้งหมดแล้ว

“พอเรียนจบมา อายุ 20 กว่าๆ ก็เข้ามาทำงานที่ช่อง 3 ช่วงนั้นคุณประวิทย์ดูแลงานด้านการตลาด ส่วนคุณประชา เป็นผู้ดูแลด้านการผลิต และคุณอัมพร เป็นผู้ช่วยคุณประชา โดยที่ผมเข้ามาทำงานในแผนกของการผลิตรายการ เป็นผู้ช่วยคุณเกียรติก้อง วัฒนสุข ได้เรียนรู้งานผลิตมากมาย ในการช่วย classified งานละครให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ช่วงนั้น ช่อง 3 ถือเป็นช่องแรกๆ ที่ปรับรูปแบบละครแบบไม่ต้องมีการบอกบทระหว่างแสดง เพราะคุณประชาต้องการให้เป็นมาตรฐานสากล แล้วพอเราเริ่มเปลี่ยนแปลง ปรากฏว่าทำได้ดี ละครเราเป็นที่นิยม ช่องคู่แข่งก็ทำตาม

โดยพี่น้องมาลีนนท์จะเข้ามาทำงานตามความสนใจ อย่างคุณประชา แสดงความสนใจในเรื่องการผลิต ก็ดูแลการผลิต ในขณะที่คุณประวิทย์ เรียนจบด้าน Industrial Engineer แต่ก็เข้ามาดูแลเรื่องงานขายโฆษณาของสถานี ส่วนตัวคุณประชุมเองนั้น เรียนจบบริหารธุรกิจ การตลาด แต่มีความสนใจเรื่องไอที

ผมทำงานได้ไม่นาน เกิดป่วย จึงหยุดไป และในภายหลังด้วยความสนใจงานด้านไอที ผมก็เลยฉีกไปทำงานใหม่ๆ

ประชุมกล่าว 

โดยช่วงปี 2533 ที่วิชัยได้มอบหมายให้ประชา และประชุม เข้ามาทำธุรกิจสื่อสาร โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อวางแผนเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งธุรกิจเพจเจอร์ รวมถึงธุรกิจมือถือ

“เราก็พยายามหาทางเข้าประมูลโครงการสื่อสาร เพราะเราก็มีชื่อเสียงจากธุรกิจทีวีอยู่แล้ว แต่ลูกโป่งแตกเสียก่อน คิดแล้วก็โชคดี ถ้าหากตอนนั้นเราได้โปรเจกต์ใหญ่มา จะกลายเป็นว่าเราจะได้หนี้ก้อนใหญ่ทันที” ประชุมกล่าวถึงอดีตด้วยรอยยิ้ม

เมื่อไม่ได้ทำธุรกิจโทรคมนาคม จึงหันมาศึกษาธุรกิจเคเบิลทีวี แต่เมื่อผลวิเคราะห์ออกมา พบว่าไม่คุ้ม โครงการนี้ก็ต้องเลิกไปเช่นกัน

ต่อมาประชุมได้กลับเข้ามาช่วยงานในช่อง 3 โดยเข้าไปรับผิดชอบบุกเบิกงานด้านไอที เพราะมีความสนใจส่วนตัว โดยวางระบบไอทีของกลุ่มบีอีซีทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มทำบัญชี และการขาย

“มีวันหนึ่งคุณพ่อ (วิชัย) เรียกผม และคุณแคทลีน (ลูกสาวคุณประชา) มาคุยเรื่องการขยายงานในด้านเทคโนโลยี ในฐานะที่คุณพ่อท่านเป็นพ่อค้า ที่มองเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของวงการธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเข้ามาทำ ที่ BECi“

บีอีซี ไอ คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 มีวัตถุประสงค์คือทำธุรกิจมัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ต

ประชุมบอกว่า การที่สนใจทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต เพราะเวลานั้น Time Warner ยักษ์ใหญ่วงการมีเดียของอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ กลายเป็นบริษัทด้าน entertainment และ telecom รายใหญ่ระดับโลกรายหนึ่ง

ตั้งเป้าหา professional ช่วยบริหารกลุ่มช่อง 3

ประสาร มาลีนนท์

การเปลี่ยนแปลงชีวิตในหน้าที่การงานครั้งใหญ่ของประชุม จากที่ดูแลงานด้านไอที ต้องเข้ามารับตำแหน่ง CEO บริษัท หลังจากการเสียชีวิตของพี่ชายคนโต “ประสาร มาลีนนท์”

ที่ผ่านมาตำแหน่ง CEO ของกลุ่มช่อง 3 เป็นของลูกชายของตระกูลมาลีนนท์มาตั้งแต่ยุคของประวิทย์ มาลีนนท์ มาจนถึง ประสาร มาลีนนท์ ยกเว้น ประชา มาลีนนท์ จึงเป็นโอกาสของน้องชายคนเล็กของครอบครัว

การเข้ามาที่ตำแหน่งตรงนี้ของผม มันเป็นเรื่องของจังหวะมากกว่า อย่างที่ทุกคนก็รู้กัน ผมเข้ามาเพราะคุณประสารเสียชีวิต และตำแหน่งนี้ว่างลง

โดยการเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ของประชุมนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของบรรดาพี่สาวทั้ง 4 คน ที่เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มช่อง 3

จากข้อมูลที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด 4 สาวพี่น้อง นิภา – รัตนา – อัมพร มาลีนนท์ และ รัชนี นิพัทธกุศล, ถือหุ้นรวมกัน 27.78% รองลงมาคือกลุ่มครอบครัวประสาร ที่ถือหุ้นรวมกัน 5.90%, กลุ่มประชุม ถือหุ้น 4.165% และกลุ่มประชา 2.52% โดยที่กลุ่มประวิทย์ขายหุ้นทิ้งไปหมดแล้ว แต่ตอนที่ประชุมเข้ามารับตำแหน่งนั้น กลุ่มประวิทย์ยังถือหุ้นรวมกันอยู่ประมาณ 5.88%

การมารับตำแหน่งของน้องคนเล็ก เป็นช่วงที่ “ท้าทาย” ของช่อง 3 อย่างมาก นอกจากแข่งขันกับทีวีดิจิทัลด้วยกันถึง 25 ช่องแล้ว แถมช่อง 3 ยังประมูลมาถึง 3 ช่อง ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่หนักหน่วงแล้ว ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสื่อออนไลน์ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็น “เวที” แข่งขันใหม่ที่ช่อง 3 ยังไม่คุ้นเคย จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่ต้องการ “มืออาชีพ” จากภายนอกเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ 

“ช่วงที่คุณประสารยังอยู่ ทางครอบครัวได้มีการคุยกันเรื่องการหาผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยเราบริหาร มีการ search หา professional กันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที จนกระทั่งได้โอกาสเมื่อผมมารับตำแหน่ง”

สมประสงค์ บุญยะชัย

ประชุมได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพี่น้องฝ่ายผู้หญิง 4 คน โดยเลือกกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพกลุ่มแรก นำทีมโดยสมประสงค์ บุญยะชัย อดีตผู้บริหารมือดีจากเอไอเอสค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทย พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างทีมผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก ในรูปแบบ Group C level 13 คน รวมทั้งยังได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอีกจำนวนหนึ่ง เข้ามาศึกษาธุรกิจขององค์กร

แต่การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับธุรกิจมีเดีย แข่งขันสูง ทำให้ผลประกอบการปี 2560 ของกลุ่มช่อง 3 ยังไม่ดีขึ้น โดยปี 2560 บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 มีกำไรจากผลประกอบการเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2559 ที่ยังมีกำไรอยู่ที่ 1,218 ล้านบาท

ในปี 2561 บรรดาผู้บริหารมืออาชีพที่เข้ามา ทยอยลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งไป

ประชุมบอกว่า “การหาผู้บริหารมาแต่ละครั้ง ล้วนมีวัตถุประสงค์ ทีมแรกที่เข้ามานั้น เพื่อรักษา Market Share และ Constructive (สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ) มากขึ้น“

เมื่อถามว่าประเมินผลงานของทีมผู้บริหารมืออาชีพชุดแรกเป็นอย่างไร ประชุมบอกว่า “ผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้ในฐานะ CEO ดังนั้น พูดยาก เพราะถ้าพูดว่าดี ก็กลายเป็นการยกตัวเอง แต่บรรดาผู้ถือหุ้นและคนทำงานทั้งหมดทราบเรื่องดี ว่าโจทย์ทั้งหมดมันยาก มัน dynamic มาก”

ประชุมยังบอกอีกว่า ผู้บริหารที่ทยอยลาออกไปนั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่บางคนก็ไปด้วยเรื่องส่วนตัว บางคนก็มองว่านี่ ไม่ใช่ career path ของเขา ทุกอย่างเป็นการปรับด้วยเหตุผลของแต่ละคนเอง บางครั้งเราอยากให้เขาอยู่ทำงานแต่เขาเลือกที่จะไป

โดยจากนี้ โครงการสร้างผู้บริหารในกรุ๊ป C ยังมีอยู่ แต่อาจจะมีการปรับวิธีคิด และรูปแบบการทำงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ตำแหน่งผู้บริหารในกรุ๊ป C Level จากทั้งหมด 13 คนลดลงเหลือเพียง 8 คน ได้แก่ ประชุม มาลีนนท์ Chief Executive Officer, อัมพร มาลีนนท์ Chief Operating Officer, พิริยดิส ชูพึ่งอาสน์ Chief Financial Officer, รณพงษ์ คำนวณทิพย์ Chief Commercial Officer, ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย Chief Corporate Affair Officer, นพดล เขมะโยธิน Chief Investment Officer, น้ำทิพย์ พรหมเชื้อ Chief Strategy Planning Officer และ สมรักษ์ ณรงค์วิชัย Chief Production Officer

