โปรดิวเซอร์ผู้สร้าง Amphibia เพื่อฉายบนช่องดิสนีย์ Disney Channel คือ Matt Braly โดยมี Brenda Song นักแสดงชาวอเมริกันรับหน้าที่เป็นผู้พากย์เสียงให้การ์ตูนใหม่เรื่องนี้ ทั้งคู่เป็นลูกครึ่งไทย และยืนยันว่าจุดยืนของการ์ตูน Amphibia คือแหล่งรวมตัวละครที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่กลับฉายเรื่องราวที่เป็นสากลสุดยิ่งใหญ่ซึ่งทุกคนสามารถมีอารมณ์ร่วมและเพลิดเพลินได้
เนื้อหาของการ์ตูนแอนิเมชั่นชุด Amphibia เล่าถึงแอนน์ บุญช่วย (Anne Boonchuy) วัยรุ่นชาวอเมริกันเชื้อสายไทยที่พบว่าตัวเองถูกส่งตัวไปยังดินแดนลึกลับที่มีประชากรเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โชคชะตาพาแอนน์ให้ผูกมิตรเป็นเพื่อนกับครอบครัวกบ หนึ่งในกลที่คลุกคลีกับแอนน์มากที่สุดชื่อ Sprig เรื่องราวนี้มีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ในช่อง Disney Channel ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้
Song นักแสดงวัย 31 ปีบอกเล่าว่า Amphibia ไม่เหมือนรายการทีวีหรือภาพยนตร์ประเภทไลฟ์แอ็กชั่นแบบที่เธอเคยรู้จัก เพราะหลังจากได้เห็นการเรนเดอร์ตัวละครแอนน์และได้อ่านบทบาทของสาวบุญช่วย เธอก็ตกหลุมรักกับตัวละครนี้ทันที
รูปลักษณ์ของแอนน์ใน Amphibia ที่โดนใจนักแสดงอย่าง Song คือการมีใบไม้ติดที่ผม แถมยังรองเท้าหายไป 1 ข้าง ขณะเดียวกันก็มองเรื่องรอบตัวในแบบวัยรุ่นสุดเฟี้ยว เรื่องนี้ Song ใช้คำว่า “Oh, my god, I kind of love her” ซึ่งอาจแปลได้ว่าสาวบุญช่วยมีความตลกอารมณ์ดีเหมือนกับบทบาทที่ Song เคยแสดงในซิทคอมของค่ายอย่าง “The Suite Life of Zack & Cody” มาก่อน
Song ซึ่งมีเชื้อสายไทยและม้ง ยอมรับว่า Amphibia เป็นโอกาสที่เธอจะได้นำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่านบทบาทสำคัญอย่างสาวบุญช่วย เช่นเดียวกับผู้อำนวยการสร้าง Matt Braly ที่บอกว่าตัวเขามีเป้าหมายใหญ่เรื่องการสร้างตัวละครไทยขึ้นมาก ซึ่งทันทีที่เริ่มโปรเจกต์ Amphibia ตัวเขาก็แน่ใจเลยว่าแอนน์ต้องเป็นคนไทย
คำว่า Amphibia นั้นแปลตรงตัวว่า “ครึ่งบกครึ่งน้ำ” โลกแห่งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เขียวชอุ่มนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากฤดูร้อนในวัยเด็กของ Braly ที่มีโอกาสเดินทางมากรุงเทพฯ Braly เล่าย้อนว่ายังจำได้ดีถึงก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบินมาพบกับสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเกิดของเขาคือเมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงการได้ยินเสียงลูกพี่ลูกน้องพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วกว่าที่เคย ความรู้สึกอึดอัดและปรับตัวได้ช้าเกิดขึ้นก่อนที่จะกลายเป็นความประทับใจซึ่งจะถูกถ่ายทอดมาในการ์ตูนเรื่องนี้
รูปลักษณ์ที่เก๋ไก๋ของแอนน์ล้วนอิงกับภาพคุณยายที่ Braly เห็นในวัยเด็ก ทั้งผมที่ไม่ได้หวีซึ่งมีกิ่งไม้และใบติดอยู่ นอกจากนี้ การ์ตูน Amphibia ยังพร้อมโชว์ความเป็นไทยด้วยการจัดการ์ตูนตอนแรกชื่อ “Lily Pad Thai” เนื้อหามีทั้งการเปิดร้านอาหารที่แอนน์ทักทายลูกค้าด้วยการไหว้ พร้อมกล่าว “สวัสดีค่ะ” ทั้งหมดนี้ Song มองว่า Amphibia กำลังแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจงมาก
เพื่อให้แน่ใจว่าการออกเสียงคำภาษาไทยของ Song นั้นใกล้เคียงของจริงมากที่สุด Song และ Braly จึงขอความช่วยเหลือจากคุณแม่ของ Braly สะท้อนว่าความเป็นไทยในการ์ตูนเรื่องนี้ผ่านการกรองเบื้องต้นจากมุมมองคนไทยในสหรัฐอเมริกามาแล้วในระดับหนึ่งเท่านั้น
หากไม่นับดราม่าที่คนไทยตั้งคำถามว่าทำไมสาวบุญช่วยต้องผิวสีแทน ต้องถือว่ามุมมองของ Braly นั้นน่าสนใจมาก เพราะเขาสร้าง Amphibia ขึ้นโดยมองว่าวันนี้หลายคนรู้แล้วว่าความเฉพาะทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่แค่ในมุมมองของทูตวัฒนธรรมแบบในอดึตอีกต่อไป
สิ่งที่ต้องจับตามองสำหรับ Amphibia คือการได้รับเลือกให้สร้างซีซัน 2 หรือฤดูกาลที่ 2 ก่อนที่การ์ตูนจะเปิดฉาย ซึ่งไม่เพียง Amphibia แต่ยังมีภาพยนตร์เช่น Spider-Man: Into the Spider-Verse เจ้าของรางวัลออสการ์ปี 2018 ที่มีตัวหลักเป็น Miles Morales วัยรุ่นเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและเปอร์โตริโก ตัวละครเหล่านี้ล้านมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่ง Braly มองว่าเป็นเรื่องสากลที่ยิ่งใหญ่หรือ great universal story ที่ทุกคนสามารถร่วมสนุกและเพลิดเพลินได้ทุกเพศทุกวัย.
ที่มา :
]]>