นักเรียนไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 07 Jul 2020 12:46:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตม.สหรัฐฯ อาจส่งนักศึกษาต่างชาติกลับประเทศ ถ้ามหา’ลัยที่เรียนเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ https://positioningmag.com/1286713 Tue, 07 Jul 2020 12:45:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286713 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ICE ของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2020 ว่า นักเรียนต่างชาติที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาในสหรัฐฯ อาจถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด หากมหาวิทยาลัยที่บุคคลนั้นเรียนอยู่ปรับไปเป็นระบบเรียนออนไลน์เท่านั้น ระเบียบนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติ 1.2 ล้านคนในประเทศสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนออนไลน์เท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Harvard ประกาศปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชา ไม่ว่านักศึกษาจะยังอยู่ในเขตแคมปัสมหาวิทยาลัยหรือไม่ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถเดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิดได้เลย

“มีความไม่แน่นอนมากมายและน่าหงุดหงิดอย่างมาก” วาเลอเรีย เมนดิโอล่า นักศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวกับสำนักข่าว CNN “ถ้าฉันต้องกลับไปเม็กซิโก ฉันก็กลับได้ แต่นักเรียนต่างชาติหลายคนไม่สามารถทำอย่างนั้นได้”

จากข่าวประชาสัมพันธ์ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ICE ประกาศวันที่ 6 ก.ค. 2020 เปิดเผยว่า นักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ใช้วีซ่านักเรียน “ไม่สามารถปรับไปเรียนออนไลน์ทั้งภาคการศึกษาแล้วยังคงพักอาศัยในสหรัฐฯ ต่อได้” รวมถึงเสริมว่า “กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะไม่ออกวีซ่าให้กับนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมหรือในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทุกวิชาสำหรับทั้งภาคการศึกษา และด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่สหรัฐฯ ด้วย”

ทั้งนี้ ปกติวีซ่าประเภท F-1 ที่ให้ชาวต่างชาติพำนักในประเทศระยะยาวได้ตลอดการศึกษา จะอนุญาตให้นักศึกษาผู้ถือวีซ่าเรียนวิชาที่เปิดสอนแบบออนไลน์ได้ไม่เกิน 1 วิชาต่อเทอม สำหรับกรณีนี้ ICE จะอนุโลมให้ผู้ถือวีซ่า F-1 เรียนออนไลน์ได้หลายวิชา แต่ต้องไม่ใช่ทุกวิชา ดังที่กล่าวไปข้างต้น

มหาวิทยาลัย Harvard หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งจะปรับมาเป็นระบบการเรียนการสอนออนไลน์ทุกวิชา รับมือโรค COVID-19 (photo: college.harvard.edu)

นโยบายใหม่นี้ทำให้นักเรียนต่างหัวหมุน โดยเอเจนซี่ที่ดูแลการเรียนต่อของนักศึกษาแนะนำว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในสหรัฐฯ ไปแล้วควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ เช่น โอนย้ายหน่วยกิตไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ยังมีการเรียนแบบผสมผสาน คือมีทั้งเรียนออนไลน์และยังมีคลาสเรียนแบบปกติอยู่

แบรด ฟาร์นสเวิร์ธ รองประธาน สภาการศึกษาอเมริกัน หน่วยงานที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ กล่าวว่า ประกาศของ ICE ทำให้เขาและอีกหลายคนแปลกใจ และมองว่าประกาศนี้จะสร้างความสับสนและความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีก

ฟาร์นสเวิร์ธมองว่า นโยบายนี้จะเป็นอย่างไรต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่านี้ตัดสินใจปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชาเพื่อช่วยป้องกันโรค

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักเรียนต่างชาติ รวมถึงว่าที่นักศึกษาที่กำลังมองหาสถาบันเรียนต่อในฤดูใบไม้ร่วง ความไม่แน่นอนนี้อาจจะผลักให้พวกเขาเลือกมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นได้” ฟาร์นสเวิร์ธกล่าว

 

นักศึกษาหลายประเทศกลับบ้านเกิดไม่ได้

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่อนุมัติออกวีซ่าให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในคอร์สแบบเรียนออนไลน์ทุกวิชาอยู่แล้ว แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เป็นเหตุผลให้ ICE ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นนี้

“นี่ไม่ใช่พวกมหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่ใช่การหลอกลวง นี่คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีตัวตนจริง เป็นมหาวิทยาลัยที่จะสอนในคลาสเรียนปกติอยู่แล้วหากไม่เกิดโรคระบาดขึ้น” เธเรซ่า คาร์ดินัล บราวน์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพจาก ศูนย์นโยบาย Bipartisan กล่าว

“ปัญหาใหญ่ไปกว่านั้นคือ ประเทศหลายประเทศออกกฎการเดินทางที่เข้มงวดไปแล้ว ทำให้นักศึกษากลับบ้านไม่ได้ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเขาจะทำอย่างไร มันจะกลายเป็นปัญหาที่ไร้ทางออกสำหรับนักเรียนหลายคน” บราวน์กล่าว

(Photo by Anna Shvets from Pexels)