ส่วน สมประสงค์ ที่จากเดิมเคยเป็น ประธานคณะกรรมการบริหาร และจำเป็นต้องลาออกมาเป็นแค่บอร์ดบริษัท เพราะงานรัดตัว ไม่ค่อยมีเวลา แต่ตอนนี้ก็ยังเข้ามาช่วยอยู่ใน committee ชุดต่างๆ และยังมีอีกหลายคนที่จะมาช่วยดูเรื่องงาน Audit เพื่อความถูกต้อง เช่น การจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหาร เพื่อให้เป็นธรรมและถูกต้องตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการรับผู้บริหารใหม่เข้ามาช่วยงานนั้น ประชุมบอกว่า “ผู้บริหารที่อยากได้นั้น เขาต้องสามารถ drive ให้การทำงานเป็นไปตามเป้าได้ ต้องมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย Factor มากที่สุด รู้ทั้งเรื่องการตลาด มีเดีย การสร้าง Network และต้องเป็นคนที่สามารถผลักดันการทำงานให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องช่วยหา Partner ได้เร็วด้วยเช่นกัน”

เรามีการปรับตลอดเวลา เรามองที่โจทย์ ไม่ใช่คน ถึงจะบอกได้ว่าจะต้องการคนเก่งแบบไหนเข้ามา ต้องคอยติดตามกันต่อไปละกัน ผมคงตอบไม่ได้ในตอนนี้ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เป้าหมาย ลดต้นทุน หารายได้ใหม่ 

ประชุมบอกว่า ภาพรวมบริษัทมีโจทย์ใหญ่ๆ คือการต้องพยายามหารายได้ให้มากขึ้น และพยายามคุมค่าใช้จ่ายไปด้วย เพื่อให้บริษัทยังคงทำกำไร

“ถ้าไม่มีกำไร เราก็ไปต่อไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้นทุน ในขณะที่บรรดารายเล็กๆ เขาก็ต้อง focusที่เงินสดมากกว่า”

ประชุมมองว่า ปัญหาของวงการทีวีดิจิทัลตอนนี้ คือการมี supply มากกว่า demand จากการที่ที่มีทีวีดิจิทัลหลายช่องมากเกินไป และยังมีสื่อ OTT ออนไลน์เข้ามาแข่งขันอีก เป็นเรื่องของเทคโนโลยี disrupt ที่ทุกคนจะต้องรับ และปรับตัวให้ได้

เมื่อแกนของช่อง 3 คือคอนเทนต์และดารา ดังนั้นจะต้อง Utilize ให้ได้เกิดรายได้สูงสุดได้ อาจจะต้องนำเอาเรื่องเทคโนเข้ามาช่วยเสริม ทุก channel ทำอย่างไรที่จะเอาคอนเทนต์ของเรา มา broadcast ให้เข้าถึงคนดูทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด

โดยรวม ช่อง 3 และ 7 ยังเป็น leader แต่ความห่างของคู่แข่งไม่ได้ไกลแบบเมื่อก่อนแล้ว ทุกคนต่างกำลังวิ่งแข่ง ดังนั้นทุกช่องจะต้องมีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน

“กลุ่ม BEC ไม่ใช่มีแค่ช่อง 3 ช่อง 28 หรือช่อง 13 แต่เรายังมี OTT แพลตฟอร์ม Mello และมีช่องทางที่จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่จับมือกับ LINE, YouTube และยังมี Tencent ในประเทศจีน กลยุทธ์ของเราคือ มีทั้ง synergy กับพาร์ตเนอร์ และยังเป็น Friend-emy  (friend + enemy) โดยที่เราจะทำตัวเป็น Media Content Provider

ดังนั้นเป้าหมายในปีนี้ของกลุ่ม BEC คือ จะต้อง Utilize asset ทุกด้านให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมถึงช่องทาง OTT รับจ้างผลิตคอนเทนต์ และที่สำคัญจะต้องบริหารศิลปิน นักแสดงในสังกัดช่องทำให้เป็นเม็ดเงินมากสุด โดยจะหารูปแบบในการทำโมเดล ที่ต่อยอด สร้างอีเวนต์ คอนเสิร์ต เป็นงานที่เพิ่มรายได้ให้ทั้งช่อง และดาราเองก็ได้ด้วยจากกิจกรรมทั้งรูปแบบ on ground และ online ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มช่อง 3 เป็นช่องหลัก ที่มีประสบการณ์มากที่สุด มี resource มากที่สุดช่องหนึ่ง

“จริงๆ แล้วสนามรบปีนี้และปีที่แล้ว เป็นเรื่องการทำตลาด ที่เริ่มมีการแข่งขันเรื่อง product คอนเทนต์ ทำให้แต่ละช่องใช้กลยุทธ์ต่างกัน บางช่องสร้างรายการขึ้นใหม่ บางช่องนำมาจากช่องอื่น แต่เราจะต้องพยายามฉีกหนีคู่แข่งออกไปให้ได้ เพราะฝีเท้าคู่แข่งไล่หลังมาแล้ว เราทำตัวให้เบาขึ้น วิ่งไกลขึ้น และอดทนมากขึ้น”  

“หม้อข้าว ยังมีอยู่แค่หม้อเดียว แต่มีคนกินมากขึ้น ก็จะเกิดคนตัวใหญ่ และคนตัวเล็กที่แตกต่างกัน”  

สำหรับชีวิตส่วนตัวของประชุม มาลีนนท์ นั้น ประชุมบอกเองว่า เขาไม่ใช่คนชอบเข้าสังคม แต่เนื่องจากหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำให้เขาต้องทำงานตามหน้าที่

“Personal life ของผมที่ผ่านมา ไม่เข้าสังคมมาก ผมเป็นคนชอบเก็บตัว ไม่ชอบไปไหน แต่ตอนนี้ผมก็ปรับตัวได้แล้ว และก็อยู่กับมันได้ วันเวลาว่างของผม ก็ไปไหว้พระ ไปเที่ยวบ้าง เพราะผมชอบเดินทาง แต่ช่วงนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปได้มาก” 

]]>
1213537
ยกแรกปี 61 ทีวีดิจิทัล โมโน ยึดที่ 3 แซงเวิร์คพอยท์-ช่องหลักเปิดศึกแย่งชิงผู้ชม 35+ https://positioningmag.com/1153076 Wed, 10 Jan 2018 01:00:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1153076 การแข่งขันทีวีดิทัลเดินทางมาบนเส้นทางเกือบ 1 ใน 3 ของธุรกิจทะเลเดือดเลือดสาด จากใบอนุญาตที่มีอายุทั้งหมด 15 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่ 22 ช่องยังคงมีลมหายใจอยู่ หลังจากที่ปี 2558 ช่องในกลุ่มทีวีพูลถอดปลั๊กปล่อยจอดำไปแล้ว เพราะไม่มีทุนไปต่อ

ทุกนาทีมีค่าในธุรกิจทีวี การเริ่มปีใหม่จึงมีความหมาย เพราะช่องไหนที่ดึงคนดูได้ตั้งแต่ต้นปี ไม่ต่างจากการสะสมไมล์ผลงานที่ต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดทุกนาทีในช่วง 365 วัน

ผลงาน 7 วันแรกของปี 2561 ช่วงวันที่ 1-7 ม.ค. 2561 เปรียบเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของปี 2560 วันที่ 25-31 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นสองสัปดาห์คาบเกี่ยวช่วงปีใหม่ มีวันหยุดทำการสัปดาห์ละ 2 วันเหมือกัน จากการวัดเรตติ้งทั่วประเทศ ที่นีลเส็นเก็บตัวอย่างอายุ 4 ปี ขึ้นไป ทั้ง 25 ช่องที่รวมทีวีกลุ่มสาธารณะไปด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในอันดับเดิม และส่วนใหญ่มีตัวเลขลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

***เคลียร์ผังวันปีใหม่ไม่ช่วยเรตติ้ง

ผลงานสัปดาห์แรกปี 2561 อันดับ 1 ยังคงเป็นช่อง 7 เฉลี่ยทั้งช่องทำได้ 2.111 สูงกว่า สัปดาห์สุดท้ายปี 60 ที่ได้ 2.052

อันดับ 2 เป็นช่อง 3 เอชดี 1.086 น้อยกว่าสัปดาห์สุดท้ายปี 60 ที่ได้ 1.126

อันดับ 3 ช่องโมโนเบียดเวิร์คพอยท์ขึ้นมา โดยทำเรตติ้งได้ 0.895  สูงกว่าสัปดาห์สุดท้ายของปี 60 ที่ได้ 0.772

อันดับ 4 ช่องเวิร์คพอยท์ 0.791 น้อยกว่าสัปดาห์สุดท้ายปีที่แล้วเล็กน้อยมาก คือ 0.792 และอันดับ 5 เป็นของช่อง 8 ทำได้ 0.618 น้อยกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่ได้ 0.632

ส่วนอันดับรองๆ ลงมา ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับมากนัก นอกจากช่อง 3 ที่ตัวเลขลดลง ยังมีเวิร์คพอยท์และช่อง 8 ที่ตัวเลขลดลงเล็กน้อย ช่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ตัวเลขเรตติ้งก็ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

เช่นเดียวกับช่องวัน ที่แม้รักษาตำแหน่งอันดับ 6 เช่นกัน แต่ตัวเลขลดลง คือได้ 0.491 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ยังทำได้ 0.540 หลังใช้กลยุทธ์ดูมาราธอน 6 วันกับละครเรื่องที่เพิ่งจบไป คือ เธอคือพรหมลิขิต

“ในช่วงคาบเกี่ยว 5-6 วัน ปลายปีถึงต้นปี แทบจะไม่มีสินค้าบริการอยากซื้อเวลาโฆษณา เพราะผู้ชมทีวีไม่อยู่หน้าจอทีวี มีงานเลี้ยงสังสรรค์ เดินทางท่องเที่ยวมากกว่า หลายช่องจึงใช้กลยุทธ์นำคอนเทนต์ท่ีมีต้นทุนไม่สูงมากนักมาออนแอร์ แทนรายการประจำ และรอนำรายการประจำมาเริ่มออนแอร์หลังปีใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

คอนเทนต์ที่นำมาแทน เช่น ช่อง 3 ปรับผังเก็บละคร ไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่ม บางวัน และซีรีส์อินเดีย นาคิน วาไรตี้เสาร์ อาทิตย์ หลัง 6 โมงเย็นไว้ก่อน และนำหนังจีนเฉินหลงมาออนแอร์แทนรวม 6 วัน (27-29  ธ.ค. 60 และ 1-3 ม.ค. 61) และช่องวันที่นำละครรีรัน มาออนแอร์ 6 วันเช่นกัน (26 ธ.ค.60-1 ม.ค.61)

***ความหวังทีวีดิจิทัลดึงผู้ชมอายุ 35+ 

ช่องที่ถูกจับตา นอกเหนือจากช่อง 7 และ 3 ในฐานะช่องเก่า รายใหญ่แล้ว ยังมีอีก 4 ช่อง ที่แข่งกันหนัก เกาะกลุ่มเรตติ้งใกล้กัน จัดเป็นช่องที่มีคอนเทนต์พยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ต่างอาจมีการเน้นกลุ่มพื้นที่เช่น ทั่วประเทศ หัวเมือง หรือ กทม.