ด้าน แลร์รี่ บาโคว ประธานมหาวิทยาลัย Harvard ตอบโต้ในวันเดียวกันนั้นว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อนโยบายที่ออกโดย ICE ซึ่งเป็นวิธีการอันรุนแรงและกำปั้นทุบดินสำหรับปัญหาที่สลับซับซ้อน สำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกปรับไปอยู่ในคอร์สออนไลน์แล้ว พวกเขาจะมีทางเลือกเพียงแค่เดินทางกลับประเทศหรือย้ายมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

บาโควยังกล่าวต่อว่า นโยบายของ ICE นั้น “ทำลายวิธีการรับมือที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งและ Harvard ด้วยในการที่จะปกปักประโยชน์ของนักเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนต่อในโปรแกรม โดยที่ยังรักษาสุขภาพและความปลอดภัยจากโรคระบาดได้”

“เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อหาหนทางต่อจากนี้” เขากล่าวเสริม

 

แผนสกัดนักศึกษาต่างชาติ?

รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวนโยบายเพิ่มความเข้มงวดต่อการเข้าเมืองของคนต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการระบาดของโรค COVID-19 จึงส่งผลให้สหรัฐฯ เร่งระงับวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เพียงฉวยโอกาสนี้เป็นตัวเร่งนโยบายส่งกลับผู้อพยพ รวมถึงลดอัตราการอนุมัติให้คนต่างชาติเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วย

นโยบายยกเลิกวีซ่านักเรียนต่างชาติก็เช่นกัน หากบังคับใช้จะทำให้นักเรียนต่างชาติ (ซึ่งมักจะเสียค่าเทอมสูงลิ่วให้ประเทศสหรัฐฯ) ต้องหาทางบินกลับประเทศบ้านเกิด

สถาบันศึกษานโยบายการอพยพ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในวอชิงตันดีซี ให้ข้อมูลว่า มีนักศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคนตกอยู่ภายใต้กลุ่มวีซ่าที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้ โดยนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ลงทะเบียนเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาราว 8,700 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนนักศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2018)

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า Top 3 สัญชาติของนักเรียนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ ได้แก่ จีน (31%), อินเดีย (17%) และเกาหลีใต้ (4.4%) ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน รายงานว่ามีนักเรียนนักศึกษาไทยรวม 6,636 คน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดเมื่อต้นเดือนเมษายน

จนถึงขณะนี้นักเรียนนักศึกษาบางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว แต่อีกจำนวนมากยังพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของ ICE อาจจะมีผลต่อนักเรียนไทยด้วยเช่นกัน

Source

]]>
1286713
ภาษาอังกฤษนักเรียนญี่ปุ่นถูกจัดในระดับ “ต่ำ” ส่วนไทยระดับ “ต่ำมาก” https://positioningmag.com/1253933 Sat, 16 Nov 2019 20:11:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253933 กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นกุมขมับ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนญี่ปุ่นถูกจัดอันดับ “ต่ำ” 4 ปีต่อเนื่อง โดยอยู่ในอันดับ 53 จาก 100 ประเทศ แต่ยังดีกว่านักเรียนไทยที่อยู่ในระดับ “ต่ำมาก” อันดับที่ 74

การจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ของประชาชนในประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดยองค์กร EF Education First ในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าชาวญี่ปุ่นมีทักษะภาษาอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง ถูกจัดเกณฑ์อยู่ในระดับ “ต่ำ” อันดับ 53 จาก 100 ประเทศ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 49

เมื่อเทียบกับชาติในเอเชียแล้ว ชาวญี่ปุ่นใช้ภาษาอังกฤษด้อยกว่าชาวสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 5, ชาวฟิลิปปินส์ อันดับที่ 20, เกาหลีใต้ อันดับที่ 37, ไต้หวัน อันดับที่ 38, จีน อันดับที่ 40 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 52

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ “ต่ำมาก” อันดับที่ 74 ในอาเซียนมีเพียงพม่าและกัมพูชา ที่ด้อยกว่า

https://www.ef.com/wwen/epi/

ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดจากการจัดอันดับนี้ คือ เนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยสวีเดน และนอร์เวย์

ผู้แทนของEF Education First ระบุว่า ความสามารถด้านภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเศรษฐกิจทุกวันนี้ แต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นไม่กระเตื้องขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซายาวนาน

เมื่อพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผู้ชาย และช่วงวัยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด คือ คนอายุ 26-30 ปี ตามมาด้วยคนอายุ 21 -25 ปี ส่วนเด็กรุ่นใหม่วัย 18-20 ปี และกลุ่มคนทำงานวัย31-40 ขึ้นไป ทักษะภาษาอังกฤษด้อย ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น พยายามใช้มาตรการเพื่อยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนญี่ปุ่น แต่มาตรการไม่ถูกที่ถูกทาง และแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ เช่น การให้ใช้ผลคะแนน IELTS หรือ TOEFLเพื่อสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ถูกวิจารณ์ว่าสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียน และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เจ้าของลิขสิทธิ์การสอบ รวมถึงโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ

มาตรการนี้เดิมตั้งเป้าจะใช้ในปีนี้ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นต้องระงับไป.

รายละเอียดการจัดอันดับ https://www.ef.com/wwen/epi/

Source

]]>
1253933