“หากพิจารณาจากเรตติ้ง ช่องที่ได้เรตติ้งสูง ไม่ใช่มีรายการใดรายการหนึ่งที่ดัง แต่ต้องมีรายการอื่นๆ แรงส่งซึ่งกันและกันด้วย และที่สำคัญการจับกลุ่มผู้ชมได้ถูกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปที่ตอนนี้เป็นฐานผู้ชมหลัก ที่ยังคงเปิดทีวี ขณะที่วัยรุ่นไม่ดูทีวีแล้ว และแม้แต่กลุ่มวัยเริ่มทำงาน ก็ดูจากเน็ตมากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

ตัวอย่างช่องค่ายแกรมมี่ ที่มี 2 ช่อง คือช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่เรตติ้งหลุดจาก 10 อันดับแรก ทั้งที่มีคอนเทนต์รายการที่คนพูดถึงในโซเชียล แต่เมื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นรวมถึงอายุ 20-30 ปีเป็นหลัก ที่ไม่เปิดทีวี การวัดเรตติ้งของจีเอ็มเอ็ม 25 จึงดีไม่เท่าช่องวัน ที่จับกลุ่มผู้ใหญ่

ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในอันดับ 13 เรตติ้ง 0.110 ถ้าดูเฉลี่ยปี 2560 จีเอ็มเอ็ม 25 อยู่ที่ 14 เรตติ้ง 0.121 ขณะที่ช่องวันสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่อันดับ 6 เรตติ้ง 0.491 เฉลี่ยปี 2560 อยู่อันดับเดิม ด้วยเรตติ้ง 0.537

นอกจากนี้กลุ่มที่จับกลุ่มเฉพาะ อย่างช่องข่าว แม้จะมีจุดยืนว่าเป็นช่องข่าว แต่รายการอื่นในผังไม่สามารถดึงผู้ชมได้ ก็พารายการข่าวเรตติ้งไม่ดีด้วย กลายเป็นกลุ่มช่องที่อยู่อันดับท้ายของการจัดเรตติ้ง

แหล่งข่าวชี้ให้เห็นว่า เหตุผลหลักคือช่องอื่นที่ไม่ใช่ช่องข่าว แต่มีรายการวาไรตี้ ก็ทำให้คนแช่ช่องจนดูรายการต่อเนื่องไปด้วย จนกลายเป็นแฟนประจำ เพราะส่วนใหญ่ทำรายการข่าวได้เทียบเท่า หรือบางช่องดีกว่าช่องข่าวอีกด้วย แต่โอกาสของช่องข่าวจะสร้างแบรนด์ ดึงมีผู้ชมกลับมาเมื่อมีเหตุการณ์ หรือสถานการณ์เป็นข่าวที่เป็นที่สนใจขึ้นมา

สถานการณ์ของช่องข่าวยังต้องรับมือการปรับตัวของช่องใหญ่ที่จัดทัพรายการข่าวใหม่กันอย่างคึกคัก ทั้งเปลี่ยนทีมเบื้องหลัง และพิธีกรข่าว

***ดูละครชิงโชคกระตุ้นเรตติ้ง

การชิงโชค ชิงของรางวัลยังถูกนำมาใช้กระตุ้นเรตติ้งบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว รายการวาไรตี้ หรือแม้แต่ละคร หลายช่องทำแคมเปญชิงโชคตั้งแต่ช่วงปีแรกของการออนแอร์ทีวีดิจิทัล

ล่าสุดช่อง 3 ที่ปีที่แล้วผู้บริหารต้องลุ้นเรตติ้งละครแต่ละเรื่องอย่างหนัก โดยละครทั้งหมดหลายสิบเรื่อง ปรากฏว่ามีเพียง 5 เรื่องที่ได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องสูงกว่า 5 คือ คลื่นชีวิต 5.98 บัลลังก์ดอกไม้ 5.38 เพลิงบุญ 5.34 คิวปิด 2 ตอนคือ กามเทพออกศึก 5.05กามเทพซ้อนกล 5.02 ขณะที่ช่อง 7 มีเรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุดคือนายฮ้อยทมิฬ 8.02

ขึ้นปีใหม่ ละครชุดใหม่ที่เริ่มออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่มช่อง 3 จึงต้องใช้กลยุทธ์ดูละครไปลุ้นชิงโชคไปด้วย แจกรถแบรนด์ MG 3 จำนวน 5 คัน และ ไอโฟน 6s จำนวน 20 เครื่อง ระยะเวลาแคมเปญประมาณ1 เดือน คือช่วง 15 ม.ค.- 18 ก.พ.61 มีเรื่อง “ระเริงไฟ” ที่ออนแอร์มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว จะจบในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ส่วนเรื่องใหม่ปีนี้คือ บ่วงรักซาตาน, เสน่ห์นางงิ้ว และไข่มุกมังกรไฟ

]]>
1153076
ช่อง 3 สยบดราม่า ยัน “พี่น้องไม่ทะเลาะกัน” ย้ำฟื้นแน่ แม้กำไรลดฮวบ 86% https://positioningmag.com/1146691 Tue, 14 Nov 2017 10:45:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1146691 ประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แถลงตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ช่อง 3 ในวิกฤตรายได้ กำไรลดลง รวมถึงเรื่องข่าวลือความขัดแย้งในพี่น้องครอบครัวมาลีนนท์

ช่อง 3 มีรายได้ และกำไร ลดลง ต่อเนื่องนับจากปี 2557 จนถึงล่าสุด เมื่อผลประกอบไตรมาส 3 ช่อง 3 ยังอ่วมหนัก เมื่อกำไรจากการดำเนินงานแค่ 5 ล้านบาท ถ้ารวมขายทรัพย์สินได้มา 29 ล้านบาท รวมได้กำไร 34.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 251 ล้านบาท ถึง 86.1% ขณะที่คู่แข่งรายเล็กกว่าอย่างเวิร์คพอยท์ กำไรกว่า 370 ล้านบาท

ส่วนรายได้ลดลง 16.4% จากปีที่แล้ว 3,293 ล้านบาท ปีนี้ไตรมาส 3 ได้เพียง 2,751 ล้านบาท

นับเป็นตัวชี้วัดผลงานที่หลายคนยังต้องลุ้นถึงอนาคตของช่องกันต่อไป

ประชุม กล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง หลังปรับโครงสร้างองค์กร ดึงผู้บริหารคนนอกที่เป็นมืออาชีพด้านต่างๆ เข้ามา 7 คน ทั้งทางด้านไอที การตลาด แต่ทางด้านคอนเทนต์ด้านข่าว และละครยังเป็นผู้บริหารและทีมงานคนเดิม

ธุรกิจทีวี ยอมรับว่าเป็นเรดโอเชี่ยน ตอนนี้เราพยายามมองหาบลูโอเชี่ยน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ตอนนี้เร็วไปที่จะพูด เราปรับตัว ปรับผังรายการเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้ปรับใหญ่ ต้นปีหน้าน่าจะเห็นผลชัดเจน

สำหรับแผนการหารายได้นั้น เน้นปรับผังรายการโดยเฉพาะรายการข่าว และละคร ซึ่งมีทั้งละครสร้างใหม่ และละครเก่ารีรัน รวมถึงซีรี่ส์อินเดีย

นอกจากนี้ยังไม่เน้นการหารายได้จากขายเวลาโฆษณาเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่จะร่วมกับพันธมิตรในการขายโฆษษณาเป็นแพ็กเกจมากขึ้น

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการองค์กร ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารที่มาจากเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า รายได้ของช่อง 3 นอกเหนือจากโฆษณาเช่นการดึงศิลปิน ดารา ที่มีอยู่กว่า 200 คน มาอยู่ในแพ็กเกจหารายได้ด้วย

ประชุม บอกว่านอกจากนี้ยังมีแผนหารายได้จากการส่งละครขายต่างประเทศ จากเดิมที่แทบจะไม่ได้ทำมาก่อน โดยเริ่มจากประเทศใน CLMV ส่วนจีน มีกฎระเบียบมาก จึงยังขอรอดูก่อน

การบุกที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การรุกสื่อดิจิทัล ที่จะหารายได้จากคอนเทนต์จากทีวีสู่ออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของช่องเองคือ mello และยูทูป ในรูปแบบดูรายการย้อนหลัง

ประเด็นร้อนที่กลายเป็นเรื่องดราม่ามาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คือ ข่าวลือเรื่องพี่น้องในครอบครัวมาลีนนท์ทะเลาะกัน จนประวิทย์ มาลีนนท์ ที่บริหารช่อง 3 มานานนับสิบปี ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และมี ประชุม น้องเล็กของครอบครัวมาบริหารแทน เรื่องนี้ ประชุมบอกว่า 

เราพ่อแม่เดียวกัน อายุปูนนี้จะทะเลาะกันทำไม ตอนนี้รุ่นลูก รุ่นหลานทำอยู่ และเราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเรื่องธรรมมาภิบาล คุณภาพ ถูกต้องโปร่งใส ส่วนสิ่งที่คุณประวิทย์ทำไว้ ที่ดีๆ ก็ยังทำต่อ

ขณะที่ ประวิทย์ ซึ่งมาร่วมฟังแถลงข่าวพร้อมกับบุตรชาย จากนั้นได้กลับออกจากห้องไประหว่างที่ผู้บริหารชุดใหม่กำลังถ่ายภาพเพื่อทำข่าวประชาสัมพันธ์

ประวิทย์โอนหุ้นทั้งหมดให้ลูก จับมือเซิร์ซผลิตเกมโชว์ข่าวป้อนช่อง 3

ประวิทย์ กล่าวถึงข่าวลือเรื่องพี่น้องทะเลาะกันว่าผมเป็นคนเดินออกมาเองให้ลูกๆ ทำอยู่ ผมไม่มีหุ้นในช่อง 3 แล้ว โอนให้ลูกๆ หมดแล้ว ส่วนประสบการณ์ด้านธุรกิจบันเทิงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทิ้ง ตอนนี้ร่วมกับกลุ่ม บริษัทเซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เป็นเงินทุนส่วนตัว ลงทุนหนังนาคี 2 ที่ใช้งบหลายสิบล้านบาท เตรียมลงทุนรายการเกมโชว์ และ สนับสนุนการผลิตข่าวเช้าช่อง 28

ทีมผู้บริหารชุดใหญ่

โดยเวลานี้ อรอุมา มาลีนนท์ ลูกสาวคนโตรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ช่วย อัมพร มาลีนนท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการดูแลเรืองรายการ รวมทั้งลูกชาย วรวรรธน์ มาลีนนท์ ร่วมกับสมรักษ์ ณรงค์วิชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายผลิตรายการ ที่อยู่มาแต่เดิม และ ปิ่นกมล มาลีนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ลูกสาวของ ประสาร มาลีนนท์ ส่วนลูกชายคนรอง วรวรรธน์ มาลีนนท์ เข้ามาช่วยงานประวิทย์อยู่พักใหญ่แล้ว

]]>
1146691
เกมเศรษฐี ธุรกิจทีวีในมือเจ้าสัว https://positioningmag.com/1139341 Mon, 11 Sep 2017 20:12:11 +0000 http://positioningmag.com/?p=1139341 จากดีลล่าสุดที่ ตระกูล สิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 50% ในช่องจีเอ็มเอ็ม25 ของแกรมมี่ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ของธุรกิจทีวีดิจิทัล” เวลานี้ ที่ได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือเจ้าสัวมหาเศรษฐีของไทย ที่กำลังช้อปช่องทีวีกันอย่างสนุกสนาน

ดีลแรกในการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลของ กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน คือ การนำบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ซึ่งมีลูกชายทั้ง 2 คือ ฐาปน และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในบริษัทอมรินทร์เมื่อปลายปี 2559 ในสัดส่วน 47.62% โดยใช้เงินทั้งหมดเพียง 850 ล้านบาท

ส่งผลให้กลุ่มสิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่องอมรินทร์ ในขณะที่ครอบครัวอุทกะพันธ์ จะถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 30.83%

การเปิดทางให้กับ บริษัทวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น เพราะความพร้อมในเรื่องของเงินทุนเนื่องจากค่ายอมรินทร์ต้องประสบภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วง 2-3 ปี นับตั้งแต่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากและต่อเนื่อง ทั้งค่าใบอนุญาต และการผลิตคอนเทนต์ ในขณะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เองก็อยู่ในช่วงขาลง

ดีลครั้งนั้นประเมินว่า คุ้มค่ามากสำหรับสิริวัฒนภักดี เพราะอมรินทร์มีทั้งทีวีดิจิทัลในมือ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หัวนิตยสารอีกหลายฉบับ โรงพิมพ์ ธุรกิจจัดจำหน่าย ร้านหนังสือ

แม้ว่าการเข้ามาซื้อหุ้นอมรินทร์จะไม่ใช่เป็นความตั้งใจแรกที่จะเข้าสู่ธุรกิจทีวีอย่างจริงจัง เพราะกลุ่มเจ้าสัวเจริญต้องการซื้อกิจการโรงพิมพ์ และร้านหนังสืออมรินทร์เพื่อมาต่อยอดร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ที่ได้เทกโอเวอร์ 100% ไปก่อนหน้านี้เมื่อกลางปี 2554 ด้วยมูลค่า 1,195 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่าย ร้านค้าปลีกที่จะถูกพัฒนาต่อยอดไปในอนาคต 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ติดไม้ติดมือก็ถือเป็น เป้าหมาย หลักของการซื้อหุ้นและซื้อธุรกิจของเสี่ยเจริญมาตลอด ซึ่งกลุ่มอมรินทร์เองก็มีที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงพิมพ์และสำนักงาน ในย่านปิ่นเกล้านครชัยศรี ที่ถือเป็นทำเลสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ 

แต่ช่วงแรกของการได้อมรินทร์ทีวีมาอยู่ในมือ ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่กลุ่มเสี่ยเจริญเองยังไม่มีความชำนาญ จึงปล่อยให้ทีมบริหารเดิม ยังคงมุ่งเน้นคอนเทนต์ข่าวบ้านไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวมุ่งรองรับกับกลุ่มคนดูที่เป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เพราะถือเป็นจุดเด่นและเป็นฐานหลักของอมรินทร์อยู่แล้ว

แม้ว่าช่วงหลังไทยเบฟฯ เองต้องการใช้สื่อทีวีในการโปรโมตเพิ่มขึ้น แต่เมื่อฐานคนดูของช่องอมรินทร์ไม่ใช่ฐานลูกค้าของไทยเบฟฯ โดยตรง การจะปรับเปลี่ยนแนวทางของช่องไปลงตลาดแมสก็อาจจะมีแรงเหวี่ยงมากเกินไป อาจทำให้สูญเสียฐานคนดูกลุ่มเดิมไป

ฐาปน จึงมองหาช่องทีวีอีกช่อง เพื่อไว้เป็นช่องทางในการสื่อสาร โปรโมตให้กับสินค้าในเครือไทยเบฟฯ เพราะธุรกิจทีวียังคงเป็นมีเดีย” หลักที่สามารถเข้าถึงคนทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลเองตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ การแย่งชิงรายได้จากโฆษณาที่ก้อนเล็กลง เศรษฐกิจที่ซบเซายังต้องแบกรับปัญหาขาดทุนต่อเนื่องหลายช่อง จึงเปิดรับหาผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์

รวมทั้งจีเอ็มเอ็ม25 เอง ที่อากู๋ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็ต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหม่มาช่วยแบ่งเบาเรื่องเงินลงทุน เพราะแกรมมี่ซึ่งเป็นบริษัทแม่ต้องการปรับยุทธศาสตร์ ผันตัวไปทำธุรกิจรับจ้างผลิตคอนเทนต์แทนที่จะเป็นเจ้าของมีเดียที่ต้องใส่เงินจำนวนมาก

ช่องจีเอ็มเอ็ม25 ถือว่าเป็นช่องที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก และมีคอนเทนต์ ชัดเจนมากที่สุดช่องหนึ่ง ทั้งละคร ซีรีส์ ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่าง คลับฟลายเดย์ ที่ถือเป็นไฮไลต์ในการเข้าถึงฐานคนดูในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของการเข้ามาถือหุ้น 50% ของตระกูลสิริวัฒนภักดี คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้าน เพื่อต้องการให้จีเอ็มเอ็ม25 ช่อง fighting brand ในการโปรโมตสินค้าในเครือไทยเบฟฯ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ห้างสรรพสินค้า ไปยังฐานลูกค้าทั่ว

ดังนั้นทิศทางของช่องจีเอ็มเอ็ม25 จะไม่ได้เป็นแค่ช่องของคนเมือง โดยเฉพาะคนกรุงอย่างปัจจุบัน แต่จะขยายไปหัวเมืองตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีคอนเทนต์ ละคร วาไรตี้ เกมโชว์ เป็นหัวหอก รวมทั้งวิทยุ เอไทม์ มีเดีย อีก 2 คลื่นจะต้องปรับตามทิศทางใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

ทางด้านแกรมมี่เอง หลังจากบาดเจ็บอย่างหนักจากธุรกิจเพย์ทีวี GMM Z ทยอยขายกิจการ รวมทั้งขายหุ้นเพิ่มทุนในช่องวันไปให้กับกลุ่มนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของช่องพีพีทีวี ที่ตัดสินใจ ควักเงิน 1,910 ล้านบาท ซื้อหุ้น 50% ในช่องวันซึ่งมีจุดเด่นในการผลิตละครซีรีส์ที่แข็งแกร่งมีแบรนด์ที่ชัดเจน

ในขณะช่องพีพีทีวีนั้น หมอเสริฐเองก็หมดเงินไปหลายพันล้านเพื่อหาจุดยืนให้กับช่องมาตลอด ทั้งซีรีส์เกาหลี ข่าว รวมทั้งละคร ที่แม้จะผลิตละครชุดอมตะของไทยอย่าง ปริศนา, เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี แต่ก็ไม่เปรี้ยง เพราะยังขาดประสบการณ์ ช่วงหลังจึงหันมาเน้นคอนเทนต์ “กีฬา

ที่ต้องจับตาต่อ คือดีล” ของเศรษฐีตระกูล “พานิชชีวะกลุ่มทุนไทยรุ่นเก๋า มีกิจการหลากหลาย ทั้งกระจกไทยอาซาฮี ธุรกิจประกัน อสังหาริมทรัพย์ และดอนเมืองโทลล์เวย์ อยู่ระหว่างดีลขั้นสุดท้ายในการซื้อช่อง Now 26 จากกลุ่มเนชั่น เวลานี้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เพื่อรอผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาเต็มตัว พร้อมกับวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นช่องวาไรตี้ “Millennium” จับกลุ่มคนรุ่นใหม พร้อมๆ กับกลุ่มกาญนพาสน์ที่จะมาซื้อหุ้นช่องเนชั่นทีวี

แน่นอนว่าหลังยุคผลัดใบ ได้เศรษฐีเงินหนามาถือหุ้น ดีกรีการแข่งขันธุรกิจทีวีต้องดุเดือดขึ้นตามมาด้วย เพราะช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม25 ต้องใส่คอนเทนต์เร่งขยายฐานคนดูและเรตติ้งชิงเค้กโฆษณากับเจ้าตลาดเดิมอย่าง ช่อง 7 และ ช่อง 3 เจ้าตลาด ที่ต้องเจอศึกหนักยิ่งขึ้น หลังจากที่ต้องโดน Work Point TV ไล่บี้มาติดๆ

]]>
1139341